fbpx

สวัสดิภาพเด็กฝึกงานทุกวันนี้ดีพอหรือยัง? – ข้อเสนอ พ.ร.บ.ฝึกงาน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ฝึกงาน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 เฟสบุ๊กแฟนเพจ สมัชชาIntern เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ได้จัดทำข้อเสนอ พระราชบัญญัติฝึกงาน เนื่องจากเล็งเห็นว่า ปัจจุบัน ผู้ฝึกงานได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม โดยต่ำกว่ามาตรฐานการฝึกงานที่เป็นรูปธรรม และยังเกิดขึ้นในหลาย ๆ องค์กรหรือบริษัทในประเทศไทยทุกวันนี้ สำหรับประเด็นหลักในข้อเสนอ พ.ร.บ. ฝึกงาน ที่ต้องการคุ้มครองนักศึกษาฝึกงาน 3 ประเด็นคือ 

  1. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ฝึกงาน
  2. ข้อตกลง/สัญญาการฝึกงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรอันชอบด้วยกฎหมาย
  3. สิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นแรงงานที่ยุติธรรม

จุดมุ่งหมายของข้อเสนอนี้คือ ต้องการสร้างและผลักดันให้สวัสดิการของผู้ฝึกงานดีขึ้นและสร้างแรงงานที่มีคุณภาพให้แก่สถานประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสังคม

ย้อนกลับไปดูข้อกฎหมายแรกเริ่มของการคุ้มครองแรงงานในสถานะนักศึกษาฝึกงาน

หากดูตามบริบททางสถานะการทำงานแล้ว นักศึกษาฝึกงาน คือลูกจ้างหรือแรงงานวิชาชีพ ซึ่งตามกฎหมายแล้วก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง เฟสบุ๊กแฟนเพจ “ที่ปรึกษากฎหมาย นิติลอว์” ได้พิจารณาและวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้ไว้ ดังนี้

หากอิงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๕๑ ในส่วนของบทนิยามศัพท์คำว่า “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” “สัญญาจ้าง”และ “ค่าจ้าง” ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๕ ดังนี้

“นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง

 (๑) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง

 (๒) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

“ผู้ว่าจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงว่าจ้างบุคคลอีกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายสินจ้างตอบแทนผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น

“สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

Facebook Fan page ที่ปรึกษากฎหมาย นิติลอว์ (22 มกราคม 2561)

หากลองดูข้อเท็จจริงในการฝึกงานตอนนี้ เราจะเห็นได้ถึงความหลากหลายของการให้ค่าตอบแทนของแต่ละองค์กร ทั้งที่ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อีกษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งมีแบบที่จ่ายเงินตอบแทนและไม่มีเงินตอบแทน บางที่อาจมีการเลี้ยงอาหารกลางววันหรือพาไปสังสรรค์เป็นครั้งคราว หรือบางที่อาจมีการให้สวัสดิการด้านที่พักอาศัยและค่าเดินทางด้วย ในขณะที่บางที่ก็ไม่ให้อะไรเลย

จุดประสงค์ของนักศึกษาฝึกงานส่วนใหญ่ เข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อการศึกษาหาประสบการณ์เพิ่มเติมจากรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีสาระสำคัญที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อค่าจ้างเป็นผลตอบแทนในการทำงาน ซึ่งต้องมองตั้งแต่ต้นที่ทำข้อตกลงกับสถานประกอบการว่า มีค่าจ้างให้หรือไม่ หากสถานประกอบการแจ้งมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่มี และคุณก็ยอมรับข้อเสนอตั้งแต่ต้นก็ถือเป็นอันทราบดีว่าจะไม่มีค่าจ้าง สรุปก็คือไม่ใช่ลูกจ้างทางกฎหมายนั่นเอง 

ในกรณีตัวอย่าง มีน้องนักศึกษาฝึกงานได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงระหว่างฝึกงาน ตามความจริงแล้วหากเกิดอุบัติเหตุก็จะไม่ได้รับการเยียสยาหรือค่าชดเชยใดๆจากสถานประกอบการ แต่หากเป็นกรณีร้ายแรงที่เกิดประสบอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการโดยตรงหรือ เช่นนี้ ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกจ้างหรือนักศึกษาฝึกงานตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๐ ว่าด้วย  “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ มีประเด็นหารือเรื่องค่าตอบแทนผู้ฝึกงานและอัตราจ้างขั้นต่ำโดยสำนักคุ้มครองแรงงาน เสนอความคิดเห็นต่ออธิบดีผ่านผู้อำนวยการกองนิติการและได้ผลสรุปเช่นเดียวกันกับข้างต้นคือการทำสัญญาเป็นการทำข้อตกลงของผู้ผึกงานกับผู้ว่าจ้างตั้งแต่แรกแล้วว่ามีค่าจ้างหรือไม่มี อีกทั้งนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงานเพื่อศึกษาหาประสบการณ์โดยเป็นข้อบังคับของสถานศึกษา

ทั้งนี้ ในกรณีของการวางมาตรฐานสวัสดิภาพของนักศึกษาโดยศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ เป็นการอัพเกรดหรือพัฒนาให้การฝึกงานของนักศึกษามีสวัสดิการที่ดีขึ้น การวางฐานในด้านอื่น ๆ ที่ พ.ร.บ. ฝึกงาน กำหนดเพิ่ม คือ 

  • สัญญาฝึกงานต้องละเอียดให้ครบถ้วน ลงเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน
  • ผู้ฝึกงานต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
  • ระยะเวลาฝึกงานไม่น้อยกว่า 2 เดือนและไม่เกิน 1 ปี ยกเว้นเงื่อนไขเฉพาะในบางสถานศึกษา
  • เวลาทำงานวันปกติ ต้องไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมงหรือไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • เวลาพักต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากลูกจ้างทำงานแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง
  • ลาป่วย ลาป่วยเท่าที่ป่วยจริง หากเกิน 3 วันขึ้นไปต้องยื่นใบรับรองแพทย์
  • ความปลอดภัยในการฝึกงาน ห้ามผู้ฝึกงานทำงานในสถานที่หรือพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย
  • บ่อนการพนัน, สถานที่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ หรือปรนนิบัติอาบอบนวด เป็นสถานที่ที่ห้ามฝึกงาน
  • ค่าตอบแทนการฝึกงานคิดเป็นรายชั่วโมง ชัวโมงละ 50 บาท
  • มีบทลงโทษทางกฎหมายหากผู้ว่าจ้างละเมิดหรือคุกคามผู้ฝึกงาน
  • ระบุของเขตหน้าที่การทำงานให้ชัดเจนในสัญญาจ้าง
Infographic อธิบายเรื่อง ข้อเสนอ พ.ร.บ.ฝึกงาน (จากเฟสบุ๊กแฟนเพจ สมัชชาIntern)

หลังจากมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวแล้ว มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นประเด็นดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนในมุมขององค์กร มุมของนักศึกษา และการแลกเปลี่ยนเรื่องการให้ค่าดอบแทนนักศึกษาฝึกงานในต่างประเทศ รวมถึงมีการแชร์ออกไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 7 ร้อยครั้ง

สำหรับแฟนเพจ “สมัชชาIntern” เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในโครงการ YouthWel Hackathon การแข่งขันเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการของ เครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ (SYSI) ซึ่งมีจุดหมายสำคัญเพื่อการสื่อสาร ผลักดันเรื่องสวัสดิการในการฝึกงาน และสร้างการตั้งคำถามในสังคมถึงเรื่องสวัสดิการของการฝึกงาน

การที่นักศึกษาออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยโดยที่ไม่ได้มีการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในเรื่องที่พักอาศัย การเดินทาง หรือกินอยู่ประจำวันนั้น อาจจะดูลำบาก หากนักศึกษามีฐานะยากจน แต่ทั้งนี้ทางสถานประกอบการเองก็ได้ให้ประสบการณ์การทำงานแก่ผู้ฝึกงานในบางสถานประกอบการอาจมีค่าตอบแทนเล็กน้อยหรือพาไปเลี้ยงสังสรรค์เป็นครั้งคราวเพื่อเป็นการตอบแทนทางอ้อมหรือถ้าหากต้องมีเกณฑ์กำหนดค่าจ้างจะเป็นการผลักภาระให้กับสถานประกอบการหรือไม่ ในกรณีนี้ทุกท่านคิดเห็นเช่นไรกันบ้าง


ที่มา:

https://web.facebook.com/assemblyofintern/photos/a.101338435594268/102079968853448/
https://web.facebook.com/nitilaw.legaladvisors/posts/1792612170770990/
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_717004
http://legal.labour.go.th/attachments/article/79/255303.pdf
https://www.efai.or.th/sites/default/files/files/law/ph.r.b._khumkhrngaerngngaan_ph.s.2541.pdf

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า