fbpx

พัฒน์พงศ์มิวเซียม แหล่งบันทึกร่องรอยประวัติศาสตร์ และรอยแตกอารยธรรมโสเภณีที่เกือบสูญหาย

เมื่อ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ศบค.ได้มีมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟสที่ 5 และ ‘สถานบันเทิง’ ไม่ว่าจะผับ บาร์ ร้านอาหารกลางคืน ก็สามารถคลายแม่กุญแจและเปิดร้านได้เช่นกัน

ทีมงาน Modernist จึงได้หมุดหมาย และลงพื้นที่เพื่อจะเก็บภาพบรรยากาศของสถานบันเทิงต่างๆ บรรยากาศถนนบริเวณนั้น ว่าจะคึกคักเหมือนปกติ หรือว่าจะเหี่ยวเฉาไร้ชีวิตชีวากันไป

แต่อย่างไรก็ดี หากพูดถึงสถานบันเทิงเลื่องชื่อ และเนืองแน่นไปด้วยผู้คนก็คงหนีไม่พ้น ‘ย่านพัฒน์พงศ์’ ย่านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสงครามโลก จุดศูนย์รวมของธุรกิจและการค้า กระทั่งพัฒนามาเป็นสถานที่ให้ ‘ความบันเทิง’ แก่นักท่องเที่ยวทั้งขาประจำและขาจร

ซึ่งวันนี้เราไม่ได้จะพาเดินดูย่านพัฒน์พงศ์กันแบบธรรมดา แต่เราจะพาเจาะลึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของย่านและผู้คนโดยคร่าว ผ่าน ‘พัฒน์พงศ์มิวเซียม’ พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมร่องรอยประวัติศาสตร์และรอยแตกของอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ผังเมือง รูปถ่าย ป้ายสายการบิน กระทั่ง Pingpong Show!

หากมองผ่านๆ โดยไม่เห็นป้ายนีออนที่เขียนว่าพัฒน์พงศ์มิวเซียมบนตึก ผู้เขียนก็คงไม่ทราบว่าพื้นที่ตรงนี้จะมีพิพิธภัณฑ์ เพราะกว่าผู้เขียนจะเห็นว่ามี ก็ต้องเดินเข้าตึกเก่าๆ เหมือนในหนังหว่องกาไว เดินขึ้นไปอีกชั้น ถึงจะเห็นแววของพิพิธภัณฑ์อยู่บ้าง แม้พื้นที่ภายในของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้โอ่อ่ามากนัก แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้เขียนอย่างมาก จนเกือบลืมเข้าไปแนะนำตัวกับพี่ผู้จัดการก็คือ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เต็มไปด้วยชีวิตและอารย พ่วงไปกับการจำลองสถานที่จริงขึ้นผสมกับการออกแบบให้เข้ากับโครงสร้างของตึก

โถงแรกที่เราเดินเข้าไปถึง จะเป็นพื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวแรกเริ่มของย่านพัฒน์พงศ์ ตั้งแต่ที่ยังไม่มีตึกราบ้านช่อง แรกเริ่มที่หมายถึงที่ดินเปล่าไร้ร่องรอยของความทันสมัย ซึ่งในส่วนนี้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประวัติของ ‘หลวงพัฒน์พงศ์พานิช’ ผู้สร้างย่านพัฒน์พงศ์, แผนที่กรุงเทพใน พ.ศ.2431, โมเดลจำลองย่านพัฒน์พงศ์แต่ตั้งยุคที่ยังเป็นทุ่งนา, ประวัติของโคมแดงโคมเขียว กระทั่งภาพเคลื่อนไหวในยุครัชกาลที่

ขณะที่ผู้เขียนกำลังเพลิดเพลินไปกับร่องรอยประวัติศาสตร์ชุดแรก สายตามันก็เหลือบไปเห็นม่านทึบสีดำมีรูปกล้องถ่ายวิดิโอสกรีนอยู่บนนั้น ด้วยเซนส์อะไรสักอย่างก็รู้ทันทีว่าเป็นห้องฉายหนังแน่ๆ แต่น่าเสียดายที่เวลาค่อนข้างกระชั้นชิด ทำให้ต้องปฏิเสธใจตัวเองไป

แต่เมื่อหันหลังให้กับม่านทึบสีดำนั้นแล้ว เราก็จะพบกับโถงที่สอง ที่จะบอกเล่าถึงความเป็นจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจของพัฒน์พงศ์ และเราสามารถจะจินตนาการได้ถึงความใหญ่โตของพัฒน์พงศ์ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี รวมถึงการบอกเล่าความเกี่ยวพันระหว่างประไทย (สยามในตอนนั้น) กับสงครามโลกได้อีกด้วย

โซนต่อมาจะเป็นพัฒน์พงศ์ในยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งที่เราจะเห็นอย่างแรกเลยคือแปลนของย่านพัฒน์พงศ์แบบละเอียดยิบ! นอกจากจะสวยงามแล้ว มันยังบันทึกประวัติศาสตร์ของร้านต่างๆ ที่เคยมีอยู่และหายไปบนย่านพัฒน์พงศ์อีกด้วย หากมองด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ ก็เหมือนเราคือพระเจ้าที่กำลังเห็นคนล้มตายอย่างไรอย่างนั้น

ขณะเดียวกันมันก็ยังบันทึกวัฒนธรรมมหภาค (Mass Media) ไว้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นดารา ศิลปิน เพลงหรือภาพยนตร์ (มีคนกระซิบมาว่า David Bowie ชอบร้านนึงในพัฒน์พงศ์มาก) ทั้งยังเป็นฉากหลังให้กับภาพยนตร์ชื่อดังหลายๆ เรื่อง หากมองดูดีๆ เหมือนว่าย่านพัฒน์พงศ์ก็มีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่แข็งแรงและพิศวง เพราะด้วยไม่มีกฎหมายรองรับงานและพื้นที่ตรงนี้ ตำรวจมาทีไรก็ไม่เจออะไร สงบเรียบร้อยดี แต่ไม่ว่าจะถามใครก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ‘ไม่รู้จักพัฒน์พงศ์’

อีกส่วนหนึ่งที่ดูเผินๆ คล้ายบาร์นั่งดื่มสังสรรค์ทั่วไป แต่เมื่อมารู้ทีหลังว่ามันคือ สถานที่ที่ CIA ของอเมริกามานั่งดื่มสังสรรค์กันจริงๆ! ก็ทำเอาตกใจไปครู่ใหญ่

ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ได้เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าแต่ก่อนจะมีพวกชายหนุ่มทรงคล้ายนักธุรกิจมานั่งกันอยู่ที่บาร์แห่งนี้ นั่งกันเป็นปกติเลย ผู้คนระแวกนั้นก็นึกว่าเป็นฝรั่งเข้ามาทำงาน เป็นนักธุรกิจ แต่ความจริงแล้วคนเหล่านี้คือ CIA และก็บอกอีกว่าไม่ได้เพียงแค่พัฒน์พงศ์ แต่กระจายอยู่เมืองใหญ่ๆ อื่นในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งก็เป็นอีกร่องรอยหนึ่งที่บอกเล่าความเกี่ยวข้องระหว่างไทยกับบริบทโลก

และส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์แม้จะไม่ได้คุกรุ่นไปด้วยประวัติศาสตร์และภาพการเมืองใหญ่ แต่มันหยิบจับและบันทึกเรื่องราวการทำงาน หรืออาจเรียกได้ว่าการละเล่นของ Sex Worker ความชอบเฉพาะ (Fetish) ของลูกค้ายุคสมัยนั้น

ซึ่งหากมองผ่านเลนส์ของผู้เขียน การมีอยู่ของ Fetish ในอดีต คือการแสดงออกถึงความหลากหลายในมนุษย์ และมีตัวตนมาตั้งแต่โบราณกาล การยอมรับความหลากหลายนี้เป็นสิ่งที่รัฐพึงกระทำ และมันจะนำไปสู่ความเชื่อในสิทธิบนเนื้อกายของบุคคล จนในท้ายที่สุด ‘การคุ้มครอง’ และ ‘สวัสดิการ’ ของกลุ่มคนที่ทำงานด้านนี้จะเป็นธรรมอย่างที่มันควรจะเป็น

ท้ายนี้ การเดินทางสู่เส้นทางประวัติศาสตร์ของพัฒน์พงศ์ อาจไม่ได้ลดความลับแลของพื้นที่ลงแต่อย่างใด แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ มันได้สร้างภาพจำใหม่แก่สถานที่ ชวนให้เราลงลึกกับรายละเอียดมากกว่าเส้นทางผิวเผิน และพลิกมุมมองที่ถูกปิดตายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า