fbpx

ญี่ปุ่นในปี 2070 อาจสูญเสียประชากร 37 ล้านคน หากอัตราการเกิดยังไม่กระเตื้อง สวนทางตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รัฐบาลญี่ปุ่นเผยสถานการณ์น่าเป็นห่วงต่อจำนวนประชากรในประเทศอีกครั้ง ถึงแม้รัฐบาลจะยังคงผลักดันมาตรการส่งเสริมการมีบุตรมากแค่ไหน ประชากรญี่ปุ่นก็ยังคงลดลงต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว

มีรายงานฉบับหนึ่งคาดการณ์ว่าภายในปี 2070 ญี่ปุ่นจะสูญเสียประชากรรวมกว่า 37 ล้านคน หรือลดลงจนเหลือเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แม้จะมีปัจจัยอื่นอย่างผู้อพยพต่างถิ่นที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ตัวเลขนี้จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขึ้นชื่อว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 

ขณะที่จำนวนประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจเพิ่มมากที่สุดในช่วงปี 2070 รวมแล้วกว่า 9.4 พันล้านคน แต่ตัวเลขประชากรญี่ปุ่นกลับสวนทางกับภาพรวมระดับโลก 

แนวคิดในรายงานดังกล่าวอ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ที่ระบุว่าขณะนี้ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 124 ล้านคน แต่ตัวเลขนี้จะลดลง 30% กลายเป็น 87 ล้านคนภายในระยะเวลาไม่ถึงปี เพราะได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่องมา 7 ปี ขณะที่ตัวเลขผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 65 ปี ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 40% ของจำนวนประชากรญี่ปุ่น ช่องว่างดังกล่าวจะทำให้ภายในปี 2070 จำนวนเด็กเหลือต่ำกว่า 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 

ทางด้าน คาวาอิ มาซาชิ (Kawai Masashi) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านประชากรของญี่ปุ่น เคยตั้งสมมติฐานว่า หากญี่ปุ่นยังไม่สามารถทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้ ในปี 2042 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงที่สุด จากนั้นภายในปี 2065 ประชากรจะลดลงเหลือ 88 ล้านคน และลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2115 ญี่ปุ่นจะมีประชากรเหลือเพียง 50 ล้านคนเท่านั้น

ปัญหาเรื่องการเกิดที่ไม่เพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขผู้สูงอายุยังคงพุ่งสูง ยังถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่สามารถหาทางแก้ไขได้ครอบคลุม แม้จะมีการออกนโยบายส่งเสริมการมีบุตร เพิ่มเงินช่วยเหลือครอบครัวที่มีบุตร รวมถึงให้บริการดูแลเด็กเล็ก ฯลฯ ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางลบหลายด้าน ซึ่งความยากลำบากของญี่ปุ่นหลังจากนี้ ดูจะมีหลายเรื่องที่ต้องเป็นห่วง ได้แก่

1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 

ปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆ หากอัตราการเกิดน้อยลงคือเรื่องแรงงาน ตลาดแรงงานญี่ปุ่นจะไม่มีตัวเลือกมากนัก และจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง

ค่านิยมปัจจุบันที่คนวัยทำงานมองว่าดี กำลังสะท้อนให้เห็นว่าสังคมญี่ปุ่นอาจมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ค่าครองชีพ ราคาที่อยู่อาศัยที่แพงจนคนวัยทำงานจำนวนมากไม่สามารถซื้อได้ บ้านหรือคอนโดมิเนียมในเมืองที่ปล่อยเช่าก็มีราคาสูงไป 

ประกอบกับความคิดของคนวัยหนุ่มสาวบางส่วนที่มองว่าพวกเขาแบกรับเรื่องค่าใช้จ่ายมากเกินไป ซึ่งการแบกนี้ไม่ใช่แค่การดูแลครอบครัว ส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ แต่ยังรวมถึงภาษีที่พวกเขาเสียให้กับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็จะทำเงินนั้นไปดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศอีกที 

คนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยมองว่าสังคมสูงอายุสร้างภาระหลายทาง จนทำให้ค่านิยมไม่มีลูกเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น บางครอบครัวที่ยังคงอยากมีลูกก็มักจะมีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถประคองค่าใช้จ่ายต่อไปได้ รวมถึงความคิดที่ว่าไม่อยากให้ลูกต้องเกิดมาเผชิญชีวิตแบบที่ตัวเองกำลังพบเจออยู่ 

เมื่อผู้คนไม่อยากมีลูก การเกิดลดลง ผู้สูงอายุไม่ตอบโจทย์เรื่องแรงงาน ญี่ปุ่นในอนาคตจะขาดแคลนแรงงานฝีมือ ประสบปัญหาทั้งด้านการผลิต การขาย การบริหาร และปัญหาเรื่องสวัสดิการรัฐ ซึ่งคนอยู่ในระบบแรงงานอยู่แล้วอาจต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก 

อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดจากการระบาดของโควิด-19 คือปัญหาด้านสาธารณสุข และถ้าหากมีแรงงานน้อย มีผู้สูงอายุเยอะ ระบบบริการทางการแพทย์จะประสบปัญหาอีกครั้งอย่างแน่นอน

2. ญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ 

ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 1970 ก่อนจะเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 1994 และมุ่งหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) เมื่อปี 2007

ย้อนกลับไปยังปี 2022 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เผยตัวเลขกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากถึง 90,526 คน สูงกว่าปี 2021 ราว 4,016 คน โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 52 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีผู้สูงอายุซึ่งอายุเกิน 100 ปี มากกว่า 9 หมื่นคน

หลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นหลายชุดพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว เห็นได้จากการผลักดันร่างกฎหมายให้เอกชนขยายระยะเวลาทำงานหรือระยะเวลาเกษียณอายุลูกจ้าง จาก 65 ปี เป็น 70 ปี เพื่อให้มีคนทำงานสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคม รวมถึงเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนจ้างลูกจ้างเกษียณอายุ ในรูปแบบพนักงานไม่ประจำ ฟรีแลนซ์ หรือลูกจ้างประเภทงานการกุศล

แต่การแก้ปัญหานี้ใช้ได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เหมือนเป็นแค่การยื้อเวลาและไม่สามารถแก้ปัญหาแบบระยะยาวได้ จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาพูดถึงตัวเลขประชากรอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะตัวเลขเด็กเกิดใหม่ที่ไม่กระเตื้อง สวนทางกับตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี 

3. สถานศึกษาต้องปิดตัวเพราะมีนักเรียนไม่มากพอ

วันที่ 8 พฤษภาคม 2023 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จำนวนเด็กที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี ทั้งเด็กญี่ปุ่นและเด็กต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น มีจำนวนรวมกันแค่ 14.35 ล้านคน หากเทียบกับปีก่อน ตัวเลขนี้ลดลงจากเดิมราว 3 แสนคน

กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เมื่อจำนวนคู่สามีภรรยามีลูกน้อยลง โรงเรียนหลายแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทจะประสบปัญหาเรื่องการลงทะเบียนเรียน เนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งมีนักเรียนน้อยเกินไป จนส่งผลให้สถานศึกษาหลายแห่งต้องถูกสั่งปิด ถูกควบรวมกับสถานศึกษาในละแวกใกล้เคียง และทำให้เด็กบางส่วนต้องเดินทางไกลขึ้นเพราะถูกบังคับให้ย้ายเขตการศึกษา 

4. ปัญหาที่อยู่อาศัยและจำนวนบ้านร้างเพิ่มขึ้น

ปัญหาเรื่องภาษีบ้านก็ถูกโยงกับจำนวนประชากรเช่นกัน เมื่อที่ดินจำนวนมากถูกสร้างเป็นบ้านแต่ตอนนี้ไม่มีคนอยู่ เพราะเจ้าของบ้านจำนวนมากไม่มีทายาทและเสียชีวิตไป รวมถึงเรื่องของภาษีที่อยู่อาศัยที่ราคาถูก ทำให้บางบ้านที่มีทายาทแต่ไม่มีคนอยู่ เลือกปล่อยบ้านทิ้งไว้เปล่าๆ จนญี่ปุ่นมีบ้านร้างกลางเมืองจำนวนมาก ทั้งในเมืองใหญ่ ชานเมือง และชนบท 

ด้วยค่าครองชีพที่สูง ราคาที่พักอาศัยย่านกลางเมืองที่ปล่อยเช่าก็มีราคาแพงเกินกว่าคนวัยทำงานจำนวนมากจะเอื้อมถึง ประกอบกับในเมืองยังคงมีบ้านร้างจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่ขาย ไม่ให้เช่า ทำให้นักศึกษาจบใหม่ เฟิร์สจ๊อบเบอร์ และมนุษย์เงินเดือนช่วงอายุระหว่าง 20-35 ปี ต้องไปอาศัยอยู่ชานเมืองแล้วนั่งรถไฟเข้าเมืองแทน ขณะที่พื้นที่ในเมืองบางย่านไม่มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ มีแต่บ้านเปล่าๆ จนทำให้รัฐบาลมองเห็นปัญหาว่าบ้านร้างเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย

หากจำนวนประชากรลดลง มีการคาดการณ์ว่าบ้านร้างเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ส่งผลให้รัฐบาลหันมาตรวจสอบที่พักอาศัยมากขึ้น มีการขอเวนคืนพื้นที่รกร้าง บ้านที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย และออกเงินอุดหนุนบ้านเปล่าเหล่านี้เพื่อดึงดูดผู้อยู่อาศัยหน้าใหม่ กระตุ้นให้เศรษฐกิจในเมืองฟื้นตัวจากเดิม 

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านประชากรของญี่ปุ่น เคยตั้งสมมติฐานว่า หากญี่ปุ่นยังไม่สามารถทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้ ภายในปี 2023 บ้านตามชนบทกว่า 1 ใน 3 จะกลายเป็นบ้านร้าง

ปัญหาทั้งหมดนี้ดูจะทำให้การที่คนยุคนี้ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นหลัง ทั้งชีวิตที่ดีขึ้น การพัฒนาโครงสร้างทางสังคม และการให้คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนประเทศ ดูจะเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะจำนวนคนรุ่นใหม่ที่ว่าอาจมีไม่มากพอให้ผลักดันสิ่งต่างๆ ที่เอ่ยถึงเลย 

ที่มา : vice / japantimes 1 2 / bloomberg

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า