fbpx

รวมไอเท็ม “ของมันต้องมี” ในห้องทำงานเลขาธิการ กกต.

ในการเลือกตั้งไม่ว่ายุคใด หน่วยงานสำคัญที่ประชาชนจับตามองแบบตาแทบไม่กะพริบก็คงหนีไม่พ้น “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. องค์กรอิสระที่เชื่อกันว่ายึดถือเรื่องความโปร่งใส ไร้ซึ่งอำนาจใดอยู่เบื้องหลัง ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทำงานของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งกลับกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากกระบวนการนับคะแนนที่ซับซ้อน ทั้งยังเกิดเหตุเหลือเชื่อและ “อิหยังวะ” ซึ่งสั่นคลอนความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระนี้อยู่ไม่น้อย

และขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดกำลังเดินทางมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า The Modernist ก็ขอแนะนำไอเท็ม “ของมันต้องมี” ในห้องทำงานของนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันเหตุอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง และดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในฐานะองค์กรอิสระของ กกต. ดังนี้

บันได

ไอเท็มหลักที่ไม่มีไม่ได้เลยในซีซั่นนี้ มีที่มาจากปรากฏการณ์ “บัตรเขย่ง” ที่ตัวเลขบัตรเลือกตั้งที่ถูกใช้ไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 กล่าวคือ มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 38,268,375 คน ทว่าบัตรเลือกตั้งกลับมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 9 ใบ ซึ่งนายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. ในขณะนั้น ได้ชี้แจงสาเหตุว่าอาจเกิดจากบัตรเขย่ง โดยอธิบายว่า “บัตรเขย่งอาจมีสาเหตุจากกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแสดงตนใช้สิทธิ แต่ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง แล้วเดินออกจากหน่วยเลือกตั้งไป ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้” และกรณีนี้ก็ยังเคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งในอดีตเช่นกัน

แม้ว่าจะงงๆ กันว่าบัตรเขย่งนี่เกิดขึ้นตอนไหน ทำไมประชาชนคนไทยจึงไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน แต่ชาวเน็ตไทยผู้มีใจรักความบันเทิง ก็พากันแนะนำ “บันได” ให้ กกต. มีไว้ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อใช้ปีนจับบัตรเลือกตั้งที่ “เขย่ง” ป้องกันผลกระทบกับคะแนนเสียงของผู้สมัคร ซึ่งมาจากเสียงของประชาชนนั่นเอง

เครื่องคิดเลข

อีกหนึ่งไอเท็มที่เป็นบทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมีที่มาจากกรณีที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของนักข่าว ถึงจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยกล่าวกับนักข่าวว่า “ตอนนี้ผมไม่มีเครื่องคิดเลขอยู่ ในมือถือหนูมีเครื่องคิดเลข กรุณาคิดให้แทนผมได้มั้ยครับ ครับ ใช้เครื่องได้นะครับ”

แม้ว่า กกต. จะนัดแถลงข่าวอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 25 มีนาคม แต่ฟีล “อิหยังวะ” ก็ยังไม่จาง จนกระทั่งในปีนี้ ประชาชนจำนวนมากก็แสดงความเป็นห่วงถึงกรณีดังกล่าว และได้กำชับให้ กกต. จัดเตรียมเครื่องคิดเลขเอาไว้ล่วงหน้าเลย

ตะเกียง

อีกหนึ่งไอเท็มที่ควรจัดหามาไว้ในห้องทำงานของ กกต. รวมทั้งหน่วยเลือกตั้งต่างๆ อันเนื่องมาจากกรณีที่เกิดไฟดับในหน่วยเลือกตั้ง เป็นเวลา 30 วินาที ขณะที่มีการนับคะแนน ส.ส.จังหวัดนครปฐม เขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 245 หน่วยใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562 หลังจากที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นเรื่องร้องขอ เนื่องจากผลเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศไม่ตรงกับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้ง

แม้จะมีการใช้ไฟสำรองเพื่อให้การนับคะแนนดำเนินต่อไปได้ แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่กำลังจะมาถึงนี้ “ตะเกียง” ก็ติดโผไอเท็มที่ต้องมีไว้ให้อุ่นใจเช่นกัน

นาฬิกา

จากสมรภูมิเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ก็ย้ายมาที่ศึกเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อปี 2565 กันบ้าง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีสีสันและน่าตื่นเต้นที่สุด ทั้งบรรดาผู้สมัครที่งัดไอเดียสุดจึ้งมาชิงเก้าอี้ผู้ว่า โดยเฉพาะการเปิดตัวนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จุดประกายความหวังให้คนกรุงเทพฯ ไม่น้อย ซึ่งในที่สุด ชาวกรุงก็ไม่ผิดหวัง เพราะในที่สุดก็ได้ผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีมาบริหารงาน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนวิบากกรรมของชาวเมืองฟ้าอมรจะยังไม่สิ้นสุด เพราะในขณะนั้น กกต. กลับยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. รวม 24 คำร้อง โดยนายชัชชาติ ถูกร้องเรียน 2 เรื่อง ได้แก่ การนำป้ายหาเสียงมารีไซเคิลทำกระเป๋า–ผ้ากันเปื้อน และดูถูกระบบราชการ รวมถึงในเวลาต่อมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ได้ยื่นเอกสารให้ กกต. พิจารณาเพิ่มเติม กรณีที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. รวมถึงนายชัชชาติ  ไม่เก็บป้ายหาเสียงหลังการเลือกตั้ง

ในเวลานั้น สำนักงาน กกต. ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ที่มีใจความตอนหนึ่งว่า “สำหรับการประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบเบื้องต้นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และจะเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ในวันอังคารที่ 31 พ.ค. 2565 ต่อไป”

การทำงานของ กกต. ที่ราวกับจะดับฝันคนกรุงเทพฯ ส่งผลให้เกิดแฮชแท็ก #กกตเป็น…อะไร ซึ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ The Modernist จึงอยากจะแนะนำ “นาฬิกา” ให้เป็นไอเท็มที่ปลุก กกต. ให้ตื่นขึ้นมาทำหน้าที่อย่างมีสติเพื่อประชาชน และเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้คู่กับกระดาษโพสต์อิท เขียนเตือนตัวเองว่าวันนี้ต้องทำอะไรให้ประชาชน

บทส่งท้าย: ไอเดียแต่งห้องเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ กกต.

ว่ากันว่า การตกแต่งห้องส่วนตัวสามารถสะท้อนถึงรสนิยมและบุคลิกของเจ้าของห้องได้ ดังจะเห็นได้จากภาพของนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่กำลังคร่ำเคร่งกับการให้สัมภาษณ์โฟนอินกับหนังสือพิมพ์คมชัดลึก (ในวันที่คมชัดลึกไม่ได้ผลิตหนังสือพิมพ์แล้ว) ภายในห้องทำงานที่แวดล้อมไปด้วยกองแฟ้ม พระพุทธรูปและวัตถุมงคล ซึ่งแค่เห็นก็รู้แล้วว่าเจ้าของห้องนั้นทำงานหนักและรุ่มรวยไปด้วยหัวใจใฝ่ธรรมะขนาดไหน

แต่นอกจากสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือท่านเลขาธิการแล้ว เราไม่เห็นอุปกรณ์ไอทีอื่นใด ซึ่งขัดกับโลกยุคใหม่ที่ติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบออนไลน์ และก็พอจะอนุมานได้ว่า การที่ระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ามาล่มเอาวันสุดท้ายของการเปิดรับลงทะเบียน ก็อาจเป็นเพราะ กกต. ไม่ค่อยคุ้นเคยกับระบบออนไลน์ จึงไม่มีการวางแผนป้องกันล่วงหน้าก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของ กกต. สิ่งที่ดูเหมือนจะขาดหายไปมากที่สุดในสายตาประชาชน ไม่ใช่อุปกรณ์ไอทีอันทันสมัย แต่เป็นความเป็นมืออาชีพตามอำนาจหน้าที่ ความชัดเจนโปร่งใส และความตรงไปตรงมา ซึ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป สิ่งที่จะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยคือ “ความเชื่อมั่นของประชาชน”

ที่มา : thairath / thaipbs / bbc / thestandard

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า