fbpx

ชำแหละ ‘แผนปฏิรูปประเทศ’ มรดก คสช. ที่อ้างว่าสำเร็จลุล่วง แต่ทำไมไทยยังเต็มไปด้วยปัญหา

      มรดกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทิ้งไว้มีหลายอย่าง ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่กลายร่างเป็นรัฐบาล เอื้อให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้เรื่อยๆ การเข้าควบคุมองค์กรอิสระ การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งใหม่ การทำให้สมาชิกวุฒิสภามาพร้อมกับอำนาจพิเศษ ไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ ‘แผนปฏิรูปประเทศ’ ที่เลื่อนลอย เต็มไปด้วยช่องโหว่ ไม่สามารถทำได้จริงตามที่วางแผนไว้

      แผนปฏิรูปประเทศคืออะไร? คือร่างหนึ่งฉบับที่มาคู่กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนย่อยของหน่วยงานราชการแต่ละองค์กรที่จะวางรากฐานในช่วง 5 ปีแรก เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศ 13 ด้าน ทั้งการเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, เศรษฐกิจ, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สาธารณสุข, สื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ, สังคม พลังงาน, การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, การศึกษา และวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

      แผนปฏิรูปประเทศนี้อ้างว่าเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 ที่บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศตามเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 

1. ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย สามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

2. สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ 

3. ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

      ทว่าเรากลับพบช่องโหว่หลายอย่าง…

      เว็บไซต์ iLaw ระบุว่า แผนการปฏิรูปประเทศถูกเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ซึ่งจนถึงตอนนี้มีการแต่งตั้งไปแล้วทั้งหมดสองครั้ง โดยถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีที่มีประยุทธ์เป็นหัวโต๊ะทั้งหมด การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศครั้งแรกประกอบไปด้วย 11 คณะ 120 คน ซึ่งจำนวนมากก็มีความสัมพันธ์กับ คสช. ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น กรรมการปฏิรูปประเทศ 46 คน เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงมีอีกหลายคนที่ในเวลาต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สว.

      วันที่ 17 สิงหาคม 2566 ในการประชุมสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายพรรคการเมืองรวมแล้วกว่า 52 คน ได้อภิปรายเกี่ยวกับแผนปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อตั้งคำถามถึงผลการดำเนินงานที่จะต้องเห็นผลตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ 

แผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง: กลไกรัฐผิดเพี้ยน สว. เลือกนายกฯ และการชี้วัดที่ตรวจสอบไม่ได้จริง

      พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ให้เห็นถึงปัญหาตั้งแต่การริเริ่มร่างแผนปฏิรูปประเทศ ประชาชนได้เห็นถึงกลไกวิเศษบางอย่างที่อ้างว่าสร้างขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนประเทศ แต่สุดท้ายกลไกนั้นกลับขัดขวางการพัฒนาประเทศเสียเอง โดยมาตรา 272 ให้อำนาจ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วระบุว่าให้เพื่อให้การปฏิรูปประเทศดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง 

      กลไกมาตรา 272 กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างปกติอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับให้ สว. 250 คน มีช่องในการนำความคิดเห็นส่วนตัวมาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง สว. กับประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง  

      “การปฏิรูปประเทศได้เสร็จสิ้นลงแล้วตามกรอบเวลา 5 ปี ทว่าตอนนี้กลไกมาตรา 272 ยังคงสร้างความเสียหายต่อประเทศไทยได้อีก ผมหวังว่าความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศของ คสช. จะทำให้เราร่วมกันตกผลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การปฏิรูปประเทศจะไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยการเก็บหลักการประชาธิปไตยไว้ในลิ้นชัก แล้วสร้างอคติต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง การจะปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จจำเป็นต้องทำผ่านกลไกประชาธิปไตย”

      พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล อภิปรายรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ประกอบไปด้วยประเด็นการเมือง ประเด็นบริหารราชการแผ่นดิน และประเด็นการปราบปรามการทุจริต โดยระบุว่าทั้ง 3 ประเด็น มีจุดร่วมเหมือนกันคือในปี 2561 วางแผนไว้ยิ่งใหญ่ ตั้งเป้าไว้ไกล เพราะจะปรับโครงสร้างประเทศแบบพลิกฝ่ามือ แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึง เพราะพอครบ 5 ปี แผนทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นไปเพียงการโฆษณาเท่านั้น

      ในส่วนแผนปฏิรูปการเมืองฉบับปรับปรุง กำหนดเพียงแค่ตัวชี้วัดอย่างง่ายที่สุดท้ายเมื่อถึงเวลารายงานผล กลับไม่มีการกล่าวถึง โดยตัวชี้วัดแรกคือการประเมินสถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี 2564 ที่ตั้งเป้าไว้ 63 คะแนน แต่กลับได้คะแนนจริงเพียง 55 คะแนน รวมถึงตัวชี้วัดอีกอันคือ Democracy Index ของ Economist แม้ทางคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์ไว้ค่อนข้างต่ำเพียงระดับ 7 ซึ่งเทียบเท่ากับค่าการเป็นประเทศ ‘ประชาธิปไตยบกพร่อง’ แต่ก็กลับไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น เพราะได้คะแนนเพียง 6.67 เท่านั้น

      “การปฏิรูปการเมืองไม่สามารถทำได้ตามตัวชี้วัดที่วางไว้ ตลอดเวลา 5 ปี สิ่งที่เราได้กลับมาคือคลิปในยูทูบที่ไม่มีคนดู แอปพลิเคชันของ กกต. ที่ไม่มีคนใช้ หรือกิจกรรมอบรมที่ไม่มีการวัดผล สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันคับแคบของพวกท่าน ที่มองว่าประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย และการเมือง เลยทำให้ต้องผลิตสื่อมาเพื่ออบรมสั่งสอนประชาชน”

      “ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนมีความเข้าใจประชาธิปไตย เข้าใจการเมืองเป็นอย่างดี เห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการยุติการสืบทอดอำนาจ ส่วนคนที่ไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยคือกลุ่มผู้มีอำนาจที่ผูกขาดการตัดสินใจทุกอย่างไว้ และบรรดา สว. ทั้ง 250 คน”

      ทางด้านของการบริหารราชการแผ่นดิน ช่วงแรกเริ่มมีการวางแผนไว้ 6 เรื่อง 24 กลยุทธ์ 56 แผนงาน มีการวาดฝันไว้หลายอย่าง ทว่าพอปรับปรุงแผนงานกลับทำได้เพียง 5 เรื่อง ส่วนด้านการปฏิรูปประเทศด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในรายงานผลปฏิรูปปี 2565 หน้า 156 ระบุว่าบรรลุผลลัพธ์ 2 เป้าหมายแล้ว คือ ประเทศไทยมีการทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง และหน่วยงานภาครัฐมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต ทว่าหากดูจากการประเมินที่เป็นรูปธรรม จะพบว่าตัวชี้วัดที่ระบุอยู่ในแผนปฏิรูปฉบับปรับปรุงปี 2564 คะแนน CPI หรือคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของสากล หากจะดีขึ้นต้องอยู่ที่ 45 คะแนน แต่ในปี 2565 คะแนน CPI ของไทยอยู่ที่ 36 คะแนน แพ้มาเลเซียและเวียดนาม และดัชนี ITA การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ต้องเกิน 80% แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานรัฐผ่านการประเมิน ITA เพียง 70% เท่านั้น 

      “แบบนี้จะถือว่าบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ท่านกำลังโกหกต่อหน้าผู้แทนราษฎรที่กำลังรับทราบรายงานนี้อยู่หรือไม่”

      ในรายงานยุทธศาสตร์ยังระบุรายละเอียดไว้ว่า การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบยังคงมีปัญหาและข้อจำกัด รวมทั้งประชาชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเข้าไปช่วยตรวจสอบ ติดตามการใช้งบประมาณและการดำเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างแท้จริง

      “จึงมาเปิดรายงานเล่มนี้ดูว่าท่านทำอะไรไปแล้วบ้าง ก็พบว่าผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการที่ครอบคลุมหน่วยงานรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นการสร้างเครือข่าย ทำโครงการอบรม ทำแผนงาน ปรับฐานข้อมูล การสร้างระบบดิจิทัล ซึ่งหลายเรื่องไม่ควรอยู่ในแผนปฏิรูปด้วยซ้ำ ควรเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วตามกฎหมาย” 

แผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม: สุดท้ายคนไทยยังคงจนลง จนลง

      ชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงประเด็นสังคมในรายงานแผนการปฏิรูปประเทศ ระบุว่าทุกคนทราบกันดีว่า แผนที่ว่าเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจของ คสช. และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2561 หลังเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ผ่านมา 5 ปี แต่เมื่อได้อ่านรายงานผลสรุปความคืบหน้า กลับเห็นว่านี่ไม่ใช่การรายงานความคืบหน้า แต่เป็นการรายงานความไม่คืบหน้าของแผนปฏิรูปประเทศมากกว่า

      จากการรายงานผลสรุปการดำเนินการแผนปฏิรูปประเทศ แม้จะพยายามอธิบายการบรรลุเป้าหมายทั้ง 13 ด้าน มีการอ้างอิงสถิติ ความสำเร็จต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่แบบนั้น โดยยกตัวอย่างประเด็นด้านสังคม ที่กำหนดเป้าประสงค์มุ่งขจัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่สิ่งที่ชี้วัดได้ชัดเจนที่สุดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้น

      ก่อนเกิดการยึดอำนาจในปี 2557 มีคนจนอยู่ประมาณ 8 ล้านคน ภายหลังเกิดรัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการลงทะเบียนบัตรคนจนเพิ่มขึ้น 13.5 ล้านคน ล่าสุดในปี 2565 มีคนลงทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 20 ล้านคน คิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่ายิ่งปฏิรูปคนจนยิ่งเพิ่มขึ้นหรือไม่

      ชญาภายังระบุอีกว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังประสบปัญหารวยกระจุก จนกระจาย ปัญหาหนี้สินพอกพูน หนี้ครัวเรือนทะลุ 90% ของ GDP และมีประชาชน 1.4 ล้านคนทั่วประเทศเป็นหนี้นอกระบบ เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด เข้าไม่ถึงแม้แต่สินเชื่อในระบบ

      ประชากรกว่า 40% ของไทยอยู่ในภาคการเกษตร แต่พบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตร เป็นหนี้เฉลี่ยกว่า 430,000 ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลธนาคารโลกปี 2564 พบว่าไทยเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นอกจากนี้ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

      “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน ต้องแก้ที่ต้นตอ ด้วยการแก้ปัญหาทุนผูกขาด ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้ ภาคธุรกิจเติบโต ก็จะมีกำลังในการจ่ายภาษี มีรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น รัฐสามารถนำเงินเหล่านั้นมาทำสวัสดิการที่ยั่งยืนให้กับประชาชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำระยะยาว 

      “แต่ที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายส่วนใหญ่เป็นการกู้ และเน้นไปยังการแจกเงินระยะสั้น ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับประชาชนในระยะยาว ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชนยั่งยืน ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า การปฏิรูปเป็นเพียงวาทกรรม ยิ่งปฏิรูปยิ่งล้มเหลว แทบไม่มีความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศ ตามแผนที่กำหนดไว้ ประเด็นการปฏิรูปหลายเรื่องไม่ใช่สิ่งใหม่ และเป็นสิ่งที่หน่วยงานราชการทำอยู่แล้ว จึงเกิดความทับซ้อนและไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอย่างแท้จริง 

      “แผนปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากผลพวงรัฐประหาร ผู้นำประเทศไม่ได้มาจากประชาธิปไตย ไม่ได้ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ฝังรากลึกในสังคมไทย เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในการปฏิรูปประเทศ จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และสถาปนาให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงจะสามารถปฏิรูปประเทศได้อย่างแท้จริง”

แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา: เรายังคงเห็นเด็กเข้าไม่ถึงการเรียนพื้นฐาน 

      ธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พบว่ามีเพียง 10 หน้าเท่านั้น 

      ตลอดระยะเวลาที่มีการประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ ผ่านมาแล้ว 5 ปี ในด้านการศึกษายังไม่เห็นผลสำเร็จที่จับต้องได้ เจาะลึกไปยังหมวดที่ 16 มาตรา 258 การศึกษามี 4 อนุ ซึ่งในอนุ 1 ให้เด็กเล็กได้รับการดูแลพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดการตั้งคำถามว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ เพราะธีระชัยบอกว่ายังเห็นข่าวจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ฝากลูกฝากหลานอยู่เรื่อยๆ ซึ่งลูกชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา ไม่สามารถทำได้ และมีข่าวว่า ผอ. รับเงินใต้โต๊ะ หรือข่าวโรงเรียนยักยอกงบข้าวกลางวันเด็กนักเรียน ‘ผักหนึ่งไร่ ไก่หนึ่งตัว’

      เมื่อดูเรื่องค่าจ้างครูก็พบว่ายังคงมีปัญหา หากจะบอกว่าแก้ปัญหาด้านรายได้แล้ว ก็ถือว่ากำลังโกหกประชาชนทั้งประเทศ ธีระชัยยังได้ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นลูกจ้างชั่วคราว พบว่าเงินเดือนเพียง 6,000 บาท หากหารด้วย 30 วัน เท่ากับมีรายได้วันละ 200 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ หรือคนในชุมชนกับโรงเรียนต้องรวมเงินกันเพื่อจ้างให้ครูมาสอนนักเรียน 

      กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเช่นกัน เรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ 0-6 ขวบ สิ่งที่เกิดขึ้นจากรายงานมีการให้ทุนประมาณ 5 หมื่นราย เป็นตัวเลขที่ฟังแล้วดูดี แต่เมื่อลงพื้นที่กลับพบว่าเด็กๆ อีกมากยังขาดทุนการศึกษา ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ หรือผู้ปกครองต้องเสียเงินเดือนละ 500 บาท ในการทำให้บุตรหลานได้เรียนในศูนย์เด็กเล็ก ส่วนครูที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก ไม่มีสวัสดิการ ขาดแคลนครู แสดงถึงงบประมาณที่ไม่เพียงพอ แต่รายงานแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษากลับบอกว่าทุกอย่างสำเร็จไปด้วยดี 

      จากการฟังประชุมสภากับ สส. กว่า 52 คน ที่พูดถึงแผนปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ และ The Modernist ได้ยกตัวอย่างมาเพียงแค่ไม่กี่ประเด็นเท่านั้น แต่กลับพบว่าการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังคงเต็มไปด้วยปัญหา แผนที่วางไว้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และมีการวัดผลที่กว้างเกินไปและไม่ครอบคลุม

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า