fbpx

“คนเสื้อแดง” เท่ากับ “นางแบก” จริงหรือไม่ ? 

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ภาพของคนเสื้อแดงถูกจดจำในฐานะคนรักทักษิณ แฟนคลับพรรคเพื่อไทย และพัฒนามาเป็น “นางแบก” ใน พ.ศ.นี้ ที่ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะคิดหรือทำอะไร คนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะ “แบก” และเชียร์พรรคเพื่อไทยทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริง การนิยามว่าผู้สนับสนุนพรรคการเมืองจะต้องมีความเห็นคล้อยตามพรรคที่ตัวเองเชียร์ทุกอย่าง อาจจะไม่ถูกต้องนัก เช่นเดียวกับการตีตราคนที่เชื่อในรัฐสวัสดิการและสังคมนิยมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง 

คนเสื้อแดงเท่ากับนางแบกเพื่อไทยจริงหรือไม่ อาจจะต้องย้อนไปดูถึงที่มาของคนเสื้อแดง การแบ่งเป็นกลุ่มก้อน และแนวทางการสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก่อนจะสรุปแบบเหมารวมโดยลืมไปว่า มนุษย์มีความซับซ้อนและไม่ได้มีเฉดสีเดียวเสมอไป  

คนเสื้อแดงมาจากไหน 

คนเสื้อแดงมีจุดกำเนิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่ริเริ่มก่อตั้งขบวนการ ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พัฒนามาเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติมีชื่อว่า นปช.โดยมีอุดมการณ์ชัดเจนในเรื่องความแตกต่างและประกาศตัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับแนวทางของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนเสื้อเหลือง) โดยที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองมีจุดยืนคือการต่อต้าน ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย และมักกล่าวหาว่าทักษิณเป็นคนล้มเจ้า

หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 คนเสื้อแดงขยายตัวและมีกระบวนการที่ชัดเจนมากขึ้นในฐานะ “ผู้อยู่ภายใต้นโยบายประชานิยม” จนกระทั่งมีการยุบพรรคไทยรักไทย และสมาชิกที่เหลือของพรรคได้ตั้งพรรคพลังประชาชน โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แต่แล้วเมื่อทั้งคู่ก็ถูกกลไกอำนาจรัฐของกลุ่มอำนาจนิยมกำจัด สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้สนับสนุน  

หลังจากนั้น มีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้สนับสนุนอย่างกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นอดีตมือขวาของนายทักษิณ ชินวัตร นำไปสู่ความไม่พอใจของคนที่ต่อต้านการรัฐประหารและสนับสนุนนายทักษิณ รวมถึงพรรคของเขา ก่อให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่ม นปช. ในปี 2551  โดยหัวใจร่วมของพวกเขาคือการเป็นไพร่ที่ต่อสู้กับระบบศักดินา ต่อต้านอำมาตย์ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีสัญลักษณ์คือ ตีนตบ เป็นการแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า พวกเขาอยู่ตรงข้ามกับกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง คนในเมืองกรุง และคนในระบอบราชการนั่นเอง 

คนเสื้อแดงมีกี่กลุ่ม 

แม้คนเสื้อแดงจะถูกมองว่าเป็นแฟนคลับทักษิณและพรรคเพื่อไทย แต่ที่จริงแล้ว คนเสื้อแดงนั้นแบ่งเป็นหลายกลุ่ม โดยมีจุดยืนร่วมกันคือแนวคิดประชาธิปไตย และนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนมากที่สุด ไม่ใช่ยึดตัวที่ตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองแต่อย่างใด โดยแบ่งกว้างๆ ออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 นักการเมืองและเครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร กลุ่มเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มลูกน้องของทักษิณ คนใกล้ชิด รวมไปถึงเครือญาติของเขา ส่วนใหญ่อาจเป็นคนในพรรคเพื่อไทย ยกตัวอย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นต้น คนกลุ่มนี้จะเชื่อมั่นในตัวทักษิณ ตอบสนองนโยบายทางการเมืองต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย เห็นได้จากเรื่องการจับมือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่การฉีก MOU ระหว่าง 8 พรรคร่วม รวมถึงความคลุมเครือจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ได้ข้อสรุป 

กลุ่มที่ 2 นักการเมืองบ้านใหญ่ กลุ่มมุ้งต่างๆ ในพรรคเพื่อไทย เป็นกลุ่มที่คอยสนับสนุนทักษิณ รวมถึงพรรคเพื่อไทยในบางโอกาส แลกกับผลประโยชน์ต่างๆ เช่น การดึงงบประมาณเข้าพื้นที่ของตนเอง  รวมถึงการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี เห็นได้จากการย้ายพรรคไปมาในการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน หรือกลุ่มชลบุรี นอกจากนี้ คนเสื้อแดงกลุ่มนี้ยังทำหน้าที่หาผู้ชุมนุมเข้ามาสนับสนุนการชุมนุมต่างๆ ของ นปช. ในกรุงเทพมหานคร 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มนางแบก เป็นกลุ่มที่น่าวิเคราะห์ที่สุดในการเมืองไทย ณ ขณะนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่รักพรรคเพื่อไทย รวมถึงเชื่อมั่นในนโยบายของทักษิณตั้งแต่อดีต และมักจะสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะเป็นการย้ายข้างสลับขั้วไปจับมือกับฝ่ายอำนาจนิยมเดิม รวมถึงกลุ่ม 3 ป. โดยอ้างถึงการ “ไม่มีลุง” และภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยของประเทศ รวมทั้งออกตัวว่าเป็นกลุ่มคนที่ “สู้มาก่อน” และมีความชอบธรรมในการสนับสนุนให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยพร้อมจะลืมเรื่องในอดีตอย่างการกระทำของคณะรัฐประหาร ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารสมคบคิดทางการเมือง ผ่านการใช้คำว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” 

กลุ่มที่ 4 เสื้อแดงที่รักในนโยบายประชานิยมของทักษิณ ตลอดจนพรรคไทยรักไทย-พรรคเพื่อไทย  เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์เรื่องสวัสดิการมากที่สุดสำหรับคนไทยในยุคหลัง พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน เพราะประเทศไทยแทบจะไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้กับประชาชนเลย เห็นได้จากผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่มาจากประชาชนฐานราก ชาวไร่ ชาวนา และผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงนักวิชาการ ชนชั้นกลางที่ชอบนโยบายของพรรคไทยรักไทย เมื่อมีการรัฐประหาร ประชาชนที่โกรธเคืองการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณที่มีนโยบายตอบสนองพวกเขา ทำให้พวกเขาเข้ามาร่วมชุมนุมตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2549 การต่อสู้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์จนเกิดการนองเลือด และการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่หากมองต่อเรื่องนโยบายในอนาคต หากมีรัฐบาลไหน หรือพรรคไหน สามารถทำนโยบายที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ ก็อาจจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้หันไปสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนกลุ่มนี้ชอบนโยบายมากกว่าตัวบุคคลหรือตัวพรรคการเมืองนั่นเอง  

กลุ่มที่ 5 กลุ่มเสื้อแดงรักประชาธิปไตย ต่อต้านอำมาตย์ และศักดินา กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์มากที่สุด และเป็นผู้นำทางความคิด รวมถึงการใช้ถ้อยคำปราศรัยผ่านเวที ณ ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงเข้ามาร่วมชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการ คนกลุ่มนี้ประกอบด้วยประชาชน นักวิชาการ ผู้มีหัวใจรักประชาธิปไตย และต้องการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กดขี่ประชาชน ตัวอย่างเช่น ธิดา ถาวรเศรษฐ 

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเสื้อแดงนั้น หากจำแนกแล้วมีหลายกลุ่มก้อน จึงไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงคือนางแบกไปเสียหมด แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการดีลข้ามขั้ว ที่เราอาจเห็นกลุ่มเสื้อแดง กลุ่มที่ 1 เห็นด้วยกับการจับมือกับฝ่ายอำนาจนิยม ทำให้ กลุ่มที่5 กลุ่มเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยไม่พอใจกับการกระทำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเปรียบเสมือนการทรยศต่ออุดมการณ์ของพวกเขา คือการต่อต้านอำมาตย์ รวมถึงผู้ที่ทำประหารยึดอำนาจจากประชาชนไป แต่จิตวิญญาณที่สำคัญของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่เหมือนกันและปฏิเสธไม่ได้ คือหัวใจที่รักประชาธิปไตย ต้องการพ้นจากอำนาจศักดินาและทุนที่กดขี่ ต้องการสร้างประเทศที่เหมาะสมสำหรับลูกหลานของพวกเขาในอนาคต ประชาชนอยู่ดีมีสุขเรื่องรัฐสวัสดิการ มากกว่าจะก้มหัวให้ถูกกดขี่ตลอดไป และพวกเขาต้องการทวงความยุติธรรมให้กับเพื่อนๆ ของเขาที่เสียชีวิต บาดเจ็บ ตลอดการต่อสู้ของพวกเขาที่ผ่านมา ดังนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงจึงไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่นางแบก แต่กลุ่มคนเสื้อแดงคือกลุ่มคนของประชาชนที่รักในเสรีประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ใครมาต่อรองเอาอำนาจจากประชาชนไปอย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะในสภา คณะรัฐบาล หรือบนท้องถนน จึงอาจสรุปได้ว่า การเป็นเสื้อแดงไม่ใช่เพียงการสวมเสื้อสีแดงแล้วจะกลายเป็นเสื้อแดงอย่างที่เห็นๆ กัน เพราะการเป็นคนเสื้อแดง ต้องมีใจรักประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการนั่นเอง 

เราจะระลึกถึงคนเสื้อแดงที่ร่วมกันต่อสู้ ผู้ที่ลี้ภัย ผู้ที่จากไป ขอให้ความหวังและการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านมานำประเทศชาติสู่ประชาธิปไตยที่เป็นจริง 

แหล่งอ้างอิง 

  • เกษียร เตชะพีระ. โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม. ประชาไท. 27 มิถุนายน 2556. 
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์.เสื้อแดงจากอีกมุมมองหนึ่ง. มติชนออนไลน์. 20 พฤศจิกายน 2560. 
  • ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น.คนเสื้อแดง “Agent of Change ?”. บทสำรวจบางประการ. ประชาไท.                 1 กรกฎาคม 2554. 
  • รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ. แปลจาก Thailand’s Color War: Why Red Hates Yellow. ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556. 
  • อุเชนทร์ เชียงเสน. เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: กำเนิด“คนเสื้อแดง” และลักษณะถึงรากเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์.  ประชาไท.18 กันยายน 2553. 
  • ปรากฏการณ์ “รัฐบาลพรรคเดียว” ไทยรักไทย ทำไมชนะถล่มทลาย14 ปีก่อน.ไทยรัฐออนไลน์.             14 มีนาคม 2562. 
  • ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง. ไทยรัฐออนไลน์https://news.thaipbs.or.th/content/277723. 14 กุมภาพันธ์ 2562. 
  • หนังสือ 
  • Red Why แดงทำไม สังคมไทย ปัญหา และการมาของคนเสื้อแดง. openbooks. 
  • เกษียร เตชะพีระ .สงครามระหว่างสี ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ .openbooks. 
  • เกษียร เตชะพีระ .สงครามระหว่างสี ในคืนอันมืดมิด .openbooks. 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า