fbpx

“นโปเลียน” วีรบุรุษที่ชอบความเปลี่ยนแปลง (หรือเปล่า?)

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสภาพยนตร์ “นโปเลียน” ที่กำลังจะเข้าฉายรอบแรกวันนี้ ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากแฟนๆ คอหนังประวัติศาสตร์และคอหนังทหารสายบู๊ เพราะชีวิตของเขานั้นมีความโลดโผนที่เรียกได้ว่าจากคนสามัญสู่ยอดรัฐบุรุษของฝรั่งเศส จากนายทหารชั้นผู้น้อยสู่จักรพรรดิของฝรั่งเศส และต้องเรียกได้ว่าจากสูงสุดคืนสู่สามัญเพราะพ่ายแพ้สงครามทำให้ต้องก้าวลงจากตำแหน่งจักรพรรดิ

ณ บัดนี้ “ประวัติศาสตร์ สงครามและการปฏิวัติกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว”

ลูกขุนนางบ้านนอกจากเกาะคอร์ซิกา

พื้นหลังของนโปเลียนหาใช่คนฝรั่งเศสบนแผ่นดินฝรั่งเศสไม่ แต่เขาคือคนเกาะคอร์ซิกา ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ดังนั้นฐานะของเขาจึงถือเป็นคนบ้านนอก ถึงแม้ตระกูลของเขาจะเป็นขุนนางแต่ก็เป็นขุนนางชั้นผู้น้อยที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจของฝรั่งเศสนั่นเอง แทบจะเรียกว่าไม่ได้เขาไปอยู่ในวงจรอำนาจแต่อย่างใด แต่ด้วยโชคชะตาหรือสถานการณ์จำเป็นทำให้หนุ่มน้อย “นโปเลียน โบนาปาร์ต” ก้าวขึ้นสู่อำนาจแบบที่เขาในวันเด็กคงไม่คาดคิดเช่นกัน

บ้านนอกเข้ากรุงมุ่งสู่โรงเรียนนายร้อย

แต่กระนั้นบิดาของเขา “ชาร์ล มาเรีย โบนาปาร์ต” ผู้มีความทะเยอทะยาน ได้คิดเผื่ออนาคตของลูกชายเขาไว้ จึงมีแนวคิดให้เข้ารับการศึกษาในแบบฝรั่งเศสโดยส่ง นโปเลียน เข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารที่เมือง โอเติง บรีแอนน์ และในที่สุดก็เข้าศึกษาในรียนทหารปารีสเท่ากับว่าเส้นทางของเขาต้องเติบโตในกองทัพทหารฝรั่งเศส ซึ่งกองทัพบกฝรั่งเศสเองได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในภาคพื้นดิน และที่สำคัญในเวลาต่อมากองทัพจะก้าวขึ้นมามีอิทธิพลและมีความสำคัญในไม่ช้า หนุ่มน้อยนโปเลียนเอง จะกลายเป็นนายทหารคนสำคัญ เพราะเขาเองได้ฉายแววอัจฉริยะทางด้านการทหารตั้งแต่สมัยเข้าศึกษาในโรงเรียนทหารนนั่นเอง

เส้นทางการทหาร

เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1789 ขณะนั้น นโปเลียนเองดำรงตำแหน่งร้อยโทประจำกองทัพในฐานะผู้สังเกตการณ์

ต่อมานโปเลียนเองกลายเป็นนายทหารที่สนับสนุนการปฏิวัติ ทำให้เขาถูกส่งไปปราบปรามฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์ ณ เมืองตูลง เขาสามารถนำชัยชนะมาสู่กองทัพปฏิวัติได้สำเร็จ ยึดเมืองตูลงมาสู่มือรัฐบาลระบอบสาธารณรัฐได้

ณ ช่วงเวลาแห่งการปฏิวัตินั้นแน่นอนว่าย่อมมีฝ่ายที่เห็นด้วยและมีเห็นด้วยในเมืองว็องเดแมร์ประเทศฝรั่งเศส ฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์บูร์บงได้ลุกฮือต่อต้านระบอบสาธารณรัฐ ในศึกคราวนี้นโปเลียนได้เป็นผู้บัญชาการ เขาได้ฉายแววโดดเด่นทางด้านการใช้ปืนใหญ่ โดยเขาสามารถใช้ปืนใหญ่สลายการชุมนุมได้สำเร็จ

การปฏิวัติฝรั่งเศสเหมือนไฟลามทุ่ง ทำให้ฝรั่งเศสต้องทำการรบกับประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นปรัสเซีย อังกฤษ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ออสเตรีย-ฮังการี) ออตโตมัน ทำให้ นโปเลียน เองกลายเป็นนายทหารที่โดดเด่นออกรบในสมรภูมิสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในอิตาลี หรือในอียิปต์ (ซึ่งเราจะเห็นในภาพยนตร์อย่างแน่นอน) ทำให้เขามีบทบาทที่โดดเด่น และมีบารมีในกอทัพอย่างสูง ทำให้ต่อมาการเข้าสู่จุดสูงสุดของชีวิตทางการเมืองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปสำหรับ นโปเลียน

รัฐประหาร-ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งกงสุลของรัฐ ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง (หรือเปล่า)

สถานการณ์ฝรั่งเศสภายหลังการปฏิวัติ ผ่านการนองเลือดและการถูกเรื่อยขาเก้าอี้ระบอบสาธารณรัฐมาอย่างยาวนาน ทำให้ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายสภาของระบอบสาธารณรัฐบาลอ่อนแอ ประกอบกับมีกระแสข่าวว่าจะมีการนำพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 น้องชายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กลับมาขึ้นครองราชย์ จึงนำไปสาการรัฐประหารวันที่ 18 เดือนบรูว์แมร์ในปี ค.ศ.1799 ล้มการปกครองของรัฐบาลเดิมจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ สถาปนาระบอบกงสุลขึ้นมาบริหารประเทศ

แน่นอนว่าระบอบการปกครองรูปนี้เป็นการปกครองในรูปแบบการรวมศูนย์อำนาจการบริหารไว้ที่กงสุล โดยมีกงสุล 3 คน แต่คนที่มีอำนาจที่แท้จริงคือกงสุลหมายเลข 1 คือ “นโปเลียน” นั่นเอง

เหนือกงสุลยังมีจักรพรรดิรออยู่

หลายคนมองว่าตำแหน่งกงสุลคนที่ 1 เป็นตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในระบอบสาธารณรัฐอยู่แล้ว แต่สำหรับนโปเลียนแล้วไม่ใช่เพราะการมีกงสุลอีก 2 คนยังเป็นการแบ่งอำนาจให้คนอื่นๆ อยู่ประกอบกับตัวเขาเองสามารถนำพาฝรั่งเศสไปสู่จุดสูงสุด ด้วยการรบชนะอังกฤษ รบชนะออสเตรีย-ฮังการี จนสามารถยกเลิกตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสเข้าไปในสวิสเซอร์แลนด์ รวมถึงในเยอรมนีได้สำเร็จ สถานการณ์เริ่มสุขงอมขณะนั้นนโปเลียนมีอำนาจเต็ม ทำการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส 

เป็นการทำลายขบนเดิมของยุโรปจากเดิมมีเพียงตำแหน่งจักรพรรดิหนึ่งเดียว คือจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันสักสิทธิ์ แต่ ณ บัดนี้ได้มีตำแหน่งจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสเกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือจักรพรรดินโปลียน แห่งราชวงศ์ โบนาปาร์ต นั่นเอง 

เมื่อ นโปเลียน ขึ้นเป็นจักรพรรดิสามารถนำพาฝรั่งเศสไปสู่จุดสูงสุดไม่ว่าจะเป็นการรบชนะกองทัพชาติพันธมิตรของปรัสเซีย,ออสเตรีย,รัสเซีย และ อังกฤษ ถึงแม้กองทัพพันธมิตรจะมีกำลังพลมากกว่ากองทัพฝรั่งเศส แต่กระนั้นฝรั่งเศสสามารถกำชัยชนะได้สำเร็จถึงขนาดยกทัพล่วงเข้าไปสถาปนาดัชชีวอร์ซอในดินแดนโปแลนด์ได้สำเร็จหลังจากที่หลายปีก่อนโปแลนด์ถูก ปรัสเซีย,ออสเตรีย,รัสเซีย แบ่งดินแดนกันไปปกครอง

จากสูงสุดสู่สามัญ

คนเราเมื่อมีจุดสูงสุดย่อมมีจุดต่ำสุดเช่นกัน จักพรรดินโปเลียนเมื่อรบชนะทั่วยุโรปก็มีจุดผิดพลาดที่นำไปสู่การพ่ายแพ้เช่นกัน ต้นเหตุของความพ่ายแพ้คือนโปเลียนคือเขาต้องการกีดกันทางการค้าของอังกฤษกับภาคพื้นทวีปยุโรปเพื่อให้เศรษฐกิจของอังกฤษย่ำแย่ แต่กระนั้นหลายประเทศก็ไม่ตอบรับเช่นโปรตุเกส ทำให้ฝรั่งเศสทำสงครามติดพันกับทั้งโปรตุเกสและอังกฤษในคาบสมุทรไอบีเรีย

ขณะที่ นโปเลียน ทำสงครามกับโปรตุเกสและอังกฤษกองทัพออสเตรียลุกขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสอีกครั้ง ประกอบกับรัสเซียตัดไมตรีปฏิเสธที่จะร่วมมือกับนโปเลียนบุกอังกฤษ ทำให้นโปเลียนกรีฑาทัพกว่า 600,000 คนมุ่งสู่รัสเซีย ขณะที่รัสเซียมี จอมพลมิคาฮีล คูตูซอฟ ใช้แผนถอยทัพเผาเมืองตัดเสบียง ทำให้กองทัพฝรั่งเศสที่ทนความหนาวของรัสเซียไม่ไหว ประกอบกับเข้าเมืองไหนก็ถูกเผาไม่มีเสบียง ต้องพ่ายแพ้ต่อความหนาวและความหิวโหย เมื่อเขาถึงเมืองหลวงอย่างมอสโก ก็เหลือแต่เมืองที่ว่างเปล่าและเมืองที่ถูกเผาผลาญ ทำให้จำเป็นต้องถอยทัพกลับฝรั่งเศส

อากาศหนาวของรัสเซียทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้กองทัพฝรั่งเศสเสียหายอย่างหนัก จากเดิมที่ยกไป 600,000 คน เหลือกลับมาเพียงหมื่นกว่าคนเท่านั้น เมื่อกษัตริย์ทั่วยุโรปอริราชศัตรูรู้ข่าวความพ่ายแพ้ของ นโปเลียน ต่างตั้งกองทัพพันธมิตรมารุมกระหน่ำนโปเลียนอีกครั้งเพราะถือเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะล้มนโปเลียน คราวนี้นโปเลียนพ่ายแพ้ทำให้ต้องสละราชสมบัติและถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา

สมัย 100 วันและการอวสาน

ถึงแม้ นโปเลียน จะพ่ายแพ้ถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา แต่เขาก็หาทางหนีกลับมาแผ่นดินฝรั่งเศสได้อีกครั้งโดยขึ้นชายฝั่งฝรั่งเศสที่เมืองลียอง จอมพลมิเชล ไนย สาบานว่าจะจับนโปเลียนต่อหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งราชวงศ์บูร์บงที่หวนกลับมานั่งบัลลังก์อีกครั้งได้แปรพักตร์เข้ากับนโปเลียนมุ่งสู่กรุงปารีส ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ต้องเสด็จหนีออกจากฝรั่งเศส เป็นการเริ่มต้นสมัยนโปลียนอีกครั้ง

กองทัพพันธมิตรยุโรปจึงร่วมมือกันอีกครั้งทำการสู้รบในสมรภูมิวอเอตร์ลู ณ เบลเยียม นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของนโปเลียนทำให้เขาถูกเนรเทศไปสู่เกาะเซนต์เฮเลนา และเสียชีวิตที่นั่นไม่มีวันได้หวนคืนสู่ฝรั่งเศสแผ่นดินอันเป็นที่รักของเขาได้อีกเลย

เรียกได้ว่าในหน้าประวัติศาสตร์นั้น “นโปเลียน” มีชีวิตโลดโผนสมกับเป็นรัฐบุรุษจากขุนนางบ้านนอกก้าวขึ้นจักรพรรดิ ทำศึกสะท้านสะเทือนไปทั่วยุโรป และก็มีคราวตกต่ำต้องถูกเนรเทศเป๊นชีวิตที่มีรสชาติของความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นอีกคนหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก แต่ตะวเขาเองคงจะไม่พอใจการจารึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของเขาตอนท้ายสักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นการที่เขาต้องล่วงหล่นจากอำนาจที่เขาอุตส่าห์สร้างมากับมือนั่นเอง

แต่เรื่องเล่ากล่าวขานไม่รู้จบ

แม้ชีวิตของนโปเลียนจะจบสิ้นลงแล้ว แต่โลกก็ยังกล่าวขานเรื่องราวของเขาอย่างไม่รู้จบ เขากลายเป็นแบบอย่างของนักการเมือง ทหาร และจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 หลานของเขาเอง

เรื่องราวยังถูกนำมาสร้างเป็นเกมส์อย่าง Napoleon Total War รวมถึงภาพยนตร์รวมถึงล่าสุดของผู้กำกับอย่าง Ridley Scott ก็ยังนำภาพยนตร์เรื่องภาพยนตร์เรื่อง Napoleon มาฉายอีกครั้ง

อันที่จริงแล้วในแง่ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของ นโปเลียน เท่านั้น แต่เมื่อเขาจากไปก็ยังมีเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของเขาอยู่เสมอ จากการผลิตซ้ำการเล่าเรื่องเกี่ยวกับเขา ไม่ว่าจะจากทั้งภาพยนตร์ ซีรี่ย์ การ์ตูน หรือเกมส์ ที่ล้วนมีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันออกไป 

ทำให้เราเห็นว่าเรื่องราวของเขานั้นถูกนำมาเสนออย่างไม่รู้จบสมกับเป็น “นโปเลียน” วีรบุรุษที่ชอบความเปลี่ยนแปลง (หรือเปล่า) ??? อย่างไม่รู้จบ

แหล่งอ้างอิง : BBC BBC

  • ศ.อนันต์ชัย เลาหะพันธ์ .ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ.1492-1815 .โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร .2560.
  • รศ.ดร.ชาคริต ชุ่มวัฒนะ .สังเขปประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คริสต์ศตวรรษที่ 15-18 .ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ .2564.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า