fbpx

‘หลวยสูสำนักพิมพ์’ จากโปรเจ็กต์จบมหา’ลัย สู่การเปิดสำนักพิมพ์เต็มตัว

“มาเปิดสำนักพิมพ์กันเถอะ” เป็นประโยคที่หลายคนได้ยิน อาจจะรู้สึกว่า จะดีหรอ เอาจริงดิ! ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้นี่นะ! โดยเฉพาะในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้เคลื่อนผ่านยุครุ่งเรืองไปเนิ่นนานแล้ว

แต่เยาวรุ่นกลุ่มหนึ่งจาก ภาควิชาวรรณคดีไทย  คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันลงขันสถาปนา ‘หลวยสูสำนักพิมพ์’ ขึ้นมา โดยไม่เคยมีประสบการณ์ในสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ มาก่อน แต่ใช้ประสบการณ์จากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ประสบการณ์จากการอ่าน การเสพสื่อบันเทิง การเขียนรีวิวหนังสือ กอปรกับการขายของออนไลน์ มากลั่นเป็นขุมพลังในการพาสำนักพิมพ์เล็ก ๆ เข้ามาหยั่งรากในตลาดหนังสือไทย

The Modernist จะพาผู้อ่านมาสัมผัสกับบทสนทนาที่ร้อยเรียงมาจาก ‘บาส’ ภัทรจักร ปานสมัย และ ‘ออม’ พิชามญชุ์ คงวิจิตต์ เจ้าสำนัก ‘หลวยสูสำนักพิมพ์’ ที่มาพร้อมกับแนวคิด ‘สวยงามทุกตัวอักษร’ ทั้งประเด็นการทำธุรกิจจากมุมของคน GEN Z วงการหนังสือที่ดูราวกับเขาวงกตเมื่อมองจากสายตาคนนอก การทลายชุดความคิดเก่าก่อน ที่พร่ำบอกว่าต้องมีประสบการณ์จากองค์กรใหญ่ ๆ การส่งเสียงถามกลับไปยังค่านิยมเรื่อง ‘การประสบความสำเร็จ’ จากคนรุ่นก่อนที่หวังจะเติมแรงใจแต่สุดท้ายกลับเป็นแรงกดดัน รวมไปถึงความลุ่มหลงในวัยเด็กที่ต่อมาจะกลายเป็นเม็ดเงินและสร้างอาชีพให้กับเจ้าสำนักทั้ง 2 คน

เรื่องเล่าที่สร้างตัวตน จนสร้างงานสร้างอาชีพ

ด้วยแววตาลุกวาว ดวงหน้าสุกสกาวเมื่อถูกถามถึงสารตั้งต้นที่ทำให้ตกหลุมรักวรรณกรรม บาส เท้าความไปถึงตั้งแต่เริ่มจำความได้ว่า ห้วงเวลาที่ใช้ชีวิตที่บ้านเกิด แม่จะเริ่มสอนให้อ่านหนังสือตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนชั้นอนุบาล กลายเป็นนิสัยติดตัวที่เห็นข้อความบนหน้ากระดาษทีไร จะต้องพุ่งเข้าไปหาทุกครั้ง จนมีหนังสือเป็นเพื่อนคู่ใจ ขนาบข้างไปกับละครหลังข่าวที่ฉายในโทรทัศน์ ทำให้บาสค่อย ๆ ซึมซับความงามของเรื่องเล่า และพาเขาวนกลับไปอ่านหนังสือเรื่องย่อละครที่วางขายในร้านสะดวกซื้อและแผงหนังสือ ซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้น บ้างก็แฉลบไปอ่านหนังสือการ์ตูนของบรรลือสาส์น อย่าง  ‘สาวดอกไม้กันนายกล้วยไข่’ ซึ่งก็เป็นการ์ตูนที่ล้อละครอีกที 

พอโตขึ้นขอบเขตการอ่านก็ขยายพรมแดนออกไปสู่นวนิยายโรแมนซ์กระแสหลัก โดยมี ว.วินิจฉัยกุล และปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนักเขียนคนโปรด จนกระทั่งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาบาสสังเกตว่ามีวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่มีเหตุให้ต้องวนมาอ่านทุก ๆ ปี คือ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ของ วีรพร นิติประภา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง อ่านเพราะว่าต้องใช้เรียน อ่านเพื่อต้องนำมาใช้ทำงาน ทำให้บาสจับสังเกตได้ว่าตัวเองหลงใหลเรื่องเล่าแนวเมโลดราม่า ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่เดินตามขนบ หรือใช้เทคนิคเล่าที่แหวกแนว 

“การอ่านสร้างอิทธิพลต่อตัวบาสอยู่ 2 ขยัก ขยักแรกเหมือนการได้เจอเพื่อน เพราะบางตัวละครมีแรงขับอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกับตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นความทะเยอทะยาน ความฝัน ความปรารถนาในบางอย่างที่อาจจะดูไกล แต่ก็ไม่ละความพยายามที่จะไต่ขึ้นไปให้ได้

ส่วนขยักที่สอง เป็นขยักที่ทำให้เราได้เรียนรู้ สารบางอย่าง อุทาหรณ์บางประการ ประสบการณ์ที่เราไม่เคยพบพาน ไม่เคยรับรู้มาก่อน ทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น”

บาสเล่าต่อว่าการสอดส่องสายตาไล่ไปตามตัวอักษร เพื่อพินิจแรงขับของตัวละครที่ถูกนักเขียนลากไป ยังทำให้เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น ตัวละครต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งไม่มีชีวิตบนหน้ากระดาษ แต่ในหน้ากระดาษเหล่านี้ได้ผลักให้เหล่าตัวละครออกมามีชีวิต

ด้านออม หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ บอกว่า ตนก็เป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับหนังสือ โดยเฉพาะนวนิยายรักของสำนักพิมพ์แจ่มใสที่กำลังครองตลาดอยู่ในขณะนั้น จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับมาเป็นแนวสารคดี ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงหนังสือแนวจิตวิทยา ซึ่งก็ทำให้เลนส์การมองเพื่อนมนุษย์ลึกซึ้งมากขึ้น และเธอก็ผลักตัวเองให้ก้าวข้ามความสมบูรณ์แบบ โอบกอดความกระพร่องกระแพร่งของมนุษย์ได้มากขึ้น

“ตอนนี้ออมสนใจศาสตร์ด้านการแสดง พอเข้าไปอบรม รู้สึกเลยว่าการที่อ่านหนังสือมาเยอะ ๆ ช่วยให้วิเคราะห์ตัวละครได้ดีมาก ๆ ยิ่งไปกว่านั้น มันมีผลทำให้เราเข้าใจเฉดของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มีแต่สีขาวหรือสีดำ มองมนุษย์แบบไม่ต้องไปตัดสิน และยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบได้มากขึ้น 

ก่อนหน้านี้ออมเป็น เพอร์เฟคชั่นนิส (Perfectionist) รู้สึกว่าก้าวข้ามไม่ได้ รู้สึกว่าต้องตัดสินอะไรบางอย่างกับตัวเองตลอดเวลา แต่พอกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้น ก็ช่วยปลดล็อกความคิดเรา”

ความลุ่มหลงของบาสและออมที่ขยายอาณาเขตกว้างไปไกลกว่างานวรรณกรรม แต่รวมไปถึงเรื่องเล่าทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่ฝั่งอยู่ในสื่อละคร ภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน นวนิยาย เรื่องสั้น หนังสือจิตวิทยา ล้วนประกอบร่างสร้างตัวตนให้กับทั้งคู่ ที่กลายมาเป็นอาชีพและสร้างอัตลักษณ์ของสำนักพิมพ์ในกาลต่อมา

จากโปรเจ็กต์จบ สู่การทำสำนักพิมพ์เต็มตัว

“ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้เลยด้วยซ้ำ” บาสกล่าวขึ้นขณะเล่าให้ฟังถึงที่มาของสำนักพิมพ์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการทำโปรเจ็กต์จบ ในรายวิชาวัฒนธรรมหนังสือและบรรณาธิการกิจศึกษา ที่อาจารย์ได้เปิดกว้างให้นิสิตเลือกที่จะทำหนังสือแนวไหนก็ได้ บาสจึงชักชวนเพื่อนในกลุ่มรวม 6 คน มาร่วมกันปั้นโมเดลสำนักพิมพ์จำลอง ที่ตั้งใจว่าจะขายนวนิยายรักกันแบบจริง ๆ จากนั้นจึงเทียบเชิญนักเขียนมาร่วมโปรเจ็กต์ โดยตกลงเงื่อนไขกันเรียบร้อยในส่วนของค่าเรื่องที่จะจ่ายภายใน 1 เดือนหลังจะผลงานออกเผยแพร่ 

ส่วนการทำงาน ใช้วิธีแบบสำนักพิมพ์จริง ๆ เช่น คนหนึ่งเป็นฝ่ายขาย คนหนึ่งเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงงานบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร และการออกแบบปกก็ทำกันเอง ไม่ได้จ้างคนนอก เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ทุกคนจึงตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อเปิดสำนักพิมพ์กันอย่างจริงจัง โดยจะเน้นงานเขียนแนวนวนิยายรักเป็นหลัก

ไหน ๆ ก็มีวิชานี้มารองรับแล้ว เราก็ลองติดต่อนักเขียนที่เราสามารถติดต่อได้ พอเราเริ่มทำแล้วรู้สึกว่าเจอทางไปต่อ แม้ว่ามันจะเป็นทางไปต่อที่ไม่ได้สว่างมากขนาดนั้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้จากการทำโปรเจ็กต์จบก็คือ เรามีความสุข มันคือ passion มาก ๆ จึงมองว่าเราน่าจะหารายได้จากการทำธุรกิจนี้ต่อไป” บาสกล่าว

ออกสตาร์ทธุรกิจด้วยความฟิน

หลังจากเรียนจบ 2 ปีแรกของ ‘หลวยสูสำนักพิมพ์’ อยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัวอย่างจริงจัง ระดมสมองกันว่าจะให้สำนักพิมพ์มีภาพลักษณ์ไปในทิศทางไหน เพื่อไม่ให้สำนักพิมพ์ซ้ำทางกับนิยายรักที่มีอยู่ในตลาด 

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผันผ่านต่างคนต่างเลือกเดินไปตามความฝันตามวิถีของตน จนในทีมเหลืออยู่ 2 คน คือบาสกับออม ที่ตัดสินใจเดินหน้าต่อกับสำนักพิมพ์ และแบ่งหน้าที่กันตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งออมเป็นคนละเอียด ก็จะรับผิดชอบในส่วนของงาน บัญชี ภาษี และระบบหลังบ้านต่าง ๆ ส่วนบาสจะเน้นไปในสายที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประสานงาน และภาพรวมของสำนักพิมพ์

สิ่งที่น่าสนใจในห้วงเวลาที่หลวยสูสำนักพิมพ์เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่นั้น ต้องใช้ทุนทรัพย์มาหล่อเลี้ยงเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เรื่องนี้บาสและออมบอกว่าเป็น 2 ปีแรกที่ชีวิตท้าทายพอสมควร ทั้งคู่ต้องทำงานอื่นเสริมไปด้วยระหว่างทาง เพื่อไว้ใช้หล่อเลี้ยงความฝันในการทำสำนักพิมพ์ 

ออม ต้องรับงานหลากหลาย ทั้งเป็นติวเตอร์สอนวิชาสังคมและภาษาไทย เช่นเดียวกับบาสที่รับงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย เคยไปเป็นครูอยู่ช่วงหนึ่ง ผ่านประสบการณ์งานออฟฟิศ บ้างครั้งบาสยอมรับว่าเคยมีช่วงหนึ่งที่ทำสำนักพิมพ์แล้วท้อจนอยากล้มเลิกเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ตระหนักได้ว่า จริง ๆ แล้วตนไม่ได้อยากล้มเลิกความฝันที่จะปั้นสำนักพิมพ์ แต่แค่เหนื่อย สิ่งที่ทำต่อมาคือเยียวยาตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เต็มที่แล้วกลับมาลุยงานใหม่ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการลองผิดลองถูกและล้มลุกคลุกคลานอย่างแท้จริง 

จากนั้นไม่นานทั้งคู่พบว่า ตลาดหนังสือที่ได้รับความนิยมในช่วงหลัง ๆ จะเป็นงานนวนิยายแปลที่มีพล็อตเรื่องและฉากหลังเป็นร้านรวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่ญี่ปุ่น ร้านสะดวกซื้อเกาหลี ร้านเครื่องเขียน จึงปิ๊งไอเดียออกมาว่า สำนักพิมพ์น่าจะทำแนวนี้บ้าง โดยเปลี่ยนบริบทให้เป็นสังคมไทย พร้อมกับตั้งใจที่จะออกมาเป็นนวนิยายชุด จึงใช้โมเดลในรูปแบบตอนทำโปรเจ็กต์จบสมัยอยู่มหาวิทยาลัย ด้วยการทาบทามนักเขียนหลากหลายแนวมาร่วมงาน ทำให้นวนิยายแต่ละเล่มในชุดนี้ มีความแตกต่างกันตามรสมือของนักเขียนแต่ละคน ทำให้เห็นความรักที่มีหลายเฉด จนเกิดเป็นชุด ‘ร้านสัมผัสรัก’ 

“ด้วยความที่สำนักพิมพ์เราเล็กและใหม่ ประกอบกับตอนนี้ในทีมหลักก็เหลือแค่บาสกับออม สองคน สไตล์การทำงานของ ‘หลวยสู’ เลยไม่ใช่การตั้งรับ รอใครส่งงานมาให้เราพิจารณาเพราะกำลังคนไม่พอ จึงตัดสินใช้ไปเสาะหาเอา    ซึ่งก็ตามมาด้วยโจทย์ยากอีก คือจะทำยังไงให้ได้ต้นฉบับจากนักเขียนดัง ๆ มาร่วมงาน จึงต้องกลับมาทำการบ้านว่านักเขียนคนไหนเขียนงานแนวไหน รูปแบบทางวรรณศิลป์เป็นอย่างไร เพื่อให้เข้ากับโปรเจ็กต์นวนิยายชุด แล้วค่อยไปเทียบเชิญ และเราไม่ได้รอให้นักเขียนเขียนต้นฉบับ 100% เสร็จแล้วมาส่งให้เรา แต่เราจะไปเสาะหาตั้งแต่ 0% เลย” บาสเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำงานที่กว่าจะเริ่มเข้าร่องเข้ารอย

สำหรับรูปแบบการขาย ทางสำนักพิมพ์ใช้ช่องทางการขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก เนื่องลูกค้าเป้าหมายอยู่บนโลกออนไลน์เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะนักอ่านที่เป็นสายนวนิยายรักกระแสหลักซึ่งคนกลุ่มนี้เขาจะมีร้านประจำ สำนักพิมพ์จึงนำหนังสือไปฝากขาย ควบคู่ไปกับการขายหนังสือในรูปแบบ e-book ซึ่งเป็นอีกช่องทางหลักที่สร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์และนักเขียน

อย่างไรก็ดี หลวยสูสำนักพิมพ์ก็ไม่ทิ้งนักอ่านที่ชอบสะสมรูปเล่ม คนกลุ่มนี้มักจะเป็นสายที่ซื้อสะสมและชอบสัมผัสการอ่านจากตัวเล่มจริงมากกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นนักอ่านสายวรรณกรรม ทำให้การคิดโปรเจ็กต์หนังสือขึ้นมาในแต่ละเรื่อง ต้องคิดตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าเรื่องไหนควรเน้นขายแบบ e-book หรือรูปเล่มมากกว่ากัน ทำให้สามารถประเมินได้ว่าควรลงทุนการผลิตงานหนึ่งชิ้นออกมาในรูปแบบใดที่จะตอบโจทย์คนซื้อคนอ่านได้มากที่สุด 

  นอกจากนี้การออกบูธที่งานสัปดาห์หนังสือฯ ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง และฝากขายตามบูธหนังสือร้านอื่น ๆ ถือเป็นช่องทางการขายที่สำคัญ บาสกล่าวว่าสิ่งที่ได้ไม่ใช่เพียงแค่ลูกค้าขาจร แต่คือการสร้างการรับรู้ให้นักอ่านรู้จักสำนักพิมพ์มากขึ้น 

“งานสัปดาห์หนังสือช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้ลูกค้าจากหน้าร้านค่อนข้างเยอะจากบูธของหลวยสู และบาสยังใช้เทคนิคแบบป่าล้อมเมือง เรารู้จักบูธไหน เราฝากขายหมดเลย จนทำให้งานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมานวนิยายชุดเรือธงของสำนักพิมพ์อย่าง ‘ร้านสัมผัสรัก’ มีฝากขายทั้งหมด 15 บูธ ยอดขายถือว่าดีเลย นอกจากนี้มันทำให้คนรู้จักงานเรามากขึ้น ข้อดีของการขายหน้าร้าน หรือฝากขายตามบูธต่าง ๆ คือเราจะได้ลูกค้าขาจรที่เขาไม่ได้ตั้งใจมาซื้อ แต่เขาเห็นปกแล้วปกสวยดี ก็เลยซื้อ”

เมื่อนึกทบทวนถึงการทำสำนักพิมพ์ที่ผ่านมา บาส กล่าวว่าการทำธุรกิจ จะต้องสนุกกับมันในทุกกระบวนการ ก่อนทำ ขณะทำ หลังทำ เป็น 3 ขยัก ที่ทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ เพราะสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจคือ ความสนุก ความฟิน ไม่ใช่ความทุกข์ทน พอการทำงานสนุก ผลงานก็จะออกมาสนุก ลูกค้าที่ซื้อหนังสือไปอ่านก็จะสนุกตามไปด้วย 

เมื่อแลไปข้างหน้า บาสกับออมมองว่าไม่ได้มองภาพหลวยสูสำนักพิมพ์ใหญ่มาก แต่จะเน้นไปที่คุณภาพที่การันตีได้ ตั้งใจที่จะรักษามาตรฐานและทำนวนิยายแต่ละเล่มให้ดีขึ้นไป เป็นสำนักพิมพ์ในดวงใจของนักอ่าน ส่วนในแง่ของนักเขียนจะรักษามาตรฐานในการดูแลและช่วยผลักดันนักเขียนไปสู่สายตานักอ่านมากขึ้น พร้อมไปกับอยากให้งานของสำนักพิมพ์สามารถต่อยอดไปเป็นสื่ออื่น ๆ อย่าง ละคร หรือ ซีรีส์ได้

อยากเปิดสำนักพิมพ์บ้างต้องทำอย่างไร ? รวยไหม ?

“บาสขอแชร์ในฐานะเพื่อน เนื่องจากตัวเองก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จมากจนจะไปแนะนำใครได้ จากการกระโจนลงมาสู่วงการหนังสือเต็มตัวมองว่า ต้องหาแนวทางของสำนักพิมพ์ตัวเองให้เจอก่อนว่าจะมีรูปลักษณ์เป็นสไตล์ไหน อะไรจะเป็นจุดเด่นของสำนักพิมพ์เรา ที่แตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่น

 ถ้าเปรียบเทียบสไตล์โมเดลการทำงานของหลวยสูสำนักพิมพ์ อย่างที่กล่าวไปช่วงต้นคือ เมื่อระดมสมองคิดโปรเจ็กต์หนังสือ และเทียบเชิญนักเขียนไปแล้ว เมื่อได้ต้นฉบับมาก็จะเข้าสู่กระบวนการบรรณาธิการ ทำพิสูจน์อักษร จัดหน้าหนังสือ 

จากนั้นติดต่อโรงพิมพ์ ซึ่งเดี๋ยวนี้พอเปิดสำนักพิมพ์ บางโรงพิมพ์เขาจะติดต่อมาหาเราเองเลยด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพื้นฐานของการทำหนังสือแต่ละเล่ม แม้แต่ตัวนักเขียนที่เขียนเรื่องเองและตีพิมพ์เองก็ใช้โมเดลนี้ ที่เหลือก็เป็นขั้นตอนของการตลาดทั่วไป”

  ออมกล่าวเสริมว่ายุคสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องทำสำนักพิมพ์ให้ใหญ่ แค่เน้นการตลาดบนโลกออนไลน์ก็เพียงพอแล้ว 

เมื่อถูกถามว่ารายได้ที่ทำสำนักพิมพ์ได้เยอะขนาดไหน สามารถเลี้ยงตัวได้เลยไหม ประเด็นนี้ออมเล่าให้ฟังต่อว่าในฐานะคนนอกที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือ รู้สึกว่าธุรกิจนี้ก็มีรายได้อยู่พอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ก็จะได้ยินมาตลอดว่าทำสำนักพิมพ์ในยุคนี้จะอยู่ได้เหรอ แต่พอได้เข้ามาทำเต็มตัวก็รู้สึกว่าเงินที่ได้มาก็ดีอยู่พอสมควร จึงรู้สึกว่าในการทำธุรกิจไม่ว่าจะวงการไหน ล้วนมีตลาดของตัวเองอยู่แล้ว ในสิ่งที่เราชอบก็มีคนที่ชอบเหมือน ๆ กัน แค่เราต้องหาตลาดตัวเองให้เจอ 

เปิดตลาดวงการหนังสือ ผ่านเลนส์หลวยสูสำนักพิมพ์

วงการหนังสืออาจดูเหมือนจะผ่านยุครุ่งอรุณมาแล้ว ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนแต่ก่อน แต่บาสมองว่าตลาดวงการหนังสือนั้นแค่เปลี่ยนรูปแบบการ ‘ฟู’ รูปแบบที่ ‘ฟู’ ตอนนี้อาจจะ ‘ฟีบ’ อะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อก่อน ตอนนี้อาจจะกำลังเฟื่องฟู โดยเฉพาะตลาดบนโลกออนไลน์

“เราอยู่ในยุคที่เมื่อก่อนหนังสือเล่มพิมพ์ที 5,000-3,000 เล่มเป็นปกติ แต่ทุกวันนี้แค่ 2,000 เล่ม ก็ยังขายยากแล้ว ซึ่งถ้าใครที่ไม่ได้อ่าน e-book ก็จะไม่รู้เลยว่ามันมีปรากฏการณ์ 1 วัน 1,000 โหลด มีจริงสำหรับนักเขียนที่ขายดี ตลาดมันอาจจะเปลี่ยนแพลตฟอร์ม ในแง่ของออนไลน์มากขึ้น”  

  สำหรับออมมองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาจะไม่มีวันตายหากทำแล้ว สามารถปรับตัวได้ และพัฒนาในน่าสนใจขึ้น ยังไงก็ขายได้แน่นอน ซึ่งมองว่าเป็นทุกวงการไม่ใช่เพียงแค่ตลาดหนังสือ  

เมื่อถูกถามถึงพฤติกรรมการอ่านของคนไทย บาส มองว่าการที่สังคมมองว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง น่าจะมาจากการที่คนซื้อหนังสือน้อยลงมากกว่า แต่พอสาวลึกลงไปอีกว่าทำไมคนไทยถึงซื้อน้อยลง แน่นอนว่าก็มาจากราคาหนังสือเล่มที่สูงขึ้น 

“พอเข้ามาในวงการนี้รู้เลยว่า สำนักพิมพ์ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้หนังสือราคาสูง ทุกคนก็อยากให้คนอ่านเข้าถึงหนังสือ แต่ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนหนังสือเล่มแพงขึ้นเลยก็คือ ต้นทุนค่ากระดาษ ประกอบกับค่าครองชีพ ค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกันของประเทศไทย ทุกอย่างเลยกระทบกันไปหมด ทำให้การอ่านหนังสืออ่านสักเล่มมันกลายเป็นเรื่องยากสำหรับคนเด็กจบใหม่ หรือนักเรียนนักศึกษา ในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์เราก็อยากได้รัฐบาลที่ดีมาแก้ไขปัญหาตรงนี้”

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เข้ามาช่วยโอบอุ้มตลาดลงการหนังสือได้มาก ๆ เลยคือวัฒนธรรมกองดอง ที่ซื้อมาก่อนเอาไว้ให้อุ่นใจก่อนค่อยอ่าน สุดท้ายแล้วตอนนี้การเป็นการสนับสนุนสำนักพิมพ์ สนับสนุนนักเขียนในอีกทางหนึ่ง

นิยามความสำเร็จของชาวหลวยสู 

เรามักจะเคยได้ยินค่านิยมชุดหนึ่งที่กล่าวเอาไว้ว่า “เรียนจบแล้วต้องมีประสบการณ์ก่อน ถึงค่อยมาทำธุรกิจ” ซึ่งหลวยสูสำนักพิมพ์ไม่ได้เข้าข่ายตามค่านิยมดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย เมื่อจั่วคำถามพุ่งตรงไปยังเจ้าสำนักทั้งสอง ต่างนิ่งไปสักครู่ก่อนจะบอกว่าจริง ๆ แล้วชุดความคิดนี้ไม่เคยมีอยู่ในหัวเลย เพราะความชอบกับมองเห็นลู่ทางทำเงินก็เลยออกลุยทันที

บาสอธิบายเพิ่มว่า ชุดความคิดนี้สรุปได้ว่า ‘ต้องมีประสบกาารณ์’ ซึ่งประสบการณ์นั้นของบาสมาจากการเรียนในมหาวิทยาลับ การอ่านหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ และการเป็นนักรีวิวหนังสือที่ทำให้รู้จักคนในวงการน้ำหมึก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประสบการณ์ชีวิต ที่กลายมาเป็นเบ้าหลอมในการทำธุรกิจสำนักพิมพ์ทั้งสิ้น

สำหรับนิยามความสำเร็จของบาส อยู่ที่ระหว่างทาง ไม่ใช่ปลายทาง และทำให้เต็มที่ 

“เต็มที่เท่าที่แรงกาย แรงใจจะมี อยากทำอะไร ณ ตอนนี้ อย่ารอ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งเห็นผลเร็ว อย่าปล่อยให้ศักยภาพนั้นค่อย ๆ หายไป คิดอะไรก็อยากให้ทำเลย แต่ถ้าใครมีภาวะแล้งฝัน ไม่มี passion ไม่ใช่เรื่องผิด ตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์อยู่ คุณค่าของมันคือการได้ใช้ชีวิต บางคนอาจจะลองผิดลองถูก ในชีวิตไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน กว่าจะเจอความชอบ นานบ้างเร็วบ้าง แต่ละคนมันไม่เท่ากัน ช้าก็ไม่ใช่เรื่องแปลก” 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือ หากยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือยังไม่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ ก็ไม่ต้องฝืนตัวเอง อย่าหลอกตัวเองว่ามันผ่านไปได้แล้ว อย่าบังคับให้ตัวเองต้องเข้มแข็ง ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ถ้าตอนนั้นพังอยู่ ก็ให้เวลาตัวเองในการฟื้นฟ พอถึงเวลาหนึ่งที่ผ่านมันไปได้เราจะรู้สึกเลยว่า ถ้าผ่านมันมาได้เราจะภูมิใจกับตัวเองมาก ๆ ที่ผ่านมันไป 

“ยอมรับความผิดหวัง เพราะสุดท้ายก็ชีวิตเราก็เช่นนี้ เท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจ เรายังมีสิทธิ์ในการใช้ชีวิต ต่อให้มันจะล้มเหลวแค่ไหนหรือแตกสลายแค่ไหน บาสเชื่อว่าคุณค่าของการประกอบสร้าง ต่อให้มันแหลกสลาย แต่เวลาที่ผ่านไปใจเราที่เข้มแข็งขึ้น มันก็จะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นตัวเราได้อีกครั้ง เป็นตัวตนเราคนใหม่ เป็นตัวตนเราในเวอร์ชั่นที่พร้อมรับมือกับปัจจุบัน แล้วจะก็สามารถเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆได้”

ส่วนออมมองคล้าย ๆ กับบาสในประเด็นเรื่องการลงมือทำ แค่เราได้มีโอกาสลงมือทำนั่นก็ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเราได้ก้าวข้ามตัวเองไปเรียบร้อย 

สำหรับค่านิยมที่เร่งให้คนประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ๆ ออมมองว่ามันไม่มีใครที่ไม่อยากไปถึงจุดนั้น แต่การที่สังคมพร่ำบอกค่านิยมดังกล่าว นัยหนึ่งมันคือการกดดันคนรับสาร หลายครั้งพานให้คิดไปว่า ทำไมคนอายุแค่นี้ประสบความสำเร็จไปหมดเลย ทำให้รู้สึกว่าหรือจริง ๆ แล้วตัวเรายังดีไม่พอ

“อะไรบางอย่างที่สังคมพยายามสร้างขึ้นมา แล้วมากดให้คนรุ่นเราต้องรีบสำเร็จ ต้องรีบโต ต้องรีบก้าวหน้า ต้องรีบรวย มันเป็นสิ่งที่มาทำร้ายตัวเรา ออมรู้สึกว่าคนอายุ 24 – 25 คนที่เพิ่งเรียนจบ แค่หาตัวเองให้ได้ว่าชอบอะไร อยากใช้ชีวิตแบบไหน แล้วคุณก้าวไป ได้ลงมือทำ ต่อให้ผลลัพธ์มันจะออกมาไม่ได้ดีที่สุดก็ตาม แต่มันได้ทำแล้ว นั่นแหละคุณก็ชนะในจุดนี้แล้ว ต่อไปในอนาคตก็จะมีทางไปต่อเองยิ่งไปกว่านั้น เราควรที่จะให้ค่ากับความล้มเหลวและมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทุกคนวางเป้าหมายได้ แต่เราอย่าไปคิดว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น 100% เราแค่ต้องพยายามในทุก ๆ ฝีก้าวของเราแค่นั้นเอง” ออมสรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า