fbpx

Call me by our (country) name โปรดเรียกประเทศเรา (?) ด้วยนามอันแท้จริง

แม้การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประเทศอินเดียได้จบลงไปแล้ว หากสิ่งที่เป็นที่ฮือฮาที่สุดในการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่ข้อตกลงที่ได้จากการประชุม แต่เป็นบัตรเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในวันประชุม

ซึ่งสิ่งที่แปลกไปคือชื่อประเทศที่กลายเป็นประเทศ “ภารัต” (Bharat)

แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศอินเดียสอดคล้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในรัฐบาลกลางอินเดียอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคบีเจพี (พรรคภารติยะชนตะ) ได้กล่าวก่อนที่บัตรเชิญนี้จะได้รับการเผยแพร่ 2 วันว่า ประเทศอินเดียสมควรที่จะมีชื่อว่า “ภารต” เนื่องจากชื่ออินเดียมีไว้สำหรับสื่อสารกับชาวต่างประเทศ แต่อีกนัยหนึ่งเราอาจมองได้ว่านี่อาจเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเมื่อกลุ่มพรรคฝ่ายค้านรวมกลุ่มกันในนาม “Indian National Development Inclusive Alliance” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “INDIA” เช่นเดียวกับชื่อประเทศ และดูราวกับว่า นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกที่จะเปลี่ยนชื่อทางการของประเทศเป็น “ภารัต” ด้วย เนื่องจากมีการฟ้องร้องหลายครั้งถึงชื่อประเทศนี้

อันที่จริงชื่อ “ภารัต” หรือ “ภารต” นี้ก็ไม่ได้ห่างไกลจากความรับรู้ของคนไทยต่ออินเดียเลย ในเมื่อคำที่เกี่ยวข้องกับอินเดียในภาษาไทยก็มีคำว่า “ภารต” ประกอบอยู่แล้ว และมากไปกว่านั้น คนอินเดียเองก็คุ้นเคยกับคำ ๆ นี้เช่นกัน นับตั้งแต่ชื่อประเทศในภาษาฮินดีอย่าง “ภารตคณราชย” หรือแม้กระทั่งวรรณคดีมหากาพย์อย่าง “มหาภารตะ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในศาสนาฮินดูโดยตรง และเป็นที่มาของหลาย ๆ เทศกาลในประเทศอินเดีย ความเชื่อมโยงทางความรู้สึกเช่นนี้จึงทำให้เราไม่แปลกใจว่า จะมีคนที่อยากเปลี่ยนชื่อประเทศอินเดียไปตามคำที่เคยเรียกตัวและคุ้นเคย

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ประเทศตุรกี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ตุรเคีย” ด้วยเหตุผลสำคัญหนึ่งคือ ความเป็น “มีม” ของชื่อที่อาจขัดกับความเชื่อของประชาชน และ “ศักดิ์ศรี” ของคนในชาติ กล่าวคือ คำว่า “Turkey” ในภาษาอังกฤษแปลว่า ไก่งวง ซึ่งมักจะเป็นมีม เชื่อมโยงกับอาหารในเทศกาลขอบคุณพระเจ้าในศาสนาคริสต์ และอาจเชื่อมโยงได้ถึงสแลงที่แปลว่า “คนเซ่อ” “คนโง่” อันมีนัยเหยียดเชื้อชาติอีกด้วย จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่รองรับการเปลี่ยนชื่อประเทศตุรเคียเป็นเรื่องของจิตสำนึกร่วมกันในชาติอย่างชัดเจน 

นอกเหนือจากนี้ เมื่อปี 2562 เนเธอร์แลนด์ยังเคยประกาศถอดชื่อเล่น “ฮอลแลนด์” เนื่องจากป้องกันความเข้าใจผิด เพราะดินแดนของเนเธอร์แลนด์ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ฮอลแลนด์เหนือ และฮอลแลนด์ใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน

ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนชื่อประเทศจะดูเป็นเรื่องใหญ่ แบบที่สหประชาชาติต้องให้การรับรอง แต่เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่าเกิดการเปลี่ยนชื่อประเทศหลายต่อหลายครั้ง หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเองที่เราเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”​ ใน พ.ศ. 2484 ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการให้ชนชาติอื่นใดเข้ามาเคลมประเทศในภายหลัง ถึงแม้ว่าในยุคต่อมาการนำชื่อชนชาติใดชนชาติหนึ่งมาตั้งเป็นชื่อประเทศจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกีดกันชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยร่วมประเทศด้วย ในทางกลับกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เมียนมา”เปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่าซึ่งเป็นชื่อชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในดินแดน ด้วยเหตุผลสำคัญคือความขัดแย้งระหว่างชนชาติที่ต้องการเป็นอิสระจากเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้ร่มเงาของรัฐบาลเผด็จการทหาร แง่หนึ่ง การเปลี่ยนชื่อประเทศจึงอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของเชื้อชาติอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ในขณะเดียวกัน 

จากตัวอย่างที่เรายกมาอย่างอินเดียและตุรเคีย เหตุผลเบื้องหลังสำคัญของการ (อยาก) เปลี่ยนชื่อประเทศคือเรื่องของ “ศักดิ์ศรี” ของประชาชนในประเทศด้วย แม้อาจมีเสียงสะท้อนว่าการเปลี่ยนชื่อประเทศมันเป็นแค่ปลายเหตุในการสร้างศักดิ์ศรีหรือการไม่มองข้ามหัวคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เอาเวลาไปโฟกัสกับนโยบายจริง ๆ ดีกว่า แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าชื่อก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนยอมรับและเรียกขานบนเวทีโลกด้วย

ว่าแต่ ทำไมแค่ “ชื่อประเทศ” ทำไมถึงสำคัญกับประชาชนขนาดนี้

แน่นอนว่าโลกคือสังคม ๆ หนึ่ง ประกอบไปด้วยชุมชนย่อย ๆ ถ้าเราลองนึกดูว่าเราสนิทกับคนรอบตัวเราได้ด้วยอะไร การก่อตัวของชุมชนต่าง ๆ บนโลกก็มีลักษณะเช่นกัน โดยธรรมดาแล้วชุมชนจะอยู่รวมกันด้วยสิ่งที่มีร่วมกันบางอย่าง สิ่งเชื่อมโยงเหล่านี้ได้กลายมาเป็นนิยามของคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ชอบ การเรียกตนว่าตนเป็นใครจึงยึดโยงกับนิยามนี้อย่างชัดเจน การรวมกลุ่มเหล่านี้ขยายตัวใหญ่ขึ้นจนวันหนึ่งได้กลายเป็น “รัฐชาติ” ในที่สุด

แน่นอนว่าเมื่อมีคำว่ารัฐชาติเข้ามาแล้ว สิ่งที่ตามมาติด ๆ กันนั่นก็คือแนวคิด “ชาตินิยม” ซึ่งก็คือการปลุกจิตสำนึกว่าเราเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นคนใน “ชาติ” เดียวกัน คืออยู่ในแผ่นดินเดียวกัน มีระบอบการปกครอง หรือเชื่อในสิ่งเดียวกัน ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ  อย่างการร้องเพลงชาติ การมีอาหารประจำชาติ เป็นต้น แม้กระทั่งความรู้สึกร่วมกันเวลาชมกีฬาที่มีผู้เข้าแข่งขันเป็นคนไทย หรือเวลาไอดอลคนไทยไปเดบิวต์ที่ต่างประเทศ ก็นับรวมว่าเป็นผลพวงจากแนวคิดชาตินิยมเช่นกัน ซึ่งกว่าจะเป็นแนวคิดแบบนี้ได้ต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การประกอบสร้าง” ความเชื่อตรงนี้ขึ้นมาก่อน เพราะชาติไม่ได้เกิดขึ้นแค่การรวมกันของอิฐหินปูนทราย แต่ยังหมายรวมถึงการหลอมคนร้อยพ่อพันแม่มาอยู่ในพิมพ์เดียวกันด้วย

มิเชล ฟูโกต์ (Michael Foucault) นักทฤษฎีคนสำคัญได้กล่าวถึง “วาทกรรม” (discourse) ไว้ว่า เป็นชุดคำที่ผ่านการสร้าง ให้คุณค่า และนิยามตัวตนของเราไว้ โดยเราอาจสังเกตได้ว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จะมีโควตบางโควตที่ทำงานกับความคิดของคนแบบที่ทำให้เชื่อ และทำให้สิ่งต่าง ๆ รันไปตามความเชื่อนั้น (อย่างสุดหัวใจ) ในระยะหลังมานี้เราจึงได้ยินคำว่า “วาทกรรม” ในการเมืองไทยบ่อยครั้งมากขึ้น หากเราเอากรอบความคิดเรื่องวาทกรรมมาปรับใช้กับ “ชาติ” แล้ว แน่นอนว่าความคิดนี้แนบสนิทกับคำว่าชาติทีเดียว เรื่องของ “ชื่อ” ประเทศจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อที่เรียกขานเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณค่าและความหมายต่อสังคมที่เรายึดโยงตัวเองอยู่อีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ ลูอิส อัลธูแซร์ (Louis Althusser) ยังนำวาทกรรมไปต่อยอดเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Interpellation คือ การเรียกขานใครสักคน หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดตัวตนของบุคคล หรือกลุ่มสังคมนั้น ๆ โดยตัวตนของปัจเจกจะเชื่อมโยงเข้ากับหน่วยทางสังคมที่ใหญ่กว่า โดยอ้างอิง และผันแปรไปตามหน่วยสังคมนั้น ๆ เช่น หากเราจะเรียกเพื่อนชื่อ “เอ” เราเรียกเขาว่า เอ ก็เป็นการเรียกเขาตามปกติ แต่ว่าหากเขามีสถานะเป็นประธานนักเรียน การเรียกเอว่า “ประธาน” แล้วเขาหันมาตอบรับ ก็แสดงถึงความยึดโยงระหว่างเขาเองกับหน้าที่ในฐานะประธานนักเรียนด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง การที่ใครสักคนเรียกเราด้วยชื่อที่เราไม่ยินดีจะให้เรียกจึงเป็นการ “ด้อยค่า” เราลงไปด้วย แนวคิดทฤษฎีทั้งสองแนวคิดนี้จึงทำให้เราเห็นว่า “ชื่อ” นั้นสำคัญไฉน ยิ่งเป็นชื่อประเทศหรือชื่อเชื้อชาติแล้วก็ยิ่งสะท้อนตัวตนอย่างชัดเจน ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติและการเข้าใจผิดเกี่ยวกับชาตินั้น ๆ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามผ่านการเรียกชื่อ

และหากพิจารณามากไปกว่านั้น เราอาจมองได้ว่าความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนชื่อประเทศก็อาจเกิดจาก “ผู้คน” ที่ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวตนของตนให้กับคนทั่วโลก เรื่องใหญ่อย่างชื่อประเทศนี้เองที่ไปเกี่ยวข้องกับ “รัฐ” อย่างตรงไปตรงมา และรัฐมีสิทธิที่จะเบรก หรือสนับสนุนความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวในสังคมอื่น ๆ ที่มุ่งเรียกร้องไปที่เรื่องใหญ่และกระทบกับตัวตนของคน เราไม่อาจบอกได้ว่าประเด็นทางสังคมอื่น ๆ จะกระทบต่อรัฐมากน้อยเพียงไร แต่หากเรามีรัฐที่ใจกว้าง อย่างน้อยเสียงของคนในรัฐก็จะไม่ถูกด้อยค่า และเมื่อนั้น เสียงที่เปล่งเรียกประเทศของเรานั้นย่อมสะท้อนว่าเราเป็น “เรา” อย่างแท้จริง

แหล่งอ้างอิง : bbc / prachatai / bbc / silpa-mag / tuicakademi / archive / ditp

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า