fbpx

“ทหารสร้างการเมืองแห่งความกลัว แต่เราสร้างการเมืองแห่งความหวัง” การปักธงความคิดของ ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’

      เป็นอีกครั้งที่เราได้พบกับ ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล หลังจบการทำงาน ส.ส. สมัยแรก เธอผันตัวเป็นคนทำงานเบื้องหลังในฐานะกรรมการบริหารพรรคแล้ว

      ย้อนกลับไปยังการพบกันครั้งแรก เรามีโอกาสได้พูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กของเธอ ที่เริ่มสังเกตว่าสังคมเราเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำจากในโรงเรียน ในชุมชน มาถึงชีวิตช่วงที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นการเมืองอย่างจริงจังด้วยการเป็นผู้ชุมนุม เป็นคนเสื้อแดง กระทั่งกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองในฐานะ ส.ส. ‘พรรคอนาคตใหม่’ ก่อนเปลี่ยนผ่านมาเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ เผยให้เห็นการเดินทางที่อัดแน่นด้วยสีสัน หยาดเหงื่อ และน้ำตา จนเราได้บทความหนึ่งเรื่องซึ่งใช้ชื่อว่า สุภาพสตรีผู้พยายามเปล่งเสียงแทนผู้คน 

      ในบทความนั้นเราได้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า ‘แล้วพบกันใหม่… ไม่มีใครรู้ว่าวันไหน แต่เราต้องพบกันอีกครั้ง ในวันที่ประชาธิปไตยไทยเบ่งบานอย่างแท้จริง’ การลาจากด้วยความหวังจากวันแรกจนถึงวันนี้ใช้เวลากว่า 3 ปี สิ่งที่ทั้งเราและอมรัตน์ต่างรอคอยดูใกล้เป็นจริงเข้ามาอีกขั้น เมื่อก้าวไกลชนะการเลือกตั้งในปี 2566 

      เราจึงตกลงนัดหมายพบเจอกันอีกครั้ง ณ คาเฟ่ร้านเดิมแถวถนนบรรทัดทอง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ถามไถ่ประสบการณ์ทางการเมืองที่พบเจอมา จนถึงการอัปเดตชีวิต พูดเรื่องสัพเพเหระถึงการเปลี่ยนแปลงรอบตัวเราหลังรัฐบาลทหารใกล้จะสิ้นอำนาจลงเรื่อยๆ ท่ามกลางบรรยากาศเดิมที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองไม่ต่างจากการพบกันครั้งแรก 

การเป็น ส.ส. ทำให้ ‘ได้เห็น’ และ ‘ได้ทำ’ หลายสิ่ง 

      การพบกันคราวก่อน อมรัตน์ยังเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ทำงานได้ประมาณปีนิดๆ กระทั่งเวลาล่วงเลยครบเทอม จึงเอ่ยปากถามเธอถึงช่วงเวลาที่ทำงาน ส.ส. มีความทรงจำใดบ้างที่จดจำได้ไม่ลืม มีเหตุการณ์ใดบ้างที่ยังคงตกค้างอยู่ในจิตใจ รวมถึงมุมมองส่วนตัวที่ว่าอนาคตใหม่และก้าวไกล ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับการเมืองไทยบ้าง 

      อมรัตน์นั่งนึกสักพัก คล้ายกับว่ากำลังขุดคุ้ยเรื่องราวในคลังความทรงจำ ก่อนตอบด้วยรอยยิ้มว่าการเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านให้ประสบการณ์เธอหลายอย่าง แต่ที่ชอบที่สุดคงเป็นการได้รับโอกาสให้อภิปรายครั้งสำคัญๆ ที่เรียกว่าเป็นแมตช์หยุดโลก เช่น การอภิปรายงบประมาณวาระ 1 การอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นมาตรา 151 เรื่องการก่อสร้างที่น่าสงสัยภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม กับข้อสังเกตว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาจรู้เห็นกับการล็อกชื่อผู้ประมูลโครงการก่อสร้างบ้านพักผู้บัญชาการกองทัพเรือ โครงการสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นมาตรา 152 กับข้อสังเกตว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำงานแบบ ‘รัฐซ้อนรัฐ’ เอื้อผลประโยชน์แฝงให้กับกองทัพ 

      “ดีใจที่เป็นคนหนึ่งที่ได้อภิปรายนัดสำคัญๆ เกือบทุกนัด สำหรับพรรคก้าวไกล การได้มีโอกาสอภิปรายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามีจำนวน ส.ส. ประมาณ 50 คน ทำให้มีเวลาน้อย ต้องคัดเลือกประเด็น คัดเลือก ส.ส. ที่จะอภิปราย เราก็ไปคัดเลือกแล้วผ่านทุกรอบ ได้อภิปรายคุณประยุทธ์หลายครั้ง

      “ส่วนด้านการเปลี่ยนแปลง เรามองว่าเปลี่ยนแปลงทุกมิติ การปรากฏตัวของพรรคก้าวไกลในสภา ส่งผลต่อระดับการอภิปรายทั้งเนื้อหาสาระ การพรีเซนต์ การแข่งขัน เราพยายามยกระดับเนื้อหาสาระ ยกระดับเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎร คนสนใจดูการประชุมสภาผ่านช่องรัฐสภามากขึ้น คนที่เคยไม่สนใจการเมืองเริ่มหันมาติดตามมากขึ้น

      “งานในกรรมาธิการก็ชัดเจนมากว่าเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ในกรรมาธิการเคยบอกกับเราว่า ‘ตอนที่ไม่มี ส.ส. ก้าวไกล งานในกรรมาธิการไม่เข้มข้นเท่านี้’ อย่างตัวพี่เจี๊ยบเองอยู่กรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เดิมทีเป็นกรรมาธิการที่ไม่มีใครอยากอยู่ เพราะเปรียบแล้วเหมือนกรรมาธิการเกรด C ใครๆ ต่างอยากไปอยู่กรรมาธิการคมนาคม หรือกรรมาธิการที่มีบทบาทอำนาจเยอะๆ แต่ปรากฏว่าพรรคเราได้เป็นประธานกรรมาธิการ ผลักดันเรื่องสำคัญๆ ส่วนตัวดีใจมากที่ได้ผลักดันและปักธงในสภาเรื่องการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสื่อสารมวลชนและประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงในสภามาก่อน

      “เราไม่ได้กระตุ้น แต่เราทำให้ดู ทั้งการอภิปรายในสภา การทำงานนอกสภา การวางตัวของ ส.ส. ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ ส.ส. แบบเดิมโดยสิ้นเชิง เมื่อก่อนเราจะเห็น ส.ส. เป็นผู้ชายภูมิฐาน ใส่สูท มีพุงนิดๆ แล้วมีคนเดินติดตาม เป็นภาพนักการเมืองเก่าๆ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราไม่ให้เจ้าหน้าที่สภาเรียกว่าท่าน เราดูแลลูกจ้างในโรงอาหารสภาที่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม ดูแลแม่บ้านสภากว่า 200-300 คน ตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีห้องพักให้พวกเขา เวลาพักต้องนั่งในห้องน้ำ นั่งในซอก พรรคก้าวไกลที่มี ส.ส. ปีกแรงงานอย่าง คุณมด วรรณวิภา ไม้สน เข้ามาจัดการเรื่องนี้ ต่อสู้ให้พวกเขาจนตอนนี้มีห้องพักแม่บ้านแล้ว เราต้องสร้างความเป็นธรรมตั้งแต่ในสภา แล้วเปลี่ยนทุกมิติให้ได้”

      ที่เล่ามาคือมุมมองการทำงานและความเปลี่ยนแปลงที่เธอสัมผัสได้ในสภา หากมองมายังการเมืองนอกสภา อมรัตน์ซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่วิ่งประกันตัวประชาชนและเยาวชนที่ถูกจับกุมจากการประท้วงรัฐบาลทหารช่วงปี 2562-2563 ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งสังคมมีภาพจำว่าไม่ว่าเวลาไหน เช้า สาย บ่าย เย็น หรือดึกดื่นค่ำคืน ถ้ามีการชุมนุมประท้วงแล้วมีคนถูกจับ อมรัตน์จะปรากฏตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ และใช้เอกสิทธิ์ในการประกันตัวผู้ประท้วงเสมอ

      “ถ้าถามถึงการเมืองนอกสภา มีอย่างหนึ่งที่นึกขอบคุณตัวเอง เราเป็นคนแรกๆ ที่กล้าโชว์ใบรับรองเงินเดือนในช่วงที่ม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเบ่งบาน ช่วงแรกมีการล้อมปราบ ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ตอนนั้นไม่ได้ปรึกษากับพรรค แต่เราตัดสินใจโพสต์ใบรับรองเงินเดือน ส.ส. ในโซเชียลมีเดีย เพราะเรายินดีที่ไปประกันตัวคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบสันติ 

      “ตอนนั้นแอบใจหายตุ๊มๆ ต่อมๆ เดี๋ยวโดนพรรคว่าอะไรหรือเปล่า เขาจะมองว่าเราเข้าไปร่วมวงอะไรหรือเปล่า คุณต๋อม (ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล) จะโทรศัพท์มาหรือเปล่า มันเกินขอบเขตหน้าที่ ส.ส. ไหม เพราะเรามีเวทีให้ต่อสู้ในสภาแล้ว 

      “แต่พอมาคิดอีกที สมัยก่อนที่เราเป็นเด็ก เราเห็นเวลาสามีภรรยาแถวบ้านทะเลาะกัน ส.ส. ก็ไปประกันตัว หรือใครเล่นไพ่ เล่นไฮโลแล้วโดนจับ ก็วิ่งมาหา ส.ส. เพื่อขอให้ช่วยประกันตัว ซึ่งการประกันตัวในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราไปรับรองว่าเขาไม่ได้ทำผิด แต่เราแค่ให้เขามีอิสรภาพ ออกมาหาหลักฐานเพื่อสู้คดีต่อไป ผิดหรือถูกเป็นดุลพินิจของศาล เราเพียงแค่ช่วยให้เขามีอิสรภาพในช่วงต่อสู้คดีเท่านั้น 

      “สุดท้ายเราคิดว่าตัดสินใจถูกแล้วที่โพสต์ เอาตำแหน่งของตัวเองมาประกันตัวน้องๆ จนวงเงินหมด เงินเดือน ส.ส. มีประมาณแสนกว่าบาท เราสามารถใช้ได้ 10 เท่าของเงินเดือน ซึ่งตอนนั้นมีคนเข้าใจผิดว่าใช้เงินสดประกัน ซึ่งไม่ใช่ ตอนหลังมีเพื่อน ส.ส. อีกจำนวนมากมาช่วยประกันตัว ไม่ว่าคดีมาตรา 112 มาตรา 116 หรือคดีความมั่นคงอื่นๆ เราเลยรู้สึกขอบคุณตัวเองที่กล้าทำตามที่หัวใจเรียกร้อง 

      “เราอยากทำทุกอย่างที่เราเคยคาดหวังให้นักการเมืองทำ พอเราได้เป็นนักการเมือง เราก็เรียกร้องให้นักการเมืองคนอื่นๆ ออกมาร่วมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ เพราะการต่อสู้ทั้งในสภากับนอกสภาต้องคู่ขนานกัน ต้องมีความเป็นธรรมในการส่งเสียง ต้องมีพื้นที่ให้ประชาชน ซึ่งตั้งแต่การรัฐประหารมาประชาชนไม่มีพื้นที่ ดีใจที่เราได้ออกมาอยู่เคียงข้างพวกเขา แล้วสิ่งที่เราตั้งใจทำแปรเป็นคะแนนนิยมของพรรคได้ในที่สุด”

ท่านประธานที่ (ไม่) เคารพ

      หลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ต่างคนต่างพบเจอกันมาพักหนึ่ง อมรัตน์ถามเราด้วยรอยยิ้มว่าเธอสามารถพูดถึงหนังสือของตัวเองได้ไหม ด้วยความที่เราก็อยากรู้ว่าหนังสือที่ว่าคืออะไร จึงเปิดทางให้เธอได้หยิบหนังสือเล่มเล็กออกจากกระเป๋า ก่อนอมรัตน์จะชิงแซวตัวเองก่อนว่ากระเป๋าที่เห็นนี้ ไม่ใช่กระเป๋าใบที่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องของจริงของปลอมแต่อย่างใด 

      หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ท่านประธานที่ (ไม่) เคารพ เนื้อหาคือการเล่าเรื่องราวในสภา แต่เจาะลึกตรงตามชื่อคือ ‘ประธานสภา’ เธอพูดอย่างจริงใจว่าสำหรับตัวเองแล้ว ประธานสภาในยุคที่ตนเป็น ส.ส. อาจไม่น่าเคารพจริงๆ เพราะประธานไม่ได้ทำตามระเบียบข้อบังคับของสภา ทั้งการไม่ยอมบรรจุวาระแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ หรือการโดนปิดไมค์อยู่บ่อยครั้ง

      “อำนาจของประธานคือการบรรจุวาระการประชุม เรายื่นตามระเบียบกฎเกณฑ์ถูกต้องทุกอย่าง แต่ถ้าประธานไม่บรรจุ เรื่องนั้นก็ไม่มีสิทธิถูกหยิบยกมาอภิปราย ไม่มีการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ได้พื้นที่ในรัฐสภา ซึ่งมาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญามาตราหนึ่งที่คนเขียนขึ้น ถ้าอะไรไม่เหมาะกับยุคสมัยก็ต้องแก้ไขได้

      “อีกอย่างหนึ่งที่ท่านประธานไม่น่าเคารพคือญัตติด่วนขบวนเสด็จของพรรคก้าวไกล ตอนที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระราชินีและรัชทายาทเข้าไปในม็อบ ทำให้มีคนโดนข้อหามาตรา 112  มาตรา 110 เราจึงบรรจุเป็นญัตติด่วน ตั้งคำถามเรื่องความเป็นธรรม เพราะเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานดูแลขบวนเสด็จที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ประชาชนที่อยู่ในการชุมนุมก็ไม่รู้เรื่อง ชูสามนิ้วและโดนจับกุมตัวไป 4-5 คน 

      “พรรคก้าวไกลต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนอกสภา ปรากฏว่าพอยื่นเป็นญัตติด่วนเพื่อให้สืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่าทำไมตำรวจจัดขบวนเสด็จถึงไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งมันคือเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับพระองค์ท่าน เกี่ยวกับการบริหารจัดการของหน่วยงาน แต่ประธานไม่บรรจุ 

      “ตอนแรกเหมือนเผลอรับเป็นญัตติด่วนเรื่องที่ 1 แล้วมีเรื่องที่ 2, 3, 4 เต็มไปหมด มีเป็นร้อยเรื่อง ท่านประธานกีดกันไม่ยอมเอาวาระด่วนเรื่องที่ 1 มาให้อภิปรายสักที ทำให้เรื่องที่ 2, 3, 4 อดพูดไป 2 ปี เป็นปัญหาของประเทศชาติทั้งนั้น 

      “เวลาอภิปรายอะไรก็ตาม ประธานจะชอบปิดไมค์ ซึ่งเรื่องที่เราพูดยังไม่ทันได้ผิดระเบียบข้อบังคับการประชุม เช่น วันนั้นพูดเรื่องอานนท์ นำภา ปราศรัยเรื่องพระมหากษัตริย์ โดยบอกว่ารัชกาลที่ 10 ประทับในเยอรมนี ไม่ได้ประทับในไทย แล้วถูกแจ้งมาตรา 112 ก็ต้องพิสูจน์กันในศาล ต้องดูหลักฐานบนพื้นฐานความเป็นจริงเรื่องการเดินทาง ศาลมีอำนาจเรียกพยานให้กับจำเลย ศาลมีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งเรียกหมายเสด็จพระราชดำเนินไปเยอรมนีของรัชกาลที่ 10 เพื่อเอามาให้อานนท์นำมาเป็นหลักฐานว่าอยู่ที่ไหน กี่วัน กี่เดือน ถ้าอานนท์พูดผิด อานนท์ต้องโดน แต่ถ้าอานนท์พูดถูก อานนท์ต้องพ้นคดี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องมีหลักฐาน แต่ศาลไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองที่จะเรียกหลักฐานให้จำเลย พี่ก็พูดเรื่องนี้ในสภา ปรึกษาหารือกับประธาน ตั้งคำถามว่าศาลมีความเป็นอิสระหรือเปล่า ศาลดำรงตนเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนหรือเปล่า ทำไมศาลถึงไม่ทำหน้าที่ตัวเอง

      “พี่แค่พูดเรื่องร้องขอหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน ประธานปิดไมค์ ไม่ว่าพูดอะไรประธานก็ปิดไมค์ ยังไม่ทันผิดระเบียบข้อบังคับ ส.ส. ที่ระบุว่าห้ามพูดชื่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็น และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ‘โดยไม่จำเป็น’ แล้วถ้าจำเป็นล่ะ ต้องพูดได้ไหม

      “รากศัพท์ของคำว่า ‘สภา’ แปลว่า ‘สถานที่พูด’ แต่สภาของเรากลายเป็นที่วิปัสสนา ตั้งชื่อว่า ‘สัปปายะสภาสถาน’ มีความหมายว่า ‘ที่เงียบสงบ’ หยิบเอาคติการสร้างแบบเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นเรื่องทางศาสนามาครอบการเมือง เรามองว่ามันไม่ได้ เพราะสภาคือที่ถกเถียง ถกเถียงเสร็จแล้วค่อยมาตัดสินด้วยการหาข้อสรุป ยกมือโหวต แต่สภาของเรามันผิดเพี้ยนไปหมด แล้วความคิดของคนการเมืองรุ่นคุณชวน หลีกภัย เขาคิดจริงเหรอว่าสภาต้องสงบเรียบร้อย”

      ด้วยปัจจัยส่วนตัวหลายอย่างที่อมรัตน์พบเจอ เธอเลยตั้งชื่อหนังสือว่า ‘ท่านประธานที่ (ไม่) เคารพ’ และยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ในสภามีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งการสืบราชสมบัติจากรัชกาลที่ 8 มารัชกาลที่ 9 เรื่องบประมาณสถาบันฯ แต่ในปัจจุบันกลับพูดแทบไม่ได้ 

      ในช่วงที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป แทนที่สภาควรโมเดิร์นทันสมัยมากขึ้น แต่เหมือนสภากำลังเดินย้อนกลับ แล้วญัตติด่วนที่เธอบอกว่าค้างอยู่นาน 2 ปี จะเรียกว่าด่วนได้อย่างไร 

เธอย้ำว่าถ้าการจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้มีก้าวไกลเป็นประธานสภา ก็จะเป็นประธานสภาที่น่าเคารพ ทำตามกฎระเบียบ เรื่องด่วนต้องเป็นเรื่องด่วน ไม่ว่าฉันทามติในสภาเป็นอย่างไร แต่ประธานสภาที่น่าเคารพต้องให้พื้นที่ได้พูดก่อน

ลาก่อนงูเห่า การปักธงส้มทั่วประเทศ และความคาดหวังที่ผู้คนมีให้ ‘ก้าวไกล’ 

“ถ้าตอบแบบตัวจริง ก็จะบอกว่าดีใจ สะใจ”

เมื่อเราเปิดประเด็นเรื่อง ‘งูเห่า’ อมรัตน์หัวเราะนิดหน่อยก่อนเอ่ยตามตรงว่ารู้สึกสะใจ เพราะเอาเข้าจริงก่อนผลเลือกตั้งปี 2566 จะออกมาว่างูเห่าจากพรรคก้าวไกล ‘สอบตกหมดทุกคน’ เธอมีความรู้สึกทั้งกังวลปนระแวง กลัวว่าคนที่ขายตัวเองได้กลับเข้าสภาอีก 

สุดท้ายสิ่งที่เราได้เห็นคือประชาชนในหลายพื้นที่มีมติร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่เลือกคนเหล่านี้กลับเข้าสู่สภา เหมือนกับว่าประชาชนได้ให้บทเรียนกับงูเห่าที่ทรยศเสียงของประชาชน

“พวกงูเห่าเขามีเงินทำพื้นที่โดยได้เงินจากพรรคการเมืองที่เขาสังกัด สร้างระบบอุปถัมภ์ มีข้าวของไปแจกชาวบ้าน ทำฝาย ฉีดวัคซีนให้วัวควาย ระแวงเหมือนกันว่าผ่านไป 2-3 ปี คนจะลืมหรือเปล่า แต่ผลออกมาชัดเจนแล้วว่างูเห่าไม่ได้เข้ามาเลย ไม่ว่างูเห่าศรีนวล งูเห่าเชียงราย งูเห่าชลบุรี งูเห่าแพร่ ซึ่งจริงๆ พี่ก็โพสต์ถึงเมืองงูเห่าเป็นพิเศษด้วย เคยโพสต์ว่า ‘เดี๋ยวจะขึ้นไปตีงูเห่าที่เชียงใหม่’ แล้วโดนเฟซบุ๊กปิดเพจหนึ่งเดือน เพราะเฟซบุ๊กมองว่าพี่กำลังไปทำทารุณกรรมสัตว์ ผิดกฎชุมชน 

      “ถ้าเกิดมีงูเห่าหลุดเข้ามาสัก 1-3 คน กระบวนการขายตัวจะเกิดขึ้นอีกในครั้งหน้า เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าขายตัวแล้วยังเข้ามาได้อีก พอเป็นแบบนี้มันเกินคาดทุกอย่าง งูเห่าไม่ได้กลับมาสักคน แถมเรายังมี ส.ส. เขตครบทุกภาค และเรายังสามารถปักธงส้มได้ทั่วกรุงเทพมหานคร”

      เมื่อพูดถึงการปกธงส้มได้ทั่วประเทศ อมรัตน์เล่าย้อนตั้งแต่การหาเสียงในช่วงอนาคตใหม่ กลุ่มผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นหน้าใหม่ในแวดวงการเมือง นั่งคุยเรื่องหาเสียงกับหัวหน้าพรรคอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะพวกเขาต่างมีคำถามมากมายว่าต้องหาเสียงอย่างไร ต้องพูดแบบไหน ต้องทำอย่างไร ก่อนหัวหน้าพรรคตอบว่า 

      ‘มาถามผม ก็เหมือนควายจูงควายนั่นแหละ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน’ 

      จากวันที่ธนาธรเคยหวัง ส.ส. เพียง 7-10 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนี้พรรคกลายเป็นอันดับหนึ่ง อมรัตน์มองว่าการทำงานทางความคิดจากอนาคตใหม่สู่ก้าวไกลนั้นได้ผล ประกอบกับยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้ ส่งผลให้การเมืองที่ไม่ได้ลงทุนสูงมีที่อยู่ที่ยืน 

      “หลังฟังผลเลือกตั้งก็หายเหนื่อย จากการเลือกตั้งปี 2562 เราได้มา 6.3 ล้านเสียง พอปี 2566 เราได้เพิ่มเป็น 14 ล้านเสียง มันทำให้รู้สึกใจฟู รู้สึกมีความหวัง รู้สึกว่าหมดยุคทหารแล้ว จากนี้ไปจะเป็นการเมืองแบบ ‘Post-Prayut’ จากที่คิดว่าอาจต้องลงเลือกตั้งอีกสัก 3-4 ครั้ง แต่อันนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วเราชนะ มันไม่น่าเชื่อ และชวนให้ดีใจมากๆ 

      “คุณประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว การเมืองจะเป็นนายกฯ พิธา เป็นรัฐบาลก้าวไกล เพราะฉะนั้นเรื่องที่หลายคนกังวลจะไม่เกิดขึ้น สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ เรื่องที่ต้องมานั่งประกันตัวเด็ก กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ศาลไม่เป็นศาล จะไม่เกิดขึ้นแล้ว

      “รัฐบาลทหารเคยสร้างการเมืองแห่งความกลัว แต่เราสร้างการเมืองแห่งความหวัง กล้าที่จะหวัง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หลังจากนี้เราหวังถึงขั้นเดินหน้าแบบสภาเดี่ยว ไม่จำเป็นต้องมี สว. แล้ว เราไปดูงานที่เยอรมนีเมื่อปลายปีที่แล้ว เขาบอกว่ายกเลิก สว. แล้ว ตอนแรกก็มีความกังวลว่าถ้าไม่มีสภาสูงมาช่วยกลั่นกรองกฎหมายจะส่งผลเสียอะไรไหม ปรากฏพวกเขาได้คำตอบว่าควรยกเลิกไปตั้งนานแล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมี สว. ซึ่งเราเห็นแล้วว่า สว. ถ่วงความเจริญแค่ไหน 

      “ส่วนความคาดหวังของผู้คน โดยเฉพาะหนุ่มสาวต่างจังหวัด พี่เจี๊ยบเดินสายคาราวานได้เห็นอะไรเยอะ ได้เห็นเมืองคนแก่อย่างจังหวัดอุทัยธานีหรือสิงห์บุรี ที่มีประชากรสูงอายุกว่า 37% เห็นผู้สูงอายุนั่งถือพัดอยู่ตรงเก้าอี้หวายหน้าบ้าน ส่วนลูกหลานออกไปเรียน ออกไปทำงาน ไม่มีใครกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เราจึงต้องสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม ทำรถไฟฟ้าทางภาคอีสาน สี่ปีนี้ให้เราลองทำดู ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเลือกเราแล้ว ทุกคนมีสิทธิเลือกตัวเลือกใหม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เราอาจไม่ใช่พรรคการเมืองที่ดีที่สุด หรือดีพร้อมแบบ 100% แต่เราพยายามผลักดันและให้พื้นที่กับคนทุกกลุ่ม 

      “อย่างไรก็ตาม เรากำลังเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาลชุดก่อน เหมือนกับว่าเราไม่ได้ย้ายเข้าไปในบ้านใหม่ที่สงบเรียบร้อยแบบที่ซื้อตามโครงการบ้านจัดสรร แต่เราเข้าไปในบ้านที่สกปรกเลอะเทอะ ห้องน้ำแสนสกปรก เฟอร์นิเจอร์กับวอลล์เปเปอร์ถูกฉีกขาด แถมเสาขื่อคานบ้าน ยังผุพังอีกด้วย เคยกังวลเพราะต้องตามล้างตามเช็ดของเก่า แต่หวังว่าการสื่อสารที่ดีจะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอน จะชี้แจงทำให้โปร่งใส ทำงานแบบรัฐ AI ให้ประชาชนตรวจสอบได้ตลอด 

      “คิดว่าประชาชนจะเข้าใจว่าเราเข้าไปในบ้านที่สภาพเป็นอย่างไร มันเป็นซากปรักหักพังที่จะต้องเก็บกวาดก่อน”

      หลังจากพูดคุยถึงความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลก้าวไกลในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ แล้วชัยชนะของก้าวไกลสามารถเรียกว่าเป็นการ ‘แก้แค้น’ ได้แล้วหรือยัง 

      ถึงอมรัตน์จะเคยอธิบายแล้วว่า ‘แก้ไข ไม่แก้แค้น’ อาจไม่ตอบโจทย์กับกลุ่มเผด็จการทหาร ดังนั้นสิ่งที่เธออยากทำคือการพูดอย่างตรงไปตรงมา พูดแบบกระชับ การแก้แค้นที่เธอหมายถึงในวันปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ไม่ได้หมายถึงการใช้กำลัง แต่หมายถึงการหยุดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของคนที่ทำรัฐประหาร 

      “ชีวิตมันยากอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรให้อ้อมค้อมต้องตีความ สมัยนี้คนเน้นการสื่อสารแบบกะทัดรัด เห็นได้จากการที่คนด่านายกฯ เมื่อก่อนเขียนด่ากันครึ่งหน้ากระดาษ ตอนนี้เหลือแค่ ค. ตัวเดียว เราเลยใช้คำว่า ‘แก้แค้น’ แบบตรงไปตรงมา

      “เราต้องปรับแก้กฎหมายความมั่นคง แก้ไขกฎอัยการศึกเปลี่ยนเป็นให้ประกาศโดยรัฐสภา รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างมาตรา 112 ที่ต้องแก้ไข ปรับให้มีความเป็นสากล ใครจะไปฟ้องกันเองไม่ได้ ต้องกำหนดผู้ฟ้องร้องให้ชัด อาจเป็นสำนักพระราชวังหรือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง 

      “กอ.รมน. ที่เป็นเครื่องมือของกองทัพในการควบคุมประชาชนก็เช่นกัน องค์กรนี้ควรถูกยกเลิกตั้งแต่สมัยสงครามเย็นแล้ว แต่กลับถูกดำรงไว้เพื่อต่อท่ออำนาจของกองทัพ ซ้ำยังขัดกับหลักการประชาธิปไตย ขัดกับหลักการสิทธิเสรีภาพ 

      “เราต้องตอบรับเรื่อง ICC ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศมาถึงทางตัน เหตุการณ์ฆ่าคนเสื้อแดงกลางเมืองหลวง 99 ศพ ปี 2553 ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว เหลืออีกเพียง 7 ปีจะหมดอายุความ ถ้าเราสามารถลากตัวคนที่ทำรัฐประหารสู่ศาลโลก มีการพิจารณาและได้รับการลงโทษ ต้องเข้าคุก ต้องชดใช้ความผิด ไม่มีการลอยนวล มันจะเป็นการป้อมปรามไม่ให้นายทหารรุ่นหลังๆ กล้าทำรัฐประหารอีก 

      “พอเราแก้กฎหมายความมั่นคงต่างๆ นี่คือการแก้แค้นในความหมายที่พูดออกไป” 

ยังคงระลึกถึงเพื่อนที่สู้ด้วยกันเสมอมา

      เราได้เห็นอมรัตน์ในบทบาทต่างๆ ทั้งการขับเคลื่อนการเมืองก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่ เธอเคยถูกเรียกว่า ‘แดงนครปฐม’ จากการจัดกิจกรรมต่อต้านการกระทำของเหล่านักการเมืองที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย เช่น จัดงานเรียกร้องไม่ยอมรับโมฆะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เคยยกเต็นท์ไปร่วมประท้วงที่ถนนอักษะในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ก่อนโดนสลายการชุมนุม และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ ประกาศรัฐประหาร  

      แม้ทหารใช้กระบอกปืนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกครั้ง แต่เธอไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจเผด็จการ ยังคงเดินหน้าแสดงจุดยืนของตัวเองต่อไป เช่น เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ (MBK39) ในปี 2561 การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าสหประชาชาติ (UN62) ในปี 2562 เคยถูกจับกุมคุมขังอยู่ใต้ถุนศาล 

      หลังจากช่วงเวลานั้นผ่านไปเกือบสิบปี จากผู้ประท้วงกลายเป็นนักการเมือง จากคนที่เคยถูกขังใต้ถุนศาล กลายมาเป็น ส.ส. ที่นั่งให้กำลังใจเยาวชนที่ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงผ่านลูกกรงใต้ถุนศาล  

      มันเป็นเหมือนตลกร้าย ที่ต่อให้เวลาผ่านไปนานแค่ไหน สังคมส่งต่อความคิดและผลัดเปลี่ยนคนจากรุ่นสู่รุ่น ผู้คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย กลับต้องถูกจับยัดใส่ตะรางเสมอ แต่ถึงอย่างนั้น อมรัตน์มองว่าช่วงเวลาที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของการเมืองการปกครองไทย 

      “เราอ่าน Man of La Mancha ดอนกิโฆเต้เคยพูดถึงอนาคตอีก 10-20 ปี แล้วย้อนกลับมาพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่างน้อยเราก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน ถ้าเกิดมีการถามว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คุณยายทำอะไรอยู่ เราจะบอกเขาว่าเราอยู่ตรงไหน เราเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย

      “คุณธนาธรบอกว่าพรรคอนาคตใหม่คือผู้คนและการเดินทาง ส่วนพี่มองพรรคก้าวไกลเป็นพาหนะ เป็นเรือที่พาพวกเราไปยังดินแดนใหม่ มันยิ่งใหญ่ตั้งแต่กล้าคิดออกเรือแล้ว ไม่ใช่ยิ่งใหญ่ตอนที่ค้นพบดินแดนใหม่ เพราะฉะนั้น พี่คิดว่าพี่ตีตั๋วแบบเที่ยวเดียว ไม่ตีตั๋วกลับ ข้ามไปแล้วจะไม่กลับมาอีก เพราะเราเจอโลกใหม่แล้ว เราเห็นมันอยู่แค่ข้างหน้านี้เอง”

      จากวันที่เป็นประชาชนผู้ออกมาเรียกร้อง สู่การเป็น ส.ส. และวางมือจากงาน ส.ส. สู่กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล อมรัตน์ผ่านเรื่องราวการต่อสู้ที่ยาวนาน ซ้ำยังมีบทบาทหลากหลาย เลยต้องถามเธอว่าจากวันที่ออกมาประท้วง กลายเป็นนักการเมือง ช่วยเด็กรุ่นหลังที่ออกมาชุมนุม มีอะไรอยากเอ่ยกับเพื่อนที่สู้มาด้วยกันบ้างไหม

      ทันทีที่ฟังคำถามจบ เธอส่งยิ้มที่ดูขมขื่น น้ำตาเธอเริ่มไหลแบบหยุดไม่ได้ บรรยากาศในช่วงแรกที่เป็นกันเองและสบายใจ มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ เริ่มเปลี่ยนเป็นการย้อนนึกถึงความสูญเสียอย่างไม่มีวันย้อนกลับ ที่ไม่ว่าใครมาเห็นอมรัตน์ในเวลานี้ ก็คงอดไม่ได้ที่จะน้ำตาคลอและสัมผัสได้ถึงความเสียใจที่ท่วมท้นของเธอ

      “หลายๆ คน ที่เขารอดูความเปลี่ยนแปลงไม่ถึงวันนี้ สิ่งที่พี่ต้องการที่สุด คืออยากให้เพื่อนที่ตายไปแล้วได้รับรู้ อยากให้เพื่อนที่ลี้ภัยอยู่ได้กลับบ้าน บางคนอยู่ต่างประเทศ บ้านแตกสาแหรกขาด สูญเสียกิจการ สูญเสียอาชีพ สูญเสียสามี สูญเสียภรรยา มันพลัดพรากไปหมด 

      “อยากให้ผู้ต้องหาทางความคิดทั้งหลายคิดต่างต้องไม่ติดคุก อยากให้ผู้ต้องหาทางความคิดถูกปล่อยตัวออกมา ได้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่เกิดจากแค่การคิดต่าง ที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรม ไม่ฆ่าใครตาย 

      “แล้วที่สำคัญที่สุด พี่อยากให้เพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเสื้อแดง เพื่อนที่ร่วมต่อสู้กันมา ซึ่งบางทีเราดูรูป บางคนก็เสียชีวิตแล้ว เรามองเผื่อเขาด้วย อยากให้เขาเห็นว่ามันมาถึงแล้ว สายลมของการเปลี่ยนแปลงมาเร็วและแรงกว่าที่คิด แล้วโลกจะไม่ย้อนกลับไปเหมือนเก่า เหมือนที่คุณพิธาพูดว่ามันหมดยุคหมุนวนแบบเข็มนาฬิกา จากนี้เราจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแบบปฏิทินอย่างเดียว 

      ท่ามกลางการพูดที่ติดๆ ขัดๆ ปะปนด้วยเสียงสะอื้น และหยดน้ำตาที่ยังคงไหลริน อมรัตน์หวังว่าความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย ความตายของมิตรสหายและประชาชนที่ตื่นรู้ จะไม่มีวันถูกเรียกว่าเป็นการออกไปแบบเสียเปล่า จะไม่มีใครถูกลืม และผู้คนรุ่นหลังจะยังคงสดุดีและระลึกถึงผู้วายชนม์ตลอดไป 

      “มีอีกเป็นหมื่นล้านคำที่พูดออกมาไม่ได้ อยากให้พวกเขาได้มาเห็น”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า