fbpx

“เดินหน้าสู่ถอยหลัง” ภาพความเสื่อมถอยของรัฐธรรมนูญ ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ถึง 2560

นับตั้งแต่ พ.ศ.2540 ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต่อมาได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือที่มีชื่อเล่นว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”  ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อเพิ่มการตรวจสอบรัฐบาล สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง จนกระทั่งมีการรัฐประหารในช่วง 2 ทศวรรษ คือในเดือนกันยายน 2549 และเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งแต่ละครั้งได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ คือรัฐธรรมนูญ 2550 และ รัฐธรรมนูญ 2560 ตามลำดับ 

ความเหมือนๆ กันของรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 คือ การที่สมาชิกวุฒิสภาได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองอย่างมาก ทั้งในการตรวจสอบผ่านร่างกฎหมาย และการแต่งตั้งองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น

โดยในรัฐธรรมนูญ 2550 มีสมาชิกวุฒิสภา 150 คน จะเป็นสัดส่วนจากการเลือกตั้ง 50% ของวุฒิสภา และอีก 50% มาจากการแต่งตั้งสรรหาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (75 คน) 

แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีสมาชิกวุฒิสภา 200 คน แต่ให้มีสมาชิก 250 คน ตามวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญ โดยให้มีบทบัญญัติดำรงตำแหน่ง 5 ปี และมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดยได้รับการคัดเลือกสรรหาตามสาขาอาชีพ จากคณะสรรหา ซึ่งก็มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกทีหนึ่ง และความพิเศษ (หรือพิสดาร) ของรัฐธรรมนูญนี้ก็คือ การที่สมาชิกวุฒิสภาสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยใช้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา แต่เคยมีแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยภายในรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภาสามารถที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังสามารถผ่านโหวตพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำได้ 

ตัวอย่างเช่น ในสมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จากการสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา 225 คน และเสียงจาก ส.ส. อีก 86 คน จากพรรคเสรีธรรม (21 คน) พรรคชาติประชาชน (13 คน) พรรคพลังใหม่ (8 คน) พรรคกิจประชาธิปไตย (4 คน) และ ส.ส. อิสระไม่สังกัดกลุ่มการเมือง และในภายหลัง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ขอลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และส่งไม้ต่อให้กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

ผลคือการถอยหลังที่น่าหวาดกลัวของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่แทบจะถอยหลังกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และความไม่ยึดโยงของรัฐธรรมนูญที่มีต่อประชาชนและระบอบประชาธิปไตย เป็นเพียงรัฐธรรมนูญที่ต้องการทำให้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมสามารถคงอยู่ได้ แม้จะเปลี่ยนให้มีการเลือกตั้งก็ตาม 

การเลือกนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 ถึง 2560

  1. พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (2544-2549) (เลือกตั้ง) พรรคไทยรักไทย ได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นจำนวน 340 คน จากพรรคไทยรักไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย ก่อนที่ในปี 2548 พรรคไทยรักไทยจะสามารถชนะได้ที่นั่งในสภาถึง 377 ที่นั่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และโหวตให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกอีกสมัย ก่อนที่ในภายหลังจะมีการกดดันและประท้วงจากนอกสภา ในเรื่องการของคอร์รัปชั่น การครอบงำสื่อและองค์กรอิสระ จนนำไปสู่การยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ แต่เกิดการบอยคอตการเลือกตั้งจากพรรคฝ่ายค้าน ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549
  2. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (2549) (แต่งตั้ง) (คปค.) หลังจากการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้มีการเชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
  3. สมัคร สุนทรเวช (2550-2551) (เลือกตั้ง) พรรคพลังประชาชน หลังจากการถวายรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมือง 6 พรรค รวมทั้งสิ้น 310 เสียง แต่จากเหตุการณ์ที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้จัดรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยงหกโมงเช้า ทำให้ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์การเป็นนายกรัฐมนตรี
  4. สมชาย วงศ์สวัสดิ์  (2551) (โหวตเลือกในสภา) พรรคพลังประชาชน ผลจากการโดนตัดสิทธิ์ของนายสมัคร สุนทรเวช ทำให้มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 กันยายน 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 298 เสียง แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองโดยการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อนประชาธิปไตย และการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี  
  5. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551-2554) (โหวตเลือกในสภา) พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากการยุบพรรคพลังประชาชน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ทำให้ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผลคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 235 คะแนน โดยเสียงส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ และกลุ่มคณะบางส่วนที่ออกมาหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ในช่วงสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงปี 2552 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมนองเลือดในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 นำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 
  6. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2554-2557) (เลือกตั้ง) พรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทยและอีก 5 พรรค ได้ส่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 296 เสียง ในช่วงดำรงตำแหน่ง มีการพยายามผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มองว่า เป็นการฟอกขาวนายทักษิณ ชินวัตร จนเกิดการต่อต้านทั้งจาก ส.ส. และ ส.ว. ทำให้ร่างกฎหมายถูกยับยั้ง 180 วัน และการโจมตีกรณีโครงการรับจำนำข้าว บวกกับการโจมตีตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงความไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยมีกลุ่มดารานักแสดงและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก การชุมนุมดังกล่าวส่งผลให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ได้ส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การชุมนุมที่รุนแรงมากขึ้นทำให้มีการประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557
  7. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557-2566)  (รัฐประหาร) (เลือกตั้ง) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีความพยายามในการเจรจาเพื่อหาทางออกทางการเมือง ในสโมสรทหารบก แต่การเจรจาล้มเหลว ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ตัดสินใจทำรัฐประหาร และจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติขึ้น ต่อมาได้มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และสภานิติบัญญัติได้เลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการวางแผนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มสาขาอาชีพ โดยใช้ชื่อ “ส.ว. พลเมือง” แต่ในความเป็นจริง เป็นกลุ่ม ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านกลุ่มคณะสรรหาอีกทีหนึ่ง ในส่วนของการดำรงตำแหน่งฯ ก็มีการแต่งเพลงเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ การสร้างค่านิยม 12 ประการ การจัดรายการคืนความสุขให้คนในชาติทุกวันศุกร์ 

จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 มีการเลือกตั้งในปี 2562 โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรวมเสียงจากสภาผู้แทนราษฏร 251 เสียง มีพรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียง พรรคภูมิใจไทย 50 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา  3 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และพรรคเล็ก (มีสมาชิกพรรคละ 1 คน) อีก 11 พรรค และสมาชิกวุฒิสภาอีก 249 เสียง รวมเป็น 500 เสียง โดยทาง ส.ว. ได้ให้เหตุผลเหมือนๆ กันว่า ฝั่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร คือ 250 เสียง และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 

มาถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค รวมได้ 312 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้ส่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หากเป็นระบบการเมืองปกติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้เลยโดยไม่ต้องสงสัย แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี โอกาสที่นายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น แทบไม่สามารถคาดเดาได้เลย 

หากสมาชิกวุฒิสภาใช้แนวคิดเดิมที่ว่า หากพรรคการเมืองสามารถรวมเสียงในสภาได้เกินครึ่งหนึ่งของสภา ส.ว. จะโหวตให้ ซึ่งถ้ามองแบบนี้ นายพิธาก็มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จากกรณีที่ ส.ว. หลายคนมองว่า พรรคก้าวไกลพยายามที่จะผลักดันการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้มี ส.ว. บางส่วนออกมาแสดงตัวว่าจะไม่โหวตให้นายพิธา แต่ก็มีบางส่วนที่จะโหวตให้นายพิธา โดยใช้กรณีของเสียงข้างมากและเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถเดินต่อไปได้

“ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบใด สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเปลี่ยนฉากทัศน์ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

ข้อมูล : nationtv / workpointtoday 1 2 / thaipbs / parliamentmuseum 1 2 3 / wikipedia 1 2 3 / wiki.kpi 1 2 / Youtube

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า