fbpx

“โอมศิริ วีระกุล” จากความเจ็บปวดของ First Jobber สู่ Team Leader ของคนรุ่นใหม่

“มีใครสักคนบอกฉันเมื่อตอน 10 ขวบ ว่าการเติบโตจะทำให้ฉันเจ็บปวด” 

เนื้อร้องท่อนหนึ่งจากเพลง “ความเยาว์” ของวง The Darkest Romance สะท้อนได้ดีถึงการเติบโตของคนคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมที่ให้คะแนนความสำเร็จจากตำแหน่งหน้าที่การงานและเงินเดือนสูงๆ มากกว่าความสุขที่ได้จากการทำงาน และคนกลุ่มหนึ่งที่น่าจะเหน็ดเหนื่อยกับการเติบโตอยู่ไม่น้อย คือ “เด็กจบใหม่” หรือ “First jobber” ที่สังคมคาดหวังให้ก้าวกระโดดจากเด็กมหาวิทยาลัย สู่โลกของผู้ใหญ่วัยทำงาน โดยที่หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะก้าวไปในทิศทางใด

“โอมศิริ วีระกุล” พิธีกรรายการพอดแคสต์ ออฟฟิศ 0.4 และนักเขียนเจ้าของผลงาน “สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก”, “เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน”, “PUT THE RIGHT MAN ON THE LIKE JOB เป็นคนที่ใช่ ในงานที่ชอบ” และ “นี่เงินเดือนหรือเงินทอน” ก็เคยเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ ที่มีงานทำ แต่ไม่ได้มีเป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจน

“จุดที่มันเกิดการโฟกัสจริงๆ ของชีวิต First jobber มันเกิดจากปัญหาในการทำงาน ซึ่งในช่วงนั้นมันเหมือนเป็นการหาคำตอบให้ตัวเอง ว่างานที่เราทำอยู่มันใช่ในสิ่งที่เราชอบจริงๆ หรือเปล่า แล้วงานนั้นมันชอบเราด้วยหรือเปล่า เราก็เลยรู้สึกว่ามันต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว ก็เลยเริ่มตั้งคำถาม แล้วก็สนใจที่จะเอาประสบการณ์ของตัวเองออกมาถ่ายทอด”

โอมศิริเริ่มต้นการหาคำตอบ ด้วยการทำเพจเล็กๆ แล้วนำคำถามที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนั้นไปเขียน สิ่งที่เขาได้กลับมาคือการพัฒนาทักษะการเขียน ที่ตรงกับหน้าที่การงานในขณะนั้น และเสียงตอบรับจากเหล่าคนทำงานที่มีภาวะสงสัยตัวเองเช่นเดียวกับเขา และนั่นก็นำพาเขาเข้าสู่เส้นทางนักเขียน

“ถ้าเป็นสายการตลาดเราก็รู้แล้วว่า ถ้าเราจะเขียนหนังสือมาสักเล่มหนึ่ง เราจะเขียนมาให้ใครอ่าน ใครเสพ ใครซื้อ แล้วเขาจะจดจำเราในฐานะอะไร อันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็ส่งผลมาสู่เล่มต่อๆ ไปเรื่อยๆ ในการที่จะเอาเรื่องชีวิตของคนทำงานมาเล่า” โอมศิริเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจในชีวิต First jobber ที่ในที่สุดก็กลายมาเป็นความเชี่ยวชาญหนึ่งของเขา

จุดเปลี่ยนจากการทำงานผิดโจทย์

เรื่องราวชีวิตลำเค็ญของ First jobber อย่างโอมศิริที่เขามักจะเล่าให้ใครต่อใครฟังอยู่เสมอ คือเรื่องราวใน “ยุคทอง” ที่ขณะนั้นเขาทำงานเขียนเนื้อหาให้กับนิทรรศการ และต้องลุ้นทุกครั้ง เมื่อหัวหน้างานตรวจงานกลับมา

“ยุคนั้นเวลานายตรวจงานแล้วก็ส่งเมลกลับมา มันมีอาการแพนิค คือว่าโดนจนชิน คิดว่ายังไงมันก็ต้องโดนแก้แน่ๆ อยู่ที่ว่ามันโดนแก้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ว่าเราเปิดไฟล์แล้วจะเจอตัวแดงมากน้อยแค่ไหน มันก็รู้สึกว่าเราต้องพยายามเอาชนะอะไรบางอย่าง การถูกยอมรับอะไรบางอย่าง”

“เงินก็มีส่วนสำคัญ แต่ฝีมือกับความมั่นใจน่าจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนอยากได้ การถูกยอมรับก็เป็นหนึ่งในนั้น การถูกยอมรับจากลูกค้า คนที่มีอิทธิพลหน่อยก็เจ้านาย เพราะว่าทำงานใกล้ชิดกัน ทุกครั้งที่ทำงานดีแล้วนายชม ใจมันฟูทุกคนแหละ แล้วเราก็อยากทำให้มันดีต่อไป อย่างน้อยก็ต้องรักษามาตรฐาน”

จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้รับโจทย์ที่สุดแสนจะเรียบง่ายจาก “พี่ปุ๊ย” หัวหน้าทีม ให้ไปเขียนงานเกี่ยวกับยุคน้ำแข็ง และในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาก็ลุยเขียนงานชิ้นนี้อย่างตั้งอกตั้งใจ แถมยังส่งงานตรงเวลา พร้อมรอลุ้นฟีดแบ็กด้วยใจระทึก

“เฮ้ย เขียนดี เขียนสนุกว่ะ แต่ผิดโจทย์” นี่คือคอมเมนต์ของพี่ปุ๊ย

“แกบอกว่า ‘กูให้เขียนยุคน้ำแข็งแบบสารคดี ไม่ใช่ยุคน้ำแข็งในจินตนาการของเรา’ คือที่เราเขียนคือยุคน้ำแข็งในจินตนาการของเรา สมัยตอนเราเด็กๆ แล้วเราบอกว่ายุคน้ำแข็งของเราคือการที่เราเอาเก้าอี้มาต่อหน้าตู้เย็น แล้วก็เปิดช่องฟรีซ แล้วเอามือไปรูดน้ำแข็งที่มันติดอยู่ในช่องฟรีซ แล้วก็จินตนาการถึงว่าเราเอาน้ำแข็งในช่องฟรีซมาทำน้ำแข็งไส อันนั้นคือยุคน้ำแข็งของเรา เลยกลายเป็นการตีโจทย์ผิดไปเลย” โอมศิริเล่าพร้อมหัวเราะ

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในวันนั้นทำให้หัวหน้ามองเห็นจุดแข็งของโอมศิริ นั่นคือจินตนาการและการเล่าเรื่อง ซึ่งแม้จะไม่เหมาะกับพื้นที่การทำงานในเวลานั้น แต่โอมศิริบอกว่า พี่ปุ๊ยเป็นเหมือน “ผู้ตัดสายสะดือ” ให้เขาเดินไปบนเส้นทางนักเขียน

“ก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ การเป็น First jobber จะเติบโตได้ไม่ได้ ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับเราก็คือการเจอหัวหน้าที่เหมาะสม ถูกที่ถูกทาง แล้วก็ให้คำแนะนำได้อย่างตรงไปตรงมาด้วยเหมือนกัน” โอมศิริกล่าว

จาก First Jobber สู่ Team Leader

เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี First jobber ชื่อโอมศิริในวันนั้น กลายเป็นหัวหน้างานในวันนี้ และหัวหน้าที่เขาเคยร่วมงานด้วยในอดีต ก็เป็นเหมือนแหล่งอ้างอิงชั้นดีที่เขานำมาประยุกต์ใช้เมื่อต้องเป็น “พี่ใหญ่” ของออฟฟิศ

“ตอนเราเป็นลูกน้อง เราเจอหัวหน้าหลากหลาย ทั้งในเรื่องของลักษณะนิสัย วิธีการทำงานทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ซึ่งก่อนที่เราจะเข้ามาสู่โลกการทำงาน เราก็คิดว่าหัวหน้าก็คงเป็นคนที่คอยบริหารจัดการ ปกครอง ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน แต่เราคิดไม่ถึงว่าเราจะเจอหัวหน้าที่มีไลฟ์สไตล์นอกเวลาทำงาน แต่ก็ยังสามารถให้แง่คิดในการทำงานกับเราได้ด้วย บน mood & tone ที่ไม่เหมือนกับในพื้นที่การทำงานในออฟฟิศ พี่ปุ๊ยก็เป็นหนึ่งในนั้น”

“ถ้าพูดถึงพี่ปุ๊ยก็จะมีความมุทะลุ เข้มงวดในงาน ต้องการให้งานมีคุณภาพดีๆ คมๆ อดีตหัวหน้าบางคนก็จะเป็นแนวซอฟต์ๆ มีความเห็นอกเห็นใจ เราก็จะเห็นอีกมุมว่า เวลาลูกน้องเจ็บปวดมา ก็จะไม่ขยี้ต่อ แต่จะเอาน้ำเย็นมาประคบ”

“เราก็รู้สึกว่าจริงๆ สถานะการเป็นหัวหน้ามันไม่ได้มีมุมเดียวแบบที่เราเคยคิด จริงๆ การเป็นหัวหน้ามันค่อนข้างหลากหลาย และไหลลื่นกว่าที่เราคิด พอเราเห็นตัวอย่างเยอะๆ มันก็เลยกลายเป็นเหมือนตัวเราทุกวันนี้เหมือนกัน คือมีความเห็นอกเห็นใจได้ มีความเข้มงวดในบางสถานการณ์ได้ มีความยืดหยุ่นกับปัญหาในการแก้ไขสถานการณ์ได้เหมือนกัน หัวหน้าไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงตลอดเวลา” โอมศิริเล่า

แต่ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าสายไหน ความท้าทายที่คนเป็นหัวหน้าต้องเจอไม่ต่างกันในยุคนี้ คือการร่วมงานกับ First Jobber รุ่นใหม่ ที่เติบโตต่างยุคสมัย ในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

“สิ่งหนึ่งที่หัวหน้ายุคนี้ต้องเจอคือความหลากหลายในทาง Generation ของคน เราอายุ 36 แล้ว ปัจจุบันเราก็มีลูกน้องที่เป็น First Jobber อายุ 23 – 24 เอาแค่แพลตฟอร์มที่เราคุย แต่ก่อนเราก็โตมากับ Facebook รองลงมาก็ X หรือ IG แต่เดี๋ยวนี้ลูกน้องเราก็จะไปคุยกันใน TikTok Shop ไลฟ์สไตล์มันเปลี่ยน ดังนั้น เรื่องของความเข้าอกเข้าใจ การสื่อสารอะไรบางอย่างกับคนที่เป็น Generation ที่หลากหลาย ก็เป็นความท้าทายของคนในยุคนี้ด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ สิ่งที่ First Jobber รุ่นนี้เคยเผชิญมาก่อน คือสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยและการเข้าสังคม อย่างที่คนรุ่นผู้ใหญ่ไม่เคยพบเจอ และสิ่งเหล่านี้กลายเป็นผลกระทบระยะยาว โดยที่ไม่มีใครสามารถจินตนาการถึง

“ถ้าย้อนกลับไป คนที่เข้ามาทำงาน ณ ช่วงปี 65 – 66 ก็คือผลผลิตของปีที่ติดกับล็อกดาวน์ เจนเนอเรชันล็อกดาวน์ เรียนหนังสือก็เรียนได้ไม่เต็มที่ เรียนอยู่ที่บ้าน เพื่อนก็ไม่ค่อยได้เจอ จบมาแล้วเจอเรื่องของ skill mismatch อีก ตลาดแรงงานไม่ตรงกับสิ่งที่เราเรียนเลย หางานยาก แถมเจอคู่แข่งจากคนที่ตกงาน โควิดมาเบียดงานอีก มันก็เลยเป็นการคาดหวัง เราต้องบริหารความคาดหวังของน้องๆ คนรุ่นใหม่ด้วย เพราะว่าเขาเจอภาวะแบบนั้นมา ดังนั้น ความกังวล ความรู้สึกไม่มั่นคง มันเลยกลายเป็นโจทย์ที่หัวหน้ายุคนี้ต้องบริหารความคาดหวังของ First Jobber รุ่นใหม่ๆ ด้วย”

เพราะฉะนั้น การเป็นหัวหน้างานจึงไม่ใช่แค่บริหารงานเพื่อสร้างผลกำไรให้กับองค์กรเท่านั้น แต่ยังต้องบริหารบรรยากาศในการทำงาน และบริหารคนในองค์กรด้วย

“มันก็ต้องมีขั้นตอนอย่างเรื่องการบริหารบรรยากาศด้วย ซึ่งเรารู้สึกว่าก็เป็นอีกทักษะที่หัวหน้าต้องมี ทุกคนมาทำงาน ใช่แหละ แต่ว่าเราจะสร้างบรรยากาศอย่างไรให้คนรู้สึกมีความสุข สนุก แล้วก็มองปัญหาว่าเป็นเรื่องปกติที่มันต้องเกิดขึ้น ต่อให้งานหนักแค่ไหน ก็ค่อยๆ ช่วยกัน อันนั้นมันเป็นโจทย์ในเรื่องของการสร้างบรรยากาศด้วย”

“อีกอันก็คือเรื่องของคน ปัญหาคนคนหนึ่งออกส่วนใหญ่ออกก็เพราะปัญหาเรื่องคน ดังนั้นการบริหารให้คนหนึ่งคนไปเข้าใจคนอีกหนึ่งคน หรือคอยช่วยเหลือ คอยซัพพอร์ต ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ท้าทายแล้วก็ยากอยู่พอสมควรเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าถอยกลับไปเราจะเห็นหลายจุดที่หัวหน้ายุคนี้ เราก็รู้สึกว่าไม่ง่ายอยู่พอสมควร ที่ต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ จูน ให้มันเกิดความสมดุลกันมากขึ้น”

“แล้วก็สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ หัวหน้าจำเป็นต้องเป็นคนที่สื่อสารให้เป็น แล้วก็โน้มน้าวให้เป็น บางทีได้รับโจทย์ใหญ่มา รู้ว่าเราต้องไปจาก A ไป B ซึ่งการที่เราจะไปสั่ง ทำนู่นนี่นั่นเลย แต่สุดท้ายคนในทีมไม่รู้เลยว่า นั่งสายการบินนี้ ยังไม่รู้เลยว่านี่เราจะไปไหนกันน่ะ เราจะไปยุโรปหรือไปอเมริกา บางทีการสื่อสารให้ชัดกับทีมว่าเดี๋ยวปีนี้เราไปตรงนี้กันนะ เราจะมีวิธีการอย่างไรได้บ้าง” โอมศิริกล่าว

เพราะเป็น First Jobber จึงเจ็บปวด

จากการร่วมงานกับ First Jobber รุ่นใหม่ๆ โอมศิริสังเกตเห็นจุดร่วมบางอย่างของเหล่า First Jobber ยุคนี้ นั่นคือ “ความคาดหวังต่อตัวเองสูง”

“เราพบว่า First Jobber ยุคนี้คาดหวังกับตัวเองสูง กดดันกับตัวเองเยอะ เสียน้ำตากับการคาดหวังเยอะ ซึ่งเท่าที่คุยเราก็ไม่แปลกใจ เพราะเขาก็อยากเติบโตเร็วๆ อยากเก่งเร็วๆ แต่ First Jobber เดี๋ยวนี้ก็รู้จักใช้เครื่องมือสื่อสาร ทำมาหากิน งานเสริม งานนอก แล้วก็มาทำงานประจำได้อีก เรารู้สึกว่าทักษะของ first jobber ยุคนี้เยอะกว่าเรา ใช้งานเป็นได้เยอะกว่าเรา แต่ถามว่าเรื่องของความเชี่ยวชาญน้อยหรือมาก ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการหาคำตอบ”

“แต่ก็อยากบอกว่า ทุกอย่างมันต้องใช้ระยะเวลาอยู่พอสมควรต้องใจเย็นๆ กับจังหวะชีวิตบ้าง เพราะว่าความเก่งกาจมันไม่สามารถโผล่มาได้ชั่วข้ามคืนน่ะ ชีวิตมันต้องค่อยๆ ใช้เวลาบ่มหน่อย”

“แล้วก็เรื่องของการเปรียบเทียบแข่งขัน เปรียบเทียบได้ แข่งขันได้ แต่ต้องเข้าใจว่าชีวิตของแต่ละคนบางทีมันเติบโตตามฤดูกาลไม่เท่ากัน สุดท้ายมันก็ย้อนกลับมาที่ว่า การเติบโตของชีวิตมันมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นก็มีวัฒนธรรมองค์กรมันเหมาะสมกับเราหรือเปล่า มันเอื้อให้เราสามารถมีพื้นที่ที่จะแสดงความสามารถมากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งตัวหัวหน้าเอง ถ้า First Jobber ทุกวันนี้มีความสามารถด้วย มีความมั่นใจ แล้วไปเจอหัวหน้าที่ดีอีก โอกาสเติบโตได้เร็ว ได้ชัดเจน ก็มีมากขึ้นเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ในสังคมที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนมีจุดออกตัวสั้นยาวไม่เท่ากัน อีกทั้งระหว่างทางก็มีทั้งกลีบกุหลาบและขวากหนาม ผู้ที่มีต้นทุนทางสังคมน้อยจะมีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จในการทำงานได้อย่างไร โอมศิริตอบว่า ควรเริ่มจากการมองหาจุดแข็งของตัวเอง จากการสอบถามความเห็นของคนอื่นที่มีต่องานของเรา รวมทั้งการพิจารณาว่าตัวเราอยู่ใน “สนามไหน” ในการแข่งขันของชีวิต

“จริงๆ แล้ว มันก็ต้องดูก่อนด้วยว่า จุดแข็งที่เรามี เราอยู่ในพื้นที่ตรงไหน เราอยู่ในสนามไหน สมมติว่าจุดแข็งที่เรามีมันเป็นจุดแข็งที่องค์กรส่วนใหญ่มันต้องมีอยู่แล้ว มันก็ไม่ได้เป็นจุดแข็งที่พิเศษอะไร เพราะคนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมี เราต้องตั้งคำถามต่อว่า ถ้าเราอยากเป็นคนที่อยู่เหนือค่าเฉลี่ย ทั้งๆ ที่มีจุดแข็งเหมือนๆ กันเลย เราจะทำอย่างไรต่ออีกบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราก็จะให้คำแนะนำว่า ถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ ก็ต้องหาตัวอย่างที่มี”

“สิ่งหนึ่งที่เราเคยใช้บ่อยๆ ก็คือการมองไปที่คนที่อยู่เหนือกว่าเรา แล้วก็ลอกการบ้านซะ แล้วก็ต้องดูว่าคนคนนี้ที่เขาอยู่เหนือกว่าเรา เก่งกว่าเรา เขามีจุดแข็งอะไร มีอะไรที่เราเหมือนเขาบ้างไหม ลองไปทาบดูก่อน แล้วก็เอาจุดที่เราลอกการบ้านตรงนั้นมาปรับใช้ดูว่า ถ้าเราจะเติมให้มันเป็นคนลักษณะที่มีมาตรฐานการทำงานเหมือนคนคนนั้น เราควรจะเอาจุดแข็งอะไรของเขามาเติมบ้าง”

“เราก็ยังสามารถที่จะมองสูงได้นะ มองสูงคือการมองว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ที่เติบโตได้ เขามีเส้นทางแบบไหน เขาต้องเดินทางไปอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้น ก็แค่ลองถอดรหัสดู แล้วก็ลองดูสิว่าความเป็นไปได้มันขนาดไหน”

ในการพัฒนาตัวเองของ First Jobber โอมศิริแนะนำให้ลงทุนกับ 3 สิ่ง นั่นคือ ลงทุนกับตัวเอง ลงทุนกับการเรียนรู้ และลงทุนกับผู้คน

“อีกบันไดหนึ่งที่สำคัญเลยคือ การลงทุนเรื่องของผู้คน แล้วเรารู้สึกว่าทุกวันนี้ โอกาสที่มันเกิดขึ้นในชีวิตเรา บางอย่างมันไม่ได้มาจากความสามารถ 100% แต่มันมาจากผู้คน ดังนั้น ตัวเอง ความรู้ แล้วก็เรื่องของผู้คน เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วมันก็จะสำคัญมากขึ้นในวันที่เราเข้าสู่โลกของการทำงานแล้ว”

สิ่งที่อยากบอกกับ First Jobber

เรารู้สึกว่า ต่อให้เราไม่เก่ง แต่เราห้ามตายง่าย เราต้องอึด เราต้องทน แต่ต้องทนแบบมีความหมายนิดหนึ่งนะ ทนเพื่อว่าอย่างน้อยเราก็อยากรู้ว่า คนที่รู้สึกว่าเราไม่เก่ง เราห่วย เราจะมีจุดแข็งอะไรบ้างไหมวะในชีวิตนี้”

“ถ้าให้พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือความอดทน กว่าคนคนหนึ่งจะเก่ง มันต้องทนแรงเสียดทานเยอะ สุดท้ายมันก็ไปที่คำตอบแรกของเราก็คือ ทุกคนอยากได้รับการยอมรับ แต่กว่าจะได้คำตอบมา มันต้องอาศัยความอึด ถึก ทน แล้วก็ความพยายามหน่อย สุดท้ายแล้วเราก็มีจุดแข็งบางข้อที่มันเกิดขึ้นในชีวิตการทำงานของเราเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าอยากจะส่งต่อก็คือ เอาความอึด ถึก ทน ไปใช้ต่อสู้ในการทำงานด้วย นอกเหนือจากความสามารถ” โอมศิริกล่าวทิ้งท้าย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า