fbpx

“จอย-เจนจิรา ศรีสอาด” นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย ที่มีความสุขกับงานในทุกวัน

ไม่ว่าจะทำอาชีพไหนเราต่างก็อยากมีความสุขในงานของตัวเองทั้งนั้น เพราะความสุขในงานจะทำให้เรารู้สึกได้ว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงผลักดันให้เราอยากทำงานนี้ไปเรื่อย ๆ ในทุกวัน  และพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่แหละคือ “งานที่ใช่”

The Modernist พูดคุยกับ “จอย – เจนจิรา ศรีสอาด” ที่หลายคนรู้จักเธอในนาม “เงือกจอย” นักว่ายน้ำทีมชาติไทยมากความสามารถ โดยเธอได้ก้าวเข้าสู่อาชีพนักกีฬาว่ายน้ำตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น และล่าสุดเธอเป็นเจ้าของเหรียญทองแข่งขันว่ายน้ำซีเกมส์ 2023 ที่ผ่านมา

หากนับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็เกือบ 20 ปี แล้ว ที่เจนจิราได้ทำงานในแวดวงกีฬาว่ายน้ำ ชีวิตเงือกสาวผ่านมาทั้งเรื่องราวที่ดีและร้าย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น คืออะไรที่ทำให้เธอยังคงแหวกว่ายอยู่ในอาชีพนี้ และมีกำลังใจในการเป็นนักว่ายน้ำในทุก ๆ วัน

จากกีฬาที่ชอบสู่อาชีพที่ใช่

เจนจิราหยิบเรื่องวัยเยาว์มาเล่าให้เราฟังว่า พ่อของเธอเป็นคนที่ชอบดูกีฬามาก และการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยก็เป็นความใฝ่ฝันที่พ่ออยากให้เธอเป็น ในวันนั้นเองเธอก็ยังไม่รู้ว่านักกีฬาทีมชาติไทยคืออะไร แต่ว่าพ่อก็ได้ส่งไปเรียนว่ายน้ำจนเธอได้ไปลงแข่งว่ายน้ำแล้วมีชื่อติดเยาวชนทีมชาติ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้ทำอาชีพนี้เต็มตัว

“พอเราไปแข่งแล้วติดเยาวชนทีมชาติเราถึงรู้สึกได้ว่า อ๋อ สิ่งนี้คือความฝันของพ่อกับแม่เรา มันเลยกลายเป็นความสุขของเราด้วยว่า เราได้ทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ”

“การว่ายน้ำมันอาจจะเป็นกีฬาแต่ถ้าเราทำทุกวันจนมันเป็นอาชีพ มันก็เหมือนงาน เราต้องมุ่งมั่น ลงแรง ลงกำลังกับมัน ซึ่งถ้าเทียบกับการทำงานออฟฟิศ จอยคิดว่าลักษณะงานมันต่างกันตรงที่นักกีฬามันมีความยืดหยุ่นกว่าในเรื่องของเวลา ว่ายน้ำจอยซ้อมไม่เกิน 3 ชั่วโมง ออกกำลังกายก่อนลงน้ำ 1 ชั่วโมง ว่ายน้ำอีก 2 ชั่วโมง คือเราเน้นคุณภาพ ไม่ได้เอาปริมาณ”

หากมองลึกลงไปในอาชีพนักกีฬาว่ายน้ำ เรามักจะเข้าใจกันว่าเป็นอาชีพที่ต้องแข่งขันกับตัวเองค่อนข้างสูง เราจึงได้ถามเจนจิราว่าโดยปกติแล้วการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเขาทำงานกันอย่างไร

เจนจิราตอบว่า แม้ว่านักกีฬาว่ายน้ำจะเป็นอาชีพที่เหมือนทำงานคนเดียว แต่ในความจริงอาชีพนี้ก็ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนในทีมและโค้ชด้วย ซึ่งเธอมองว่า การซ้อมคนเดียวอาจทำให้ไม่พัฒนาตัวเองได้ดีเท่ากับมีเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยผลักดันกันไปข้างหน้า

“ทุกคนบอกว่าเวลาอยู่บนแท่นทุกคนคือศัตรู แต่พอว่ายน้ำเสร็จทุกคนก็จะเป็นเพื่อน ซึ่งเวลาเราซ้อมด้วยกัน เราพยายามที่จะผลักดันคู่ซ้อมของเราไปในขีดความสามารถที่เขาควรจะเป็นได้ เราไปด้วยกันเป็นทีม จอยคิดว่าการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนร่วมทีมของนักกีฬาว่ายน้ำ คือการที่คนใดคนหนึ่งรู้สึกว่า อุ๊ย เหนื่อยจังเลย เพื่อนร่วมทีมก็ต้องมาให้กำลังใจว่าสู้นะ เราต้องผ่าน เราต้องซ้อมเซตนี้ไปให้ได้ด้วยกัน แล้วก็สำเร็จในการฝึกซ้อมใน session นั้น”

“ทุกเรื่องในชีวิตเหมือนโค้ชเป็นเพื่อนคนหนึ่ง เพราะว่าเรามีปัญหาอะไร หรือว่าเราคิดว่าเรามีเป้าหมายอะไร แล้วเราก็มาคุยกับโค้ชว่า เป้าหมายเราเป็นอย่างนี้นะ แล้วโค้ชมองว่ามันสามารถเป็นไปได้ไหม แล้วถ้าสมมติสามารถเป็นไปได้ด้วยกันได้ เราก็เหมือนเราเป็นทีมเดียวกัน แล้วก็พยายามพัฒนากันขึ้นไปค่ะ”

“จอยโชคดีที่โค้ชปัจจุบันก็เคยเป็นนักว่ายน้ำ แล้วก็ยังเป็นเจ้าของสถิติอยู่ แล้วเขาเคยเป็นนักว่ายน้ำมาก่อน เขาก็เลยจะรู้ว่านักกีฬามีความต้องการอะไร หรือว่าเขาจะมองนักกีฬาออกว่า คนนี้หน้าไม่ไหวเลย เขาก็จะบอกว่า โอเค ก็ไม่ต้องซ้อมหนักขนาดนั้น”

“จอยคิดว่าโค้ชจะเป็นคนที่เขาฟังนักกีฬาด้วย แต่ว่าถ้ามันจะมีโค้ชที่ไม่ได้สนใจว่า อ้าว คุณเป็นอย่างนี้เหรอ ก็เท่ากับคุณ ก็ต้องว่ายต่อไปเรื่อย ๆ แบบว่ายจนกว่าร่างกายจะกลับมาฟิต สำหรับจอยคือไม่ได้ ซึ่งเราต้องหาโค้ชที่ถูกจริตเราด้วย มันไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาเป็นโค้ชเรา”

นอกจากนั้น เจนจิราเล่าว่า เธอมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปแข่งที่ต่างประเทศ เพราะทำให้เธอรู้สึกเหมือนได้ไปเที่ยวในเวลาเดียวกัน รวมถึงการได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายจากเพื่อนใหม่ในอีกหลายประเทศที่แข่งด้วยกัน

ความท้าทายที่ต้องผ่านไปให้

“กีฬาว่ายน้ำมันเป็นกีฬาสถิติค่ะ คือเราต้องแข่งกับตัวเอง ซึ่งการแข่งกับตัวเองบางทีมันก็เลยจะกดดัน แต่เราพยายามที่จะไม่มองว่า เราอยากไปให้ถึงจุดหมายไหน แต่เราต้องมองว่าทำยังไงถึงจะไปให้ถึงจุดหมายมากกว่า แล้วเราจะรู้ว่าเราต้องพัฒนาตัวเองยังไง”

จากการที่ต้องแข่งกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าของการอาชีพนักกีฬาว่ายน้ำ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่กดดันตัวเองอยู่ไม่น้อย เจนจิราเล่าถึงวิธีการรับมือกับความกดดันว่า เธอเองไม่สามารถผ่านไปได้เพียงลำพัง จึงต้องมีการพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อหาทางออกในยามที่สภาวะจิตใจอ่อนแอ

“ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจของเรา เราคิดว่าคุยกับนักจิตวิทยาหรือโค้ชดีกว่า เพราะเขาไม่ได้มองตรงจุดที่เราอยู่ แต่เขามองรอบ ๆ แล้วเขาจะมีวิธีช่วยให้เราคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน และให้คำแนะนำได้ดีกว่า”

เราถามต่อว่า แล้วเคยมีช่วงที่รู้สึกหมดไฟหรือล้มเหลวกับอาชีพนี้บ้างไหม? 

“จอยไม่รู้สึกแบบนั้น เพราะมันคือหน้าที่ที่เราต้องทำ จะมีแค่วันที่เราไม่สบายแล้วเรารู้สึกไม่อยากตื่นไปซ้อม นอกนั้นเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ มันเหมือนกับว่าถ้าวันไหนจอยไม่ออกกำลังกายแล้วเราจะรู้สึกผิด”

“แต่พอเราทำอาชีพนี้มานาน เหมือนบางทีเราก็จะมีหลุดโฟกัสไปบ้างว่าสิ่งที่เราอยากทำสำเร็จนั้นคืออะไร แล้วพอไม่มีแข่งหลาย ๆ เดือน เราก็รู้สึกว่าไม่รู้จะซ้อมไปทำไม บางทีก็รู้สึกว่าเหนื่อยจัง แต่ถ้าจอยรู้สึกแบบนั้น จอยก็จะออกไปหาอะไรทำ อาจจะขอหยุดสัก 3 วัน แล้วออกไปหาอะไรใหม่ ๆ ไปเจอคน ไปลองเที่ยวกับเพื่อน แล้วก็ใช้เวลาคิดกับตัวเองย้อนกลับมาว่า ถ้าสมมติเราจะกลับมา เราต้องรู้ว่าเป้าหมายเราคืออะไร”

ขึ้นชื่อว่าเป็นนักกีฬาก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันนับครั้งไม่ถ้วน ทว่าการแข่งขันที่เจนจิราต้องเอาชนะไม่ได้อยู่แค่ในสระเท่านั้น เพราะนอกสระก็มีการแข่งขันเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะด้วยระบบเส้นสายในแวดวงนี้หรือแม้แต่คำดูถูกจากผู้คนที่เจนจิราต้องข้ามมันไปให้ได้

“ช่วง ม.ปลาย เพื่อนรุ่นเดียวกันติดทีมชาติไปหมด แล้วเหลือเราคนเดียว เราเครียดแล้วกินเยอะมาก แล้วพอน้ำหนักขึ้นว่ายน้ำไปก็ไม่ได้เหรียญ จนมีคนมาพูดกับเราว่า ลูกฉันติดทีมชาติก่อนเธอแน่นอน ซึ่งคำดูถูกนั้นมันทำให้เราฮึดสู้ต่อ”

“แล้วตอนที่จอยยังไม่เก่งจอยต้องฟันฝ่ามาก ๆ จอยเคยไม่ถูกเลือกเพราะว่าไม่ได้เป็นนัมเบอร์วัน แต่ว่าเป็นคนที่สองที่ว่ายได้หลายท่าเขาก็ไม่เอา มันทำให้เรารู้สึกว่าการที่ฉันจะได้คัดเลือกคือเราต้องเป็นมือหนึ่งให้ได้ เราเลยพยายามที่จะทำยังไงก็ได้ให้เป็นที่หนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญของการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ คือการเอาชนะคู่แข่งทั้งหมดที่ยืนอยู่บนแท่นให้ได้ เราจึงถามเจนจิราว่ารู้สึกอย่างไรบ้างในช่วงเวลาก่อนที่จะกระโดดลงน้ำ

“ถ้าจอยขึ้นไปบนแท่นสิ่งที่จอยคิดคือ จอยทำได้ จอยทำได้ แล้วจอยก็ต้องทำให้ได้ แค่นี้เลย เราต้องเชื่อว่าเราทำได้ เพราะไม่ว่าจะกดดันหรือไม่กดดัน เราก็ต้องว่ายให้ไปถึงขอบสระอีกฝั่งให้ได้”

นักกีฬาว่ายน้ำมันแข่งกับสถิติตัวเองก็จริง แต่ว่ามันไม่ใช่ว่าเราชนะตัวเองแล้วเราจะได้เหรียญ เพราะว่าเราจะต้องเจอคู่แข่งที่เขาก็ทำได้ดีเหมือนกัน แล้วเขาสามารถเอาชนะเราได้” 

“ถ้าเราแพ้เราก็ต้องกลับมาทบทวนว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองจุดไหนได้บ้าง มันก็อาจเป็นข้อเปรียบเทียบว่า เราอาจจะไม่เก่งเท่าเขา แต่อย่างน้อยเราได้พยายามทำออกมาให้ดีที่สุด มันอาจจะมีผิดหวังบ้างที่เราไม่ได้ชนะเลิศหรือว่าไม่ได้เหรียญ แต่ว่าถ้าเราทำดีของเราแล้วจอยคิดว่าอันนั้นก็คือเป็นที่น่าพอใจแล้วค่ะ”

เป้าหมายต่อไปในอาชีพนี้

“จริง ๆ ตอนนี้เป้าหมายเราทำสำเร็จเกือบหมดแล้วค่ะ ตอนแรกที่เราเข้ามาเป็นนักกีฬา เป้าหมายแรกคืออยากไปโอลิมปิก แล้วเราก็ทำตามเป้าหมายนั้นสำเร็จไปแล้วเมื่อปี 2021 ได้ไปแข่งโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ตอนนี้เหลือแค่อย่างเดียวก็คือเข้ารอบรองชนะเลิศชิงแชมป์โลกสระสั้นค่ะ”

“หลังจากที่เราทำเป้าหมายที่คิดไว้สำเร็จหมดแล้ว ถ้าเรายังพัฒนาไปได้ต่อก็ยังอยากทำอาชีพนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าวันหนึ่งอยากจะเปลี่ยนเส้นทางก็อาจจะผันตัวเป็นครูสอนว่ายน้ำหรือเป็นครูสอนพิลาทิสเพราะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เราชอบ”

“แต่จริง ๆ แค่คิดว่าต่อให้เราจะมีเป้าหมายหรือไม่มีเป้าหมาย แค่เรามีความสุขในทุก ๆ วันมันก็มีค่ามากพอแล้ว เราไม่จำเป็นต้องตั้งความคาดหวังเอาไว้สูง แค่เรารู้สึกว่าเราแฮปปี้กับทุกวันที่เดินผ่านไป จอยคิดว่าก็โอเคมาก ๆ แล้วค่ะ”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า