fbpx

เมื่อทุกอาชีพก็มีความเห็น ทำอย่างไรให้พื้นมีที่เท่ากัน

Partnership with Thailand Talks 2022


เดิมทีเจอโจทย์แบบนี้แล้ว ผู้เขียนเกิดความรู้สึกหนักใจที่จะต้องเขียนเรื่องราวในตอนนี้ เพราะด้วยคำว่า “ทุกอาชีพ” ผู้เขียนคงจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนทุกอาชีพ แล้วมาเขียนบอกเล่าอธิบายแทนใครอาชีพใดๆได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อโจทย์นี้มีคำถามต่อว่า “ทำอย่างไรให้พื้นที่เท่ากัน” ผู้เขียนจึงเริ่มเห็นวัตถุประสงค์ของบทความตอนนี้ ผู้เขียนขอเริ่มต้นจากความเข้าใจที่ว่า พวกเราในสังคมต้องมีอาชีพ เมื่อมีอาชีพก็มีเรื่องราวของการประกอบอาชีพ เรื่องราวต่างๆของคนทุกคนทุกอาชีพจึงมีความคิดเห็น มีเรื่องราวที่หลากหลายมิติ และจะทำอย่างไรให้ทุกความเห็นในแต่ละอาชีพได้มีพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราวให้เท่าๆกัน คำว่าเท่ากัน คือ มี=มี มีเรื่องราว ไม่เพียงแต่มีคนบอกเล่าเรื่องราว ไม่ใช่แค่มีคนรับรู้เรื่องราว แต่ทุกเรื่องราว จะต้องไม่ถูกตัดสินประเมินคุณค่าและให้โทษแก่เจ้าของเรื่องราว 

หลายคนก็คงจะคิดว่าก็เล่าไปสิ ไม่มีใครห้าม เขียนเรื่องราวลงเฟซบุ๊ค อัดคลิปลงโซเชียล ให้เกิดดราม่า เป็นที่วิพากย์วิจารณ์ แต่ใครจะการันตีได้ว่าเมื่อทำตามที่แนะนำแล้ว ผลที่ตามมาจะรับมืออย่างไร จะไม่ถูกประเมินคุณค่าหรือถูกตัดสินว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ถูกทัวร์ลง ไม่ถูกผลกระทบจากผู้ให้คุณให้โทษทางอาชีพการงาน ตรงนี้แหละครับที่ทำให้เกิดพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน เพราะเมื่อโดดเข้าไปในพื้นที่แล้วมันคือความไม่มั่นคงทางความรู้สึก ทางอาชีพ เดี๋ยวไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนจ้าง นอกจากนี้ผู้ใช้พื้นที่ที่ไม่มีความพร้อมให้คนพูดจากัน ยังสามารถให้โทษได้ ยิ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ได้เปรียบเพียงเพราะสถานะของการให้ความคิดเห็นเป็นผู้จ่ายเงิน ผู้ให้เช่าพื้นที่ ผู้ว่าจ้าง 

เขียนมาถึงตอนนี้เกิดคำว่า “เอ๊ะ” ขึ้นนมาในความคิดว่า เอ๊ะ เพราะอะไรต้องถามหาวิธีการที่จะให้มีพื้นที่ล่ะ มันเกิดอะไรขึ้น ก็เมื่อถามหาพื้นที่ ที่อธิบายมาก็ถือได้ว่ามีพื้นที่แล้วนะ เล่าไปสิ แล้วก็ต้องยินดีที่จะรับผลกระทบด้วยสิ ผลกระทบที่อาชีพบางอาชีพอย่างพวกเธอไม่มีวันจะปลอดภัยและได้ชัยชนะในการมีปากเสียง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จงทำมาหากินอย่างเงียบๆพร้อมกับสงบปากสงบคำอย่ามีปัญหาเสียจะดีกว่า นี่แหละครับ พื้นที่ที่ไม่เท่ากันได้เกิดขึ้นแล้ว 

ผู้ซื้อ : แม่ค้า กุ้งอบวุ่นเส้นตัวโตจัง ราคาเท่าไรล่ะ
ผู้ขาย : 100 บาทจ้า 
ผู้ซื้อ : แพงจัง วุ้นเส้นราคาถูกจะตาย แค่เอาไปอบกับเึรื่องปรุงใส่กุ้งลงไปเอง จะซื้อไปใส่บาตรให้พระ ลดหน่อยนะ เอาบุญด้วยกัน
ผู้ขาย : คนเมื่อกี้หลวงพี่ให้เด็กวัดซื้อไปแล้วจ้า เด็กวัดบอกว่านี่คือบุญที่เกิดจากการทำอาหารดีๆมาขายจ้า วันนี้ได้บุญแล้ว ขอกำไรจากรายได้แล้วกันนะ
ผู้ซื้อ : ไม่ลดก็อย่ามาต่อล้อต่อเถียง ลูกค้าคือพระเจ้า ท่องเอาไว้
ผู้ขาย : ถ้าพระเจ้าเสกกินเองไม่ได้ ก็ต้องซื้อ อย่ามาต่อราคา 
ผู้ซื้อ : โพสท์ลงโซเชียล ทั้งถูกประนาม ทั้งมีคนเชียร์
ผู้ขาย : ทัวร์ลง ทั้งขายดีกว่าเดิม ทั้งโดนประนาม 
ทั้งผู้ซื้อ ทั้งผู้ขาย ได้ออกรายการทีวี : อุ้ย เรื่องราวชักไปกันใหญ่ 

อาชีพอิสระที่ไม่อิสระ 

อาชีพบริการ อาชีพค้าขาย คืออาชีพที่ผู้เขียนยังมีความเชื่อว่าเป็นอาชีพที่มีพื้นที่ไม่เท่ากับผู้ใช้บริการ เรื่องแรกคือ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะความคิดเห็นที่เกี่ยวกับผู้รับบริการ ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ ที่มักจะสร้างความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาว่า ถูกกดขี่ ดูถูก ความรู้น้อย เป็นคนระดับล่าง และด้วยค่านิยมที่สะกดผู้ประกอบอาชีพให้บริการทุกคนเชื่อว่า “ลูกค้า คือ พระเจ้า” สิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพให้บริการทุกคนทำได้คือ สงบปาก สงบคำ ทำงานให้ผ่านวันพ้นวันจนกว่าจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้รับบริการ หรือเจ้าของกิจการ  

ตัวอย่าง เช่น ผู้ค้าถูกต่อรองราคาสินค้า ถ้าไม่ลดราคาให้ลูกค้าก็จะไม่ซื้อ แต่เมื่อลดให้กำไรที่ได้ก็จะเหลือน้อยไม่คุ้มค่าแรง จะโพสท์ลง Social Media เพื่อสร้างความเข้าใจ ก็ถูกตัดสินด้วยมุมมองค่านิยมที่ผู้ซื้อมักจะอยู่เหนือกว่าด้วยค่านิยม “ลูกค้าคือพระเจ้า”  

ผู้อ่านคงพอจะเข้าใจแล้วนะครับว่า ในบางอาชีพมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม และด้วยคุณลักษณะของอาชีพ ความไม่เท่ากันที่จะใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การปลดล็อคค่านิยมบางอย่าง เพื่อเพาะบ่มความเป็นคนที่เท่ากัน จึงเป็นประตูนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจที่จะใช้พื้นที่ที่เท่ากัน คำว่าเท่ากันในที่นี้คงจะไม่ใช่แค่มีพื้นที่ให้พูดคุยแล้วฝ่ายใดฝ่้ายหนึ่งเป็นผู้ถือครองความถูกต้อง ผูกขาดการให้คุณให้โทษ แต่ผู้ที่เข้าไปใช้พื้นที่มีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการคิด มีวิวัฒนาการในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นธรรม ตามค่านิยม วัฒนธรรมประเพณี กติกาที่มีการเปลี่ยนแปลงให้สมยุคสมัย 

ในหลายเรื่องราว พื้นที่ปลอดภัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคม ค่านิยมบางอย่าง เช่น “ลูกค้าคือพระเจ้า” “ลูกค้าถูกเสมอ ต่อให้พนักงานขายรองเท้าจะให้บริการถึงขนาดย่อตัวลงกับพื้นเพื่อสวมรองเท้าให้ลูกค้าได้ทดลองสวมใส่ก่อนตัดสินใจซื้อ เมื่อมีปากเสียงกันด้วยเรื่องของเงื่อนไขที่ไม่ลงตัว ผู้อ่านคิดว่าผลกระทบเกิดขึ้นกับฝ่ายใด ผู้อ่านเห็นเหมือนผู้เขียนไหมครับ ผู้ซื้อแค่เดินออกไปจากร้าน แต่ผู้ขาย แบรนด์สินค้า พื้นที่เช่าขาย ยังถกเถียงกันเรื่องค่าเช้าพื้นที่ แบรนด์ถูกโพสท์ประจานบนโซเชียลไปแล้ว ผู้ขายโดนตำหนิที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ฯลฯ

ใครต้องทำและทำอย่างไร เพือให้มีพื้นที่เท่ากัน 

อย่างแรกเลย เจ้าของเรื่องราวในทุกอาชีพต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม เจ้าของเรื่องราวในที่นี้คือทั้งผู้ขาย ผู้รับจ้าง ผูซื้อ ผู้ว่าจ้าง 

ผู้ขาย ผู้รับจ้าง พยายามเข้าใจคนซื้อ พวกเขาต้องซื้อเพื่อตนเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อผู้ค้าขายที่เป็นคนในสังคมเดียวกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบฉกฉวยโอกาสเก็งกำไร ผู้ขายต้องเข้าใจตนเอง ว่าทำมาค้าขายหรือรับจ้างเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวเช่นกัน ดังนั้นวิธีคิดในการกำหนดราคา ต้องมีความเป็นธรรมกับผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อมีความคิดเห็นก็ต้องรับฟัง และเรียนรู้ผลกระทบ ปรับปรุงไปตามสมควร

คนซื้อ คนจ้าง ก็ต้องเข้าใจคนขายด้วยเช่นกัน ว่าต้องการกำไรส่วนต่างจากต้นทุน เพื่อใช้จ่ายดำเนินชีวิต และจุนเจือครอบครัว และสินค้าบางอย่าง การจ้างงานกับใครบางคน คือการอำนวยความสะดวกให้แก่ตนเมื่อผู้ขาย ผู้รับจ้าง มีความคิดเห็นก็ต้องรับฟังเพื่อความเข้าอกเข้าใจ ท้ายที่สุดคือการตัดสินว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ จะจ้างหรือไม่จ้าง บนพื้นฐานการคิดที่เข้าใจทั้งตนเองและเข้าใจผู้ขาย เข้าใจผู้รับจ้าง 

โครงสร้างทางสังคมเป็นเครื่องมือกำหนดพื้นที่ปลอดภัย 

โครงสร้างทางสังคมเป็นเรื่องของนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่นำไปสู่เรื่องราวที่จับต้องได้ โครงสร้างทางสังคมประกอบด้วย กฎกติกาของสังคม ไม่ว่าจะเป็นศิลธรรม จริยธรรม คุณธรรม จารีต วัฒนธรรม ประเพณี และที่สำคัญคือ กฎหมาย 

  1. การปลูกฝังค่านิยม ซื้อของ จัดจ้าง ไม่ต่อราคา ถ้าซื้อไม่ได้ ไม่พร้อมจ่าย หรือเห็นว่าแพงก็ไม่ต้องซื้อ นี่ไม่ใช่การประชดประชัน แต่เป็นการเคารพผู้ค้าขาย เคารพผู้รับจ้าง นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องที่ผู้ขาย ผู้รับจ้างจะเรียนรู้ผลกระทบต่อไป 
  2. โครงสร้างสังคมทางการค้า กฎหมาย กำหนดว่าผู้ขาย ผู้รับจ้าง จะมีผลกำไรคิดเป็นร้อยละเท่าไรของต้นทุน นี่คือวิธีคิดค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กัน ไม่ใช่ซื้อมา 300 บาท กำหนดให้ขาย 300 บาทก็ไม่สัมพันธ์กัน ค่าแรงก็ไม่ได้ ค่าใช้จ่ายยานพาหนะที่ไปซื้อ ค่าพื้นที่ขาย ภาษี ค่ากิน ถูกต่อราคาให้ต่ำกว่าต้นทุน แบบนี้ไม่สัมพันธ์กัน
  3. ค่านิยมทางสังคม ต้องเข้าใจร่วมกันว่าการมีพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงกัน ไม่ใช่ความแตกแยก ไม่ใช่การตัดสินว่าฝ่ายไหนแพ้ ฝ่ายไหนชนะ  แต่เป็นไปเพื่อการรับรู้เรื่องราวความเป็นไปของสังคมในด้านการประกอบอาชีพ และอยู่ร่วมกันบนกติกาอย่างลงตัวและเป็นธรรม 

จะเห็นได้ว่า “คำว่าพื้นที่” ไม่ใช่แค่เรื่องของอาณาเขตที่วัดผลได้เป็น เมตร เป็นวา เป็นคืบ หรือค่าตัวเลขทางคณิตศาสตร์ แล้วตัดสินว่าเท่ากันหรือไม่เท่ากัน แต่กลับเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องในการประกอบอาชีพจะให้ความคิดเห็นต่อเรื่องราวการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัย ทั้งปลอดภัยจากการประเมินค่าตีตราตนเอง และ ปลอดภัยจากสังคมที่จะบอกว่าอาชีพไหนมีคุณค่าต่ำต้อย ควรถูกกระทำอย่างไรก็ได้ หรืออาชีพไหนสูงส่งจะล่วงเกินมิได้ ต้องเป็นไปตามความพึงพอใจที่ไม่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตทางการประกอบอาชีพอย่างมีเหตุเป็นผล 

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่าน อ่านมาถึงตอนนี้ คงจะเห็นมิติความทับซ้อนเรื่องราวของหลายๆอาชีพมากขึ้น ทั้งมิติของผู้ขาย ผู้รับจ้าง ผู้ซื้อ ผู้ว่าจ้าง ทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์กร วรรณทางอาชีพ ที่ยังคงจะดำเนินไปอาจจะเปลี่ยนแปลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง 

ไม่ใช่เรื่องผิดที่หลากเรื่องราวในสังคมจะยังไม่อาจตัดสินให้ฝ่ายใดถูก หรือฝ่ายใดผิด หรือตัดสินไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใด เพราะการที่สังคมจะไม่ตัดสินเรื่องราวการประกอบอาชีพของผู้อื่นเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ผู้เฝ้ามอง กับ เจ้าของเรื่องราวจะมีวิถีที่อยู่คนละบริบท เหมือนกับพวกเราดูละคร คงจะมีเพียงเจ้าของเรื่องราวที่ประกอบอาชีพก็ยังต้องตัดสินใจเลือกทิศทางของตนเอง ไม่ว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงไรก็ใช่ว่าจะใช้วิธีการเดิมๆ บางครั้งอาจจะผิด บางครั้งอาจจะถูก ก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ 

นี่แหละครับ พื้นที่ที่เท่ากัน มีเจ้าของเรื่องราวที่จะตัดสินเรื่องราวของตนเอง เรียนรู้ผลกระทบจากการตัดสินการกระทำที่แตกต่างกันไป คิดผิดเริ่มทำในสิ่งใหม่ใหม่ มีผู้เฝ้าดูเรื่องราวที่ไม่เข้าไปตัดสินเรื่องราวของพวกเขา แต่…เมื่อเรื่องราวเกิดขึ้นกับตนเอง ก็จะมีวิถีที่เหมาะสมกับตนเอง ในแบบที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากเรื่องราวที่เคยอ่าน เคยได้ยิน รถมาแล้ว ผู้เขียนต้องไปแล้วนะครับ

ผู้เขียน : แท็กซี่ ไปเยาวราช
แท็กซี่ : ไม่กดมิเตอร์นะ รถติด ไม่คุ้มอ่ะ 
ผู้เขียน : ผิดกฎหมายนะครับ ไม่รับผู้โดยสาร ไม่กดมิเตอร์ 
แท็กซี่ : อย่ามาหัวหมอ …. พร้อมเลื่อนรถออกไป 
ผู้เขียน : เดี๋ยวค่อยไปเขียนประนาม ……. (ได้หรอ) 
ผู้อ่าน : ได้สิ พื้นที่เท่ากันแล้วไง ??????? 
ผู้เขียน : ส่วนพื้นที่ของแท็กซี่ ก็คือ หนังสือพิมพ์ โซเชียลมีเดีย กล้าไหมล่ะ   

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า