fbpx

‘ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ’ PwC เผยความคาดหวังของพนักงาน Gen Z ในปี 2023

      สายลมในโลกการทำงานเปลี่ยนทิศทางไปอย่างรวดเร็ว แต่ทักษะทางวิชาชีพที่เป็นอาวุธสำคัญกลับมีอายุขัยใช้งานได้เพียงไม่กี่ปี ส่งผลให้คนทำงานต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งความกดดันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ได้สร้างความยุ่งเหยิงในชีวิตไม่ต่างกับปมด้ายที่พันกันเป็นกระจุก นำมาซึ่งความคาดหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน โดยเฉพาะคนทำงานที่มองว่า ‘ชีวิตที่ดีนั้นเริ่มต้นจากการมีงานที่ดี’  

      ด้วยเหตุนี้ PwC จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวนกว่า 19,500 เพื่อให้องค์กรได้เข้าใจความรู้สึกและความคาดหวังของพนักงานในยุคปัจจุบัน โดยเผยผลสำรวจผ่านรายงาน Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ประจำปี 2023

      ในบทความนี้เราจะเจาะลึกไปในความคาดหวังของคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z (อายุตั้งแต่ 18-26 ปี) ที่ได้ขนานนามว่า เป็นคนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี แวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย และกำลังไหลเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในตลาดแรงงาน ความคาดหวังในการทำงานของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร มาดูไปพร้อมกัน

หวังให้องค์กรอยู่รอดปลอดภัย

      ในทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าวิกฤตครั้งถัดไปที่จะมาเขย่าโลกเศรษฐกิจ หน้าตาจะเป็นอย่างไร จากเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำเอาธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ไม่ต่างกับอาการปลาช็อกน้ำ เราจะเห็นว่ามีหลายบริษัทปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก กระทั่งบางบริษัททนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงต้องจำยอมปิดกิจการลงในที่สุด ในมุมมองของคนรุ่นใหม่จึงคาดหวังให้องค์กรอยู่รอดปลอดภัยในทุกฤดูกาลเปลี่ยนแปลง โดยคน Gen Z เกินกว่าครึ่ง หรือ 52% มีความกังวลใจว่านายจ้างของตนนั้นจะอยู่ไม่รอดถึงทศวรรษหน้า หากองค์กรไม่เปลี่ยนแปลง

หวังเงินเดือนที่สูงขึ้น

      หลายเว็บไซต์ทั้งไทยและต่างประเทศได้นำเสนอว่าคน Gen Z เป็นผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนค่านิยมใหม่ในการเรียกเงินเดือนที่สูงกว่าเจเนอเรชั่นอื่น โดยจากผลสำรวจล่าสุดของ Skynova พบว่า 58% ของ Gen Z รู้สึกไม่พอใจกับเงินเดือนของตน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ PwC ที่ชี้ว่า 51% ของ Gen Z คาดหวังเงินเดือนที่สูงขึ้นและมีแนวโน้มที่ขอขึ้นเงินเดือนจากนายจ้าง ทั้งนี้คนบางกลุ่มมองว่าสาเหตุของการขอขึ้นเงินเดือน มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนรุ่นใหม่ที่ทุ่มเงินให้กับการซื้อความสุขให้ตัวเองอย่าง #ของมันต้องมี แต่หากมองลงไปในเบื้องลึก คนรุ่นใหม่หลายคนเติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอย ค่าครองชีพสูงสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำ การคาดหวังเงินเดือนที่สูงขึ้นก็อาจเป็นทางรอดสำคัญที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่หลีกหนีสภาวะการเงินในชีวิตประจำวัน

หวังในการเลื่อนตำแหน่ง

      การค่อยๆ เติบโตอาจไม่ใช่ความท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เด็กรุ่นใหม่ไฟแรง’ ย่อมกระหายการเติบโตในเส้นทางอาชีพของตัวเอง ผลสำรวจ PwC พบว่า 49% ของ Gen Z มีความคาดหวังที่จะเลื่อนตำแหน่งภายในหนึ่งปีหลังจากเริ่มก้าวเข้าสู่การเป็น First Jobber 

      บิล เบนเน็ตต์ (Bill Bennett) ซีอีโอของ InsideOut Development ได้เทียบภาพความแตกต่างในการเลื่อนขั้นของพนักงานระหว่างอดีตกับปัจจุบันว่า ในอดีต การที่พนักงานที่เป็นจูเนียร์จะเลื่อนตำแหน่งภายในหนึ่งปีหรือสองปีเป็นไปได้ยาก ซึ่งต่างออกไปจากปัจจุบัน ที่มีนายจ้างจำนวนไม่น้อยต้องการพนักงานระดับจูเนียร์ แต่มีความสามารถเทียบเท่าพนักงานระดับซีเนียร์ แสดงให้เห็นว่าความสามารถไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะอายุน้อยหรืออายุมาก หากเป็นคนที่เก่งจริงแม้จะมีอายุงานเพียงไม่กี่ปีก็สามารถไต่เต้าเลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นได้ 

หวังที่จะเปลี่ยนงานใหม่ในอีก 1 ปีข้างหน้า

      “รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง” หนึ่งในเนื้อเพลงที่อธิบายพฤติกรรมกล้าได้กล้าเสียของคน Gen Z ได้เป็นอย่างดี จากผลสำรวจพบว่า 32% ของคน Gen Z มีความคาดหวังและมีแพลนที่จะย้ายงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า หากพวกเขารู้สึกไม่มีความก้าวหน้าหรืองานที่ทำอยู่ไม่ได้สร้างความท้าทายก็พร้อมที่จะลาออกทันที จึงไม่แปลกที่เทรนด์การทำงานอย่าง Job Hopping มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในแวดวงคนทำงานและตีตราว่า ‘เด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน’ ทว่าในมุมของคนรุ่นใหม่นั้นมองว่าการทำงานไปแล้วรู้สึกไม่แฮปปี้ก็หาที่ใหม่ดีกว่า ซึ่งการลาออกเป็นเพียงหมุดหมายใหม่ในการตามหางานที่ดีให้กับชีวิต ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะรู้สึกผิดแต่อย่างใด 

หวังนโยบายการทำงานที่ไหนก็ได้ 100%

      นโยบายการทำงานแบบ Work Anywhere กลายเป็นยอมรับในวงกว้าง คนรุ่นใหม่รักความเป็นอิสระและมีความกระตือรือร้นที่จะเป็นนายตัวเองสูง ความยืดหยุ่นในการทำงานจึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ จากงานวิจัยพบว่า 29% ของคน Gen Z คาดหวังนโยบายการทำงานที่ไหนก็ได้แบบ 100% ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้พวกเขาสามารถปรับสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิตได้อย่างลงตัวมากขึ้น

หวังที่จะทำงานมากกว่า 1 อาชีพ

      สภาวะทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องกระเสือกกระสนทำงานหลายอาชีพเพื่อหารายได้เข้ากระเป๋า จากผลสำรวจพบว่า 25% ของคน Gen Z ตั้งความคาดหวังที่จะทำงานมากกว่าหนึ่งอาชีพ ทางด้าน Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลก ชี้ว่าการทำงานหลายอาชีพของคนรุ่นใหม่เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หลายคนต้องเลื่อนเป้าหมายสำคัญในชีวิตออกไปก่อน อย่างเช่นการซื้อบ้านหรือการซื้อรถ 

      ทั้งหมดนี้คือความคาดหวังของคน Gen Z ที่มีต่อนายจ้าง แม้ความคาดหวังข้างต้นจะแตกแขนงยิบย่อยหลายรูปแบบ แต่หากมองภาพใหญ่ ความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ อาจเป็นเพียงเสียงจากคนตัวเล็กๆ ที่ต้องการมีชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นก็เท่านั้นเอง

ที่มา: indiatimes / pwc / thriveglobal

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า