fbpx

“ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ” ส่องแนวคิดของนักวิจัย อาชีพที่ต้องทดลองวนไปไม่หยุด

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทให้ชีวิตประจำวันนับไม่ถ้วน ส่งผลให้กำลังพลด้านวิทยาศาสตร์มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการวิจัยและพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ 

หากย้อนกลับไปในวัยเด็ก เรายังจำช่วงเวลาที่หยิบถ้วยถังกะละมังหม้อที่อยู่ในห้องครัวมาเล่นขายของได้ดี หรือแม้กระทั่งการหอบหิ้วข้าวของต่างๆ เพื่อไปทำการทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจในการหาคำตอบและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่สำคัญยังช่วยจุดประกายความฝันในวัยเด็กว่า ‘โตขึ้นไปอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์’

เมื่อความสนุกของการทดลองไม่ได้หยุดแค่ในวัยเด็ก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ดร.มัตถกา คงขาว หรือ ‘กิ๊ฟ’ เลือกเดินบนเส้นทางอาชีพสายวิทยาศาสตร์สู่การเป็นนักวิจัยเต็มตัว เมื่อมีโอกาสได้พบกันเป็นครั้งแรก เราจึงได้ถามไถ่ถึงชีวิตการทำงานของนักวิจัย รวมถึงการตั้งคำถามถึงความสุขและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน

ดร.มัตถกา เป็นนักวิจัยที่ทำงานในห้องปฏิบัติการการแพทย์นาโน ในศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า Nanomedicine เธอได้อธิบายถึงความสำคัญของการแพทย์นาโนว่าเป็นการวิจัยและพัฒนา โดยใช้นวัตกรรมทางนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงยารักษาโรค ซึ่งในแต่ละวันนักวิจัยก็มักจะทำงานกันในห้องปฏิบัติการเพื่อทดลองและพัฒนาสูตรในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ขึ้นชื่อว่าเป็นการทดลองย่อมมีทั้งการลองถูกและการลองผิด ดร.มัตถกา เท้าความถึงช่วงเวลาที่เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกว่า มีอาจารย์เคยบอกกับเธอว่า สำหรับนักวิจัยแล้ว คำว่า research เป็นคำที่คอยเน้นย้ำว่า การจะเป็นนักวิจัยต้องทำการทดลองไปเรื่อยๆ แบบไม่หยุดยั้ง เพราะนี่คือการ research it again and again ความล้มเหลวจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในอาชีพนักวิจัย 

“การทำงานในแต่ละวันของนักวิจัยคือการคิดค้นสูตรที่เหมาะสมที่สุด บางครั้งถ้าโชคดีก็จะทดลอง 10 สูตร ได้ 1 สูตร บางครั้งถ้าโชคร้าย ทดลอง 50 สูตร ก็จะมีแค่สูตรเดียวที่เหมาะสม 

อีกหนึ่งคติประจำใจที่อาจารย์คอยบอกเราเสมอคือ 95% คือล้มเหลว อีก 5% คือความสำเร็จ การทำวิจัยคุณต้องล้มเหลวก่อน ไม่มีใครที่จะสำเร็จตั้งแต่ขั้นแรก”

แม้ว่าการทำงานของนักวิจัยต้องเผชิญกับความล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่และโอกาสที่จะสำเร็จจะมีเพียงแค่ 5% เท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของการเป็นนักวิจัย นอกจากนั้น ดร.มัตถกา ยังมองว่ารางวัลที่มีคุณค่าทางจิตใจจนไม่อาจประเมินค่าได้ คือการได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ใช้นวัตกรรมที่เธอเป็นคนวิจัยและพัฒนาขึ้นมา ถือว่าเป็นความปลื้มปิติในฐานะนักวิจัย ที่ได้เห็นผลงานวิจัยถูกถ่ายทอดออกไปนอกห้องปฏิบัติการและสามารถนำไปใช้งานจริง

มาถึงตรงนี้ก็พอจะเห็นภาพการทำงานของนักวิจัยไปบ้างแล้ว และแน่นอนว่าการทำงานก็มีทั้งช่วงที่ราบรื่นและช่วงที่ต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ จนบางครั้งผลลัพธ์ของการทำงานที่ออกมาอาจไม่สมดั่งใจหวังเสมอไป ส่งผลให้บทเรียนที่ได้รับจากการทำงานช่วยปรับแนวความคิดในการใช้ชีวิตของ ดร.มัตถกา ด้วยเช่นกัน

“ทุกวันมีปัญหาให้เราต้องแก้อยู่เสมอ การทำงานจึงต้องคิดอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ได้ ซึ่งกว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ต้องอาศัยความอดทนเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกว่าเราต้อง research it again and again การอดทนต่อความล้มเหลวซ้ำๆ มันช่วยปรับมายเซ็ตของเราด้วยว่า ความล้มเหลวเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตที่เราต้องเอาชนะให้ได้”

“ที่สำคัญการที่เราจะทำงานนั้นได้หรือไม่ได้ดี มันขึ้นอยู่กับใจเราด้วย ถ้าเรารักในงานที่เราทำ ยังไงเราก็ไม่ล้มเลิกที่จะทำงาน หากเรามีความรู้สึกรักในงานที่ทำและมีความสุขยังไงก็สามารถเอาชนะปัญหานั้นๆ ไปได้” ดร.มัตถกา กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มถึงบทเรียนที่รับจากการเป็นนักวิจัย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า