fbpx

‘Long COVID เจ็บ ไม่จบ’ : ป่วยไม่หาย แถมเสี่ยงเป็นซึมเศร้า 3 – 5 เท่า

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค เพื่อระบุยอดติดเชื้อสะสมของผู้ป่วยและยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ทั้งยังจัดอันดับ 5 ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดในโลก เพื่อให้ทุกคนเฝ้าระวังและรับรู้สถิติไปพร้อมๆ กัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากนอกจากอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือการที่ รศ.นพ.ธีระ ได้ระบุถึงผลงานวิจัยจากทีมงานในประเทศออสเตรียและอิตาลี ซึ่งได้ผลการทดสอบว่า ‘การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจิตเวชทั้งเรื่องวิตกกังวลและซึมเศร้า’ โดยจากผลการประเมินพบว่า ประชากรชาวออสเตรียและอิตาลีราว 2,000 คน ซึ่งเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน เมื่อผ่านไปราว 3 เดือน ผู้ติดเชื้อมีโอกาสประสบปัญหาวิตกกังวลเพิ่มขึ้นราว 2-4 เท่า และมีอัตราเป็นภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นราว 3-5 เท่า

ย้อนกลับไปที่คำว่า Long COVID เชื่อว่าคนไทยเริ่มได้ยินคำดังกล่าวมากขึ้นในสื่อสุขภาพต่างๆ โดยที่ Long COVID คือการกล่าวถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อแล้ว เรียกว่าเป็นอาการหลงเหลือ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีไข้ ไอ ปวดหัว ซึ่งสภาวะนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่รับเชื้อไปแล้ว 4 – 12 สัปดาห์ขึ้นไป 

นอกจากงานวิจัยข้างต้นที่ยืนยันว่าการป่วยโควิดมีผลต่อสภาพจิตใจและความวิตกกังวล ทั้งยังส่งผลต่อสภาพร่างกายในระยะยาวแล้ว งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cambridge ซึ่งได้ทำการศึกษาผลกระทบในผู้ป่วย Long COVID มากกว่า 200 คน พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด ป่วยด้วยอาการ Long COVID มากกว่า 12 สัปดาห์ แม้ฉีดวัคซีนครบทั้ง 3 เข็ม และ 78% ของผู้ป่วยทั้งหมดพบกับภาวะสมาธิสั้น, 69% เกิดสภาวะสมองล้า ตื้อ (Brain Fog), 68% ประสบปัญหาเกี่ยวกับความจำ และอีก 40% อยู่ในสภาวะ semantic disfluency หรืออาการเขียนคำผิด ซึ่งถือเป็นอาการบกพร่องเริ่มต้นของผู้ป่วยสมองเสื่อม นอกจากนั้นผู้ป่วยจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะ Long COVID ยังไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้แบบปกติ บางรายถึงกับต้องลาออกจากงานประจำ เพราะสภาพร่างกายไม่สามารถรับภาระจากการทำงานในระยะเวลานานได้

จากผลการวิจัยดังกล่าว ทำให้ Muzaffer Kaser หนึ่งในทีมวิจัยออกมาให้ความเห็นกับอาการดังกล่าวว่า “นี่คือหลักฐานสำคัญที่เป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อมีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อพูดว่าพวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม สิ่งเหล่านั้นอาจไม่ได้มาจากความวิตกกังวลเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงอาการของ Long COVID ที่ส่งผลต่อการรับรู้และประสิทธิภาพของร่างกาย อาการเหล่านี้ปรากฏชัดเจน และสังเกตได้ง่าย เพราะผลกระทบมันก็มีตั้งแต่ทำอะไรบางอย่างเล็กๆน้อยไม่ได้ ไปจนถึงไม่สามารถกลับไปทำงานได้อีก” 

นอกจากอาการบกพร่องทางระบบประสาทและการรับรู้ที่ได้กล่าวไป Kaser ยังพูดอีกด้วยว่า การติดเชื้อโควิด-19 มีผลต่อการเกิดการอักเสบตามจุดต่างๆของร่างกาย ซึ่งอาการอักเสบสามารถส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะทุกส่วนของร่างกายทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งจุดนี้ทางนักวิจัยยังหาจุดเชื่อมโยงอาการดังกล่าวไม่ได้ แต่พวกเขามั่นใจว่าผลกระทบเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแน่นอน 

ถ้าเปรียบเทียบการเป็น Post- COVID เหมือนการล็อกดาวน์ การเป็น Long – COVID ก็ไม่ต่างจากการถูกขัง จากผลกระทบมากมายที่ร่างกายของผู้ป่วยต้องเผชิญ ตั้งแต่เสียความคล่องตัวขั้นพื้นฐาน (Loss of basic mobility) ไปจนถึงกระทบระบบประสาทและการรับรู้ ผู้ป่วยมากมายต้องละเว้นจากกิจกรรมและการดำเนินชีวิตซึ่งคุ้นชิน ต้องเดินช้าลง หายใจช้าลง รับประทานอาหารช้าลง หรือแม้แต่ออกกำลังกายไม่ได้ เมื่อสูญเสียความมั่นใจในสิ่งที่เคยได้ทำ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจ ส่งผลให้เกิดสภาวะวิตกกังวลไปจนถึงการเป็นภาวะซึมเศร้าในที่สุด

แม้ในตอนนี้จะมีงานวิจัยมารองรับอาการ Long COVID อย่างชัดเจนหลายชิ้น แต่ก็ยังไม่มีวิธีการรักษาหรือการรับมือที่เป็นรูปธรรม แต่ก็มีการเปิดคลินิกเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วย Long COVID ให้กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากที่สุด เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยของ Cambridge และคลินิกโดยรอบ  

ในไทยเองแม้จะยังไม่มีมาตรการหรือวิธีการรักษา แต่อย่างน้อยๆผู้คนก็ตื่นตัวและเริ่มตระหนักถึงอาการ Long COVID และความเสี่ยงอื่นๆที่ตามมามากยิ่งขึ้น Modernist จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมให้กำลังใจทั้งตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง  ‘ถ้าไม่ไหว อย่าฝืน ให้ปรึกษาแพทย์’ สิ่งที่คุณกำลังประสบอาจไม่ใช่เพียงความวิตกกังวล แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาการอื่นๆ โปรดสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน

อ้างอิง 

“หายโควิดแต่ยังวิตกกังวล ซึมเศร้า? ผลกระทบลองโควิด (Long Covid) ต่อจิตใจ.” Praram 9 Hospital, 23Nov 2021, https://www.praram9.com/long-covid-depression/. Accessed 21 March 2022.

“’หมอธีระ’ ยกผลวิจัย ‘Long COVID’ ประสบ ‘ภาวะซึมเศร้า’ เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า.” Voice TV, 18 Mar 2022, https://voicetv.co.th/read/KZLToaCZT. Accessed 21 March 2022.

“Long COVID study indicates “something concerning is happening” By Rich Haridy.” New Atlas, Rich Haridy, 20 Mar 2022, https://newatlas.com/health-wellbeing/cognitive-memory-long-covid-study-cambridge/?fbclid=IwAR1X1XxoWTqpjid2SEhPgFDZZfwA5afVA1j4WSoEbk9tRLrOr-RDzwo9QpE. Accessed 21 Mar 2022.

ภาพจาก Sasha Freemind

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า