fbpx

‘Moleskine’ สมุดโน้ตจากอิตาลี ดึงวัฒนธรรม-นวัตกรรม เสริมแบรนด์ให้แข็งแกร่ง

การจดบันทึกอยู่คู่กับมนุษยชาติมาช้านาน ก่อนที่กระดาษจะถือกำเนิดขึ้นมาบนพื้นพิภพด้วยซ้ำ นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) อย่างพวกเรา ต่างหลงใหลในเรื่องการจดบันทึกเรื่องราวมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่ภาพวาดบนผนังถ้ำ เรื่อยมาจนถึงการสลักเสลาอักษร-สัญลักษณ์ลงบนแผ่นหิน กระดูกสัตว์ และแปรเปลี่ยนมายังกระดาษ แฟลตฟอร์มบนโลกโซเชียล รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นและระบบคลาวด์ การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยของมนุษยชาติในหลายระลอกที่ควบคู่มากับวิวัฒนาการของการบันทึก มนุษย์เราไม่เคยห่างจากการบันทึก เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องมือที่ใช้บันทึกเท่านั้น 

แม้เราจะหันมานิยมบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ หรือขีดเขียนข้อความมากมายกันบนโลกออนไลน์ แต่การจดบันทึกด้วยปากกาและสมุดโน้ตก็ยังคงมีเสน่ห์เฉพาะตัว มีงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าการเขียนบันทึกด้วยปากกาและสมุดโน้ตช่วยเพิ่มศักยภาพในการจดจำ เพราะการจดด้วยมือทำให้เราค่อย ๆ ทบทวนสิ่งที่เขียนออกมาอย่างช้า ๆ นัยหนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการจัดระเบียบความคิดที่พรั่งพรูอยู่ในหัวให้เป็นระบบมากขึ้น 

หลาย ๆ ครั้งการเขียนบันทึกยังเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยเยียวยาบางสิ่งที่ตกค้างอยู่ในใจ อีกทั้งยังช่วยบ่มเพาะไอเดียที่กระจัดกระจาย ให้นำไปสู่การต่อยอดออกมาเป็นสิ่งต่าง ๆ โดยศิลปินระดับโลกและบุคคลมีชื่อเสียงหมายคนมักจะใช้สมุดบันทึกเป็นเครื่องมือที่สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็น เลดี้ กาก้า (Lady Gaga), แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol), ปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) เช่นเดียวกับฟากมหาเศรษฐีอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) และ บิล เกตส์ (Bill Gates) ที่ต่างก็ใช้สมุดโน้ตบันทึกห้วงความคิดที่ล่องลอยให้ออกมาเป็นรูปธรรม

หากเราก้าวเข้าไปในร้านเครื่องเขียน เพื่อที่จะซื้อสมุดบันทึกสักเล่ม ณ มุมหนึ่งของร้าน จะพบสมุดบันทึกมากมายที่ถูกจัดเรียงอยู่บนชั้นให้เลือกสรร หลากดีไซน์ หลายยี่ห้อ เป็นดั่งสวรรค์ของเหล่าคนรักการจดบันทึก 

ท่ามกลางสมุดโน้ตเรียงรายเหล่านี้ Moleskine (โมเลสกิน) แบรนด์สมุดโน้ตสุดคลาสสิกจากอิตาลี เป็นอีกแบรนด์ที่โดดเด่น แม้จะมีราคาแตะหลักพัน แต่ก็ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายนับแต่เปิดตัวแบรนด์มาในปี 1997 ด้วยดีไซน์ปกแข็งสุดคลาสสิก มุมโค้งมน มีเฉดสีเรียบง่าย มาพร้อมสายรัดอันเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ข้างในสมุดมีลูกเล่นที่ออกแบบมาให้มีความพิเศษ และด้านหลังจะมีช่องใส่กระดาษโน้ตเล็ก ๆ หรือเอกสารเอาไว้ให้ ใช้การเย็บกระดาษเข้าด้วยกัน แทนการใช้กาวเหมือนสมุดโน้ตทั่วไป 

แต่ความพิถีพิถันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้สมุดบันทึก Moleskine กลายเป็นที่นิยมของผู้คน แต่การกระโดดลงมาเล่นกับวัฒนธรรมป็อปอย่าง ภาพยนตร์ และการ์ตูน และนำเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับสมุดบันทึกเพื่อก้าวเป็นส่วนหนึ่งของโลกดิจิทัล ทำให้แบรนด์ Moleskine มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ที่มาภาพ: forbes

แรงบันดาลใจจากนักเขียน สู่สมุดบันทึกระดับพรีเมียม

หากจะกล่าวถึงสมุดบันทึก Moleskine คงต้องเท้าความไปถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้สมุดโน้ตแบรนด์นี้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สมุดบันทึกปกหนัง ถูกผลิตและจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อมากลายเป็นที่นิยมในหมู่ศิลปินและนักเขียนชื่อดัง ได้แก่ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh), พาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) สมุดบันทึกดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าบรรดานักคิดนักเขียนเป็นอย่างมาก แม้กาลเวลาจะผ่านมายังปลายศตวรรษที่ 20 

บรูซ แชตวิน (Bruce Chatwin) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งหลงใหลในสมุดบันทึกที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับสมุดบันทึกของเหล่าศิลปินนักเขียนก่อนหน้า ถึงขนาดเขียนบรรยายความรักที่มีต่อสมุดโน้ตลงไปในหนังสือเรื่อง The Songlines ในปี 1987 เอาไว้ว่าทุกครั้งที่มีโอกาสกลับไปปารีส เขาจะซื้อสมุดบันทึกปกหุ้มด้วยผ้าเคลือบน้ำมันทุกครั้ง จากร้านค้าที่ถนน Rue de l’Ancienne Comédie ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อเล่นให้กับสมุดโน้ตนี้ว่า Moleskine สมุดที่ บรูซ แชตวิน ชื่นชอบนี้ถูกผลิตโดยกิจการเล็ก ๆ ของครอบครัวหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเมืองตูร์ ประเทศฝรั่งเศส แต่หลังจากนั้นกิจการแห่งนี้ก็ได้ปิดตัวลง เนื่องจากเจ้าของได้เสียชีวิต ทำให้ บรูซ แชตวิน เสียใจเป็นอย่างมาก

ในปี 1994 เรื่องราวสมุดบันทึกที่ชื่อว่า Moleskine ของบรูซ แชตวิน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ มาเรีย เซเบรกอนดิ (Maria Sebregondi) หลังจากเธอได้รับโจทย์จากบริษัทออกแบบของอิตาลี Modo & Modo ให้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับนักเดินทางรุ่นใหม่ในขณะนั้น ที่นิยมออกเดินทางท่องเที่ยวยังต่างประเทศ หลังจากยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง 

มาเรีย เซเบรกอนดิ
ที่มาภาพ: businessmagazin

เบื้องต้นบริษัทเสนอให้ มาเรีย ออกแบบเสื้อยืดโดยมีวรรคทองจากงานวรรณกรรมมาใช้เป็นสโลแกน แต่เธอปฏิเสธ เพราะมองว่าสินค้าที่ออกมาใหม่นั้นต้องมีความพิเศษมากกว่านั้น ต่อมาเมื่อเธอได้อ่านหนังสือของ บรูซ แชตวิน และไปสะดุดเข้าให้กับข้อความที่ บรูซ เขียนบรรยายความรักที่มีต่อสมุดบันทึก มาเรีย จึงฉุกคิดได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อเธอไปปารีสในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เธอเองก็เคยซื้อสมุดเล่มเดียวกันกับที่ บรูซ แชตวิน เคยซื้อ 

“สมุดโน้ตเล่มเดียวกับที่ บรูซ แชตวิน ใช้ มีความแตกต่างจากสมุดบันทึกเล่มอื่น ๆ มีความเรียบง่าย ที่ผสมผสานไปด้วยกลิ่นอายลึกลับ มันมีสุนทรียะบางอย่างที่ทำให้ฉันนึกถึงอดีต และเสริมจินตนาการให้รู้สึกเหมือนฉันกำลังนั่งเขียนบทกวีลงบนสมุดบันทึกเล่มนี้บนท้องถนนของปารีส” มาเรีย เซเบรกอนดิ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับ Financial Times 

และนั่นเองคือความคิดที่จะทำสินค้าเป็นสมุดโน้ตที่ใกล้เคียงกับสมุดที่บรรดานักเขียนและศิลปินเคยใช้ ให้กับบริษัทที่ต้องการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักอิสรภาพในการเดินทาง ให้พวกเขาได้บันทึกประสบการณ์และความประทับใจระหว่างออกไปท่องโลก และตัดสินใจที่จะนำชื่อ Moleskine มาใช้เป็นชื่อแบรนด์ เนื่องจากตอบโจทย์บริษัทที่ต้องการให้สินค้ามีกลิ่นอายของความเป็นวรรณกรรมแฝงอยู่ จากนั้นสมุดโน้ต Moleskine ก็ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขึ้นในปี 1996 และวางจำหน่ายในปีถัดมา 

สมุดบันทึกเล่มแรกของ Moleskine เป็นสมุดปกดำเรียบง่าย ตัดมุมให้โค้งมน เสริมที่คั่นด้วยริบบิ้น ด้านหลังปกมีช่องกระดาษใส่เอกสาร วางขายครั้งแรกที่ร้านหนังสือในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบริษัท ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างแบรนด์ระดับตำนาน ด้วยการมุ่งพัฒนาและทำการตลาดสมุดโน้ตให้มีความสอดคล้องไปกับ ‘วัฒนธรรม’ ‘จินตนาการ’ ‘ความทรงจำ’ ‘การเดินทาง’ และ ‘อัตลักษณ์ส่วนบุคคล’ 

ที่มาภาพ: notedinstyle

กระโจนใส่วัฒนธรรมป็อป ด้วย Collaboration Marketing

การทำให้สินค้าธรรมดา ๆ อย่างสมุดบันทึก กลายเป็นของที่มีราคาแพงขึ้นมาและมีกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้ออย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แน่นอนว่าการใช้วัสดุคุณภาพในการผลิตและการดีไซน์รูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกให้โดดเด่นเป็นสิ่งที่ยืนพื้นอยู่แล้ว แต่สิ่งทำให้ Moleskine มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั่นคือการกระโดดลงมาเล่นกับวัฒนธรรมป็อปอย่างภาพยนตร์ และการ์ตูน เช่น ในปี 2010 มีการร่วมมือกับบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูน Peanuts หรือที่เรารู้จักกันดีคือเจ้า Snoopy และผองเพื่อน ในวาระครบรอบ 60 ปีของการ์ตูน Peanuts โดยไม่เพียงแต่นำตัวละครมาขึ้นปกเฉย ๆ แต่ภายในสมุดบันทึกจะมีคำคมที่สร้างแรงบันดาลใจจากตัวละคร มีภาพแผนภูมิตัวละครในจักรวาล Peanuts พร้อม ๆ ไปกับสอดแทรกเรื่องราวของแบรนด์ Moleskine ทำให้ Moleskine ได้ฐานลูกค้าเพิ่มจากแฟนพันธุ์แท้ของการ์ตูน Peanuts ซึ่งมีฐานลูกค้าแข็งแกร่งอยู่แล้วจากการที่การ์ตูนเรื่องนี้ปรากฏในหนังสือพิมพ์มากกว่า 2,200 ฉบับใน 75 ประเทศ และ 21 ภาษา อีกทั้งยังถูกผลิตเป็นการ์ตูนและปรากฏตามสิ่อต่าง ๆ อีกมากมาย 

ที่มาภาพ: bleistift.blog

นอกจาก Peanuts แล้ว Moleskine ยังทำ Collaboration Marketing ร่วมกับตัวการ์ตูนอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ Hello Kitty, Doraemon, Moomin ภาพยนตร์อย่าง Star Wars, The Wizard of Oz, Harry Potter ไปจนถึงวงดนตรีคลาสสิกอย่าง The Beatles และวรรณกรรมที่คนรักกันค่อนโลกอย่างเจ้าชายน้อย หรือ Le Pettit Prince โดยออกมาเป็นสมุดบันทึกฉบับ Themed limited edition

ที่มาภาพ: moomin

การจับมือร่วมกับแบรนด์เหล่านี้ของ Moleskine เป็นสิ่งที่ชาญฉลาดอย่างมาก เพราะตัวละครเหล่านี้ล้วนเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของผู้คนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อปอยู่แล้ว การเปิดตัว Themed limited edition แต่ละครั้งจึงได้รับความสนใจไปโดยปริยาย และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ไปในตัว สำหรับกรณีของ Moleskine ถือเป็นการตอกย้ำถึงตัวตนของแบรนด์ในการเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ ซึ่งโมเดลการทำ Collaboration Marketing ลักษณะนี้เป็นยังคงเป็นที่นิยมของแบรนด์ดังหลายแบรนด์ เช่น บริษัทของเล่นอย่าง Lego และ Mattel 

เสริมความแข็งแกร่งด้วยนวัตกรรม และก้าวต่อไปของ Moleskine 

ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจสิ่งพิมพ์กับโลกดิจิทัล ดูเหมือนจะเป็นลิ้นกับฟันที่มักจะกระทบกันตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงแรกที่โลกโซเชียลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แฟลตฟอร์มมากมายผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ผู้คนหันไปสร้างบทสนทนาและบันทึกสิ่งต่าง ๆ ลงบนโลกเสมือน เรื่องนี้ มาเรีย เซเบรกอนดิ ผู้ก่อตั้ง Moleskine ได้เปิดเผยเอาไว้ว่า ช่วงที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล อุตสาหกรรมกระดาษได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก 

ห้วงเวลานั้นทุกคนครุ่นคิดกันอย่างหนักถึงทางรอดของแบรนด์ จนกระทั่งในปี 2011 Moleskine ได้ร่วมมือกับ Evernote นำเทคโนโลยีมาใช้ ที่เปลี่ยนให้การจดบันทึกบนสมุดโน้ต การสเก็ตช์ภาพ แปลงขึ้นไปอยู่บนแอปพลิเคชั่น Evernote จากนั้นในปี 2016 Moleskine เล่นใหญ่อีกครั้ง คราวนี้เพิ่มฟังก์ชั่นปากกา Pen+ เป็นนวัตกรรมที่เมื่อเขียนลงบนสมุดของ Moleskine ตัวอักษรและรูปภาพจะไปปรากฏบนแท็บเล็ต บนแอปพลิเคชั่น MOLSEKINE NOTES ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้ได้สร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมากในการจับโลกออฟไลน์และออนไลน์มาชนกัน

อย่างไรก็ตามการที่โลกก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ Moleskine ยังคงเชื่อมั่นในพลังของกระดาษ โดยดาเนียลา ริกคาร์ดี (Daniela Riccardi) CEO Moleskine เปิดเผยกับเว็บไซต์ Retaildive ว่ากระดาษจะไม่มีวันหายไปไหนทั้งนั้น 

“ฉันมองว่าสมุดโน้ตเปรียบเสมือกับเพื่อนของโลกดิจิทัล สามารถใช้ควบคู่กันไปได้ ซึ่งการเขียนผ่านสมุดโน้ตด้วยลายมือ การสเก็ตช์ภาพด้วยดินสอ การทดความคิดเราเอาไว้ผ่านปากกาผ่านลายเส้นขยุกขยิก เป็นสิ่งที่สะท้อนความอัจฉริยะและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้มากที่สุด”  ดาเนียลา กล่าว

ดาเนียลา ริกคาร์ดี (Daniela Riccardi) CEO Moleskine
ที่มาภาพ: vanityfair

ดาเนียลายังกล่าวต่อว่า ลูกค้าปัจจุบันของ Moleskine ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนรุ่น Millennials ก้าวต่อไปของแบรนด์ก็คือต้องพยายามดึงคนกลุ่มรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล ให้เห็นคุณค่าของการจดบันทึกลงบนสมุดโน้ต ดังที่คนรุ่นก่อนหน้าให้ความสำคัญ ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจมากขึ้น ใน 3 ด้านคือ ศิลปิน, พิพิธภัณฑ์ และแบรนด์ชื่อดัง เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์ต่าง ๆ ให้เข้ากับตัวตนของ Moleskine ซึ่งเปิดโอกาสให้ Moleskine นำไปสู่การขยายแบรนด์สินค้าให้นอกเหนือไปจากสมุดโน้ต และในอนาคต Moleskine จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้การเชื่อมโยงระหว่างการจดบันทึกภาพสมุดโน้ตสอดประสานกับแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างแนบสนิทมากขึ้น  ซึ่งดาเนียลาเชื่อว่าแนวทางนี้จะเป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตของคน Gen Z

ขอบคุณข้อมูล : notedinstyle / THE FINANCIAL TIMES / retaildive / hrnote.asia / forbes / downthetubes

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า