fbpx

พีระพันธุ์ รับ 5 ข้อเสนอ แก้ปัญหาค่าไฟแพง หลังเครือข่ายองค์กร ประชาชน ลงนามผ่านแคมเปญ #ค่าไฟต้องแฟร์

17 ตุลาคม 2566 เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม อันประกอบไปด้วยหลายองค์กรพันธมิตร เช่นสภาองค์กรของผู้บริโภค, SDG Move, Fair Finance Thailand, กรีนพีซ ประเทศไทย, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ฯลฯ  ได้เข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือเรื่องปัญหาพลังงานที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่แพงอย่างก้าวกระโดด และนำ 6,323 รายชื่อประชาชน พร้อมเสียงสนับสนุนจาก 172 องค์กร ที่ลงนามผ่านแคมเปญ #ค่าไฟต้องแฟร์  บน https://www.energy-justice-thailand.com/ เข้ายื่นต่อนายพีระพันธุ์ ณ ทำเนียบรัฐบาล  อีกทั้งนำข้อเสนอทางนโยบาย 5 ข้อ หนุนรัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าไฟเชิงโครงสร้าง มากกว่าแค่ใช้เงินอุดหนุนหรือพยุงราคาเป็นครั้งคราว เข้าหารือ

ค่าไฟฟ้าจะลดได้ถึงปีละ 40,000 – 80,000 ล้านบาท ถ้าปรับโครงสร้างราคาก๊าซ

หนึ่งในข้อเสนอทางนโยบาย  รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค  กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่ควรเกิดขึ้นทันที คือการหยุดเซ็นต์สัญญาแบบ PPA กับโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งสัญญานี้จะผูกมัดยาวนานราว 20-30 ปี และทันทีที่เซ็นต์สัญญา จะเกิด “ค่าความพร้อมจ่าย” ทันที ซึ่งจะถูกผนวกรวมในค่า FT ของบิลค่าไฟประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ไทยจะมีไฟฟ้าสำรองมากกว่าค่ามาตรฐานจนโรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องหยุดเดินเครื่อง เพราะผลิตไปไฟก็ล้น แต่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นกลับได้รับเงินจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

“สิ่งที่ตามมาจากการเซ็นต์สัญญา PPA เพิ่ม จะทำให้กำลังผลิตสำรองสูงขึ้นไปอีก กลายเป็นภาระค่าพร้อมจ่ายในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนในครัวเรือน” 

อีกหนึ่งในข้อเสนอฯ คือการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ เนื่องจากไฟฟ้าของประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 50 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ แต่โครงสร้างราคาก๊าซกลับไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนอย่างไม่น่าเชื่อ

“เรามีก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งเป็นก๊าซที่เรามีปริมาณมากและราคาถูกกว่าแหล่งก๊าซอื่น แต่เรานำก๊าซอ่าวไทยไปจัดสรรให้กลุ่มปิโตรเคมีก่อน ส่วนการผลิตไฟฟ้าสำหรับประชาชนเรานำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ซึ่งอิงราคาพูลก๊าซสากล โดยไม่นำก๊าซอ่าวไทยมารวมในต้นทุนผลิตไฟฟ้า ทำให้ราคาก๊าซที่เรานำมาผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนของประชาชนสูงเกินจริง”

เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้ประกาศลดค่าไฟลงไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับค่าใช้จ่ายส่วนต่างนี้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้จ่ายเงินคืนให้กฟผ. ย่อมไม่ใช่ใครนอกจากประชาชน  และด้วยโครงสร้างราคาก๊าซ ค่าไฟแพงและไม่แฟร์คือสิ่งที่จ่อรออยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ในอนาคตการนำเข้าก๊าซ LNG หน่วยท้ายๆ อาจทำให้ค่าไฟสูงถึง 8 บาท ดังนั้นเราจึงควรปรับโครงสร้างนำก๊าซในอ่าวไทยมาคิดเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าก่อน แล้วค่อยให้กลุ่มของปิโตรเคมีใช้ราคาพูลก๊าซเดียวกันกับที่การไฟฟ้าฯ ต้องใช้ จะทำให้ลดค่าไฟได้ถึงปีละ 40,000 – 80,000 ล้านบาท” ชาลีกล่าว

ปล่อยให้แสงแดดแบ่งเบาภาระค่าไฟด้วย  Net-Metering 

ท่ามกลางโฆษณาโซลาร์เซลล์มากมาย มีสิ่งหนึ่งที่คนไทยผู้อยากก้าวเข้าสู่วงการโซลาร์เซลล์ยังขาดอยู่ และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การติดโซลาร์เซลล์คุ้มค่านั่นคือระบบการคิดไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net-Metering 

“ปัญหาของการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาคือสุดท้ายเมื่อติดเรียบร้อย ไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ เช่นในช่วงกลางวัน เราอาจจะต้องปล่อยให้ไหลทิ้งฟรีๆ หรืออาจหยุดผลิตไป ทำให้เสียทรัพยากรและความคุ้มทุนไปโดยใช่เหตุ ดังนั้นถ้าทางท่านรัฐมนตรีจะช่วยสร้างระบบ Net Metering ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย จะทำให้ประชาชนสามารถฝากไฟฟ้าไว้ได้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการ และนำไฟฟ้าถอนกลับมาใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ก็จะทำให้การผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” ชาลีกล่าว 

ชาลีกล่าวว่า Net Metering ไม่เพียงทำให้ประเทศไทยเกิดปลดล็อคการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างกว้างขวาง การผลิตไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลลดน้อยลง แต่ยังทำให้ค่าไฟถูกลงได้อีกด้วย

“ดังที่เราทราบกันดีว่า ในอนาคตไฟฟ้าจากก๊าซ LNG หน่วยท้ายๆ จะมีราคาแพง แต่ถ้าเรามีแสงอาทิตย์เข้ามาเสริม ส่วนลดที่เกิดจากการใช้ก๊าซ  LNG และส่วนที่เราเพิ่มจากการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สามารถหักล้างกันไปได้ จนท้ายที่สุด เมื่อติดโซลาร์เซลล์มากยิ่งขึ้น ค่าไฟโดยรวมจะถูกลง”

ชวนจับตาแผนพลังงานฟอสซิลฉบับใหม่ หากประชาชนไม่มีส่วนร่วมค่าไฟไม่มีวันแฟร์ 

เร็วๆ นี้กระทรวงพลังงานกำลังจะนำแผนพลังงานชาติ (PDP) ออกสู่สาธารณะ เพื่อขอการประชาพิจารณ์จากประชาชน ซึ่งการจัดทำแผนพลังงานชาติฉบับล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้เกิดความผิดปกติกับแผนดังกล่าว กล่าวคือไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือกระทั่งเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม จึงได้เน้นย้ำกับนายพีรพันธุ์ว่าแผนฉบับนี้ควรประชาชนควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมและปรับปรุง อีกทั้งภาคประชาชนยังได้ทำแผนพลังงานชาติของภาคประชาชนที่เรียกว่า Green PDP ซึ่งเป็นแผนที่นำไปสู่การเป็นประเทศปลอดคาร์บอน ซึ่งเครือข่ายฯ อยากให้แผนของรัฐบาลนำไปสู่เป้าหมายนั้นเช่นเดียวกัน

“อีกข้อเสนอหนึ่งของพวกเรา คือการพัฒนาระยะยาวให้ประเทศไทยมีตลาดพลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบที่สามารถรองรับพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนให้ได้มากยิ่งขึ้นนะครับ เช่น หากมีโรงงานอุตสาหกรรมอยากส่งสินค้าไปขายที่ยุโรปและต้องการลดคาร์บอนฟรุตปรินท์เพื่อไม่ให้โดนกำแพงภาษี 4 แบบ ท้ายที่สุดแล้วเขาต้องการแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตสินค้า ถ้าเราเปิดให้กริดส่วนกลางซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าโดยตรงเหล่านั้นได้ โอกาสในการแข่งขันก็จะสูงขึ้น” ชาลีกล่าวถึงโมเดลหนึ่งของตลาดพลังงานไฟฟ้าจากหลายโมเดลที่เป็นไปได้ ซึ่งเพียงแค่เราไปประเทศใกล้ๆ อย่างเวียดนามเราก็จะพบความหลากหลายนี้

พีรพันธุ์ รับรู้ปัญหาแล้วกว่า 90% ก่อนประชาชนเข้าพบ

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  หลังรับฟังข้อเสนอทางนโยบายทั้งหมดแล้วกล่าวว่า “ผมอยากเรียนว่าที่ท่านพูดมาทั้งหมด 90% ผมรู้อยู่แล้วและขณะนี้ผมกำลังดำเนินการหาทางแก้ไขอยู่ ผมเข้าใจหมด แต่ปัญหาคือโครงสร้างที่เราเห็นกันอยู่มันใช้มาตั้งแต่ผมอายุ 20 กว่าปี ตกทอดต่อเนื่องมาถึงวันนี้ ประเด็นหลายเรื่องที่ท่านพูดมาเป็นเรื่องกฎระเบียบ กฎหมาย ถ้าผมอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปีหลายเรื่องที่ท่านพูดท่านจะเห็นความเปลี่ยนแปลงแน่นอน” 

ทั้งนี้นายพีรพันธุ์กล่าวว่าตนได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหลายชุดเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในแนวทางกับที่ประชาชนเสนอไป และกล่าวว่าตนตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหา ขอให้ให้เวลาตน ส่งข้อมูลให้ตน และคอยดูผลงาน

#ค่าไฟต้องแฟร์ ทั้งต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

หลังเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลายคนบอกว่านี่คือสัญญาณที่ดี   วีรภัทร ฤทธาภิรมย์ นักรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ดีใจที่ท่านรัฐมนตรีตอบรับและบอกว่ารู้ปัญหาแล้วกว่า 90% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอีกสองประเด็นที่เราต้องการเรียกร้องมากที่สุดคือต้องการให้รัฐบาลปลดระวางถ่านหินให้ด่วนที่สุด และประกาศใช้ Net Metering ให้เร็วที่สุดตามจุดยืนที่เราได้ประกาศกับประชาคมโลก เพื่อจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ปัญหาค่าไฟไม่แฟร์นั้น ไม่เพียง ‘ไม่แฟร์’ ต่อกระเป๋าเงินคนไทยแต่ยังไม่แฟร์ต่อโลก ดังที่ชาลีกล่าวว่า Net-Zero เป็นไปไม่ได้จริงหากโครงสร้างพลังงานไม่เปลี่ยน  ส่วน กฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวถึงความกังวลเรื่องนี้ว่าปัญหาค่าไฟไม่แฟร์นั้นสัมพันธ์กับปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  “UN และ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ให้ความเห็นว่าแต่ละประเทศทำเรื่องแผนปรับลดก๊าซเรือนกระจกยังไม่พอ และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระร้อยละ 60 มาจากภาคพลังงานครับ ซึ่งในร้อยละ 60 นั้น ร้อยละ 30 มาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล ดังนั้นแผนพลังงานที่รัฐบาลเสนอในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นสัญญาณที่ดี แต่เราอยากทำให้ชัดเจนขึ้นนะครับว่า เราอยากเห็นการปลดระวางพลังงานฟอสซิลไปสู่ภาคพลังงานหมุนเวียน”

ร่วมผลักดันนโยบาย Net Metering ไปกับกรีนพีซ ประเทศไทย ที่ act.seasia.greenpeace.org

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า