fbpx

“ฮุนเซน” ทัศนา “พิธา” และการเมืองไทย หรือการเลือกตั้งจะเป็นแค่พิธีกรรม

เรื่อง ศรายุทธ อาตวงษ์

*บทความนี้ เขียนขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกัมพูชาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่เป็นปัจจุบัน หากข้อมูลผิดพลาดอันใด ทางผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้*

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 หลายคนต่างตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อ  ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่? เพราะต้องใช้เสียงโหวตเลือกนายกฯ ในรัฐสภา ที่ต้องใช้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมกันให้ได้ 376 เสียง 

แต่แล้วก็เหมือนอย่างที่พี่กบ ทรงสิทธิ์ ได้ร้องไว้ว่า “มันน่าเสียดาย……ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง”

เมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เสียงโหวตจากทั้ง ส.ส. 311 เสียง ของ 8 พรรคร่วม และ สว. 13 เสียง รวมทั้งสิ้น 324 เสียง ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาคือ 376 เสียง  ทำให้นายพิธา ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้  ต้องมาลุ้นอีกว่าการโหวตเลือกนายกฯ ในรัฐสภาที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นั้น ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลล่าสุดได้มีการสั่งเลื่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปเป็นวันที่ 4 สิงหาคม 2566 และจนกระทั่งบัดนี้ เราก็ยังไม่มีนายกฯ อย่างเป็นทางการ

การที่นายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจแก่ผู้เชียร์พรรคก้าวไกล และผู้เชียร์พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก มีการนัดชุมนุมทั้งในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่างจังหวัด  เพื่อแสดงจุดยืนให้สมาชิกรัฐสภารับนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ระบอบประชาธิปไตยไปต่อได้

แต่อยู่ๆ หลังจากการโหวตเลือกนายกฯ ไปนั้น ในวันเดียวกันก็มีข่าวว่า สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา ได้ทวีตข้อความลงในทวิตเตอร์ มีใจความว่า การที่นายพิธาไม่ได้ถูกรับเลือกเป็นนายกฯ นั้น “ถือเป็นความพ่ายแพ้ของพวกกลุ่มฝ่ายค้านอันชั่วร้ายในกัมพูชา

ฮุนเซนบอกว่า ตนไม่ได้ต้องการจะยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศไทย เพียงแต่ต้องการจะบอกไปถึงกลุ่มฝ่ายค้านที่พยายามจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานที่มั่นในการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรกัมพูชา และตอนนี้ความคาดหวังของฝ่ายค้านก็ได้มลายหายไปราวกับเกลือในน้ำ และเตือนว่า จงอย่าทำการเมืองโดยหวังพึ่งมือของคนอื่น 

หลังจากที่ข่าวนี้ถูกนำเสนอไป ผู้ใช้โซเชียลชาวไทยก็ได้สามัคคีแสดงความคิดเห็นประมาณว่า ฮุนเซนไม่ควรเข้ามายุ่งกับการเมืองไทย หรือต่อว่าว่าเป็นผู้นำเผด็จการแบบเดียวกับอดีตนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยต่อมาทวีตดังกล่าวก็ได้ถูกลบไปแล้ว และสมเด็จฮุนเซนฯ ก็ได้ทวีตใหม่ว่าตนได้รับข้อความจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยเป็นจำนวนมาก แต่ตนไม่เข้าใจภาษาไทย โดยฮุนเซนยืนยันว่าตนนั้นไม่ได้มีปัญหากับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพร้อมจะทำงานร่วมกับผู้นำคนใหม่ของไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน เพียงแต่ต้องการจะสื่อไปถึงพวกกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายค้านที่ใช้ชื่อของนายพิธา และดินแดนประเทศไทยในการโจมตีประเทศกัมพูชาเท่านั้น 

นับตั้งแต่เพจเฟสบุ๊กสมเด็จฮุนเซนฯ ถูกระงับการใช้ไป 6 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับดูแลแพลตฟอร์มของเมตา (Meta) หลังจากได้โพสต์คลิปการปราศรัยที่โจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง ทำให้สมเด็จฮุนเซนฯ ขู่ว่าจะสั่งปิดการเข้าถึงเพจเฟสบุ๊กทั้งประเทศ แต่ตนนั้นเลือกที่จะไม่ทำ เพราะเห็นแก่ประชาชนที่ยังใช้งานอยู่ สมเด็จฯฮุนเซน จึงลงไปเล่นในแพลตฟอร์มอื่น อย่าง เทเลแกรม ติ๊กตอก และยังทำแอปพลิเคชั่นสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่อัปเดตการเคลื่อนไหวของสมเด็จฯฮุนเซน จนมาถึงการใช้ทวิตเตอร์ที่เปิดไว้ตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งได้กลับมาใช้อีกครั้งหลังจากการสั่งระงับการใช้เฟซบุ๊กของสมเด็จฮุนเซนฯ จนนำไปสู่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ 

เราจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่มีต่อไทยนั้น เป็นเพียงการส่งสารไปถึงบรรดาฝ่ายค้านที่พยายามต่อต้านฮุนเซน ทั้งในและนอกประเทศ อันเป็นผลพวงมาจากการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองในกัมพูชาระหว่างฝ่ายฮุนเซน และฝ่ายค้าน ซึ่งมีนาย สม รังสี เป็นผู้นำหลัก ซึ่งหนักหน่วงขึ้นในห้วงเวลาที่กัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าไร รัฐบาลก็ยิ่งใช้อำนาจจัดการฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากการเคลื่อนไหวของสมเด็จฯ ฮุนเซนในทวิตเตอร์แล้ว จะเห็นได้ว่าทางนายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือ CNRP ที่ได้ลี้ภัยออกจากประเทศกัมพูชาไปยังประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารไปถึงผู้ใช้โซเชียลชาวกัมพูชา ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงฉากหน้าสำหรับการสืบทอดอำนาจของสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่จะส่งต่ออำนาจให้กับลูกชาย ฮุน มาเน็ต โดยนายสม รังสี ได้บอกวิธีการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยการให้ทำการกากากบาทตัวใหญ่บนบัตรเลือกตั้ง เพื่อเป็นการแสดงว่าไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้

นับจากการที่ศาลสูงกัมพูชาได้ยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือ CNRP ของสม รังสี ใน พ.ศ. 2560 แล้ว ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2561 ทำให้พรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 125 ที่นั่ง ทำให้กัมพูชากลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน และการเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นเพียงฉากหน้าสำหรับการสืบทอดอำนาจของฮุนเซน มาตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ 

การเลือกตั้งสภาท้องถิ่น พ.ศ.2565 ที่พรรคประชาชนกัมพูชา ของสมเด็จฮุนเซน ชนะได้เสียงมากถึง 74% ขณะที่พรรคแสงเทียน (Candlelight Party) ได้คะแนนเสียงเพียง 22%  แต่ก็เป็นตัวเลือกที่พอรับได้สำหรับการอยู่รอดของฝ่ายค้าน แต่สำหรับฮุนเซนแล้วถือว่าน่ากังวล เพราะสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือคอมมูนนั้น สามารถเข้าไปเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้ และอาจทำให้พรรคแสงเทียนของสม รังสี กลับมาอยู่ในห้วงการเมืองกัมพูชาอีกครั้ง 

จนกระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของกัมพูชา ได้ตัดสิทธิ์พรรคแสงเทียน เพียงเพราะส่งเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน 

แน่นอนว่า กกต. ของกัมพูชานั้นเป็นองค์กรอิสระคล้ายกับประเทศไทย แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการนั้นเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจ โดยจะเลือกผู้มีคุณสมบัติ 9 คน โดย 4 คนมาจากเสียง ส.ส. ในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และ 4 คน มาจาก ส.ส. ของพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และ 1 คน ต้องมาจากการยอมรับจากเสียงทั้งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งสภาผู้แทนราษฎรเป็นของพรรคประชาชนกัมพูชา หรือพรรคของฮุนเซนฯ 

รวมทั้งองค์กรศาลก็ได้ถูกใช้ในการจัดการผู้นำฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นับตั้งแต่ดำเนินคดีกับนายสม รังสี อดีตผู้นำพรรคกู้ชาติกัมพูชา ที่ถูกดำเนินคดีทั้งข้อหากบฏ พยายามล้มรัฐบาลกัมพูชา จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และยังให้ศาลกัมพูชาดำเนินคดีกับ นายเขม โสกา จากความผิดข้อหาก่อกบฏ ถูกสั่งให้กักตัวภายในบ้านเป็นเวลา 27 ปี

ยังไม่รวมถึงการจัดการคนเห็นต่างที่ต่อต้านรัฐบาลฮุนเซนฯ อย่างจากทวิตเตอร์ของนายสุนัย ผาสุขและนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส. พรรคเป็นธรรม ที่ได้ทวีตว่า มีข่าวการจับกุมนาย Thol Samnang บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยตำรวจนอกเครื่องแบบ หลังจากพยายามเดินทางไปขอความช่วยเหลือในการลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยนาย Thol Samnang เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคแสงเทียน พรรคฝ่ายค้านหลักที่ต่อต้านรัฐบาลฮุนเซน โดยทั้งจากทวีตของนายสุนัย ผาสุข และนายกัณวีร์ สืบแสง ได้พูดถึงความกังวลว่า รัฐบาลไทยอาจส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ และกล่าวถึงประเด็น พรบ.ต่อต้านการทรมาน และอุ้มหาย รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ห้ามไม่ให้ส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ เพราะกังวลว่าผู้ลี้ภัยอาจได้รับโทษที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ในช่วงก่อนเลือกตั้ง สมเด็จฯ ฮุนเซนยังได้มีการสั่งปิดสื่อที่พยายามจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซน อย่างในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการกัมพูชาได้ทำการปิดสื่อ Voice of Democracy (VOD) สื่ออิสระแห่งสุดท้ายของกัมพูชา หลังจากสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้กล่าวว่า สื่อแห่งนี้ได้เขียนโจมตีฮุน มาเน็ต ลูกชายของสมเด็จฮุนเซนฯ เรื่องการเซ็นอนุมัติเงินบริจาคช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี โดยตามระเบียบแล้วต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะเซ็นอนุมัติได้

สรุปได้ว่า การที่สมเด็จฮุนเซนฯ ได้ใช้เรื่องที่นายพิธา ไม่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาโจมตีเย้ยหยันฝ่ายตรงข้ามตัวเองนั้น เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการที่ตัวเขาถนัดใช้ในการไต่ขึ้นสู่อำนาจ และรักษาอำนาจ รวมทั้งการทำลายฝ่ายตรงข้ามให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินกัมพูชา 

“การเลือกตั้งกัมพูชาในวันที่ 23 กรกฎาคม จึงเป็นเพียงแค่พิธีกรรมสำหรับการสร้างความชอบธรรมทางอำนาจของสมเด็จฮุนเซนฯ”

แหล่งอ้างอิง : bbc 2 / dw / voathai / cambojanews / thairath / thaipbs / nec / ilaw / dailynews

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า