fbpx

มนุษย์ออฟฟิศต้องฟิตกายใจยังไง? เมื่อโรคแห่งยุคสมัยเกิดขึ้นในหลายมิติ

หากเราเกษียณอายุทำงานในวัย 60 ปี เราจะใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิต หรือกว่า 90,000 ชั่วโมง ไปกับการทำงาน 

แน่นอนว่าการได้มาซึ่งความสุขและความก้าวหน้าในอาชีพตลอดช่วงชีวิตอาจทำให้มนุษย์ออฟฟิศอย่างเรา ต้องยอมเสียเหงื่อเสียแรงอย่างหนัก จนไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการทำงานย่อมส่งผลต่อชีวิตของเราโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

สำหรับชีวิตมนุษย์ออฟฟิศยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ความเสื่อมของร่างกายจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุยังน้อย บางคนเริ่มมีอาการเจ็บออดๆ แอดๆ ปวดหลัง ปวดข้อ เส้นยึด หรือแม้กระทั่งเกิดภาวะตึงเครียด กดดัน และอ่อนเพลียจากการทำงานตลอดทั้งวัน

ที่มาของโรคสุดฮิตของมนุษย์ออฟฟิศ

จากการหาข้อมูลจากสื่อหลายแหล่งพบว่า โรคที่เกิดขึ้นจากการทำงานของมนุษย์ออฟฟิศนั้นมีค่อนข้างหลากหลายโดยเฉพาะโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิต โรคมะเร็ง โรคความดัน ฯลฯ 

The Modernist จึงได้พูดคุยกับ พญ.อุบลพรรณ วีระโจง แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ถึงต้นตอที่ทำให้มนุษย์ออฟฟิศเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ ก่อนอื่น พญ.อุบลพรรณ ให้เราลองทำเช็กลิสต์แล้วตอบคำถามตัวเองก่อนที่จะสืบหาสาเหตุของโรคต่างๆ

  • ทำงานจริงกี่ชั่วโมงต่อวัน?
  • ขยับร่างกายบ้างไหม?
  • ดื่มน้ำกี่แก้วต่อวัน?
  • ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำหวาน?
  • ทานอาหารตรงเวลาไหม?
  • เข้าห้องน้ำบ่อยแค่ไหน?
  • อากาศถ่ายเทดีหรือเปล่า?

“หากตอบคำถามตรงไปตรงมา เราพอจะเดาได้แล้วว่าจะเกิดโรคอะไรกับเราบ้าง เพราะจริงๆ แล้ว โรคของคนทำงานออฟฟิศ เกิดจากพฤติกรรมการทำงานของคนคนนั้นเอง ฉะนั้นผลจากโรคที่เขาเป็นไม่ใช่เพราะเขาทำงานออฟฟิศ แต่เป็นเพราะเขาใช้ชีวิตไม่ถูกต่างหาก”

นอกจากนั้น พญ.อุบลพรรณ ยังเผยว่า พฤติกรรมการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากจะเกิดโรค NCDs แล้ว ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นอีก 30% 

“ปัจจัยถัดมาที่ทำให้เกิดโรคคือบรรยากาศการทำงาน รวมไปถึงเพื่อนร่วมงานด้วย เพราะหากเราไม่ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะทางจิตได้เหมือนกัน ซึ่งการเกิดภาวะทางจิตมาจากสองส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนของคนทำงาน โดยจะขึ้นอยู่กับเนื้องานและความคาดหวังในการทำงาน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ขึ้นอยู่กับการซัพพอร์ตของคนรอบข้าง”

การดูแลจิตใจคนทำงานออฟฟิศที่เปลี่ยนไป

เมื่อมองไปยังวัฒนธรรมการทำงานในอดีต ค่านิยมการทำงานแบบ ‘ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับท่าน’ ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง และการที่เป็นคนอะไรก็ได้ ให้ทำอะไรก็ยอม ส่งผลให้คนที่อยู่ตำแหน่งสูงใช้อำนาจกดขี่คนที่อยู่ตำแหน่งต่ำกว่าได้ 

พญ.อุบลพรรณ ยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพว่าการทำงานเมื่อก่อนนั้น นายจ้างมองข้ามเรื่องของจิตใจคนทำงานไป ยกตัวอย่างเช่น พนักงานบางคนโดนหัวหน้าขโมยงาน ในขณะที่หัวหน้าได้หน้า แต่ลูกน้องกลับไม่ได้อะไรเลย ไม่มีการให้เครดิต ไม่มีการกล่าวถึง ไม่มีการขอบคุณ ทำให้พนักงานไม่ได้รับการมองเห็น จึงเกิดความเครียดในการทำงาน

ส่วนในมุมของนายจ้างเองก็ต่างให้ความสำคัญกับงานมากกว่าคน และใช้ความก้าวหน้าในตำแหน่งมาเป็นสิ่งล่อใจให้คนทำงานถวายหัว โดยไม่ได้สนใจความเป็นอยู่และสภาพจิตใจคนทำงาน 

“ปัจจุบันเจเนอเรชันเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่สั่งอะไรก็ทำให้ได้ทุกอย่าง คนทำงานยุคใหม่ต้องการให้ทุกคนเห็นว่าเขามีตัวตนในการทำงาน เขาต้องการ Social Reward ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับ การฟีดแบ็ก รวมถึงการทำงานเป็นทีม”

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนเจเนอเรชันคนทำงานให้เป็นเจนเนอเรชันเดียวกันทั้งหมดได้ ฉะนั้นเมื่อไรที่เราปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ จะทำให้บรรยากาศการทำงานเกิดความท็อกซิก และส่งผลต่อการเกิดโรคทางใจกับคนทำงานยุคใหม่ได้เช่นกัน”

เมื่อเราถาม พญ.อุบลพรรณ ว่าวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปส่งผลให้มาตรฐานการทำงานต้องเปลี่ยนแปลงตามหรือไม่ เธอตอบว่า มาตรฐานการทำงานอยู่ในระดับเดิม แต่มาตรฐานการดูแลคนทำงานต่างหากที่ต้องเพิ่มขึ้น 

“หากลงรายละเอียดไปยังโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน บริษัทต้องรู้ก่อนว่าพนักงานป่วยเป็นโรคอะไร หากเราไม่รู้ว่าใครป่วยเป็นโรคอะไร เราจะมองข้ามวิธีการจัดการไปเลย พนักงานป่วยก็ป่วยไป อยู่ไม่ได้ก็ลาออก”

“มาตรฐานการทำงานในปัจจุบันไม่ใช่แค่การมองผลลัพธ์ของผลงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับคนทำงานด้วย นายจ้างต้องดูว่าจะทำยังไงให้พนักงานอยู่กับเราด้วยความสามารถที่แท้จริงและมีความสุข อันนี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานที่ดีในการทำงาน”

“ยกตัวอย่างบริษัทต่างประเทศ มาตรฐานการทำงานของเขามักจะให้ความสำคัญกับคนมากกว่างาน ค่านิยมของการทำงานคือการให้เกียรติคนทำงาน เพราะมันจะมีความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ภาษา เพศ ศาสนา รสนิยมต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน การเคารพและให้เกียรติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

การสร้างออฟฟิศที่เป็นมิตรต่อคนทำงาน

พญ.อุบลพรรณ เล่าว่า ก่อนการรับมือ นายจ้างต้องรู้ก่อนว่าพนักงานมีปัญหาสุขภาพด้านไหนบ้าง โดยเริ่มต้นจากการสำรวจสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ตั้งแต่โต๊ะทำงาน เก้าอี้ แสงสว่าง ห้องทำงาน รวมถึงการสำรวจว่าพนักงานว่ามีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ ถึงจะสามารถจัดการปัญหาสุขภาพได้อย่างตรงจุด

“การให้ความรู้พนักงานก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เพราะคนทำงานสามารถป้องกันและรับมือโรคต่างๆ ได้ทันท่วงที โดยทางบริษัทสามารถจัดเป็นคอร์สออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หรือวัดระดับความสุขพนักงานอย่าง Happiness Scale ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยสำรวจความเป็นอยู่ของพนักงานได้เช่นกัน”

เมื่อเราพูดคุยกันถึงภาพรวมของการสร้างออฟฟิศที่เป็นมิตรต่อคนทำงาน อีกสิ่งหนึ่งที่คนทำงานคาดหวังต่อบริษัทก็คือโปรแกรมดูแลสุขภาพ เราจึงถามไปยัง พญ.อุบลพรรณ ว่าจำเป็นแค่ไหนที่บริษัทต้องลงทุนกับสุขภาพคนทำงาน 

“จริงๆ มันมีกฎหมายบังคับว่าบริษัทควรตรวจสุขภาพพนักงานอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากมีความเสี่ยงที่มากกว่านั้นก็ควรตรวจเพิ่มตามที่หมออาชีวเวชศาสตร์แนะนำ หรือหากตรวจแล้วมีความผิดปกติก็ต้องมีมาตรการในการจัดการ เพื่อปรับปรุงการทำงานให้เหมาะสมกับสุขภาพคนทำงาน”

“แต่บางบริษัทก็ตรวจตามมารยาทแต่ไม่เกิดผลดีกับพนักงาน เอาราคาถูกมาก่อนแล้วมาตรฐานเป็นรอง เพราะหากตรวจแล้วพบว่าพนักงานมีปัญหาด้านสุขภาพที่สูง บริษัทหรือสถานประกอบการนั้นก็มีความเสี่ยงตามไปด้วย”

“สำหรับการตรวจสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่คุยกันได้ค่อนข้างยาก ไม่ค่อยมีใครกล้าตอบว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นสุขภาพจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ทุกคนสามารถช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันและสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ ผ่านการใส่ใจว่าคนรอบข้างที่ทำงานกับเราเขาโอเคไหม มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า มันเป็นการสำรวจเพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือโดยไม่ตัดสิน”

เราถามต่อว่า แล้วการดูแลสุขภาพจิตพนักงานเป็นต้นทุนที่สูงเกินไปสำหรับนายจ้างหรือเปล่า? 

“ถ้าเราบอกว่างบประมาณในการดูแลสุขภาพจิตสูง นั่นหมายความว่า เรากำลังมองค่ายาและค่าหาหมอที่ต้องจ่าย แต่จริงๆ แล้ว เราทุกคนสามารถดูแลกันได้ ความใส่ใจสามารถเปลี่ยนความคิดที่ว่าโลกนี้มันช่างมืดมน ไม่เหลืออะไรแล้ว แค่เราได้นั่งข้างๆ แล้วถามว่าเขาอยากเล่าอะไรไหม แค่นี้จิตใจเขาก็สามารถดีขึ้นได้เลยนะ เราสามารถช่วยเขาได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท การอยู่ร่วมกันในสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ทุกคนเข้าใจกัน แล้วก็ซัพพอร์ตกันอันนี้ต่างหากที่สำคัญ”

ฉะนั้นในเรื่องการลงทุนกับคนทำงาน นอกเหนือจากแพ็กเกจตรวจสุขภาพประจำปีที่บริษัทมอบให้กับพนักงาน สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพนักงานกล้าเดินมาขอความช่วยเหลือ พร้อมโอบอุ้มทุกครั้งที่พนักงานเผชิญหน้ากับสภาวะที่ไม่โอเค ฉะนั้นการตรวจสุขภาพต้องตรวจทั้งกายและใจ

เคล็ดลับการฟิตกายใจของมนุษย์ออฟฟิศยุคใหม่

“งานก็คืองาน งานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต ที่สำคัญอย่ามีงานเดียว” 

“บางคนที่คาดหวังกับความสำเร็จในการทำงานจนทิ้งทุกอย่างในชีวิต ถ้าทำงานอยู่อย่างเดียว วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดแล้วรู้สึกถึงความล้มเหลว เขาสามารถแตกสลายเลยนะ เพราะมันไม่มีสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตหลงเหลืออยู่ บางคนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตต่อ มันน่าเสียดายถ้าชีวิตต้องจบไปเพราะเรื่องงาน ซึ่งเราต้องพึงระลึกเสมอว่า ไม่มีเราเขาก็อยู่ได้”

“เราต้องสังเกตตัวเองว่าเครียดกับงานมากเกินไปหรือเปล่า เราต้องรักตัวเองด้วยนะ ถ้าไม่ไหวหาที่ระบาย หาเซฟโซนในที่ทำงาน ใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการดูแลตัวเอง สร้างความสุขในสิ่งเล็กๆ รอบตัวของเราที่ทำให้เราเกิดความภูมิใจในชีวิตแล้วก็มีความสุข ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา อย่างน้อยก็มีการซัพพอร์ตจากสิ่งรอบข้างที่จะดูแลเราได้”

“อย่ากลัวที่จะไปขอความช่วยเหลือหรือว่าบอกคนอื่นว่าเราไม่ไหว แต่ถ้าที่ทำงานมันท็อกซิกมากก็ออกมาแล้วหาความช่วยเหลือจากข้างนอกได้ อย่าคิดว่าโลกนี้มีแต่ที่ทำงาน อยากให้ดูแลทั้งกายและใจ แล้วก็ดูแลสังคมคนรอบข้างให้ดีด้วย ที่สำคัญไม่มีใครดูแลเราได้ดีเท่าตัวเราแล้ว ดังนั้นถ้ามีปัญหาอย่าปล่อยทิ้งไว้ แล้วก็เรียกร้องขอความช่วยเหลือได้ก็จะได้ทำงานแล้วก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”

“สุดท้ายถ้าเราทำงานที่ไม่มีความสุข แล้วเราจะบอกว่าจะตามหาความสุขหลังเกษียณ ก็ต้องถามกลับว่า มันช้าไปหรือเปล่า? ขนาดเดินขึ้นบันไดก็จะไม่ไหว แล้วเราจะมีแรงไปทำอะไร ดังนั้นการที่เราจะมีความสุขในปัจจุบันได้อย่างเต็มที่คือการที่เราสามารถจัดการทุกอย่างในชีวิตได้อย่างบาลานซ์” พญ.อุบลพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า