fbpx

จตุพร พรหมพันธุ์: 29 ปี กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบนท้องถนน

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 นักศึกษาหนุ่มจากแดนใต้คนหนึ่ง ร่วมเดินรณรงค์พร้อมกับเพื่อนร่วมสถาบันและขึ้นปราศรัยระหว่างการชุมนุมประท้วงท่ามกลางประชาชนนับพันคนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  การชุมนุมที่จัดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังเหตุการณ์ที่ทหารสังหารหมู่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินในช่วงค่ำของวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 

29 ปี นับจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” แม้พลังของประชาชนในวันนั้นจะสามารถโค่นล้มเผด็จการทหารได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าหนทางที่จะก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยและเสรีภาพ ยังคงไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคาดหวัง โดยเฉพาะภายหลังวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ ที่นำมาสู่รัฐประหารถึง 2 ครั้ง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ประกอบกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของชนชั้นนำ ได้จุดชนวนไปสู่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนอีกครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา

29 ปี บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบนท้องถนน จากนักศึกษารัฐศาสตร์ รามคำแหง ได้ก้าวสู่หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ยังคงเคลื่อนไหวบนเส้นทางสายประชาธิปไตยเกือบ 3 ทศวรรษ วันนี้ ( 5 ตุลาคม ) ถือเป็นวันครบรอบวันเกิดอายุ 56 ปีของคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ และหนึ่งในแกนนำกลุ่มไทยไม่ทน ศิษย์เก่ารามคำแหงผู้เดินลงถนนสายการเมืองอย่างเต็มตัว

ที่มา Thairath Online

จตุพร พรหมพันธุ์ ผู้มีชื่อเล่นว่า “ตู่” เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ก่อนจะย้ายเข้ามาเรียนในโรงเรียนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับพรรคสัจธรรม (พรรคการเมืองในมหาวิทยาลัย) ซึ่งประจวบกับที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง “พฤษภาทมิฬ” พอดี เขากลายเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาในการเคลื่อนไหวขับไล่เผด็จการในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนที่ต่อมาจะแยกออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในนาม “พรรคศรัทธาธรรม” นอกจากนี้แล้ว เขายังได้เดินทางไปทำงานเป็นครูอาสาบนดอยที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

รูป 2.jpg

ที่มา Facebook : Jatuporn Prompan – จตุพร พรหมพันธุ์

ภายหลังเหตุการณ์ จตุพรก็ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังธรรม ในสมัยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นหัวหน้าพรรค ก่อนที่จะย้ายออกมาเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540  รัฐธรรมนูญที่ถือได้ว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และเป็นผลผลิตจากการปฏิรูปการเมืองหลังพฤษภา’35 โดยตลอดระยะเวลาที่ทำงานร่วมกับพรรค จตุพรได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยมาจนถึงยุคพรรคเพื่อไทย

ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จตุพร พรหมพันธุ์ ก็เข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำในการจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาต่อต้านคณะรัฐประหาร และผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการยึดอำนาจครั้งนั้น ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “กลุ่มคนเสื้อแดง” และถือเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

ตลอดระยะเวลา 10 ปี จตุพร เผชิญกับมรสุมทางการเมืองมาโดยตลอด เช่นเดียวกับแกนนำและเพื่อนร่วมอุดมการณ์จำนวนมาก เขาถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำหลายครั้งจากข้อหาและคดีความทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” เมื่อทหารกระทำการสังหารหมู่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม พ.ศ. 2553 รวมทั้งหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยหลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2561 จตุพรได้ร่วมทำงานให้กับพรรคเพื่อชาติ ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 รวมทั้งออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบ้างในบางครั้ง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 

รูป 3.jpg

ที่มา Thairath Online

จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ระหว่างการชุมนุมเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นักศึกษา จตุพร ก็ได้เข้าร่วมจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ขึ้น ในนาม “กลุ่มสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย” ร่วมกับอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 โดยมีเป้าหมายในการชุมนุมคือการขับไล่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีฟ้องหมิ่นประมาท 

รูป 4.jpg

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์

เป็นระยะเวลากว่า 29 ปีบนเส้นทางการเมือง สำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญที่มีอายุครบ 56 ปีในวันนี้ อดีต “ตู่ ศรัทธาธรรม” อันเป็นฉายาที่เพื่อนร่วมสถาบันเรียกเมื่อครั้งยังอยู่ในรั้วรามคำแหง สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงและกาลเวลา ได้เปลี่ยนบทบาทเขาจากแกนนำนักศึกษา สู่ครูอาสาบนดอย รองโฆษกพรรค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านมาจนถึงวันนี้ บทบาทแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขายังคงเหมือนเดิม แม้วันนี้จะสูญเสียอิสรภาพอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องทั้งจากคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่ต้องการให้วิกฤตทางการเมืองดังกล่าว จบลงที่รุ่นเรา และให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประชาชน

อ้างอิง

https://waymagazine.org/thailand-black-may-1992-who-was-there/
https://thaipublica.org/2021/04/jatuporn-prompan-6-04-2564/
https://www.thairath.co.th/scoop/1011122
https://www.thairath.co.th/news/crime/2135827
https://www.prachachat.net/politics/news-724791
https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/people/news_6550642

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า