fbpx

ทำไมวัฒนธรรมแต่ละประเทศ จึงส่งผลต่อการรับฟัง

Partnership with Thailand Talks 2022


วัฒนธรรม คืออะไร

วัฒนธรรม คือ รูปแบบกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ก่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกันว่าเป็นคุณค่า เป็นความดีงาม เป็นระบบ มีระเบียบ กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมส่งต่อเป็นข้อปฏิบัติถึงกันจากรุ่นสู่รุ่น ประกอบสร้างเป็น ความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรม ที่คนนสังคมนั้นๆยอมรับ

สังคมหนึ่งมีวัฒนธรรมในการรับประทานอาหาร ที่กำหนดความเชื่อร่วมกันว่า การซดดื่มน้ำซุปจากถ้วยต้องมีเสียงดัง จึงจะเป็นการสะท้อนถึงความอร่อย เป็นการให้เกียรติผู้ปรุง ในขณะที่อีกสังคมหนึ่งกำหนดความเชื่อร่วมกันว่าการดื่มน้ำซุปต้องใช้ช้อนบรรจงตักน้ำซุปจากถ้วยแล้วค่อยๆดื่มจากด้านข้างของช้อนอย่างเบาๆ

ยังมีตัวอย่างของวัฒนธรรมในการแสดงออก เช่นในสังคมหนึ่งถือคุณค่าที่ว่า เป็นเด็กต้องไม่เถียงผู้ใหญ่ ไม่ทำให้ผู้ใหญ่เกิดความรู้สึกขายหน้า ผู้ที่มีวุฒิภาวะสูงกว่า เกิดก่อนเท่านั้นที่ทำหน้าที่สั่งสอน วิพากย์พฤติกรรมของผู้มีวุฒิภาวะต่ำกว่า ในขณะที่อีกสังคมถือค่านิยมที่ว่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ต้องการให้เกิดสิ่งใดกับตนเอง ก็ต้องไม่ทำสิ่งนั้นแก่คนอื่นด้วยเช่นกัน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการอธิบายนิยามความหมายและตัวอย่างวัฒนธรรมในความหมายทางมานุษยวิทยา

วัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย

เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า “วัฒนธรรมไทย” มักจะต้องมีเรื่องของความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเราจะสะกดรอยวัฒนธรรมไทย จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมไทยมีความทับซ้อนอยู่หลายมิติ ได้แก่

  1. มิติทางสังคมจากเดิมที่เคยเป็นสังคมเกษตรกรรม ไม่เรียนหนังสือ หนึ่งครัวเรือนมีลูกมาก มีข้อจำกัดในการอธิบายความรู้ความเข้าใจสังคม นอกจากถ่ายทอดความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เราจะเห็นการปลูกฝังค่านิยมตั้งแต่เรื่องเพศ แบบอย่างและบทบาทของการเป็นเพศชายเพศหญิง ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เด็กๆลูกหลานห้ามเถียงพ่อแม่ผู้ปกครอง จนมาถึงยุคสงครามโลกวัฒธรรมเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศของผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนแปลง
  2. มิติทางสังคมในยุคการค้าจากชาวจีน ชาวอินเดีย โปรตุเกต ญี่ปุ่น ที่เข้ามาช่วงสมัยอยุธยา ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางอาหาร เครื่องแต่งกาย
  3. มิติทางความเชื่อจากที่เคยนับถือผี จะเห็นได้จากการบูชาผีบรรพบุรุษ เพื่อความรู้สึกปลอดภัยในวิถีการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการบวงสรวง การลงเจ้าเข้าทรง ทำนายทายทัก
  4. มิติทางสังคม การเมือง การปกครอง จะเห็นชนชั้นวรรณะทางอาชีพ วํฒนธรรมค่านิยมการประกอบอาชีพที่มั่นคงต้องเป็นข้าราชการ ต้องเรียนให้เก่ง สิ่งที่ยืนยันว่าเก่งก็คือเป็นหมอ เป็นพยาบาล ตำรวจ ทหาร รับราชการ

เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง เนืองจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากสังคมหนึ่งไปยังหลายสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม จึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นค่านิยมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ เป็นประเด็นให้ถกเถียงแม้กระทั่งในสังคมไทยเอง

คนรุ่นใหม่มีความเชื่อว่าวัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการคิด ไม่เชื่อมโยงกับเหตุและผล อีกทั้งศักยภาพของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเกิดก่อนเกิดหลัง แต่ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ ทดลอง ฝึกหัดและลงมือทำ ดังจะเห็นได้จากเทคโนยีต่างๆที่เกิดจากคนรุ่นใหม่

จากวัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่ได้พัฒนาไปสู่ประเด็นที่ที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นสาธารณะ โดยไม่เกี่ยวกับการเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก หรือใครจะเกิดก่อนเกิดหลังแล้ว แต่เป็นเรื่องทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนา ค่านิยมเรื่องเพศ ที่ควรพูดได้ทุกเพศทุกวัย  เชื่อว่าเป็นเรื่องของความหลากหลาย เป็นเรื่องธรรมชาติ จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ก็ต้องนำมาพูดคุยให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในขณะที่คนไทยฝ่ายหนึ่งกลับเห็นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะนำมาพูดคุย เพราะเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง

เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไปให้เห็นถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง โดยมีวัฒนธรรมที่หลากหลายเป็นตัวประกัน จะเห็นว่ามีคนสองกลุ่มที่ไม่ใช่เจนเนอเรชั่นคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แต่เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจที่จะพยายามรักษาอำนาจควบคุมกฎ กติกา ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยมทางสังคม กับผู้ถูกปกครองที่กำลังบอกเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมว่า กฎกติกา ประเพณี วัฒนธรรมที่มีมาก่อนนั้นมันไม่ปลอดภัย พวกเขาไม่สามารถบอกกับสังคมได้ว่า ใครถูกพ่อแม่หรือครูล่วงละเมิดทางเพศ ภิกษุใดกำลังเอารัดเอาเปรียบหากินกับความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในสังคมที่กำลังบำบากกับการทำมาหาเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว ใครกำลังเคร่งครัดกับกฎกติกามายาท วัฒนธรรม กับผู้อื่น ในขณะที่ปล่อยปละละเว้นที่จะไม่เห็นว่ามีคนที่ละเลย ไม่ยึดถือปฏิบัติ

ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่าง ค่านิยม วัฒนธรรมกับผู้มีอำนาจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น เป็นเด็กไม่ควรเถียงผู้ใหญ่, เป็นนักเรียนนักศึกษาอย่าเถียงครู, เป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว,  เป็นลูกน้องหรือลูกจ้างอย่าเถียงนายจ้าง นายจ้างใช้ให้ทำอะไรก็ต้องทำ, เป็นประชาชนอย่ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง, เป็นชาวพุทธต้องไหว้พระ อย่ากล่าวในสิ่งที่ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง,  เป็นพ่อค้าแม่ค้าอย่าไปมีปากเสียงกับข้าราชการ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม กับ ผู้มีอำนาจ และผู้ถูกปกครองทั้งสิ้น

จะเป็นอย่างไรหาก ผู้ใหญ่จะรับฟังมุมมองความคิดและเหตุผลของเด็ก

จะเป็นอย่างไรหาก ผู้หญิงจะบอกกับผู้ชายว่า เราควรรักนวลสงวนตัวด้วกันทั้งสองฝ่าย

จะเป็นอย่างไรหาก ลูกน้องลูกจ้างจะบอกนายจ้างว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไร

จะเป็นอย่างไรหาก ประชาชนจะบอกกับนักการเมืองว่าชีวิตในแต่ละวันของเขาควรเป็นอย่างไร

จะเป็นอย่างไรหาก ชาวพุทธที่เป็นฆราวาสจะบอกกับภิกษุว่า แม้ท่านจะบวชก็ควรประกอบอาชีพ

จะเป็นอย่างไรหาก พ่อค้าแม่ค้าจะบอกกับสังคมว่า ถูกข้าราชการเอารัดเอาเปรียบในการซื้อของ

ผู้เขียนเห็นแต่ประโยชน์ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม วัฒธรรมที่คุ้นเคยอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ก็ก่อเกิดวัฒนธรรมใหท่ สิ่งเดียวที่อาจจะเป็นการสูญเสียก็คือ อำนาจของผู้คนบางคนในสังคม ที่จะถูกท้าทายด้วยปัญญาว่าในวัฒนธรรมเก่าที่เคยได้ประโยชน์มันอาจจะไม่ถูกต้องแล้วนะ มันต้องปรับแล้วล่ะเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนสังคมอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม

ข้อสรุปเรื่องวัฒนธรรมและผลกระทบต่อการพัฒนาสังคม

วัฒนธรรมจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมได้อย่างไร หรือวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดวิวัฒนาการในสังคมมนุษย์อย่างไร ล้วนขึ้นอยู่กับผู้คนในสังคมนั้นๆว่าจะยอมเปิดใจรับรู้และเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายบนโลกใบนี้ แล้วจะนำมาปรับใช้อย่างไร

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสังคมใดจะกำหนดคุณค่า และตัดสินว่า วัฒนธรรมของสังคมใดดีกว่าสังคมใด เพราะสังคมมนุษย์ ไม่ได้มีสังคมใดสังคมเดียว การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสงบสุขของสังคมนั้นๆ ไม่มีอะไรดีงามแบบตายตัว การศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย จะทำให้สังคมเราสามารถเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง วิธีคิด ความเชื่อ ให้สอดคล้องในสังคมที่เข้าไปดำเนินชีวิต 

การเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กันของมนุษย์ระหว่างซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซึกโลก ทำให้เกิดการเดินทางของวัฒนธรรม และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมามีทั้งความขัดแย้ง ความแปลกใหม่ การเปลี่ยนถ่ายค่านิยม ความเชื่อ จนตกตะกอนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่

ใคร อาชีพอะไร ชนชั้นวรรณะใด ที่ควรเป็นผู้มีอำนาจควบคุมกฎ กติกา วัฒนธรรมประเพณี หรืออาจจะไม่ต้องมีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อจะยึดถือก็ต้องยึดถือด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ละเว้นเพียงใครกลุ่มใดกลุ่มเดียว

เพราะฉะนั้นในมุมมองของผู้เขียน วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยกลุ่มคนที่หลากหลายกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก วัฒนธรรมอาจเป็นเพียงตัวประกันของผู้มีอำนาจที่จะอนุญาตหรือปฏิเสธที่จะยอมรับ โดยสัมพันธ์กับผลประโยชน์ที่ผู้มีอำนาจจะได้จะมี หรือวัฒนธรรมอาจจะเป็นการมาเยือนของธรรมชาติอันสร้างสรรค์ของมวลมนุษย์อีกซึกโลก เป็นกุญแจปลดล็อคบางสิ่งบางอย่างที่ควบคุมพันธนาการมนุษย์ก็เป็นไปได้

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า