fbpx

ตีแผ่ปัญหาสุขภาพใจในเกาหลีใต้ จากซีรีส์ “Daily Dose of Sunshine”

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในเรื่อง*

แม้หลายคนจะรู้จักเกาหลีใต้ในด้านความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่ในเรื่องสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม อีกทั้งการพูดอย่างเปิดเผยว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยจิตเวชยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามของคนเกาหลีใต้ ทำให้หลายคนต้องเผชิญหน้ากับสุขภาพจิตอย่างโดดเดี่ยว

ปัญหาสุขภาพจิตในเกาหลีใต้ปรากฏอย่างเด่นชัดในซีรีส์เรื่อง Daily Dose of Sunshine ที่ว่าด้วยเรื่องของผู้คนในแผนกจิตเวช ทั้งผู้ป่วย ครอบครัว พยาบาล และหมอ โดยมี จองดาอึน รับบทโดย พัคโบยอง (Park Bo Yeong) เป็นตัวละครหลักของเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เธอเป็นพยาบาลประจำอยู่แผนกอายุรกรรมและได้ย้ายมาทำงานในแผนกจิตเวช ด้วยภาระหน้าที่ที่ต่างไปจากเดิม ทำให้เธอพยายามอย่างหนักในการเรียนรู้งานเพื่อที่จะดูแลและเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชอย่างลึกซึ้ง

ซีรีส์ในแต่ละตอนได้เผยถึงความเจ็บป่วยของคนไข้แต่ละคนในลักษณะของโรคทางจิตเวชที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคหลงผิด ไปจนถึงโรค PTSD เป็นต้น เรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจผู้ป่วยทุกคนได้ในทันที โดยเฉพาะกับพยาบาลที่ยังไม่ค่อยรู้งานอย่างจองดาอึนแล้ว การรับมือกับผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเธออยู่ไม่น้อย อีกทั้งการเป็นพยาบาลในแผนกจิตเวชก็ยังมีกฎเหล็กหลายข้อที่เธอต้องปฏิบัติ เช่น ห้ามใช้ปากกาลูกลื่น ห้ามห้อยป้ายชื่อที่เป็นเชือก หรือแม้กระทั่งห้ามพูดจาขัดแย้งกับคนไข้ 

ขอพื้นที่หายใจในสังคมที่โหดร้าย

เมื่อติดตามจนจบเราจะพบว่า ในแต่ละตอนของซีรีส์ได้สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตในสังคมเกาหลีหลายรูปแบบ นอกจากนั้นบางบทบางตอนก็เชื่อมโยงกับอารมณ์ผู้ชมอย่างเราๆ ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งชวนสำรวจว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังป่วย หรือ กำลังทำให้ใครป่วยหรือเปล่า?

เริ่มจากเรื่องราวของ โอรีนา ผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ต้นตอสำคัญมาจากความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ทว่าความหวังดีกลับกลายเป็นมีดที่กรีดเฉือนจิตวิญญาณของเธอเพื่อตัดแต่งตัวตนให้น่าพอใจในสายตาคนอื่น และตัวตนของเธอค่อยๆ ถูกบดบังอยู่ในเงาของผู้เป็นแม่ จนนำไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเองว่า “จริงๆ แล้วเราเป็นใครกันแน่”

ส่วน มยองฮี นักเรียนที่มีความฝันอันแรงกล้าว่าอยากจะเป็นนักบิน ทว่าเธอมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ ทำให้เธอถูกเพื่อนร่วมชั้นและคุณครู บูลลี่และตีตราว่าไม่สามารถสอบเข้ามหาลัยได้ แม้เธอจะพยายามตะโกนออกไปดังแค่ไหน กลับไม่มีใครสนใจ อีกทั้งยังตอกย้ำว่าความฝันนั้นไม่มีวันเป็นจริง ทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับความเครียดอย่างโดดเดี่ยว จนเกิดการทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในขณะที่ คิมซองชิก พนักงานออฟฟิศวัยกลางคนต้องเผชิญหน้าการทำร้ายจิตใจในที่ทำงานจากหัวหน้า ทำให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีความสามารถพอในการทำงาน จนกลายเป็นโรคกลัวสังคม เหมือนชีวิตถูกขังในห้องกระจก ทั้งอึดอัดและตึงเครียด จากสายตาผู้คนที่จ้องมองอยู่ตลอดเวลา

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ซีรีส์ได้เล่นกับประเด็นสังคม ตั้งแต่ความคาดหวังของครอบครัว การบูลลี่ในโรงเรียน รวมถึงการกดขี่ในที่ทำงาน สะท้อนถึงปัญหาของสังคมเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ที่สำคัญยังทำให้เราได้เห็นว่า สภาพแวดล้อมและผู้คนในสังคมล้วนมีผลต่อจิตใจคนมากทีเดียว ยิ่งหากเราอยู่ในสังคมที่โหดร้ายมากเท่าไร ก็เหมือนออกซิเจนที่จะหายใจเริ่มลดน้อยลงเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ซีรีส์กำลังพยายามที่จะบอกเราว่า ทุกคนสามารถเป็นผู้ป่วยได้จากสภาพสังคมแบบนี้ และในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งเราก็คงต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน เพื่อทำให้ทุกคนหายใจได้อย่างเต็มปอด

ถึงเวลายอมรับว่า “เราป่วย”

ด้วยคาแรกเตอร์ของจองดาอึนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความใส่ใจที่ทุ่มสุดตัวเพื่อดูแลคนไข้ ทำให้เธอได้ผูกพันและสนิทกับ คิมซอวาน ผู้ป่วยโรคหลงผิด ที่เกิดจากความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากที่เขาเข้ารับการรักษาสักระยะ อาการของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ แพทย์จึงได้มีการวินิจฉัยให้เขากลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติในสังคม 

ทว่าเมื่อเขากลับไปใช้ชีวิตในโลกใบเดิม ทำให้เขารู้สึกติดกับดักกับชีวิตที่ซ้ำซากจำเจ เขาเลยเลือกที่จะปลดปล่อยชีวิตให้เป็นอิสระในที่สุด

การจากไปของคิมซอวานย่อมมีผลต่อใจของจองดาอึน แต่เธอพยายามทำทุกอย่างให้ปกติที่สุด มองว่ายิ่งตัวเองเศร้าจะยิ่งเป็นภาระของคนอื่น ถ้าล้มแล้วเข่าเป็นแผลก็แค่ปัดฝุ่นแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แป๊บเดียวก็หายเจ็บและวิ่งต่อ ทว่าการที่ไม่ให้เวลาตัวเองได้เสียใจ ยิ่งทำให้ใจดำดิ่งลึกลงไปกับจิตใจที่เต็มไปด้วยภาวะความซึมเศร้า ไม่มีแรงแม้แต่จะลืมตาตื่นขึ้นมาในวันใหม่

กลายเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับเมื่อพยาบาลจิตเวชดันเป็นคนที่ต้องเจอกับปัญหาสุขภาพจิตเสียเอง จองดาอึนไม่ยอมกินยาเพราะมองว่าการกินยาเท่ากับว่ายอมรับว่าเป็นคนไข้จิตเวช และเธอมีความคิดว่าเธอต่างจากผู้ป่วยคนอื่นๆ เพราะเป็นพยาบาลแผนกจิตเวช ถึงแม้จะสวมเสื้อผ้าแบบเดียวกัน นอนในห้องเดียวกัน กินอาหารแบบเดียวกัน แต่เธอกลับเชื่อว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ป่วย

เป็นที่รู้กันดีกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคน มักมีแรงกระตุ้นในการฆ่าตัวตายรุนแรงขึ้นกะทันหัน เมื่อหมอให้จองดาอึนทบทวนเหตุการณ์ก่อนเข้ามาในโรงพยาบาล เธอจึงนึกขึ้นได้ว่าเธอกำลังพยายามที่จะฆ่าตัวตายก่อนที่จะเอ่ยปากยอมรับว่า “ฉันป่วย”

นอกจากนั้น ซีรีส์ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจริงในเกาหลีใต้ ตามรายงานของ Statista พบว่าเกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD โดยในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตราว 13,000 คน หรือเฉลี่ย 26 รายต่อประชากรแสนคน นอกจากนั้น ยังพบว่า มีผู้เข้ารับการรักษาภาวะซึมเศร้าจำนวน 933,481 คน และผู้เข้ารับการรักษาจากโรคตื่นตระหนกอีก 865,108 คน 

ป่วยทางใจ ไม่ใช่ อาชญากร

“ทำไมถึงอนุญาตให้คนป่วยทำงาน”

“จะให้คนที่ป่วยมาดูแลคนป่วยได้ไง”

“มันเป็นอุปสรรคในการทำงานไม่ใช่เหรอ”

“ถ้าเขาเกิดทำงานสำคัญพังขึ้นมาจะทำยังไง”

แม้ว่าปัญหาสุขภาพจิตจะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่การตีตราทางสังคมยังคงเกิดขึ้นกับผู้คนในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติที่ทำงาน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตอย่างคนปกติในสังคม ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมากเลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวช 

โดยจากผลสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตมากกว่าหนึ่งครั้งในชีวิต แต่มีผู้ป่วยเพียง 10% เท่านั้นที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ 

สำหรับจองดาอึนแล้ว เธอมองว่าสังคมคงไม่มีใครต้อนรับพยาบาลที่เคยแอดมิตแผนกจิตเวช และกลัวว่าจะมีปัญหาและสร้างความลำบากให้กับเพื่อนในทีม จึงตัดสินใจบอกกับหัวหน้าพยาบาลว่าจะลาออก ซึ่งทางหัวหน้าก็ได้เตือนสติเธอว่า โรคทางจิตเป็นเพียงอาการป่วย ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมหรือทำร้ายใคร ไม่จำเป็นที่จะต้องระวังสายตาคนอื่น ไม่มีใครมีสิทธิ์มาวิจารณ์หรือเหยียบย่ำเราได้

ประเด็นนี้ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันในหมู่ญาติของผู้ป่วย ถึงการกลับมาทำงานของจองดาอึนว่า การให้คนป่วยทางใจมาใช้ชีวิตนั้นเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว แต่ประเด็นนี้ได้เงียบหายไปหลังจากที่หัวหน้าพยาบาลได้พูดตอกกลับญาติของผู้ป่วยว่า “ถ้าหากคนในครอบครัวโดนสังคมตีตราในแบบเดียวกัน หัวใจของพวกคุณก็คงแหลกสลายไม่ต่างกัน”

การเป็นผู้ป่วยจิตเวชไม่ต่างจากผู้ป่วยทั่วไป เพราะไม่ว่าป่วยด้วยโรคอะไรเราก็ต้องกินยา รักษา และหาหมอเหมือนกัน อีกทั้งปัญหาสุขภาพจิตไม่เข้าใครออกใคร มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน

“โรคจิตเวชเป็นโรคที่คาดเดาไม่ได้ เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไร อย่ามั่นใจนักเลยว่าตัวเองจะไม่ป่วยเป็นโรคนี้” 

แผนกจิตเวชในไทยเราล่ะ?

หลังจากที่ซีรีส์ทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตในเกาหลีใต้ ก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับปัญหาสุขภาพจิตของไทย เมื่อศึกษาข้อมูลพบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มถดถอยลง เห็นได้จากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีอัตราสูงขึ้น จาก 6.08 รายต่อแสนประชากร ในปี 2556 เพิ่มเป็น 7.37 รายต่อแสนประชากร ในปี 2563 และในปี 2564 ที่มีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มเป็น 7.8 รายต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกราว 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในทุกปี แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพจิตในสังคมไทย คือความขาดแคลนการเข้าถึงการดูแลรักษา เนื่องจากจำนวนบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชในไทยนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทั่วทั้งประเทศ โดยจากรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปี 2564 ซึ่งสรุปจำนวนทรัพยากรสุขภาพ จำนวนแพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นรายจังหวัด พบว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 860 คน โดยอัตราส่วนเฉลี่ยจิตแพทย์เท่ากับ 1.30 ต่อแสนประชากร และในบางจังหวัดก็ไม่มีจิตแพทย์เลยด้วยซ้ำ

สุดท้ายแล้ว อุปสรรคในการเข้ารักษาสุขภาพจิตของคนไทยจะเป็นปัญหาเรื้อรังไปอีกนานแค่ไหน ก็คงต้องทบทวนกันอยู่หลายมุมเพราะความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในโครงสร้างเรื่องสุขภาพจิต เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อๆ ไปก็ผิดตามไปหมด ฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐที่ต้องปรับใหม่ตั้งแต่โครงสร้าง เพื่อให้สังคมพร้อมรองรับทุกความเจ็บป่วยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในประเทศ

ขอบคุณแหล่งที่มา: bangkokbiznews / thaihealthreport / thaihealth / workpointtoday / straitstimes / rocketmedialab

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า