fbpx

กฎหมายรัฐวิสาหกิจ – ต้องเป็นแบบไหน ถึงบอกว่าเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ได้?

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนอาจจะได้ยินข่าวที่น่าตกใจพอสมควร กับการที่ธนาคารกรุงไทย มีหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งส่งผลกระทบในเบื้องต้น ต่อการดำเนินธุรกิจ และสถานะของพนักงาน และผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย  วันนี้ MODERNIST ขอมาขยายความ พรบ.รัฐวิสาหกิจ ให้ฟัง ว่าต้องเป็นแบบไหน ถึงเป็นรัฐวิสาหกิจได้? 

รู้จักคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ไว้ว่า “กิจการที่รัฐเป็นผู้ลงทุนหรือถือหุ้นข้างมาก, (กฎ) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจซึ่งรัฐเป็นเจ้าของ หรือกิจการของรัฐ หรือบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจของรัฐมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ ๕๐”  ถ้าอธิบายง่าย ๆ คือบริษัท หรือองค์กรที่รัฐเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในองค์กร/บริษัทนั้น ๆ หรือบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของนั่นเอง 

จะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ได้ ต้องมีสเปคเป็นอย่างไร? 

ในมาตรา 4 ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้ระบุความหมายเพิ่มเติมของรัฐวิสาหกิจไว้ 3 แบบ คือ 
(๑) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ 
(๒) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (๑) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ 
(๓) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (๑) หรือ (๒) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (๑) และ (๒) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (๒) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ 

สาระสำคัญ อยู่ที่ “รัฐ” ครับ ว่าเป็นเจ้าของหน่วยงานนั้น หรือถือหุ้นใหญ่ขนาดไหน หน่วยงานของเรา ถึงจะนับเป็นรัฐวิสาหกิจได้ และโดยปกติ รัฐจะเข้าถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ หรือเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัทต่าง ๆ ในนามของ “กระทรวงการคลัง” 

เมื่อเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น? 

เมื่อหน่วยงาน หรือบริษัท เข้ามาเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แล้ว จะเข้ามาอยู่ภายใต้กำกับของ “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)” ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ รวมทั้งวิธีการดำเนินงาน และระเบียบต่าง ๆ ก็จะอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายว่าด้วยรัฐวิสาหกิจที่ทางรัฐกำหนดไว้ 

ย้อนมาที่ กรณี “กรุงไทย” 

เราพาทุกท่านกลับมาดูกรณีของ “ธนาคารกรุงไทย” ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นชี้ขาดให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากตีความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารฯ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ ตาม พรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยตีความว่า “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินและสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับระบบสถาบันการเงิน โดยมิได้มีลักษณะเป็นการประกอบวิสาหกิจหรือกิจการเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่น” 

หลังจากมีหนังสือจากทางกองทุนฯ ถึงธนาคารกรุงไทยแล้ว ทางธนาคารฯ ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงสถานะของธนาคารฯ โดยระบุว่า ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารฯ และสถานะของพนักงาน และผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และหากมีผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่น ๆ ธนาคารจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป 

ธนาคารกรุงไทยฉลอง 53 ปี เผยแอปฯ NEXT เปิด 5 ฟีเจอร์ใหม่ Smart AI  และเปิดบัญชีออนไลน์ | Techsauce

“กรุงไทย” ไม่ใช่เจ้าแรกที่หลุดสถานะ “รัฐวิสาหกิจ” 

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา กับกรณีของ การบินไทย (TG) ที่ทางกระทรวงการคลัง ขายหุ้นร้อยละ 3.17 จากจำนวนหุ้นที่มีอยู่ร้อยละ 51.03 ให้กับ กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง ทำให้การบินไทย พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายฯ เหตุผลหลักในการขายหุ้นออก ให้พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็เพื่อให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สามารถดำเนินไปต่อได้ 

พ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว กระทบอย่างไร? 

ผลกระทบในทางบวกที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่พ้นสภาพฯ นั้น อย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย คือเรื่องของแรงงาน ที่ทำให้เกิดอิสระ และความคล่องตัวมากขึ้น จากเดิมที่ใน พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ พรบ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีการกำหนดคุณสมบัติและอายุสูงสุดในการรับเข้าทำงานไว้ เมื่อไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนั้นแล้ว ก็จะทำให้สามารถมีอิสระในการสรรหาบุคคลเข้าทำงานได้ 

แต่การออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็มีผลกระทบด้านลบเช่นกัน 

ย้อนไปกรณีของการบินไทย ที่กระทรวงการคลังขายหุ้นออก เพื่อเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติ เมื่อพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ส่งผลกระทบต่อการจะลงทุนใหม่ ๆ ของหน่วยงานด้วย จากเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีเครดิตของรัฐบาลเป็นหลักประกัน ทำให้สามารถลงทุนและกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ในการลงทุนได้อย่างสบาย แต่เมื่อเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวแล้ว ทำให้ต้องมีการกันเงินสดส่วนหนึ่งเพื่อเป็นมัดจำในการลงทุน ยิ่งถ้าเป็นกรณีของ การบินไทย ที่ยังอยู่ในช่วงฟื้้นฟูกิจการ ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในบริการใหม่ ๆ กลายเป็นเรื่องยาก ทั้งไม่มีเงินทุนให้ยืม และยังต้องกันเงินทุนสำรองด้วย 

และสิ่งที่ประชาชนจะได้ จากการพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ นั่นคือ การที่ประชาชนจะได้รับสินค้าและบริการที่น่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะยิ่งเมื่อเป็นบริษัทเอกชน ยิ่งทำให้ต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่่น ๆ มากขึ้น ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการ ได้มีโอกาสในการเลือกใช้บริการที่หลากหลายยิ่งขึ้นอีกด้วย 

เชื่อว่าวันนี้ หลายท่านคงจะเข้าใจกันมากขึ้นแล้วว่า การจะตีความให้หน่วยงานต่าง ๆ เป็นรัฐวิสาหกิจได้นั้น มีวิธีการ มีข้อบังคับกำหนดไว้ และทำให้รูปแบบการบริหารงาน แตกต่างจากการเป็นเอกชนไปโดยสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน หลักจากนี้ เราต้องจับตาดูกันต่อนะครับว่า “กรุงไทย” จะมีการขยับต่อไปอย่างไร ในฐานะที่เป็น ธนาคารพาณิชย์ (ที่อดีต) เป็นรัฐวิสาหกิจ 


อ้างอิง
https://www.set.or.th/dat/mds_news/news/0150NWS061120202016070204T.pdf
https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/93244-ktb-krisdika-Law-state-enterprise-report.html
https://positioningmag.com/1304981
https://dictionary.orst.go.th/
http://www.bb.go.th/topic-detail.php?id=5649&mid=791&catID=0
http://www.sepo.go.th/tinymce/plugins/filemanager/thumbs//sepo230562.PDF
https://thaipublica.org/2020/05/thai-airways-22-05-2563/
https://www.prachachat.net/finance/news-468574
http://www.sepo.go.th/content/311
https://www.prachachat.net/finance/news-548636
https://cities.trueid.net/article/ผลกระทบการ-พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจของ-การบินไทย-trueidintrend_162292

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า