fbpx

เมื่อรักษ์โลกต้องมีต้นทุน SMEs จะไปต่ออย่างไร ในภาวะโลกเดือด

ในตำนานกรีกโบราณได้เล่าขานจุดกำเนิดความหายนะของโลกมนุษย์เอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งเหล่าเทพเจ้าจากยอดเขาโอลิมปัส ได้สร้าง แพนโดรา มนุษย์เพศหญิงคนแรกขึ้นมา ตามคำสั่งของเทพบดีซุส (Zeus) เพื่อเป็นการแก้แค้น โพรมิธิอุส (Prometheus) และน้องชายของเขา เอพิธิอุส (Epitheus) เทพผู้สร้างมนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์ โดยเฉพาะโพรมิธิอุส ซึ่งรักมนุษย์ที่ตนได้รังสรรค์ขึ้นมาเป็นอย่างมาก และคอยช่วยเหลือมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง วีรกรรมที่ทำให้เหล่าเทพขุ่นข้องหมองใจ คือการที่โพรมิธิอุส ขโมยไฟจากสรวงสวรรค์ลงมามอบให้แก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนาและเจริญอย่างก้าวกระโดด จนเหล่าทวยเทพหวั่นว่ามนุษย์จะยิ่งใหญ่ไปกว่าตน

ภาพ The Creation of Pandora โดย John D.Batten,1913

เมื่อเหล่าทวยเทพสร้างนางแพนโดราเสร็จ  เทพบดีได้มอบกล่องปริศนาใบหนึ่งให้นาง พร้อมกำชับว่า ไม่ให้เปิดกล่องใบนี้ออกดูเป็นอันขาด เพราะซุสเชื่อว่าการกล่าวอย่างนี้เป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ก่อนออกอุบายมอบนางให้กับโพรมิธิอุส แต่เขาดันรู้ทันอุบายของเหล่าเทพด้วยกันจึงไม่รับไว้ และกำชับไปยังน้องชายตนไม่ให้รับนางแพนโดราเช่นกัน แต่ด้วยความงามที่ต้องตา เอพิธิอุส จึงรับนางมาเป็นภรรยาและใช้ชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ 

อนิจจากลลวงที่เทพบดีวางไว้ดันเป็นไปตามแผน วันหนึ่งนางแพนโดราเกิดสงสัยว่าอะไรอยู่ในกล่องใบนั้น นางจึงค่อย ๆ แง้มฝากล่องเปิดดู แต่แล้วสิ่งที่อยู่ในนั้นได้พวยพุ่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ทนทั้งปวง ความชั่วร้าย มหันตภัยต่าง ๆ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

ตำนานนานดังกล่าวถูกนำไปใช้วิเคราะห์และอุปมาในหลายแง่มุม ทว่าเมื่อกลับมาดูสถานการณ์โลกในปัจจุบัน จากคำพูดของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ที่ประกาศว่า 

“มนุษยชาติได้เปิดประตูสู่ขุมนรก จากการที่ปล่อยให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า ซึ่งกำลังนำพาดาวเคราะห์ดวงนี้ไปสู่อนาคตที่อันตรายและไม่มั่นคง” 

คำกล่าวนี้ดูจะจำกัดความได้ดีถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ คลับคล้ายคลับคลากับตำนานการเปิดกล่องของแพนโดรา ต่างก็เพียงคราวนี้มนุษย์ไม่ได้ปลดปล่อยหายนะเพราะความอยากรู้อยากเห็น แต่เป็นไปเพราะการเพิกเฉยและไม่จริงจังต่อหายนะทางธรรมชาติและปัญหาทางสภาพภูมิอากาศในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทบาทของประเทศมหาอำนาจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วโลก

ที่มาภาพ: CNN

คำกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นบนเวทีประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นการตำหนิไปยังประเทศร่ำรวยและกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พยายามขัดขวางการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่ล่าช้าไปหลายทศวรรษ เมื่อวัดจากภารกิจที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะบรรลุการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นไม่กี่อาทิตย์หลังจากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประเทศโมร็อกโก สำนักข่าว BBC รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ สร้างแรงสั่นสะเทือนไปหลายพื้นที่ ทั้งเมืองชายฝั่งทะเลอย่างราบัต, คาซาบลังกา , เอสเซาอิรา และกรุงราบัต เมืองหลวงของโมร็อกโก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่ามีผู้เสียชีวิตเฉียด 3,000 คน 

ที่มาภาพ: bbc.com/thai

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (11 ก.ย.) ที่ประเทศลิเบีย  ได้เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ จากการที่พายุแดเนียลได้พัดเข้าถล่มจนก่อให้เกิดฝนตกหนักเป็นปริมาณฝนที่มากเป็นประวัติการณ์ มวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่เมืองเดอร์นา ซึ่งมีผู้อาศัยถึง 100,000 คน เกิดเขื่อนแตกถึง 2 แห่ง หลังรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ไหว จนพื้นที่ 1 ใน 4 ของเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติในครั้งนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 11,000 คน และยังมีผู้สูญหายอีกมากกว่า 10,000 คน

ที่มาภาพ: bbc.com/thai

นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ท่ามกลางภัยพิบัติน้อยใหญ่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าโหมกระหน่ำทั่วยุโรปใต้และแอฟริกาเหนือ หรือภัยเงียบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  กลายเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านที่น่าขนลุกจากภาวะโลกร้อนที่เราได้ยินกันมานานเป็นทศวรรษ ก้าวมาสู่ภาวะ ‘โลกเดือด’ หรือ Global Boiling โดยสมบูรณ์ ภายหลังองค์การสหประชาชาติออกประกาศว่าเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของโลกในรอบ 120,000 ปี อันมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ทั่วโลก ที่เร่งเดินเครื่องการผลิตเพื่อตอบสนองการบริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งนี้กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายของมนุษยชาติ 

เมื่อการผลิตต้องหมุนไปตามโลกทุนนิยม ขณะเดียวกันการปกป้องโลกจากวิกฤตโลกเดือดก็เป็นภารกิจที่ต้องเดินขนาบข้างกันไป หลายปีที่ผ่านมาสหสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้ประเทศสมาชิกร่วมกันคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบอกว่าจะทำได้ตามเป้าหมายนั้น ก็ต่อเมื่อโลกบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และกระตุ้นให้ทุกประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก่อนที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกลายมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการที่ผ่านมาจะไม่เป็นไปตามที่วางไว้ และผลกระทบส่วนใหญ่ดันไปตกอยู่กับกลุ่มประเทศเปราะบาง

“ประเทศที่ยากจนหลายประเทศมีสิทธิ์ทุกประการที่จะโกรธ พวกเขาต้องทุกข์ทรมานจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่พวกเขาไม่ได้ก่อ โกรธที่การส่งมอบเงินทุนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศที่มีความเปราะบางไม่เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม โกรธที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่สภาพอากาศเปลี่ยนไปยังคงมีต้นทุนที่สูง” กูเตอร์เรสเน้นย้ำประเด็นนี้ในที่ประชุม

ที่มาภาพ : UN

The Guardian รายงานว่าการประชุมสุดยอดดังกล่าวถือเป็นการประณามอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่การประชุมหลายครั้งที่ผ่านมามักจะหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวโจมตีอย่างตรง ๆ และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือการประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้นำกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการหารือถึงทางออกของสภาพภูมิอากาศ แต่กลับไม่ปรากฎผู้นำจากประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน 

นอกจากนี้เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ นเรนทรา โมดิ ประธานมนตรีอินเดีย ยังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และโดยเฉพาะริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ประกาศลดทอนนโยบายของสหราชอาณาจักรในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

ไทยกับพันธกิจลดปัญหาโลกเดือด

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย การเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลกมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า ล่าสุดจากการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศพร้อมกับเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทำให้เราเห็นภาพความพยายามของรัฐไทยที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้ 5 ด้านใหญ่ ๆ ด้วยกัน

  1. ปรับปรุงแผนพลังงานแห่งชาติ เน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน การเตรียมการยกเลิกการผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน
  2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา การกำหนดโครงสร้างราคาไฟฟ้าสีเขียว 
  3. การปรับตัวไปสู่การเกษตรยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
  4. ผลักดันกลไกการเงินสีเขียวผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และพัฒนา Sustainabilty-linked Bond
  5. ออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ โดยจะสนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน

ที่มาภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จนถึงปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 ซึ่ง ส่วนการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งก็ถูกขานรับจากภาคธุรกิจไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี 2573 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนความพยายามของรัฐไทยที่จะช่วยลดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และมุ่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว แต่คำถามที่ตามมาก็คือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยที่มีมากกว่า 3 ล้านราย จะสามารถปรับตัวตามได้มากน้อยแค่ไหน เพราะนัยหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องนั่นคือ ‘เงินทุน’ 

‘เงินทุน’ อุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’

ดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจขนาดใหญ่กับกลุ่ม SMEs ไว้อย่างน่าสนใจว่า ธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เดินหน้าปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะภาคการผลิตและธุรกิจขนส่ง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าภาคอื่น ๆ แต่ปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องเร่งปรับตัวก็คือ คู่ค้าหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายบังคับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นแรงกดดันให้ต้องหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าไปแข่งขันในตลาดยุโรป และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและพลังงานสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องหันไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน

หลายบริษัทหันมาลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และสร้างโรงงานที่ใช้พลังงานแบบผสมผสานภายในอาคารและโรงงานมากขึ้น สำหรับบางบริษัทที่ไม่ได้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่มีความใส่ใจในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะได้ใบรับรองเก็บเอาไว้ใช้เป็นหลักฐานเพื่อจัดทำรายงานความยั่งยืนและการจัดอันดับของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ

บางบริษัทปรับมาใช้สินค้าและอุปกรณ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ชุดแต่งกายพนักงานที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล  เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าพรีเมียมสำหรับลูกค้า 

อย่างไรก็ตามที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เพราะการลงทุนเพื่อความยั่งยืนต้องใช้เงินทุนสูงและใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน โดยภาคธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ มีเงินทุนน้อยกว่า ประกอบกับเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 จึงยังไม่พร้อมที่จะลงทุน เช่นเดียวกับธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ที่มองว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน เนื่องจากยังลูกค้ายังไม่พร้อมจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้น หากโรงแรมเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่มีต้นทุนสูงกว่า แต่โรงแรมหลายแห่งก็เริ่มปรับตัวให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น คัดแยกขยะ รณรงค์ให้ลูกค้าไม่ต้องเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวทุกวันเพื่อลดการใช้น้ำ

เห็นได้ว่าหนึ่งในอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวคือเงินทุน เพราะแนวทางในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสีเขียว จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง

ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า ภาคการเงินจึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนแก่ภาคธุรกิจเพื่อลงทุนปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว แต่ปัจจุบันความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน ทำให้การจัดสรรเงินทุนไม่ตรงจุดและไม่เพียงพอ ภาคการเงินจึงต้องพร้อมสนับสนุนเงินลงทุน เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างทันการณ์ ส่วนภาครัฐควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างชัดเจน

ที่มาภาพ: curlytales.com

ทั้งนี้เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านโยบายเศรษฐกิจสีเขียวในยุครัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างไร และในอนาคตอันใกล้นี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับแรงสนับสนุนทางการเงินเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นระบบมากน้อยขนาดไหน เพื่อไม่ให้คำว่ารักษ์โลกกลายเป็นเพียงสโลแกนลอย ๆ ที่แปะเอาไว้ประหนึ่งเครื่องประดับ เพราะทุนธรรมชาติล้วนเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เรื้อรังมานานหลายทศวรรษและเคยดูราวกับเป็นเรื่องไกลตัว ทุกวันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป แม้ว่ามนุษย์จะได้เปิดประตูนรกปลดปล่อยเอาคลื่นความร้อน และหายนะทางธรรมชาติออกมาแล้ว อย่างไรก็ดีในนั้นยังคงมีสิ่งที่เรียกว่าความหวังซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ยังคงอยู่ในก้นกล่องของแพนโดรา

อ้างอิง : theguardian / pptvhd36 1 / bbc 1 / ejan / bot / posttoday / mfa / thethaiger / thaipublica

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า