fbpx

‘Micromanagement’ บริหารงานจู้จี้มากไปจนลูกน้องใจไม่ดี

“อย่าทำแบบนั้น ทำแบบพี่ดีกว่า”
“งานง่ายๆ ทำไมใช้เวลานานจัง”
“งานไปถึงไหนแล้ว ใกล้เสร็จหรือยัง”

ชาวออฟฟิศทั้งหลายคงไม่มีใครชอบความจู้จี้จุกจิกในที่ทำงาน โดยเฉพาะการมีหัวหน้าที่คอยเช็คความเคลื่อนไหวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา หากมองเผินๆ อาจเป็นเหมือนความใส่ใจลูกทีมแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทว่าความใส่ใจที่มีมากจนเกินไปอาจเป็นการก้าวก่ายในหน้าที่ จนถึงขั้นปิดกั้นโอกาสในการเติบโตในการทำงานของลูกทีมก็ว่าได้

การบริหารงานยิบย่อยเป๊ะทุกกระเบียดนิ้วนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Micromanagement’ โดยมักเกิดขึ้นกับหัวหน้าเจ้าระเบียบที่มีความคิดว่างานทุกอย่างต้องออกมาเนี้ยบที่สุด จึงเกิดการบังคับบัญชาลูกทีมให้ทำตามคำสั่งและควบคุมการทำงานไม่ต่างจากหุ่นเชิด สร้างความอึดอัดใจให้กับลูกทีมและอาจนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ (Toxic Workplace) 

BetterUp อธิบายว่า การบริหารแบบ Micromanagement ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่หัวหน้ากลัวความผิดพลาดและขาดความเชื่อใจในตัวลูกทีมจนไม่สามารถให้อิสระกับลูกทีมได้เป็นเจ้าของผลงาน ทำให้เกิดการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนและยึดตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง จนกลายเป็นหัวหน้าจอมจู้จี้จุกจิกกับทุกรายละเอียดของงาน อีกทั้งหัวหน้าประเภทนี้ยังก่อให้เกิดอุปสรรคในการสร้างทีมเวิร์คและทำให้ลูกทีมรู้สึกด้อยค่าในฐานะสมาชิกของทีมอีกด้วย

Harvard Business Review ระบุว่าการจู้จี้จุกจิกของหัวหน้าเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในสังคมการทำงาน แม้จะไม่ใช่การชี้นิ้วสั่งแล้วตะคอกใส่หน้าแรงๆ เหมือนในละครที่เราเห็นกัน แต่การบ่นในเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือการบังคับให้ทำงานในวิธีการเหมือนตัวเองนั้น ก็เป็นการบริหารแบบ Micromanagement ที่กลืนกินความเป็นอิสระและบั่นทอนจิตใจลูกทีม

จากการศึกษาของ Accountemps พบว่ามีผู้คนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าที่จู้จี้จุกจิก (59%) รู้สึกบั่นทอนจิตใจในการทำงาน (68%) และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง (55%) จากการศึกษาอื่นยังพบว่า หัวหน้าจู้จี้จุกจิกยังเป็นสาเหตุทำให้พนักงานลาออก (36%)

นอกจากนั้น ในทางทฤษฎียังมีการระบุว่า พื้นฐานของมนุษย์มีอิสระทางความคิดในตัวเองโดยกำเนิด ทำให้คนเรารู้สึกชอบบางสิ่งบางอย่าง มีการตัดสินใจและแสดงความปรารถนาในแบบของตัวเอง ซึ่งเมื่อถูกควบคุมทางความคิดก็ไม่ต่างอะไรจากการที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าที่บริหารงานแบบ Micromanagement จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดความวิตกกังวลและความเครียดจนไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน

จูเลีย ดิกังจิ (Julia DiGangi) ผู้ก่อตั้ง NeuroHealth Partners ชี้ว่าการจู้จี้จุกจิกของหัวหน้าย่อมบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของคนในทีม ซึ่งเปรียบเหมือนกับชักเย่อ โดยฝั่งหัวหน้าอาจมองว่าการบริหารดังกล่าวเป็นการเข้าใจการทำงานอย่างละเอียด ลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่ลูกทีมกลับรู้สึกไม่เป็นอิสระในการทำงานและขาดความมั่นใจในตัวเอง การยื้อกันไปยื้อกันมาของสงครามชักเย่อยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยิ่งแย่ลง มิหนำซ้ำยังสร้างบาดแผลในการทำงานต่อกัน

จูเลีย ดิกังจิ กล่าวต่อว่า “การยุติวงจรความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์เหล่านี้ที่รวดเร็วที่สุดคือ การปล่อยเชือก การปล่อยเชือกนี้ไม่ใช่การแสดงถึงความพ่ายแพ้แต่เป็นการแสดงความเป็นผู้นำที่แท้จริง หากคุณเป็นหัวหน้าทีมหรือโค้ช การปล่อยเชือกและถอยออกมาอยู่นอกสนามเพื่อซัพพอร์ตลูกทีมคือบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำ”

จะเห็นได้ว่าการบริหารงานแบบ Micromanagement ทำให้หัวหน้าและลูกทีมต่างเสียเวลาอันมีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะได้ใช้เวลาในการจดจ่อกับงานของตัวเอง กลับใช้เวลาไปกับการจู้จี้จุกจิกในรายละเอียดงานเล็กๆ จนทำให้ความตึงเครียดและนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ เช่น ลูกทีมขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าตัดสินใจในงานของตัวเอง กลัวความผิดพลาด สุขภาพจิตใจย่ำแย่ ยิ่งกว่านั้นหัวหน้าที่บริหารงานแบบ Micromanagement ยังมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ฉะนั้นหากยังมีการบริหารงานเช่นนี้ต่อไปก็อาจส่งผลให้หัวหน้าและลูกทีมเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานลงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม Micromanagement อาจไม่ได้มีแค่ข้อเสียเสมอไปและยังมีความจำเป็นกับงานที่มีความเร่งด่วน หัวหน้าก็สามารถตัดสินใจในทันที แต่ในสภาวะการทำงานปกติ หัวหน้าก็ควรให้อิสระลูกทีมได้ทำงานในวิธีการของตัวเอง เปิดโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูก เพราะอีกหนึ่งบทบาทของผู้นำที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การพัฒนาศักยภาพลูกทีมให้เติบโตในสายอาชีพ 

แม้ในวันที่ลูกทีมเผชิญความผิดพลาด หัวหน้าก็ควรที่จะยอมรับและเข้าใจว่าความผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเพราะไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งกว่านั้น ชีวิตจริงคนเราก็อาจจะต้องเผชิญกับความล้มเหลวอยู่หลายครั้งหลายหนกว่าจะสำเร็จ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความล้มเหลวจะเป็นหนึ่งในบทเรียนของความสำเร็จ ซึ่งคนที่ไม่เคยล้มเหลวต่างหากที่อาจจะพยายามไม่มากพอ เหมือนกับวลีที่ Sundar Pichai ซีอีโอของ Google ได้กล่าวเอาไว้ว่า “If you don’t fail sometimes, you are not being ambitious enough.”

ที่มา: hbr 2 / betterup / acuitytraining

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า