fbpx

“ความเจริญรอไม่ได้ เพราะว่าพวกเรารอมาหลายทศวรรษแล้ว” เพศ การศึกษา และตราบาป ของ ‘รักชนก ศรีนอก’

เมื่อพูดถึง ไอซ์-รักชนก ศรีนอก ภาพจำแรกๆ ของเธอคือการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีมานี้ ก่อนจะกลายเป็นนักการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่ในความคิดเห็นส่วนตัว เธอมีเรื่องราวหลายอย่างที่อยากผลักดัน ทั้งประเด็นความเข้าใจและความเท่าเทียมทางเพศ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ไปจนถึงการแสดงความคิดเห็นกับการถูกโจมตีว่าพรรคก้าวไกลพยายามแบ่งแยกดินแดนผ่านนโยบายกระจายอำนาจ 

การแก้ปัญหาเหล่านี้ในมุมมองของรักชนกเป็นแบบไหน เธอจะอธิบายเรื่องพวกนี้อย่างไร รวมถึงการตอบคำถามที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งอย่าง ‘ราคาที่ต้องจ่ายจากการเคยสนับสนุนเผด็จการทหาร’ ที่รักชนกยอมรับแต่โดยดี ว่าสิ่งนี้จะผูกติดตัวอยู่กับตัวเองตลอดไป 

ราคาที่ต้องจ่ายจากการสนับสนุนเผด็จการทหาร

“เหมือนกับว่าอยู่สุดอีกด้านหนึ่งของฝั่งความคิด แล้วสุดท้ายก็มาอยู่สุดอีกฝั่งหนึ่ง”

นอกเหนือจากการถูกเรียกว่าเป็นเครื่องด่า เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง รักชนกยังมักถูกพูดถึงจากการเคย ‘สนับสนุนรัฐประหาร’ จนกระทั่งวันเวลาผ่านไป เธอเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทางการเมืองประวัติศาสตร์มากขึ้น ก่อนจะรู้ว่าตัวเองนั้นเข้าใจผิดมาโดยตลอด และไม่ใช่แค่ความเข้าใจผิด แต่ด้วยความที่เคยแสดงความคิดเห็นเลวร้ายต่อผู้ที่ออกมาต่อสู้บนท้องถนนตามโซเชียลมีเดีย จึงทำให้เธอเหมือนมีชนักติดหลังที่จะไม่มีวันสลัดออก 

“เราสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุน คสช. ครั้งแรกที่เราโดนเขกกะโหลกคือตอนที่คุณทองแดงเลียหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เราอินกับแคปชันที่มีคนเขียนประมาณว่า ‘นี่แหละคือนายกฯ ที่เราต้องการ ที่สังคมต้องการ คนนี้แหละ ฮีโร่ขี่ม้าขาวที่มากำจัดความขัดแย้ง’ เราก็แชร์แคปชันนั้นด้วยความรู้สึกว่านี่แหละนายกฯ ของเรา แล้วเพื่อนก็มาคอมเมนต์ว่า ‘แค่สุนัขเลียหน้า ก็ได้รับความชอบธรรมในการเป็นนายกฯ ของประเทศนี้แล้วเหรอ ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งแล้วเหรอ ความชอบธรรมเกิดขึ้นง่ายดายขนาดนี้เลยเหรอ’

“เออ กูก็ตอบไม่ได้เนอะ”

เธอพูดกับตัวเอง

ไม่เพียงเท่านี้ รักชนกยังยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทหารเริ่มเข้ามาจัดการวินรถตู้ในกรุงเทพฯ เธอก็ชื่นชมอีกครั้งว่าทหารเก่งมาก ดูแลประชาชน สามารถจัดการปัญหาคาราคาซังได้หลายอย่าง แล้วเหมือนเคย เพื่อนฝั่งประชาธิปไตยตั้งคำถามกับรักชนกอีกครั้งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ใช่หน้าที่ของทหารจริงๆ เหรอ แล้วหน้าที่ทหารคืออะไร ทำไมกลายเป็นว่าทำไมทหารถึงเข้ามายุ่งกับกิจการทุกอย่าง 

“เราก็แบบ กูตอบไม่ได้อีกแล้ว”

พอเวลาเริ่มผ่านไป เข้าสู่ช่วงรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นรักชนกก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมือง แต่เริ่มมีความลังเลในจุดยืนของตัวเองแล้ว เริ่มมองเห็นความน่าขยะแขยงของเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ และพยายามหลอกตัวเองว่าอย่างไรประเทศก็จะดีขึ้นถ้ามี ‘คนดี’ ปกครองบ้านเมือง

“เราเริ่มเห็นความเน่าหนอนที่หมักหมม และช่วงนั้นคนจะคุยการเมืองในทวิตเตอร์ ซึ่งทุกคนก็ใส่กันดุเดือดมาก แล้วทวีตหนึ่งเขียนว่า ‘จริงๆ แล้ว การรัฐประหารทุกครั้งในประเทศไทย ใครเป็นคนรับรอง ใครได้ประโยชน์จากการรัฐประหารบ้าง’

“ด้วยความที่มีคำถามมากมายแล้วเราก็ตอบคำถามพวกนั้นไม่ได้ เราเริ่มรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องหาข้อมูล เลยอ่านหนังสือ อ่านบทความ ฟังเสวนาวิชาการ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วความขัดแย้งและรัฐประหารที่เกิดขึ้นในไทย เป็นเพราะชนชั้นนำอยากรักษาอำนาจของพวกเขาเอาไว้ เขาไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เขาพยายามที่จะฉุดรั้งยุคสมัย ยื้อเวลาไม่ให้ประเทศนี้เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง แล้วค่อยใช้โฆษณาชวนเชื่อ ล้างสมองประชาชนผ่านระบบการศึกษา ผ่านสื่อสารมวลชน ผ่านอำนาจรัฐที่เขามี จนประชาชนแตกแยกกันเอง 

“จริงๆ แล้วเราควรจะมาขีดเส้นความขัดแย้งใหม่ มันควรจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ นายทุน อำมาตย์ที่ถือครองทรัพยากร 1% กับประชาชนอีก 99% ที่ไม่สามารถเข้าสู่อำนาจ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและความเท่าเทียมในประเทศนี้ได้” 

ในฐานะที่เธอเคยเป็นคนจากฝั่งหนึ่ง แล้วตื่นรู้และย้ายมาอีกฝั่งหนึ่ง เราจึงไม่สามารถไม่พูดถึงปฏิกิริยาของคนในขบวนได้ ทั้งคนที่พร้อมโอบรับทุกคนเข้ามาอย่างเต็มใจ ไปจนถึงคนที่ยังรู้สึกโกรธแค้นและไม่มีวันให้อภัยกับการกระทำของคนที่รู้ตื่นภายหลังแล้วอยู่ดี รักชนกมองปฏิกิริยาสองด้านที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร 

“กลุ่มคนที่ยินดีต้อนรับเรากลับเข้ามาสู่ประชาธิปไตย เราก็ต้องขอบคุณคนเหล่านี้มากๆ เพราะหลายคนได้รับความเดือดร้อน แต่เขาเปิดใจยอมรับคนอีกฝั่งเข้ามา และเราคิดว่าถ้าเราอยากจะเปลี่ยนสังคมให้เป็นสังคมประชาธิปไตย ให้อำนาจสูงสุดกลับมาอยู่ในมือของประชาชน สุดท้ายแล้วเราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเปลี่ยนคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมแบบสุดโต่ง ให้ลดระดับลงเป็นอนุรักษนิยมแบบมีสติ หรือเปลี่ยนเขามาอยู่ในฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตย 

“สุดท้ายสังคมตอบโอบรับคนเหล่านี้เข้ามา โอบรับเรา โอบรับคนที่จะตาสว่างในอนาคต เพราะถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ เราก็จะเปลี่ยนผ่านคูหาเลือกตั้ง ถ้าจะทำอย่างไรให้ฝั่งประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง เราต้องการเสียงสนับสนุนจากพ่อแม่พี่น้องประชาชน เราต้องเปลี่ยนใจคนที่เคยโดนล้างสมองจากโฆษณาชวนเชื่อ” 

แต่อีกแง่หนึ่ง เธอยอมรับและเข้าใจในอีกมุมมองหนึ่งแต่โดยดี มุมมองที่ว่าคือความคิดของกลุ่มคนฝ่ายประชาธิปไตยที่จะไม่มีวันยกโทษให้กับคนที่เคยสนับสนุนเผด็จการทหาร 

“ทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหารในประเทศไทย จะมีคนที่ได้หรือเสียผลประโยชน์ มีคนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่เท่ากัน ประชาชนก็รู้สึกว่าไม่ได้กระทบอะไรกับชีวิตมาก แต่จริงๆ แล้วการรัฐประหารมันกระทบกับทุกคนนั่นแหละ บางคนคือไปร่วมชุมนุมแล้วต้องเสียคนรัก ต้องเสียคนในครอบครัว ต้องเสียเพื่อนไป ถ้าเขายังโกรธแค้นอยู่เราก็สามารถเข้าใจได้ เขาจะก่นด่าคนที่รู้สึกสนับสนุนรัฐประหารไปจนตาย เพราะว่าเขาไม่สามารถเรียกคืนชีวิตเหล่านั้นกลับมาได้

“เราต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของเขา บางคนเขารู้สึกมากจริงๆ เขาสูญเสียมากจริงๆ แล้วได้รับผลกระทบกับชีวิตเขา ซ้ำยังไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่ได้รับการชดเชยจากกระบวนการรัฐประหาร การสลายการชุมนุม หรือความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน 

“เขามีสิทธิที่จะด่า มีสิทธิที่จะโกรธ มีสิทธิที่จะแค้น เรายินดีที่จะขอโทษต่อไปเรื่อยๆ ต้องยอมรับว่าเป็นความผิดของเราจริงๆ ที่ทำให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ขึ้นมาจนทำให้เกิดความสูญเสีย เราไม่หวังว่าเขาจะต้องให้อภัยเรา เขามีสิทธิโกรธเราตราบเท่าที่เขาอยากจะโกรธ และเราก็จะต้องขอโทษไปจนวันตาย 

เธอบอกตามตรงว่าทุกวันนี้พยายามชดใช้ทุกอย่างที่ตัวเองพอจะทำได้ เช่นช่วงก่อนจะเป็นนักการเมือง เธอผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง โดนคดีมาตรา 112 โดนฟ้องหมิ่นประมาทเพราะพูดถึงคนฝั่งเผด็จการ ส่วนหนึ่งก็เพราะรู้สึกอยากให้ความผิดในใจค่อยๆ บรรเทาลง 

ถ้าต้องตอบคำถามที่เราถามเธอไปว่า เคยคิดไหมว่าจะต้องชดใช้ไปถึงเมื่อไหร่ เธอมองว่าต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือตัวของเธอเองที่ยอมรับความผิดพลาดในอดีต รอวันที่จะให้อภัยตัวเองได้ และส่วนถัดมาคือสังคมจะต้องกลับมาดีด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะให้อภัยตัวเองแล้วเลิกทำงานไปดื้อๆ ในขณะที่สังคมก็ยังคงไม่เปลี่ยนไปจากวันก่อน

“สุดท้ายเรื่องนี้จะติดตัวไปจนตาย เรามีหน้าที่ที่จะขอโทษ แล้วก็นำสังคมให้กลับมาสู่จุดที่เหมาะที่ควร นำประชาธิปไตย นำอำนาจกลับมาสู่มือพ่อแม่พี่น้องประชาชน หลังจากที่สังคมมันดี เขาจะให้อภัยหรือไม่ให้อภัยก็แล้วแต่เขา เขาอาจจะยังโกรธแค้นอยู่ก็ได้ เรายังทำงานหนักไม่พอ เราก็มีหน้าที่ต้องยอมรับและเคารพการตัดสินใจของเขา”

เพศและการศึกษา

“คือสังคมนี้มันเป็นปัญหาอะไรหนักหนากับเรื่องเพศ” 

เมื่อเปิดประเด็นเรื่องเพศ รักชนกแสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ทันที 

เธอมองว่าตอนสังคมยังค่อนข้างตั้งคำถามกับการที่ผู้หญิงจะขึ้นมายืนในตำแหน่งแห่งที่บางอย่าง โดยเฉพาะในแวดวงการเมือง ที่บางครั้งก็จะโดนคำครหา ด้อยค่า และเหยียดหยามเพียงเพราะเป็นผู้หญิง ที่มักเลือกหยิบจับจากเรื่องง่ายๆ อย่างการแต่งตัว การใช้ชีวิตประจำวันของเธอที่สังคมบางส่วนมองว่า ‘ไม่เหมาะไม่ควร’

ความไม่เหมาะไม่ควรที่ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย เมื่อภาพของเธอกับแฟนเก่าถูกนำมาโพสต์ในกลุ่มกลุ่มหนึ่ง แล้วมีข้อความชมเชยรูปร่างหน้าตาของเธอ ไปจนถึงการล้ำเส้นพิมพ์ข้อความที่ทำให้เจ้าตัวและคนอื่นๆ ที่ผ่านมาเห็นรู้สึกไม่สบายใจ อาทิ 

‘หอม’ 

‘เสียดายมาก แต่ไม่เป็นไรครับ ผมก็ยังรักเหมือนเดิม’

‘ดีมากเลยครับท่าน ส.ส.’

‘ขาวมาก’

‘แฮ่กๆ’  

“เรามองอย่างนี้ จริงๆ แล้วแม้แต่ฝ่ายเสรีนิยมที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้า ก็ยังมีบางบรรทัดฐานที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่อยู่ดี เพราะคนที่บอกว่าเอาประชาธิปไตย บางคนก็บ้งเรื่องเพศ เหยียดผู้หญิง เหยียดหญิงบริการ เหยียด LGBTQ+ จะเอาประชาธิปไตยแต่ว่าไม่เอาสเปคตรัมอื่นเลย เราเลยต้องมาคุยกันอีกครั้งว่าบาร์ประมาณไหนที่คุณจะทำได้ จะวิจารณ์ได้ และไม่ข้ามเส้นกลายเป็น Sexual Harassment (การคุกคามทางเพศ) ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นหน้าที่เราต่อไปว่าจะสื่อสารกับคนเหล่านั้นให้เข้าใจได้อย่างไร”

นอกจากการถูกนำภาพกับคนรักเก่าไปโพสต์วิจารณ์ต่างๆ นานา ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เธอก็ถูกโจมตีด้วยข่าวปลอม ด้วยการนำภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่ใส่ชุดว่ายน้ำอยู่ในห้องส่วนตัวมาโพสต์คู่กับภาพของรักชนก แล้วบอกว่านี่หรือคือการกระทำของคนที่สมัครมาเป็น ส.ส. 

‘โสเภณีบางคนยังไม่กล้าถ่ายภาพระดับนี้ ขอบอกว่าใจถึงจริงๆ ยังจะเลือกหล่อนเข้าไปไหวไหม สภาผู้ทรงเกียรติของเรากลายเป็นอะไรไปหมด #ทำทันทีตอบสนองนโยบายกะหรี่ถูกกฎหมาย’ 

นี่คือประโยคที่ถูกเขียนบนโพสต์ข่าวปลอมที่ว่า

“เราต้องมาพูดกันใหม่ว่าสังคมนี้มีการต่อสู้ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงและเพศหลากหลาย เราต่างต้องต่อสู้เพราะโดนกดทับจากสังคมชายเป็นใหญ่ ไอซ์แค่อยากให้ทำความเข้าใจว่า ต่อจากนี้ไป ไม่อยากให้ทุกคนเหยียดคนจากการแต่งตัว ไม่ว่าเขาจะใส่ชุดว่ายน้ำ ใส่ชุดแต่งตัวมอซอ ก็ไม่ควรที่จะไปตัดสินใครเลย ไม่ว่าจะด้วยบรรทัดฐานหรือชุดความคิดแบบใดก็ตาม แล้วผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ ทุกคนต่างมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถอยู่ในตำแหน่งนำสังคมได้ ทุกคนสามารถเดินเข้าไปทำงานในสภาได้ จะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ได้ทั้งนั้น 

“อีกอย่างนอกจากมุมมองของการมองผู้หญิงที่เข้ามาทำงานการเมือง คือทำความเข้าใจเรื่องเซ็กซ์เวิร์คเกอร์ เซ็กซ์ทอย ในสังคมนี้ก็ยังมีปัญหา เราควรที่จะทำให้ถูกกฎหมายได้แล้ว เลิกเอาอาชีพขายตัวมาเหยียดหยามคนอื่น สมมติว่าถ้าสังคมเรายังมีชุดความคิดนี้อยู่ สุดท้ายกฎหมายเหล่านี้ก็จะไม่ผ่านสักที แล้วเราจะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านประเทศที่มีอาชญากรรมทางเพศที่รุนแรงได้”

หลังจบประเด็นเรื่องเพศ เราได้ถามเธอต่อว่าแล้วนอกจากเรื่องนี้ มีอะไรที่ให้ความสนใจและรู้สึกอยากผลักดันเป็นพิเศษบ้างไหม โดยเฉพาะกับประเด็นทางสังคม รักชนกตอบทันทีว่าตัวเองรู้สึกสนใจเรื่องการศึกษามากไม่แพ้กับเรื่องอื่นๆ อาจด้วยเพราะสิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งในประสบการณ์ส่วนตัวที่เธอพบเจอมาตั้งแต่เล็ก และได้มองเห็นเพื่อนๆ จำนวนมากที่หล่นหายไปจากระบบการศึกษา และคนอีกมากที่พยายามดิ้นรนให้ได้มาซึ่งการศึกษาที่ดี 

“เราแม่งไม่อยากให้คนจนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ด้วยการศึกษาเพียงอย่างเดียว”

“เราสนใจประเด็นการศึกษา เพราะเราเกิดมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่พร้อม แล้วเขาก็ทิ้งเราไป ให้เราอยู่กับบ้านบุญธรรม อยู่กับแม่บุญธรรม อยู่กับพ่อบุญธรรม แล้วเรารู้สึกว่าการยกระดับครอบครัวของเรา หรือยกระดับฐานะตัวเองได้ ใบเบิกทางของเราคือระบบการศึกษา ทำให้เราต้องปากกัดตีนถีบ พยายามเอาตัวเองเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ ซึ่งยากมากสำหรับคนที่บ้านจนแบบเรา 

“เรารู้สึกว่าอันดับแรกคือต้องโอบอุ้มให้ทุกคนสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ อาจจะไม่ใช่การมาเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวด้วย แต่หมายถึงว่าจะทำอย่างไรให้คนในสังคมพร้อมพัฒนาตัวเอง หรือทำอย่างไรให้คนที่บ้านจนกับคนที่บ้านรวย ไม่ได้รับมาตรฐานทางการศึกษาที่แตกต่างกันมากนัก ทำอย่างไรให้สังคมไม่เหยียดหยามหรือเปรียบเทียบกันระหว่างเด็กสายสามัญกับ ปวช. ปวส. ไม่มีการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำอย่างไรให้ชื่อมหาวิทยาลัยไม่ได้มีผลกับการหางานขนาดนั้น ทั้งหมดที่พูดมาคือความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่เราอยากจะเข้าไปแก้ไข”

“ทั้งที่จริงสังคมควรจะมีตาข่ายรองรับ เป็นรัฐสวัสดิการอะไรก็ว่าไป ที่จะรองรับคนอีกเป็นร้อยเป็นพันที่ต้องออกจากระบบการศึกษาไปตอนประถมจนถึงมัธยมปลาย และส่งผลให้เขาไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลเพราะว่าพวกเขายากจนเกินไป” 

เธอไม่อยากให้การศึกษาเป็นใบเบิกทางเพียงใบเดียวที่จะทำให้คนเลื่อนชนชั้นในชีวิตของตัวเองได้ ในความรู้สึกของเธอจึงมองว่าการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำจริงๆ และการทำงานกับก้าวไกลก็ตอบโจทย์ตรงนี้ ทั้งการปฏิรูปการศึกษา เอาอำนาจนิยมออกจากระบบการศึกษา และทำให้เกิดตาข่ายที่รองรับชีวิตทุกคน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเอาใบปริญญามาเป็นการการันตีเพื่อเลื่อนระดับชนชั้นทางสังคมเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป 

กระจายอำนาจ 

“เวลาเราทุกคนไปเที่ยวญี่ปุ่น เราจะรู้สึกว่า โอ้ ประเทศเขาเจริญจังเลย เมืองสะอาด อากาศดีขนส่งมวลชนสาธารณะสะดวก แต่ถามว่าถ้ามองลึกลงไปถึงเชิงโครงสร้างของการบริหาร มันคือเรื่องของการกระจายอำนาจ”

นี่คือประโยคแรกที่รักชนกตอบเรา เมื่อถูกถามเรื่องการกระจายอำนาจและการปลดล็อกท้องถิ่น 

เธอเชื่อว่าพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยจะสามารถดีขึ้นกว่านี้ได้ด้วยการทำให้ท้องถิ่นได้มีสิทธิบริหารจัดการตัวเองมากกว่านี้

“พื้นที่ท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคสามารถบริหารจัดการขนส่งสาธารณะ จัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานของตัวเองได้ เพราะว่าเมื่อเก็บภาษีได้ เขาชักออกบางส่วนเพื่อไปบริหารที่ท้องถิ่นทันที แต่ถ้าเทียบกับไทย เราเก็บภาษีจากทั่วประเทศและส่งเข้าส่วนกลางก่อน แล้วถ้าท้องถิ่นอยากได้อะไรก็ต้องทำโครงการมานำเสนอจนทุกอย่างช้าไปหมด ซึ่งเราเห็นว่าจำเป็นต้องกระจายอำนาจและความเจริญสู่ท้องถิ่นให้มากกว่านี้”

หากการมองไปยังญี่ปุ่นอาจทำให้ภาพที่ต้องการจะสื่อไม่ชัดเจนเสียเท่าไหร่ รักชนกจึงยกตัวอย่างที่ใกล้ขึ้นคือกรุงเทพมหานครกับจังหวัดอื่นๆ ของไทย และอยากให้ทุกคนตั้งคำถามไปพร้อมกับเธอว่าทำไมคนต่างจังหวัดจำนวนมากจึงต้องย้ายมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองที่ค่าครองชีพแสนแพง รถโคตรติด คำตอบง่ายๆ ก็คือเพราะเมืองหลวงมีงานให้ทำ 

“กรุงเทพฯ มีงาน มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครบมากกว่า มีขนส่งมวลชนสาธารณะ มีตึกรามบ้านช่อง มีที่อยู่อาศัยรองรับ ทั้งหมดนี้ส่งให้เกิดงาน แต่ทำไมที่บ้านของคุณในต่างจังหวัดถึงไม่สามารถมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เทียบเท่ากับกรุงเทพฯ ได้ มันคือเรื่องของการกระจายอำนาจล้วนๆ เลย 

“แล้วเรารู้สึกว่าอยากให้คนตั้งคำถามต่อไปอีก พอคุณเห็นผู้ว่ากรุงเทพฯ ในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ต้องมีคำถามบ้างแหละว่าแล้วบ้านกูล่ะ ทำไมกูต้องมานั่งดูดีเบตผู้ว่าของคนกรุงเทพฯ แล้วจังหวัดกูล่ะ นึกออกไหม เราต้องตั้งคำถามถึงขั้นว่าทำไมต้องแค่กรุงเทพฯ คนเมืองหลวงเขาเสียภาษีมากกว่าเราเหรอ คนกรุงเทพฯ มีอภิสิทธิ์มากกว่าเหรอ ก็ไม่ใช่ 

“แล้วคนเชียงใหม่ล่ะ คนนครนายก คนสมุทรปราการ คนปัตตานี คนขอนแก่นล่ะ ทำไมฉันไม่สามารถเลือกผู้ว่าของฉันได้ ทำไมถึงไม่มีคนแบบนี้ 4-5 คน มายืนอยู่บนเวทีดีเบตเหมือนที่กรุงเทพฯ มี แล้วทุกคนก็พยายามนำเสนอคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับฉันบ้าง ทั้งที่เราต่างเสียภาษีเหมือนกัน เป็นพลเมืองของประเทศนี้เหมือนกัน แต่กลายเป็นว่าแต่ละจังหวัดได้รับการเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน

ในเรื่องกระจายอำนาจ พรรคก้าวไกลก็ถูกตั้งคำถามเยอะมากพอสมควร เช่นคำถามที่ว่าถ้าทุกจังหวัดจะต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ รัฐจะต้องใช้งบประมาณในระดับมหาศาลซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ รวมถึงคำถามที่ว่าจริงๆ แล้ว พรรคก้าวไกลอาจไม่ได้อยากกระจายความเจริญไปทั่วประเทศขนาดนั้น แต่ทำเพียงเพราะอยากให้แต่ละจังหวัดมีการปกครองที่เป็นเอกเทศ และเป็นบ่อเกิดแรกเริ่มของความคิดแบ่งแยกดินแดนที่จะเกิดขึ้นภายหลัง 

รักชนกขมวดคิ้วกับเรื่องนี้พอสมควร เธอมองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมาถึงจุดนี้ 

“พรรคก้าวไกลโดนโจมตีว่าเรากระจายอำนาจแล้วเราจะล้มล้าง เราจะทำให้เป็นสหพันธรัฐ พูดจริงๆ เรามองว่าความคิดแบบนี้คือการฉุดรั้งความเจริญของประเทศนี้ เวลาคุณไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปเที่ยวอเมริกา ไปเที่ยวอังกฤษ ไปประเทศที่เจริญแล้ว คุณยังชอบเลย พอลงลึกไปคุณชอบเพราะอะไร ชอบเพราะโครงสร้างของประเทศเขาที่มีการบริหารจัดการที่ดี ชอบที่ประเทศเขาเจริญ มันเจริญเพราะกระจายอำนาจ 

“แต่พอจะเอามาปรับใช้กับประเทศตัวเอง ทำไมคุณถึงบอกว่าคนเสนอเป็นพวกสุดโต่ง หรือจริงๆ แล้วคนที่ด่านั้นล้าหลังเกินไปกันแน่ หรือว่าคนที่ด่าต้องการจะฉุดรั้งไม่ให้ประเทศนี้ได้ขยับไปไหนเลยกันแน่ เราอยากจะให้ทุกคนตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน 

“สมมุติว่าเราต้องรอให้ประเทศพร้อมกว่านี้ รอให้ทุกคนพร้อมกว่านี้แล้วค่อยทำ สุดท้ายเราก็เหมือนย้อนกลับไปยังระบบเก่า ไม่มีคำว่าพร้อมก่อนแล้วค่อยทำหรอก ต้องมีคนเริ่มทำ เริ่มปักธงทางความคิดแล้วลงพื้นที่ทำงานกับคนไปเรื่อยๆ เมื่อนั้นสังคมจะพร้อมเอง 

“เรารอไม่ได้ ความเจริญรอไม่ได้ พวกเรารอกันมาหลายทศวรรษแล้ว ไม่ใช่แค่ทศวรรษนี้ที่เป็นทศวรรษที่สูญหาย เราว่ามันเกิดขึ้นตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 2475 ที่ไม่สามารถเอาอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง นี่คือเวลาที่เราต้องเสียไปไม่ใช่แค่ 10 ปี กับประยุทธ์จันทร์โอชา”

จะพยายามให้เต็มที่

“จริงๆ เราไม่เคยมีความคิดว่าอยากเป็นนักการเมือง ภาพนักการเมืองในชุดความคิดของเรากับอีกหลายคนคือต้องเป็นลูกท่านหลานเธอ คนรวยมาจากตระกูลการเมือง มาจากชนชั้นนำ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราก็ไม่ได้เหมาะ เป็นอาชีพที่ไม่ได้อยากทำ จนเกิดเป็นอนาคตใหม่และเกิดมาเป็นก้าวไกล ตอนแรกเราก็เป็นแค่สมาชิกเฉยๆ ไม่ได้คิดอยากจะเข้าไปลงสนาม แต่ว่าจุดเปลี่ยนแปลงคือการที่เราไปม็อบ แล้วเราโดนคดี”

รักชนกเล่าย้อนไปถึงตอนที่เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นประชาชนที่สนใจการเมือง เข้าร่วมการชุมนุม โดนคดีจากการพูดถึงเผด็จการ เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เราอยากจะพูดความจริงในสังคม ที่เราอยากจะพูดแทนคนอื่นที่เขาคิดเหมือนเราแต่ไม่กล้าพูดออกมาด้วยข้อจำกัดต่างๆ 

แล้วเปลี่ยนมาสู่การเป็นกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสาร และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อที่จะเอาสำนวนในกรรมาธิการไปประกอบในศาล เพราะไม่เคยมีสื่อมวลชนฟ้องประชาชนมาก่อน ไม่ว่าจะประเทศโลกไหนก็ตาม ก่อนจะกลายเป็นผู้สมัคร ส.ส. และสุดท้ายได้ทำงานการเมืองแบบเต็มตัวจริงๆ  

“หลังจากที่เราได้เข้าไปทำงานในกรรมาธิการ เราเห็นกระบวนการที่จะแก้ไขปัญหาบางเรื่องอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ด่าเฉยๆ เราเลยเริ่มเอาเรื่องของคนที่เดือดร้อน คนที่เรารู้จัก เรื่องตลาดนัดจตุจักร เรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพในที่ชุมนุม หรือเรื่องจิปาถะต่างๆ ที่พอจะเข้ากรรมาธิการได้ เราก็เอาเข้ามา แล้วก็เกิดการแก้ไข เรียกผู้เกี่ยวข้องมาแล้วตั้งวงคุยแล้วหาแนวร่วม เราก็รู้สึกว่าหรือว่าลองดูดี เรารู้สึกว่าถ้าก้าวไกลให้คนธรรมดาทำงานการเมืองได้ ทำไมเราไม่ลองดู เราก็เลยยื่นใบสมัคร แจกพ็อตพอดีคือว่าที่ผู้สมัครในเขตบางบอนเขาลาออกไปด้วยเหตุผลส่วนตัว เราก็เลยได้มาลงในเขตนี้ 

“หน้าที่ของ ส.ส. คือด้านนิติบัญญัติ แต่สิ่งที่เราเจอหน้างานคือเราจะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนไว้ใจ ในมุมไอซ์ ส.ส. คืออาชีพที่ตอบสนองต่อความต้องการของพ่อแม่พี่น้องประชาชน ครอบคลุมทุกอย่าง การเมือง เศรษฐกิจ ปากท้อง น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ทางไม่สะดวก หมายถึงทุกอย่างในชีวิตของเขา เราก็จะต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าคุณคือผู้แทนที่ดีของเขา 

“มันไม่ใช่แค่การบอกว่า ขอโทษนะคะคุณน้า หนูทำเรื่องนี้ให้คุณน้าไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. แต่เราจะต้องบริหารความสัมพันธ์กับคนในเขตด้วย ไม่ใช่ว่าพอประชาชนเลือกมาแล้วก็ตัดขาดเขาไปเลย แต่เราจะต้องทำงานทางความคิดต่อ ให้คนในพื้นที่เข้าใจและเห็นด้วยกับนโยบายหรือจุดยืนของเรา บางจุดเราไม่สามารถที่จะยืนอยู่อีกฝั่งแล้วพูดว่าจะทำแค่งานนิติบัญญัติ เพราะสุดท้ายแล้ว หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดคือให้คนที่เขาเคยไม่สนับสนุนนำมาสนับสนุนเราด้วยเหมือนกัน

“เวลาเราเป็นประชาชน เราไม่ต้องประนีประนอมกับใคร เราก็คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ใส่ได้แหลก ฟาดหน้าแหกให้หมด แต่พอเรามาเป็นนักการเมือง เราใส่หมวกพรรค ใส่หมวกคนที่ลงคะแนนให้เรามา 47,000 คน ดังนั้นเราต้องประนีประนอมกับตัวเองในอดีต ว่าการที่คุณจะเป็นผู้แทนที่คนเขาจะเลือกคุณเข้ามาแล้ว คุณจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ผิดหวังที่เขาเลือกคุณมา ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเราเป็นผู้แทนที่สมศักดิ์ศรีของคนในเขตนี้ 

“จริงๆ เราก็อยากให้สังคมนี้ขับเคลื่อนด้วยการด่า แต่ต้องไม่ใช่ตัวเราแล้วที่เป็นคนด่า ให้คนอื่นมาด่าเราแทน ในฐานะนักการเมือง เราคิดว่าส่วนที่สำคัญอย่างมากเลย คือประชาชนเขาต้องตำหนิเราได้ เขาอยากได้อะไรแล้วเราไม่ทำให้ เขาต้องว่าได้ เราเคยสัญญาอะไรไว้ก่อนการเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งเขาต้องมาทวงได้ ถ้าตอบสนองความต้องการของเขาไม่ได้ เขาก็ต้องด่าเรา ประเทศยังคงขับเคลื่อนด้วยการด่าเหมือนเดิม แต่ว่าไม่ใช่นักการเมืองแล้ว ต้องเป็นประชาชนที่ต้องมาเรียกร้องกับนักการเมือง”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า