fbpx

เปิดคัมภีร์การค้าพันปี ‘Kongo Gumi’ ธุรกิจเก่าแก่ที่สุดของโลก

คองโก กุมิ (Kongo Gumi) เป็นธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ดำเนินกิจการธุรกิจก่อสร้างมายาวนานกว่า 1,400 ปี ส่งไม้ต่อกันในครอบครัวถึง 40 รุ่น ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 578 ที่ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะประสบกับภาวะหนี้สินในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990

จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากแต่มูลค่ากลับดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดจึงจบลงด้วยภาวะล้มละลาย แต่จะว่าจบลงซะทีเดียวก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากบริษัทก่อสร้างและวิศวกรรมโยธาเจ้ายักษ์ของญี่ปุ่น ‘Takamatsu Construction Group’ ได้เข้าซื้อกิจการต่อ

โดยผนวกรวมเข้ามาเป็นบริษัทภายในเครือและคงชื่อบริษัทเดิมไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการรักษาตำนานธุรกิจที่เก่าแก่สุดของโลกให้ดำรงอยู่สืบไป และยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้าง บำรุงรักษา และซ่อมแซมวัดในพุทธศาสนา โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากผู้ก่อตั้ง

ที่มาภาพ: wikimedia.org

ธุรกิจเบ่งบาน จากศาสนาเฟื่องฟู

ย้อนกลับไปเมื่อกว่าพันปีก่อน เจ้าชายโชโตกุ ไทชิ (Shotoku Taishi) ต้องการสร้างวัดทางพุทธศาสนาขึ้นมาเป็นแห่งแรก แต่ไม่มีช่างไม้ที่มีทักษะเพียงพอ เนื่องญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นยังไม่มีวัดพุทธเลยสักแห่ง  เจ้าชายโชโตกุจึงตัดสินใจจ้างชาย 3 คน ที่มีทักษะดังกล่าวจากอาณาจักรแพคเจ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้ ให้เข้ามาดำเนินการก่อสร้าง หนึ่งในนั้นคือ ชิเกะมิทสึ คองโก (Shigemitsu Kongo) จนกลายเป็นวัดชิเทนโนจิ วัดพุทธแห่งแรกของญี่ปุ่น 

ที่มาภาพ: worksthatwork.com

ประสบการณ์ตรงนี้เองที่ต่อมา ชิเกะมิทสึ ได้ใช้เป็นรากฐานของบริษัทก่อสร้างของตระกูลในปี ค.ศ.578 เพื่อสร้างวัดไปทั่วประเทศรองรับการขยายตัวของศาสนาพุทธที่แผ่ขยายไปทั่วญี่ปุ่น รวมไปถึงการสร้างปราสาทโอซาก้าในปี ค.ศ.1583 อีกทั้งการกลับมาบูรณะซ่อมแซมวัดชิเทนโนจิอยู่เรื่อย ๆ หลังจากวัดได้รับความเสียหายจากสงครามและภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ทำให้กิจการคองโก กุมิ มีรายได้เป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น โดยเฉพาะยุคการปกครองของโชกุนโทคุงาวะ (Tokugawa) ระหว่างปี ค.ศ.1603-1867 ซึ่งมีการสนับสนุนทางการเงินเป็นจำนวนมากให้กับวัดในพุทธศาสนา 

แต่กิจการก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากเมื่อต้องเผชิญกับยุคฟื้นฟูเมจิที่มีการกดขี่ศาสนาพุทธ อย่างเปิดเผยทั้งการทำลายวัดพุทธนับหมื่นแห่ง พระพุทธรูป เผาภาพแขวน และพระสูตร รวมทั้งการสึกพระภิกษุไปเป็นฆราวาส แต่ก็ยังรอดพ้นวิกฤตมาได้ อีกทั้งยังสามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี ค.ศ.1927 ด้วยพัฒนาบริษัทให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

ที่มาภาพ:  imgcp.aacdn.jp

คัมภีร์ธุรกิจฉบับ ‘คองโก กุมิ’

แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในโลก 6 แห่งและมีบริษัทประมาณ 20,000 แห่งที่มีอายุมากกว่า 100 ปี แต่บริษัทคองโก กุมิ นั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ภายใต้ฉากหลังธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องของการบริหารงานหลังบ้าน ประกอบกับตระกูล คองโก เองได้มีการจดบันทึกมาตลอดช่วงเวลาการดำเนินกิจการและเก็บรักษาเอกสารข้อเขียนเอาไว้เป็นอย่างดี โดย โยชิซาดะ คองโก (Yoshisada Kongo) ผู้นำบริษัทรุ่นที่ 32 ได้เขียนบันทึกองค์ความรู้ประจำตระกูลเกี่ยวกับการค้าขึ้นมา ซึ่งกลั่นมาจากมรดกความสำเร็จของคนในครอบครัวเพื่อเอาไว้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของคนรุ่นถัดไป 

โดยหนึ่งในข้อความที่บันทึกไว้ระบุว่า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องพื้นฐานอย่างการควบคุมคุณภาพและรักษาความพึงพอใจของลูกค้าแล้ว บริษัทยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กน้อยเช่น การแต่งกายที่เหมาะสม การรู้จักควบคุมปริมาณการดื่มให้พอประมาณ รวมไปถึงปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ

สำหรับการฝึกฝนช่างไม้ เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด โดยคนงานต้องผ่านการฝึกฝนงานช่างเป็นเวลา 10 ปี เพื่อเรียนรู้เทคนิคที่จะทำให้ออกมาสมบูรณ์แบบ และใช้เวลาอีก 10 ปีในการบ่มเพาะตัวเองเพื่อเป็นปรมาจารย์ อีกทั้งช่างไม้ต้องเรียนรู้เทคนิคงานช่างผ่านการอ่านตลอดจนศึกษาหลักคณิตศาสตร์ให้มีความช่ำชอง และอาจมีทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมที่แต่ละตำแหน่งต้องเรียนรู้ต่างกันออกไป 

การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ในบันทึกเน้นย้ำให้ ‘ฟังในสิ่งที่ลูกค้าพูด’ และ ‘ปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยความเคารพ’ นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวที่เป็นคติเตือนใจไว้อีกว่า ‘อย่าทำให้ผู้อื่นต้องอับอาย หรือ โอ้อวด’ ‘ให้บริการที่เชี่ยวชาญ เชื่อถือได้ และราคาเป็นธรรม’ สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในอดีตมาได้ 

อีกคุณลักษณะหนึ่งที่ไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ในบันทึกของโยชิซาดะ คองโก แต่เป็นสิ่งที่ทายาทรุ่นอื่น ๆ กล่าวอ้างอยู่บ่อยครั้งนั้นก็คือ การสร้างสมดุลระหว่างการยึดถือในประเพณีกับความยืดหยุ่นเพื่อให้บริษัทสอดคล้องไปกับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของธุรกิจคองโก กุมิ พบว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ตระกูลนี้ต้องฝ่าฝืนประเพณีเพื่อความอยู่รอดของบริษัท เช่นในยุคฟื้นฟูเมจิ รายได้จากการก่อสร้างและซ่อมแซมวัดลดลง บริษัทจึงหันมาทำธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยแทน

ที่มาภาพ: mag.lexus.co.uk

เปิดทางให้ ‘คนนอก’ และ ‘สตรี’ ขึ้นมากุมบังเหียน

ความยืดหยุ่นของคองโก กุมิ ยังครอบคลุมไปถึงประเพณีการส่งไม้ต่อกิจการให้กับทายาทรุ่นถัดไป โดยจะเลือกจากความสามารถและทักษะ รวมไปถึงสุขภาพเป็นหลัก ต่างจากธุรกิจในครอบครัวยุคสมัยนั้นที่มักจะเลือกผู้สืบทอดกิจการจากผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น ซึ่งครั้งหนึ่งเองบริษัทยังเคยให้เขย เป็นผู้รับช่วงต่อกิจการ ซึ่งไม่ได้มีสายเลือดโดยตรงจากต้นตระกูล อย่างไรก็ตามบุตรเขยคนดังกล่าวต้องเปลี่ยนนามสกุลมาใช้เป็นชื่อเดียวกับตระกูลนี้ อีกกรณีที่เกิดขึ้นคือ ในช่วงที่ประเทศประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุคโชวะ ฮารุอิชิ คองโก (Haruichi Kongo)ผู้นำธุรกิจคนที่ 37 ของตระกูลได้ปลิดชีพตัวเอง เนื่องจากเครียดที่ไม่สามารถประคองธุรกิจในห้วงเวลาดังกล่าวได้ ในเมื่อไม่มีผู้ชายที่เหมาะสมจะขึ้นมากุมบังเหียนธุรกิจของตระกูล โยชิเอะ คองโก (Yoshie Kongo) ภรรยาม่ายของเขาจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้ามาบริหารธุรกิจของตระกูลในตำแหน่งสูงสุด 

โยชิเอะ ไม่เพียงแต่ท้าทายประเพณีการขึ้นมาเป็นผู้นำของคองโก กุมิเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตของบริษัท ด้วยการหันมารับผลิตโลงศพไม้ขาย อีกทั้งยังปฏิรูปโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ด้วยการแยกตำแหน่งผู้บริหารออกจากตำแหน่งช่างไม้ สิ่งนี้เองที่ทำให้บริษัทปรับตัวเข้ากับยุคหลังอุตสาหกรรมได้สำเร็จ 

Kongo Gumi ในวันที่ถูกควบรวมกิจการ

คงไม่เกิดจริงหากจะกล่าวว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป แม้ในกรณีของบริษัท คองโก กุมิ จะไม่ได้ดับไปเสียทีเดีย เพราะยังดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทแม่ที่เข้าซื้อกิจการ ซึ่งนำมาสู่การปรับโครงสร้างองค์กรอีกครั้ง การก่อสร้างหันมาผสมผสานด้วยการใช้ไม้แบบดั้งเดิม ไม้แปรรูป เข้ากับคอนกรีต อีกทั้งยังเป็นบริษัทแรกที่นำซอฟต์แวร์ CAD มาใช้ในการออกแบบวัด

อย่างไรก็ดีบริษัท Takamatsu Construction Group ก็ไม่ได้พยายามที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของช่างฝีมือที่เป็นมรดกตกทอดมาจากต้นตระกูลคองโก และยังรักษาจิตวิญญาณของบริษัทให้ดำรงอยู่ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานประมาณ 110 คน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 80 คนเมื่อถูกซื้อกิจการ 

หนึ่งในนี้เป็นสมาชิกของตระกูลคองโก ซึ่งเป็นบุตรีของผู้นำคนสุดท้ายของบริษัทคองโก กุมิก่อนที่ธุรกิจจะล้มละลาย เธอดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ถือเป็นทายาทคนที่ 41 ของตระกูลคองโก สำหรับคนอื่น ๆ ในตระกูลแม้จะไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจนี้อีกต่อไป แต่คนกลุ่มนี้ยังคงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของธุรกิจคองโก กุมิ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 1,400 ปี และในวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน ช่างไม้คองโก กุมิ กว่าร้อยคนและพนักงานคนอื่น ๆ ยังคงรวมตัวกันสวดมนต์รำลึกถึงเจ้าชายโชโตกุ เพื่อขอบคุณที่ทำให้ธุรกิจของตระกูลเริ่มต้นขึ้นมา

ที่มาภาพ:  imgcp.aacdn.jp

อ้างอิง : worksthatwork / nikkei / wikipedia / blockdit / longtunman

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า