fbpx

ปรากฏการณ์ #ธุรกิจสว แบนธุรกิจเท่ากับล่าแม่มดจริงหรือ?

ในช่วงที่การเมืองกำลังขยับไปข้างหน้า ยามเย็นของวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภาได้สิ้นสุดลง พร้อมกับผลคะแนนเสียงของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลที่มาจากคะเเนนเสียงของประชาชน 14 ล้านเสียง ไม่ถึง 376 เสียง ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 

ณ โมงยามของการเมืองกำลังคุกรุ่น สายตาของประชาชนได้หันมาจับจ้องเหล่าสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ยอมรับฉันทามติของประชาชน จนเกิดแฮชแท็ก #ธุรกิจสว ผุดขึ้นมาบนโลก Twitter เพื่อชี้เป้าแบนธุรกิจ สว. บางเสียงในโลกออนไลน์บอกว่า 

“ในเมื่อ สว. กินเงินเดือนภาษีประชาชน แล้วนำรายได้ของตนที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ไปต่อขยายสร้างธุรกิจ ล้วนแล้วมาจากเม็ดเงินของประชาชนทั้งสิ้น แต่กลับไม่เคารพฉันทามติของประชาชน ดังนั้นจึงไม่ควรสนับสนุนธุรกิจของ สว.”

นอกจากนี้ฝั่งธุรกิจของประชาชนยังมีการประกาศกร้าวในโลกออนไลน์ว่า 

“ทางร้านไม่อนุญาตให้ สว. หรือ กกต. เข้ามาใช้บริการที่ร้าน”

“ร้านนี้ไม่ต้อนรับ สว. กกต.”

ปรากฏการณ์ดังกล่าว กลายเป็นปรากฏการณ์แบนชั่วข้ามคืน แต่บางฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่าการกระทำเช่นนี้ในโลกโซเชียลเข้าข่ายการล่าแม่มดหรือไม่ บางฝ่ายบอกว่านี้คือการบอยคอตทางธุรกิจด้วยการลงโทษทางสังคม เราจึงต้องกลับมาทบทวนนิยามของทั้ง 2 คำ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ ที่ปัจจุบันไม่สามารถแยกออกจากการเคลื่อนไหวทางสังคมได้อีกต่อไป

ล่าแม่มด ศาลเตี้ยในสังคม

การล่าแม่มด หรือ Witch Hunting เป็นประวัติศาสตร์เลือดที่สืบย้อนไปไกลถึงยุคกลางในแถบทวีปยุโรป เมื่อมีบุคคลใดเกิดมีความคิดหรือการกระทำที่แหวกขนบ หรือจู่ ๆ เกิดสถานการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ คนผู้นั้นก็จะถูกแปะป้ายว่าเป็นแม่มด และถูกคนในสังคมออกล่า เพื่อกำจัดให้หมดไป ด้วยการเผาทั้งเป็น  

จนกระทั่งในศตวรรษที่ 21 การล่าแม่มด ถูกนำมาใช้เป็นคำเปรียบเปรยถึงการใช้ศาลเตี้ย ไม่ว่าจะเป็นบนโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ ออกล่าบุคคลที่มีความคิดหรือการกระทำที่ผิดแผกไปจากค่านิยมทางสังคม บางครั้งเกิดขึ้นกับคนที่มีชุดความคิดที่มาก่อนกาล จนผู้คนที่ยังศรัทธาในค่านิยมรูปแบบเดิมเกิดความรู้สึกสั่นคลอน จึงนำไปสู่การออกล่า ขุดคุ้ยเรื่องราวส่วนตัว มุ่งร้าย ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จนลามไปถึงการใช้ความรุนแรง กล่าวคือละเมิดข้อกฎหมายในนามของความถูกต้องซะเอง และเกือบจะทุกครั้ง การล่าแม่มดคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

Social Sanction ในภาคธุรกิจ

Institute for Social Capital ระบุถึง การลงโทษทางสังคม หรือ Social Sanction เอาไว้ว่าเป็นหนึ่งในกลไกของสังคม ที่ผู้คนแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระทำของคนใดคนหนึ่ง หรือในระดับกลุ่มบุคคล ด้วยการลงโทษผ่านการปฏิเสธ การสร้างความขบขัน การแสดงออกอย่างชัดเจนพร้อมเพรียงกันว่าไม่ยอมรับ หรือใช้การกีดกัน กล่าวแบบบ้าน ๆ ก็คือการเปล่งเสียง และร่วมกันประกาศว่า “พวกฉันจะไม่สนับสนุนพวกเธออีกต่อไป” เนื่องจากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคมนั้น ๆ เพื่อยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควร 

การลงโทษทางสังคม ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ไม่สามารถใช้ข้อบังคับทางกฎหมายเข้ามาจัดการได้ วิธีการนี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเห็นได้บ่อย ๆ ตัวอย่างเช่น หากสินค้าจากบริษัทที่ใช้โรงงานผลิตที่มีการใช้แรงงานเด็ก หรือมีการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับพนักงาน ก็จะถูกกลุ่มลูกค้าคว่ำบาตรบริษัท สิ่งที่ตามมาคือการสูญเสียรายได้มหาศาลของแบรนด์ อันเป็นผลมาจากการลงโทษทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการ 

อย่างไรก็ตามการลงโทษทางสังคมอย่างเป็นทางการด้วยข้อกฎหมาย ก็มักจะให้ผลลัพธ์คล้าย ๆ การลงโทษทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับการตัดสินความผิดทางอาญามีแนวโน้มที่จะประสบกับความอัปยศและอาจจะนำไปสู่การถูกกีดกันทางสังคมได้เช่นกัน 

เมื่อสังคมรุดไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมปรากฏเด่นชัดขึ้น กอปรกับโลกโซเชียลที่ขมวดโลกทั้งใบให้เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้การควบคุมทางสังคมเปลี่ยนไป การลงโทษทางสังคมอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการจึงมักเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กันได้ หรือส่งผลต่อกัน อย่างตัวอย่างกรณีโรงงานข้างต้นที่กล่าวไป เมื่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าหลุดรอดจากการตรวจสอบทางกฎหมาย จึงนำมาสู่การคว่ำบาตรของสาธารณชน จากนั้นจึงค่อยนำไปสู่การลงโทษทางสังคมอย่างเป็นทางการ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ เว็บไซต์ sociologylens ได้กล่าวเอาไว้ว่า เราจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงการใช้บทลงโทษทางสังคมอย่างเป็นทางการมากขึ้น เพื่อชดเชยข้อบกพร่องในสังคมที่กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง  

ทั้งนี้การลงโทษทางสังคม อาจมีเส้นบาง ๆ ที่เหลื่อมกับ Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการแบน โดยมีข้อแตกต่างกันคือ  Cancel Culture เป็นไปเพื่อต้องการให้ตัวบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรนั้น ๆ ออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงขอโทษต่อการกระทำในอดีต หากมีการปรับปรุงหรือออกมายืดอกยอมรับในสิ่งที่ทำลงไป ผู้คนหรือกลุ่มลูกค้าก็พร้อมที่จะให้อภัยและกลับมาซื้อสินค้าของบริษัทอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากหลากหลายแบรนด์ที่ประสบกับการโดนแบนมาแล้ว อาทิ L’oreal, Balenciaga และ Amazon

อย่างไรก็ตาม การลงโทษทางสังคมนั้นมีระดับความรุนแรงของการแบนที่สูงกว่า บางครั้งอาจนำไปสู่การเลิกสนับสนุนจากผู้คนอย่างถาวร 

Social Sanction ไม่เท่ากับ การล่าแม่มด

การแบนธุรกิจ การเปล่งเสียงบอยคอต ดำเนินการคว่ำบาตร ด้วยการออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการของบุคคลหรือบริษัทนั้น ๆ โดยการไม่ใช้ความรุนแรงเข้าสู้นั้น ไม่ถือว่าเป็นการล่าแม่มดในโลกการค้า ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมองไปยังประเทศอื่น ๆ การออกมาร่วมมือร่วมใจกันว่า “เราจะไม่สนับสนุนสินค้านั้น ๆ” ก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในโลกการค้ายุคปัจจุบัน ที่ผู้ซื้อมีความตื่นรู้และให้ความสำคัญกับบทบาทของแบรนด์และธุรกิจมากขึ้น เพราะฉะนั้น ในโลกที่ผู้คนให้คุณค่ากับความหลากหลาย สิทธิมนุษยชน และความโปร่งใส จึงจำเป็นอย่างมากที่ธุรกิจต่างๆ จะหันมาสนใจคุณค่าเหล่านี้ และพร้อมปรับตัวไปตามโลก

อ้างอิง : socialcapitalresearch.com / sociologylens

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า