fbpx

พรหมลิขิตกับประวัติศาสตร์ไทย: ย้อนรอย 4 กบฏสมัยพระเพทราชา

แฟนละครพรหมลิขิตอาจจะตกใจเล็กน้อย เมื่อตัวละครขวัญใจมหาชนอย่างออกพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระเพทราชา และพ่อเดื่อ หรือ พระเจ้าเสือ ล้วนมีนิสัยใจคอเปลี่ยนไปจากสมัยละครบุพเพสันนิวาส สมเด็จพระเพทราชา จากเดิมที่ใจเย็นสุขุม กลับใจร้อนมุทะลุขี้โมโห ถึงขนาดตัดจมูกขุนนางสำคัญอย่างเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เพราะระแวงว่าเป็นขุนนางสำคัญในสมัยรัชกาลก่อน มีพรรคพวกและผู้คนให้ความเคารพยำเกรงเป็นจำนวนมาก ขณะที่พ่อเดื่อที่ได้รับตำแหน่งเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ที่พระมหาอุปราชก็แสนจะกวน ระรานสตรีในกรุงศรีอยุธยาไปทั่ว

แต่เมื่อมองผ่านแว่นประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ นี่คือภาพปกติทางการเมือง ที่เมื่อมีการยึดอำนาจปราบดาภิเษกเปลี่ยนผ่านราชวงศ์ ย่อมต้องมีความหวาดระแวงและพยายามป้องกันการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสมัยพระเจ้าปราสาททอง พระบิดาของสมเด็จพระนารายณ์ ภายหลังยึดอำนาจได้มีการสังหารขุนนางราชวงศ์เดิมและขุนนางที่ร่วมก่อการกับพระองค์เอง ไม่ได้มีเพียงราชวงศ์บ้านพลูหลวงแบบที่พงศาวดารรัตนโกสินทร์กล่าวว่าเป็นยุคเสื่อม

ในสมัยของพระเพทราชาก็เช่นกัน ได้มีความพยายามปราบปรามการก่อกบฏ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ในยุคนี้มีเหตุการณ์กบฏที่น่าสนใจอยู่ 4 เหตุการณ์ ตั้งแต่ระดับไพร่จนถึงขุนนางที่เป็นเหตุให้สมเด็จพระเพทราชาว้าวุ่นใจ จนต้องใช้อำนาจและความรุนแรงเข้าควบคุม        

กบฏธรรมเถียร

กบฏธรรมเถียรถือว่าเป็นการก่อกบฏครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเพทราชา โดยเริ่มต้นก่อการแถบนครนายก และรวบรวมไพร่พลจากแถบสระบุรี ลพบุรี นครนายก

ภูมิหลังของนายธรรมเถียรมีหลักฐานระบุว่า เป็นข้าหลวงของเจ้าฟ้าอภัยทศ พระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถูกสมเด็จพระเพทราชาลวงให้เสด็จไปลพบุรีและถูกสำเร็จโทษที่ตำบลวัดซาก ธรรมเถียร ซึ่งมีลักษณะท่าทางและหน้าตาคล้ายเจ้าฟ้าอภัยทศ ขาดแต่เพียงติดไฝ จึงได้ทำการติดไฝหลอกให้ผู้คนหลงเชื่อคิดว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ กลับมากู้คืนบัลลังก์ราชวงศ์ปราสาททอง ทำให้มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมด้วย และบุกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา

ฝ่ายราชวงศ์บ้านพลูหลวงทีแรกก็ตกใจเสียกระบวน แต่เมื่อตั้งตัวได้จึงเริ่มมีการจัดทัพป้องกันพระนคร โดยมีกรมพระราชวังบวรฯ (พระเจ้าเสือในเวลาต่อมา) เป็นแม่ทัพควบคุมกำลังพลปกป้องพระนคร โดยกรมพระราชบวรฯ ขึ้นป้อมบัญชาการยิงปืนใหญ่ใส่กองทัพกบฏ ช่วงแรกนั้นปรากฏว่าปืนใหญ่ยิงไม่ออก ดินปืนด้าน เมื่อไขกระสุนออกมาพบว่าบรรจุผิด ทำให้พระองค์เชื่อว่ามีผู้คนคิดไม่ซื่อมีใจเข้าข้างกองทัพกบฏ เพราะเชื่อว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศอยู่ จึงมีรับสั่งให้ประหารไพร่พลที่คุมการยิงปืนใหญ่และเปลี่ยนใหม่ทั้งชุดมายิงปืนใหญ่ใส่ฝ่ายกบฏอีกครั้ง ปรากฏว่าสามารถยิงปืนใหญ่ถล่มฝ่ายกบฏธรรมเถียรได้ทั้งหมด จึงทำให้ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ออกไป 

ส่วนตัวธรรมเถียรนั้นมีเอกสารระบุแตกต่างกันออกไป บางข้อมูลระบุว่าถูกปืนใหญ่ยิงถูกตาย บางข้อมูลระบุว่าภายหลังยิงปืนใหญ่ถล่มทัพกบฏได้ ตัวธรรมเถียรถูกจับตัวและนำไปประหารภายหลัง ส่วนกบฏที่เหลือถูกจับประหาร บ้างถูกจับเป็นนักโทษ ถูกส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง และบางคนมีโทษสถานเบาถูกปล่อยตัวไปก็มีบ้าง ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเพทราชา ที่ระบุว่า “มันเป็นโมหะ หาปัญญามิได้ ปล่อยมันเสียเถิด อย่าเอาโทษเลย”

กบฏธรรมเถียรครั้งนี้จึงสะท้อนความเปราะบางของช่วงการก่อตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่ถึงแม้จะยึดอำนาจส่วนกลางได้แล้ว กำจัดเชื้อพระวงศ์สำคัญหลายๆ พระองค์ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถควบคุมความสงบได้ทั้งราชอาณาจักร รวมถึงยังไม่สามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจสร้างความเชื่อมั่นได้ทั้งหมด เห็นได้จากขณะที่ทำศึกกับกบฏ ก็ยังมีคนในที่รู้เห็นเป็นใจกับกบฏครั้งนี้ด้วย

กบฏพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา

เมืองนครราชสีมา เป็นหัวเมืองสำคัญทั้งในแง่เมืองหน้าด่านด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอยุธยา เปรียบเสมือนเมืองป้อมปราการที่คอยควบคุมหัวเมืองฟากตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองประเทศราชอย่างลาว และที่สำคัญยังเป็นเมืองศูนย์กลางที่รวบรวมทรัพยากรของมีค่า ของป่า แถบภาคตะวันออกและภาคอีสาน เพื่อนำส่งสินค้าเหล่านี้กลับมากรุงศรีอยุธยา เมืองนครราชสีมาจึงมาความสำคัญมากถึงขนาดที่สมเด็จพระนารายณ์แต่งตั้งพระยายมราช (สังข์) ซึ่งเป็นตำแหน่งเสนาบดีกรมเวียงมีหน้าที่ดูแลรักษาพระนครไปกำกับดูแล แสดงถึงการความให้ความสำคัญ และบุคคลที่ไปดูแลเมืองอย่างพระยายมราช (สังข์) น่าจะเป็นบุคคลที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงไว้ใจและน่าจะเป็นขุนนางสำคัญในรัชสมัยนั้น

เมื่อมีการผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มีการทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมืองนครราชสีมาเป็นหนึ่งในหัวเมืองที่ไม่เข้ามาถือน้ำ เป็นที่แน่ชัดว่าตั้งตัวไม่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ส่งผลต่ออำนาจและเสถียรภาพของอยุธยา และต่อพระมหากษัตริย์อย่างสมเด็จพระเพทราชา ด้วยความที่นครราชสีมาอยู่ไม่ห่างไกลจากอยุธยามากนัก สมเด็จพระเพทราชาจึงส่งกองทัพใหญ่ไปปราบปรามเพื่อจะดึงหัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาอยู่ใต้เงาของอยุธยาอีกครั้ง

แต่กระนั้นกบฏนครราชสีมาใช่จะปราบปรามได้ง่ายดาย ดังที่หลักฐานปรากฏว่า “พระยานครราชสีมาก็ตรวจจัดรี้พลขึ้นอยู่ประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน ปราการป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทัพกรุงยกเข้าแหกหักเป็นหลายครั้ง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันทั้งกลางวันกลางคืนไม่ย่อหย่อน ทัพกรุงแหกหักเอามิได้ ก็ตั้งล้อมมั่นไว้…ไพร่พลเมืองอดอยากซูบผอมล้มตายเป็นอันมาก แต่ทว่าพระยายมราชเจ้าเมืองนี้มีฝีมือเข้มแข็ง ตั้งเคี่ยวขับต้านทานอยู่มิได้แตกฉาน” กองทัพใหญ่ของอยุธยาครั้งนี้เป็นการยกทัพไปเสียเปล่า ไม่สามารถหักเอาเมืองนครราชสีมาได้ ประกอบกับกระสุนดินดำหมด ทหารล้มตายเป็นจำนวนมาก ศึกครั้งนี้ถือว่าอยุธยาพ่ายแพ้จึงต้องถอยกลับ       

แต่ในเวลาต่อมาทางอยุธยาได้ส่งกองทัพขึ้นไปปราบอีกครั้ง แต่กองทัพที่ยกทัพไปครั้งนี้มีกำลังพลที่น้อยกว่ามาก กระนั้นสามารถใช้ยุทธวิธีผูกดินระเบิดเข้ากับว่าวไปตกระเบิดในเมือง หรือยิงธนูไฟเข้าไปในเมือง บ้านเมืองราษฎรสมัยก่อนทำจากไม้ เมื่อถูกระเบิด หรือธนูไฟทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก ทำให้เมืองนครราชสีมาถูกตีแตกในที่สุด แต่กระนั้นตัวพระยายามราช (สังข์) ก็สามารถหนีรอดไปเมืองนครศรีธรรมราชของสหายได้

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าตัวพระยายมราชเอง น่าจะมีอิทธิพลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่ำชองพื้นที่บริเวณนี้ดี ถึงได้สามารถหลบหนีไปได้สำเร็จ และเป็นการยืนยันถึงความสามารถและการเป็นเจ้าเมืองท้องถิ่นที่สามารถควบคุมไพร่พลและพื้นที่ แม้กระทั่งพ่ายแพ้ก็ยังสามารถหลบหนีจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ภาคใต้ได้

กบฏพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองระดับพระยามหานครมาตั้งแต่อดีต มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมา เป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ที่ควบคุมหัวเมือง หัวเมืองประเทศราช และการค้าตลอดชายฝั่งภาคใต้ของสยามมาเนิ่นนาน ทำให้ตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้รั้งเมืองต้องเป็นบุคคลสำคัญ มีความสามารถด้านการคุมกำลังไพร่พล คุมกองทัพ และสามารถสานต่อเครือข่ายเจ้าเมืองท้องถิ่นทางภาคใต้ ซึ่งไดแก่มุสลิม และแขกมลายูได้ (ในแง่นี้อาจเป็นเครือข่าย หรือคนท้องถิ่นที่เข้าใจภาษาวัฒนธรรมภาคใต้ด้วย) รวมทั้งต้องเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ไว้วางใจให้ดูแลเมือง

พระยารามเดโชเป็นขุนศึกคนสำคัญในสมัยพระนารายณ์ และชื่อตำแหน่งอาจเพี้ยนมาจากตำแหน่งพระยาศรีราชเดโชไชยอะไภรีพิรียปรากรมภาหุ เดโช เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา หรือ พระยาศรีราชเดชไชยท้ายน้ำอะไภยรีพิรียปรากรมภาหุ ท้ายน้ำ เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้าย ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่ง ล้วนคุมกำลังสำคัญด้านกลาโหม พูดง่ายๆ คือเป็นตำแหน่งแม่ทัพ และน่าจะรั้งตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งใน 2 ตำแหน่งนี้ ในบางเอกสารระบุว่าเป็นมุสลิม ซึ่งเป็นเครือญาติเกี่ยวข้องกับรัฐประเทศราชทางภาคใต้ของสยามอีกด้วย

ดังนั้นพระยารามเดโชในแง่บารมีในกองทัพอยุธยาน่าจะมีบารมีพอสมควร รวมถึงการมีอิทธิพลทางภาคใต้ของสยามน่าจะมีอิทธิพลที่สามารถเขย่าบัลลังก์สมเด็จพระเพทราชาจากภายในอยุธยาเองและภายนอกจากการแข็งเมืองอีกด้วย ดังนั้นเมื่อพระยารามเดโชไม่มาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นกบฏต่อพระเพทราชา และเมื่อเมืองนครราชสีมาถูกตีแตก พระยายายมราช (สังข์) ก็หนีมาร่วมทัพกับเมืองนครศรีธรรมราชทำการต่อสู้กับกรุงศรีอยุธยาด้วย ฉะนั้นจำเป็นที่สมเด็จพระเพทราชาต้องส่งกองทัพมาปราบเมืองนครศรีธรรมราช

กองทัพอยุธยากับนครศรีธรรมราชสู้รบกันหลายครั้งถึงขนาดพระยายมราช (สังข์) ถูกกองทัพอยุธยาฆ่าตายคาสนามรบ และทำการล้อมเมืองนครศรีธรรมราชอยู่นาน จนในที่สุดเมืองนครศรีธรรมราชก็แตกรวมเวลาในการปราบกบฏ 2 เมือง หรือ 2 พระยา เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งกินเวลาในรัชกาลนี้ไม่น้อย ที่สำคัญยังเกิดผลกระทบตามมาให้ประหารขุนนางข้างกรุงศรีอยุธยา เพราะความระแวงว่ายังมีใจภักดีต่อราชวงศ์ก่อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพระยาราชวังสัน เจ้ากรมกำลังอาสาจาม เมื่อครั้งตีนครศรีธรรมราชแตกได้ปล่อยพระยารามเดโชหนีไป ทำให้ตัวเองถูกลงอาญาประหารชีวิต

การก่อกบฏครั้งนี้สะท้อนภาพการเมืองช่วงสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวงได้หลายอย่าง ได้แก่ ปัญหาภายในกรุงศรีอยุธยาที่ขุนนางเก่ายังคงจงรักภักดีกับราชวงศ์เดิม ทำให้กษัตริย์รู้สึกว่าอำนาจยังไม่มั่นคงและเกิดความระแวงสงสัยขุนนางตลอดเวลา และปัญหาภายนอกกรุงศรีอยุธยาอย่างหัวเมืองอยู่ห่างไกลที่เจ้าเมืองมีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้ศูนย์กลางอำนาจไม่สามารถควบคุมได้และเป็นภัยความมั่นคงที่ยากจะปราบลงให้ราบคาบ เห็นได้จากกบฏเมืองนครศรีธรรมราช ถึงแม้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชจะแตก แต่ก็ไม่สามารถจับกุมพระยารามเดโชได้ เนื่องจากพระยารามเดโชมีพรรคพวกในท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับทหารสามารถหลบหนีการจับกุมไปได้

กบฏบุญกว้างหรือกบฏผู้มีบุญ

ยามใดที่ศูนย์อำนาจรัฐอ่อนแอ ยามนั้นย่อมเกิดการลุกฮือของคนในท้องถิ่นห่างไกล หรือกบฏปลดแอกจากศูนย์กลาง กบฏบุญกว้างก็เช่นกันเกิดขึ้นในบริเวณหัวเมืองลาว โดยประกาศตนเป็นผู้มีบุญ เปรียบเสมือนพระผู้ไถ่บาปที่ลงมาปราบยุคเข็ญ ในแง่นี้คือศาสนาพุทธ นำพาคนลาวหลุดพ้นจากอำนาจกรุงศรีอยุธยาในจังหวะที่กรุงศรีอยุธยามีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์

หลักฐานระบุว่ากบฏบุญกว้างได้นำกำลังคนเพียง 28 คน บุกเข้ายึดเมืองนครราชสีมา โดยที่กองทัพของเจ้าเมืองหวาดกลัวถึงขนาดไม่กล้าสู้ หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดกบฏบุญกว้างใช้กำลังพลเพียงน้อยนิดก็สามารถเข้ายึดเมืองนครราชสีมาได้ ต้องย้อนความไปตั้งแต่ครั้งเมืองนครราชสีมาแตก กบฏพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมาที่หนีไปนครศรีธรรมราช แน่นอนว่าเมื่อเครือข่ายอิทธิพลเก่าสลายลงไปประกอบกับเมืองนครราชสีมาคงบอบช้ำไม่ใช่น้อย หลังจากที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตก ขณะที่ผู้รั้งเมืองคนใหม่จากส่วนกลางคงจะไม่มีบารมีมากนัก บวกกับไร้เครือข่ายในท้องถิ่น ขาดความเคารพจากผู้คน ไม่เหมือนกับพระยายมราช (สังข์) ดังนั้นกบฏบุญกว้างเองซึ่งเป็นลาว ย่อมบุกเข้าเมืองนครราชสีมาที่ควบคุมหัวเมืองลาวด้วยกันเองได้อย่างง่ายดาย เพราะยังไงลาวด้วยกันเองย่อมไม่กดขี่เหมือนกรุงศรีอยุธยากดขี่เมืองประเทศราช ดังนั้นกบฏบุญกว้างจึงบุกเข้ายึดเมืองนครราชสีมาได้อย่างง่ายดาย 

หลักฐานที่ตอกย้ำถึงความร่วมมือของลาวด้วยกันเองคือการปกป้องเมืองนครราชสีมาจากกรุงศรีอยุธยาที่สามารถปกป้องเมืองได้ถึง 3 ปี หากไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวเมืองแล้วคงไม่สามารถปกป้องเมืองนครราชสีมาได้นานนัก

กบฏบุญกว้างสะท้อนให้เห็นการต้องการสลัดจากการกดขี่จากสยามของชาวลาว จังหวะที่ดีที่สุดคือการปลดแอกขณะที่รัฐส่วนกลางไร้เสถียรภาพทางการเมือง แต่สิ่งที่ไม่สามารถรักษาฐานของกบฏได้ คือการที่กองทัพจัดตั้งแบบชาวบ้าน อาวุธยุทโธปกรณ์ไม่พร้อมสรรพเท่ากับส่วนกลาง ทำให้เมื่อเผชิญหน้ากันย่อมสู้ไม่ได้

ทั้งหมดนี้คือการเมืองเรื่องกบฏที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชายุคสมัยที่เป็นฉากเบื้องหลังของละครเรื่องพรหมลิขิต สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางการเมืองที่เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทยมากๆ แต่มักถูกบิดเบือนให้ไม่ปกติ เรื่องผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ ผลัดเปลี่ยนรัชกาล ความไร้เสถียภาพ และการเกิดกบฏขึ้นในช่วงต้นรัชกาล เป็นมาทุกราชวงศ์ทุกรัชกาลตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

การสร้างฐานอำนาจทางการเมืองย่อมต้องมีความระแวง นำไปสู่การปราบกลุ่มก้อนที่เป็นเสี้ยนหนามหรือเป็นอริกับตน ก่อนที่จะขึ้นมามีอำนาจ หรือหลังจากมีอำนาจย่อมต้องระแวงว่าอำนาจอาจถูกฉกจากมือไป ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองที่ห่างไกล จะเป็นน้อง พี่ หรือลูกของตนเอง 

ดังนั้นการเขียนประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่การยัดเยียดคุณธรรม หรือการกล่าวหาว่ายุคใดยุคหนึ่งไร้คุณธรรมเป็นเหตุให้บ้านเมืองล่มสลาย แต่ที่จริงแล้วเป็นวัฏจักรของการเมือง และวัฏจักรของมนุษย์ที่มีความอยากได้ใคร่ดี อยากได้มาซึ่งอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะมีความระแวงการก่อกบฏตลอดประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยหรือประวัติศาสตร์ชาติอื่นๆ เพราะอันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์อาจทำให้เห็นปัจจุบันว่าทำไมถึงเกิดการต่อต้าน เหตุใดถึงเกิดการกดขี่ อยู่ที่จะมองประวัติศาสตร์จากรัฐศูนย์กลางหรือมองประวัติศาสตร์อย่างเข้าใจมนุษย์

หลักฐานอ้างอิง : openbase / thesis.swu.ac.th / wiki.kpi.ac.th / silpa-mag / watsritawee

  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ
  • พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
  • พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ .อยุธยาประวัติศาสตร์และการเมือง .มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า