fbpx

คลองที่หายไปกับความเป็นไทยที่ล่มสลาย

ฤดูฝนแบบนี้มนุษย์เมืองกรุงและมนุษย์เงินเดือนคงจะว้าวุ่นใจกับปัญหาฝนตกหนัก ที่ส่งผลให้น้ำท่วม จนสัญจรกันลำบาก มองไปทางไหนถนนทุกสายล้วนกลายเป็นคลอง ยิ่งในสัปดาห์นี้ ฝนตกหนักตกถูกจังหวะถูกเวลา เพราะตกเวลามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายต่างเลิกงานพอดิบพอดีเหมือนโกรธกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้ส่งผลต่อชีวิตผู้ที่ต้องอาศัยและต้องทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครมาตลอด 

แม้ว่าเราต้องยอมรับแล้วว่าการที่ฝนตกหนักขนาดนี้ เป็นผลมาจากภาวะโลกเดือด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดน้ำท่วมขังตามมาหลังจากฝนตก ก็คือการที่คลองหลายสายกำลังจะหายไปจากวิถีชีวิตคนเมือง จากฉายา “เวนิสแห่งตะวันออก” บัดนี้คลองในกรุงเทพฯ กลับถูกละเลย ไม่ได้รับการปรับปรุงต่อยอด ทั้งๆ ที่คลองไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การเป็นที่ระบาย การคมนาคม แต่คลองเป็นมากกว่านั้นคือลมหายใจของชุมชน 

The Modernist พาไปชมความสำคัญของคลอง ตั้งแต่อดีตที่เคยหอมหวาน สู่ปัจจุบันที่เราควรนึกถึง เพราะยามน้ำท่วม ยามฝนฟ้าตก จนเราลำบาก กลับบ้านไม่ได้ ตลอดจนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก คลองนี่แหละจะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้

คลองกับความเป็นไทย

คลองเป็นของคู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งอดีตกาล เป็นทั้งเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สะดวกสบายก่อนที่จะมีถนน เป็นที่ตั้งบ้านเรือนริมน้ำ เป็นที่ทำมาหากินจากการจับสัตว์น้ำและใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เรียกได้ว่าชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายอยู่กับคลอง วัฒนธรรมของชุมชนคู่กับคลองมาโดยตลอด

คลองกับการเมืองและการทหาร

หากมองตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองไม่ว่าจะเป็นกรุงศรีอยุธยา ได้มีการสร้างคลองรอบกรุง เรียกว่า “คลองขื่อหน้า” ล้อมรอบตัวเมืองทุกด้าน เพื่อช่วยป้องกันข้าศึก หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองหลอดเพื่อป้องกันข้าศึก ส่วนรัชกาลที่ 3 ได้เกิดสงครามกับเวียดนามชื่อว่า อานัมสยามยุทธ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ดูแลการขุดคลองแสนแสบ เพื่อเชื่อมคลองไปสู่ดินแดนเขมรในการทำสงครามกับญวน ณ ขณะนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคลองตั้งแต่ครั้งอดีตนั้นมีบทบาทสำคัญในแง่การทำสงครามและป้องกันข้าศึกจากภายนอกจากการขุดคลองรอบเมืองเป็นปราการธรรมชาติป้องกันเมือง และในเชิงรุกยังสามารถขุดคลองเชื่อมต่อไปถึงดินแดนห่างไกล ทำให้สะดวกต่อการขนส่งเสบียงและเดินทัพทางน้ำได้อย่างสะดวก เข้าสู่สมรภูมิได้ง่ายขึ้น

คลองกับเศรษฐกิจ

ในแง่ของเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 4 คลองโดยทั่วไปแล้ว ขุดเพื่อการคมนาคมและการค้าขายเป็นสำคัญ ประกอบกับภายหลังสยามได้ทำสัญญาบาวริ่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น สินค้าที่สำคัญของสยาม นอกจากข้าวก็ได้แก่มีอ้อยและน้ำตาล จึงมีการขุดคลองภาษีเจริญ  เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกัน ทำให้การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับราชบุรี และสมุทรสาครสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเกื้อหนุนการขนส่งอ้อยและน้ำตาล

สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่มีการขุดคลองเพื่อคมนาคมและขยายพื้นที่เพาะปลูก เพราะเนื่องจากในอดีต น้ำตาลที่เคยเป็นสินค้าสำคัญอยู่ในสภาวะถดถอย ทำให้ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเพาะปลูก ทำให้ข้าวเริ่มกลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศ แน่นอนว่ารัฐบาลไม่สามารถลงมือทำเองได้ทั้งหมด จึงต้องให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนขุดคลองด้วย ทำให้การขุดคลองในสมัยรัชกาลที่ 5 แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. คลองที่ขุดโดยรัฐบาล มุ่งประโยชน์เพื่อย่นระยะคมนาคมระหว่างอยุธยากับกรุงเทพฯ และขยายพื้นที่การเพาะปลูกพร้อมกันด้วย และได้มีการออกพระราชบัญญัติประกาศขุดคลอง พ.ศ. 2420 ที่กำหนดว่า ราษฎรที่ต้องการทำนาจะต้องช่วยขุดคลองหรือใช้แรงงาน ทำให้การขุดคลองเพื่อการเพาะปลูกมีมากยิ่งขึ้น

2. คลองที่ขุดโดยบริษัทคลองคูนาสยาม“บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม” (Siam Lands, Canal and Irrigation Company) มีผู้ร่วมหุ้นในระยะแรก 4 คน คือ 1.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระราชโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท 2.พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค) บุตรพระยานานาพิพิธภาษี (โต บุนนาค) เจ้ากรมพระคลังสินค้าในรัชกาลที่ 5 3.นายโยคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นคนในบังคับฝรั่งเศส อาศัยอยู่ในกรุงเพทฯ มา 23 ปี มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง 4.นายยม (เจ้าสัวยม พิศลยบุตร) หรือ หลวงสาธรราชายุตถ์ เป็นบุตรพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม พิศลยบุตร ผู้คิดขุดคลองภาษีเจริญในรัชกาลที่ 4 แต่สุดท้าย เจ้าสัวยมไม่ได้เข้าร่วมงาน ม.ร.ว. สุวพรรณธ์ สนิทวงศ์ (บุตรคนโตของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) เข้าเป็นหุ้นส่วนแทน โดยมีนายโยคิม แกรซี เป็นผู้จัดการบริษัท ทำให้ราษฎรสามารถเข้าถึงที่ดินทำการเพาะปลูกข้าวได้มากขึ้น ที่ดินริมคลองจึงมีราคาตามไปด้วย สภาวะเช่นนี้กระตุ้นให้เอกชนกระตือรือร้นที่จะขุดคลองขายที่ดินเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ได้ร่วมกับนายโยคิม แกรซี พระนานาพิธภาษี และนายยม ตั้งบริษัทขุดคลองและคูนาสยามขึ้น เพื่อทำการขุดคลอง เช่น คลองรังสิตประยูรศักดิ์

3. คลองที่ขุดโดยเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการกรรมสิทธิ์ที่ดินสองฝั่งคลอง เพราะมีกำไรมาก เช่น คลองพระยาบรรฦา คลองบางพลีใหญ่

จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีการขุดคลองเพื่อเศรษฐกิจ แต่เป็นการขุดคลองที่กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐหรือคนที่มีอำนาจและเครือข่ายเป็นสำคัญ เพราะมีทั้งอำนาจการออกกฎหมาย และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยการขุดคลองในด้านเศรษฐกิจเน้นประโยชน์ในเชิงกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน ขุดเพื่อส่งน้ำหรือให้คลองเข้าถึงพื้นที่เพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูกเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพืชหลักที่จะกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจของไทยคือข้าว ต่อมาคลองเป็นส่วนช่วยขยายพื้นที่การเพาะปลูกชนิดนี้ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศไทย

คลองกับสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อมีการขยายคลองจากรัฐส่วนกลางทั้งแง่การเมืองและเศรษฐกิจแล้ว คลองได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมลุ่มน้ำ และอาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำลำคลองตลอดมา เพราะฉะนั้นชีวิตจึงผูกติดกับสายน้ำอย่างไม่เคยเหือดหาย ยิ่งมีการขุดคลองเพื่อให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่เกษตรเพื่อเศรษฐกิจด้วยแล้ว จำนวนประชากรย่อมขยายออกไปและผูกติดกับแม่น้ำลำคลองที่พวกเขาได้เข้าไปอาศัยอยู่ด้วย การอยู่อาศัยของประชากรไทยริมคลองมีอยู่ 2 ลักษณะคือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม และประชากรไม่ว่าจะเชื้อสายไทย ลาว เขมร มอญ จีน มุสลิม และมลายู ที่ถูกเกณฑ์ไปขุดคลอง ทำให้พวกเขาขยายตัวไปตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณที่พวกเขาถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานอีกด้วย

วิถีชีวิตของผู้คนสะท้อนผ่านบทภาพยนตร์ต่างๆ เช่น “แผลเก่า” ซึ่งประพันธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2479 เรื่องราวของแผลเก่า เกิดขึ้นในทุ่งบางกะปิ ซึ่งสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “กะปิเยาะห์” หรือหมวกของชาวมุสลิม สื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมในแถบตะวันออกของพระนคร สอดคล้องกับข้อสันนิษฐาน ที่สะท้อนถึงความเป็นบ้านนอก ส่วนขยายของเมืองกรุง หลังจากการขุดคลองมีท้องไร่ท้องนามีฉากหลังเป็น “เวิ้งนาหมู่ไม้และลำน้ำ” และยังทำให้เมืองศูนย์กลาง หรือเมืองกรุงแตกต่างจากตน จากคำตัดพ้อของขวัญที่พูดว่า “ที่ทำให้มึง (เรียม) ไปบางกอก… ไปบางกอกแล้วบางกอกก็เปลี่ยนมึงเสียสิ้น… บางกอกมันฆ่ากู (ขวัญ)  ไอ้คนบางกะปิ” สะท้อนถึงการมองบางกอกเป็นศูนย์กลางไม่เหมือนกับพื้นที่ทุ่งบางกะปิ

หรือจะเป็นเรื่องราวของแม่นากพระโขนง ที่สะท้อนวิถีชีวิตผู้คนริมคลอง ตั้งแต่นางนากต้องรอไอ้มากที่ริมคลอง ซึ่งเป็นระบบคมนาคมหลักของสังคมไทยตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ยุคแห่งความถดถอยของคลองและปัญหาที่ตามมา

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของคนไทยก็เปลี่ยนไปเมื่อบทบาทของถนนเข้ามาแทนบทบาทของคลอง เห็นได้จากเมื่อเมืองขยายตัวจากประชากรที่มากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บทบาทของถนนเข้ามาแทนที่ในฐานะเส้นทางคมนาคมหลัก คลองถูกลดบทบาทและกลายเป็นเพียง ‘แหล่งระบายน้ำและของเสีย’ จากเดิมบ้านริมคลองที่เคยหันหน้าบ้านไปทางน้ำ แต่ตอนนี้หันหน้าเข้าถนน ส่วนหลังบ้านเอาไว้ทิ้งน้ำเสียและของเสียแทน คลองบางแห่งถูกถมกลายเป็นถนน เช่น คลองสาทร ที่กลายเป็นถนนสาทร สะท้อนเห็นว่าคลองถูกละเลยจากรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับถนน และพร้อมที่จะขยายถนนมากกว่าให้ความสำคัญกับคลอง

เมื่อคลองหายไปส่งผลให้แหล่งระบายน้ำหายไปด้วย และเมื่อยามฝนตก กรุงเทพฯ จึงเกิดน้ำท่วมขัง หรือภาษาราชการเรียกแก้เขินว่าน้ำรอการระบาย จากอดีตในหลายพื้นที่เส้นถนนสุขุมวิท ไม่ว่าจะเป็นพระโขนง บางนา ที่เคยมีแหล่งแม่น้ำลำคลองเยอะ มีท้องนา ที่พร้อมกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ กลับกลายเป็นป่าปูน ป่าคอนกรีต และถนนแทน ส่วนคลองถึงขั้นถูกถม ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทำให้รถสัญจรได้ลำบาก เกิดน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชน และยังเป็นน้ำเน่าเสียที่เกิดโรคส่งผลต่อสุขภาพประชาชน

ทางออกสู่การฟื้นฟูคลอง

จากสถานการณ์น้ำท่วมหลังฝนตก ทำให้เห็นว่าเราต้องกลับมาทบทวนถึงการฟื้นฟูคลองอีกครั้ง เพื่อจะให้กลายเป็นแหล่งระบายน้ำท่วมขัง และควรจะกลับมาให้ความสำคัญกับคลองในเรื่องการคมนาคม เพราะคลองในอดีตล้วนเชื่อมต่อกัน ที่สำคัญยังเปรียบเสมือนผังเมืองโดยธรรมชาติที่เคยมีแหล่งที่อยู่อาศัย ตลาด ศูนย์กลางสำคัญ พื้นที่ราชการ และพื้นที่เกษตรดั้งเดิมด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้นประเทศไทยจึงควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับคลอง เหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีโครงการ “Delta Works” ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการย่อย 16 โครงการ ตั้งแต่เขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน และกำแพงกั้นคลื่นทะเล ทั้งแบบเป็นที่กั้นถาวร และแบบที่สามารถเปิด-ปิดได้ กั้นตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำจนเข้ามาถึงลำน้ำในประเทศ เพื่อป้องกันน้ำท่วมให้พื้นที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

ข้อมูลจาก workpointtoday ระบุว่าเนเธอร์แลนด์มีโครงการเพิ่มพื้นที่ให้แม่น้ำที่เรียกว่า Room for the River โครงการดังกล่าวมีลักษณะดังนี้คือ

1. การทำให้เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำมีระดับต่ำลง (Lowering floodplains) เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้น้ำ หากแม่น้ำมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้น 

2. การย้ายคันกั้นน้ำไปอยู่ที่ใหม่ (Dyke relocation) คือการย้ายคันกั้นน้ำเดิมที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ให้ออกห่างจากแม่น้ำมากขึ้น เพื่อเป็นการขยายพื้นที่ของแม่น้ำ 

3. การลดพื้นที่ปิดล้อม (Depoldering) โดยการย้ายคันกั้นน้ำและการลดระดับคันกั้นน้ำ ซึ่งจะทำให้บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่เคยปรับปรุงไม่ให้น้ำท่วม และให้คนอยู่อาศัยหายไปและรองรับน้ำได้มากขึ้น 

4. การขุดพื้นผิวของแม่น้ำให้ลึกขึ้น (Deepening summer bed) ทำให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น 

5. การเสริมกำลังคันกั้นน้ำ (Dyke reinforcement) ในกรณีที่บางพื้นที่ไม่สามารถขยายแม่น้ำได้  

6. ลดระดับของสิ่งก่อสร้างที่ยื่นไปในน้ำเพื่อป้องกันคลื่น (Lowering groynes) เพื่อให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น 

7. การนำสิ่งก่อสร้าง หรือสิ่งกีดขวางทางไหลน้ำออก (Removing obstacles) เพื่อเพิ่มความเร็วของอัตราการไหลของน้ำ 

8. การกักเก็บน้ำ (Water storage) พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราว เมื่อเกิดสถานการณ์เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม 

9. การสร้างช่องทางระบายน้ำในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ (High water channel) ซึ่งเป็นช่องทางระบายน้ำที่แยกออกมาจากแม่น้ำสายหลัก เพื่อระบายน้ำส่วนเกิน เมื่อเกิดน้ำท่วมหรือเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำมีระดับสูง 

นี่จึงเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองมากมายเหมือนประเทศไทย และยังมีพื้นที่ติดน้ำทะเลเหมือนกับประเทศไทย แต่ที่ไม่เหมือนกันคือเขาให้ความสำคัญกับคลอง มีโครงการที่จัดการให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคลอง แต่เมื่อมองมาที่ประเทศไทยกลับลดคุณค่าของคลอง ไม่ให้ความสำคัญกับคลอง จนทำให้ชีวิต ลมหายใจ ความทรงจำร่วมกับคลองถูกกลืนกลายหายไป

แต่ใช่ว่าจะสายไปหากภาครัฐและประชาชนหันมาช่วยกันฟื้นฟูคลอง ปรับวิถีชีวิตหาแนวทางทางอยู่ร่วมกับแม่น้ำลำคลอง ผมยังเชื่อว่าลมหายใจของชีวิตริมน้ำ วัฒนธรรมริมน้ำ จะค่อยๆ กลับคืนมาอยู่คู่กับสังคมไทย และปัญหาอุทกภัยก็จะมิอาจขวางกั้นชีวิตที่ให้ความสำคัญกับแม่น้ำลำคลองของคนไทย ยามที่เราหันมาโอบอุ้มสายน้ำของเราให้กลับคืนมาสู้กับภาวะโลกเดือดได้อย่างภาคภูมิ

อ้างอิง

silpa-mag.com1 / silpa-mag.com2 / silpa-mag.com3 / silpa-mag.com4 / silpa-mag.com5 / silpa-mag.com6 / สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน / มติชนออนไลน์ / The Urbanis1 / ไทยพับลิก้า / The101.world / Museum Siam / เส้นทางตำนานแม่นากพระโขนง / PPTV Online / สำนักข่าว today

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า