fbpx

#เรียนผู้ว่ามหานคร : เมื่อ ‘เมืองสีเขียว’ ของเราไม่เท่ากัน

ท่ามกลางแสงแดงและอากาศอันร้อนระอุ ควันดำโขมงจากท่อไอเสีย อากาศที่เป็นมลพิษของกรุงเทพมหานคร หากจะมีสิ่งใดที่จะสามารถชุบชูใจคนกรุงเทพฯ ได้ ก็คงจะเป็นต้นไม้และพื้นที่สีเขียวที่ให้ความร่มรื่นและอากาศบริสุทธิ์ แต่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็หาสีเขียวจากต้นไม้ได้ยากเหลือเกิน หนำซ้ำที่มีอยู่อย่างน้อยนิด ก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ถูกตัด ถูกทอน ถูกปล่อยทิ้งร้าง จนนับวันพื้นที่สีเขียวก็ยิ่งน้อยลงทุกที และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครหลายคนต่างก็หยิบยกนโยบายเมืองสีเขียวขึ้นมาหาเสียงกันอย่างบ่อยครั้ง พร้อมคำมั่นว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ ให้มากขึ้นกว่านี้ แต่ก่อนหน้าที่เราจะหลงเคลิบเคลิ้มไปกับนโยบายของผู้สมัครฯ ลองมาย้อนดูกันดีกว่าว่าสถานการณ์พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร และข้อผิดพลาดในการจัดการพื้นที่สีเขียวของเราอยู่ตรงไหน 

เขียวไม่เขียววัดกันตรงไหน?

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครรวมเอาทุกพื้นที่ที่มีสีเขียว มาจัดประเภทเป็นสวนต่าง ๆ 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง สวนชุมชน สวนถนน สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก แต่การจัดประเภทแบบนี้ก็มีปัญหาอยู่ เพราะปัญหาทางด้านการตีความสวนประเภทต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น สวนหย่อมขนาดเล็ก กทม.อาจจัดเอาสวนเล็ก ๆ ของคุณพี่ข้างบ้านรวมเข้าไป หรือ พื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าคอนโดก็อาจถูกเหมาว่าเป็นสวนเฉพาะทางไปด้วยเลย ทั้ง ๆ ที่จริงจะเรียกว่าสวนเฉพาะทางก็ไม่ถูกนัก เรียกว่าสวนเฉพาะกลุ่ม (สมาชิกลูกบ้านคอนโด) น่าจะถูกกว่า

ด้วยวิธีการจัดพื้นที่สีเขียวแบบนี้ จึงทำให้ความเขียวในเชิงตัวเลข (ที่กทม.บอกเรา) กับความเขียวที่พวกเรารู้สึกได้นั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงเป็นประชาชนฝั่งพระโขนง ที่กทม.ระบุว่าเป็นเขตที่มีสวนมากที่สุดในเมืองนี้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง เขตพระโขนงไม่สวนสาธารณะแม้กระทั่งสวนเดียว แต่เพราะวิธีการวัดพื้นที่สีเขียวแบบพึลึกพิลั่นที่ขอแค่เป็นต้นไม้เขียว ๆ ก็จัดว่าเข้าข่ายหมด ดังนั้นสวนหย่อมหน้าบ้านทุกหลังในพระโขนงจึงถูกจัดเข้ารวมอยู่ในพื้นที่สีเขียวของ กทม.ไปโดยปริยาย

แค่เริ่มต้นวิธีการวัด ที่วัดเพียงสีเขียว แต่ไม่ได้วัดไปถึงสีเขียวที่เข้าถึงได้ ก็ทำให้ส่งผลต่อชุดข้อมูลที่ต่างก็ทำให้ฝ่ายบริหารเข้าใจผิด ประชาชนก็งง หาก กทม.ไม่เริ่มวิธีการวัดใหม่ที่วัดเฉพาะพื้นที่สีเขียว บริเวณที่มีต้นไม้ที่เป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ จะผู้ว่าฯ กี่รายก็ต้องล้มเหลวจากชุดข้อมูลที่ผิดพลาดเรื่อยไป

ปลูกเยอะก็จริง แต่ปลูกอะไร?

เมื่อกลับมามองที่องค์ประกอบพื้นฐานของความเขียว ซึ่งก็คือต้นไม้ เราจะพบว่าจริง ๆ แล้วกรุงเทพมหานครไม่ได้มีต้นไม้น้อยเลย และผู้ว่าฯ หลายคนในอดีตก็ต่างมีนโยบายปลูกต้นไม้ให้เมืองอยู่หลายต่อหลายครั้ง และแต่ละครั้งจำนวนก็ไม่ใช่น้อย ๆ เลย ผู้ว่าฯ ในอดีตอย่าง เชาวน์วัศ สุดลาภา ปลูกต้นไม้ไปกว่า 100,000 ต้น เทียม มกรานนท์ ปลูกไป 93,281 ต้น พิจิตต รัตกุล ปลูกไป 401,600 ต้น อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็มีการประดับตกแต่งต้นไม้ตามพื้นที่ต่างๆ กว่า 2,700,000 ต้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ปลูกไปกว่า 4,438 ต้น และ อัศวิน ขวัญเมือง ก็ปลูกไปกว่า 1,025,943 ต้น

จะเห็นได้ว่าปริมาณการปลูกต้นไม้ของกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้น้อยเลย แต่ทำไมเรากลับไม่รู้สึกว่านี่คือเมืองสีเขียวที่ร่มรื่น เย็นสบายเลยแม้แต่น้อย นั่นเป็นเพราะต้นไม้ที่กรุงเทพฯ ปลูกโดยมาก มักเป็นไม้ประดับ ไม้ดอกล้มลุก ไม้กระถาง เพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์เสียมากกว่า  โดยดอกบานชื่นเป็นไม้ดอกที่ใช้ในการตกแต่งเมืองมากที่สุด กว่า 9 สายพันธุ์ มีการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ 360,000 เมล็ด รองลงมาคือดาวเรือง 320,000 เมล็ด ซึ่งก็เป็นไม้ดอกเช่นกัน

ต้นไม้อีกชนิดที่ กทม.ปลูกเป็นจำนวนมากก็คือต้นชาฮกเกี้ยน หรือไม้ดัดที่เราเห็นกันตามรั้วทางเดินทั่วไปในเมือง ก็มีจำนวนกว่าสามแสนกว่าต้น แม้จะมีจำนวนเยอะ แต่ในเชิงผลลัพธ์ก็เน้นไปที่การประดับตกแต่งเสียมากกว่า

สบายตา แต่ไม่สบายตัว

ผลที่ตามมาจากการเน้นการปลูกต้นไม้เพื่อทัศนียภาพอันสวยงาม แม้จะสร้างความสบายตา แต่กลับไม่สบายตัว เพราะท่ามกลางสีเขียว (และไม่เขียว) ที่ถูกถมมานั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ ในแง่อื่นเลย ทั้งการให้ความร่มรื่น การจัดการกับฝุ่นควันและมลพิษ กรุงเทพฯ แต่อย่างใด ร้อนอย่างไร ก็ร้อนต่อไปอย่างนั้น

ดังนั้นกรุงเทพฯ ต้องหันมาปลูกต้นไม้ที่เน้นไปที่ประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากความสวยงามให้มากกว่านี้ โดยพิจารณาตามเป้าหมายที่ต้องการ หากจะต้องเกิดให้เกิดความร่มเงา ก็ต้องเน้นไปที่พรรณไม้ที่มีเรือนยอดกว้าง เช่น ขี้เหล็ก ขี้เหล็กอเมริกา แคแสด ตะแบก นนทรี ประดู่ ปีบ พะยอม พิกุล มะขาม มะฮอกกานี เสลา กระทิง สะเดา สารภี อินทนิลน้ำ และอินทนิลบก เป็นต้น 

หากคิดโดยมองไปที่ประโยชน์ของต้นไม้มากขึ้น ก็จะทำให้การปลูกไม้ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่อง ‘สวยแต่รูป จูบไม่หอม’ 

งบตกแต่งสูง งบดูแลต่ำ

แม้กทม.จะใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการตกแต่ง แต่งบที่ใช้ในการดูแลกลับต่ำ โดยงบประมาณจาก ‘แผนงานพัฒนาสภาวะสิ่งแวดล้อม’ ที่เน้นไปที่การตกแต่ง มีงบประมาณอยู่ที่ 1,498,307,140 บาท แต่งบค่าใช้จ่ายในเรื่องพื้นที่สีเขียวระดับเขตรวม 50 เขตจะอยู่ที่ 49,856,877 บาทเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ กทม. ควรจะจัดงบโดยให้ความสำคัญกับการดูแลต้นไม้ที่มีอยู่ให้มากกว่านี้ ไม่งั้นต่อให้จะปลูกอีกกี่หมื่น กี่แสนต้น ไม่นานก็จะเสื่อมโทรมและตายลงอยู่ดี และสุดท้ายก็จะวนลูปการซื้อตกแต่งไม่จบไม่สิ้นเรื่อยไป และความเขียวที่อุตส่าห์ทุ่มทุนสร้างไป ก็จะอยู่ได้เพียงชั่วพริบตา 

เมื่อ ‘เมืองสีเขียว’ ของเราไม่เท่ากัน

เห็นได้ชัดว่ามุมมองของคนที่อยู่ในเมือง และเมืองต่างก็มองเมืองสีเขียวในมุมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่คนต้องการเมืองที่ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย น่าอยู่ น่าเดิน เป็นความต้องการคุณภาพชีวิตสีเขียว แต่เมืองกลับมองว่าเป็นการระบายสีให้เมือง เพื่อสวยงาม สบายตา แขกไปใครมาก็ชมว่าสวย โดยไม่สนใจประโยชน์ในแง่อื่น ๆ เป็นภาพลักษณ์สีเขียวที่ยืนมองแล้วสบายตา แต่ไม่สบายตัว

ดังนั้นหากเราถูกใจผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชูนโยบายสีเขียวคนไหน เราอาจต้องมองไปให้ลึกกว่าคำมั่นสัญญาว่าจะปลูกต้นไม้เพิ่มกี่ต้น จะเพิ่มสวนกี่แห่ง แต่ต้องมองไปให้ลึกถึงมุมมองความคิดของเขาที่มีต่อพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ว่าเน้นภูมิทัศน์ หรือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักกันแน่ 

เพราะความเขียวของเราไม่เท่ากัน สีเขียวนั้นก็ไม่ได้มีเพียงเฉดสีเดียว แต่ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ถูกระบายสีเขียวเพียงไม่กี่เฉด ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเลือกคนที่จะเข้าไปเพิ่มมิติของสีเขียวให้หลากหลายขึ้นกว่านี้

22 พฤษภาคม 2565 คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้ 1 เสียง เพื่อเป็นหนึ่งพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงไปร่วมกัน และถ้าคิดว่ามีปัญหาที่เกี่ยวข้องหรือนอกเหนือจากนี้อีกสามารถติด #เรียนผู้ว่ามหานคร และ #ไทยรัฐทีวี32 เพื่อส่งปัญหาถึงผู้ว่าคนต่อไปของกรุงเทพมหานคร และอย่าลืมติดตามโครงการ Modernist Next บางกอก 2022 ได้ทาง Facebook / YouTube / Twitter / TikTok ของ Modernist เพียงพิมพ์คำว่า lifeatmodernist และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง themodernist.in.th/nextbangkok2022

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #เรียนผู้ว่ามหานคร ภายใต้ความร่วมมือของเว็บไซต์โมเดิร์นนิสต์และไทยรัฐทีวี ช่อง 32

อ้างอิงข้อมูล Rocket Media Lab

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า