fbpx

รู้หรือไม่ ? ตั้งรัฐบาลจาก “การเลือก” ตั้งครั้งแรกใช้เวลาแค่ 1 เดือน

สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากน่าจะกังวลไม่น้อยว่า เมื่อไหร่เราจะได้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเสียที เมื่อไหร่ กกต. จะรับรอง ไหนจะท่าทีของ ส.ว. และจำนวน ส.ส. ที่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งที่จริงแล้ว หากเราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย เราจะไม่จำเป็นต้องมากังวลในเรื่องเหล่านี้ เพราะในอดีต ประเทศไทยเองก็เคยมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วทันใจ นั่นคือ การเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลเพียง 1 เดือนเท่านั้น 

ฝ่ากระสุนลุยเลือกตั้ง

เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่รำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย นำโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยย่อมมีการเลือกตั้งตามมา เป็นการเลือกตั้งของประเทศไทย (หรือสยาม ณ ขณะนั้น) เป็นครั้งแรก และการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ก็สามารถรู้ผลและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ  

นกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งแรกนี้ยังเป็นการเลือกตั้งที่เรียกได้ว่าเกือบจะไม่ได้เลือก เพราะหากคณะราษฎรไม่สามารถสู้รบเอาชนะกบฏบวรเดชได้ จะนำประเทศกลับไปสู่ระบอบเก่า และอาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง แต่เมื่อคณะราษฎรสามารถเอาชนะกบฏบวรเดชได้ จึงนำไปสู่การเลือกตั้ง และรู้ผลในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 และมีการตั้งรัฐบาลในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2476 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าคณะราษฎรสามารถรักษาระบอบใหม่ที่เป็นระบอบประชาธิปไตยนำไปสู่การเลือกตั้งสำเร็จจากการสู้รบกับระบอบเก่าอย่างกบฏบวรเดช เป็นการฝ่ากระสุนเพื่อปูทางให้ประชาชนได้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นของตนเอง 

เลือกตั้งแบบอ้อม จากหมู่บ้าน สู่ผู้แทนราษฎร 

ด้วยเทคโนโลยี การสื่อสาร การจัดการเลือกตั้งแบบมีประสิทธิภาพ การศึกษา และความเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ณ ยุคเปลี่ยนผ่าน อาจยังไม่ทั่วถึงและ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศยังไม่สามารถเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ทั้งหมด  การเลือกตั้งครั้งแรกจึงเป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือให้ราษฎรเลือกตั้งตัวแทนหมู่บ้าน ให้ตัวแทนหมู่บ้าน ไปเลือกตั้งตัวแทนตำบล ตัวแทนตำบลไปเลือกผู้แทนราษฎร ทำให้การเลือกตั้งครั้งแรกเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมก่อน และในการเลือกตั้งในสมัยต่อมาจึงมีการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรง แต่ที่น่าสังเกตคือ ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งทางอ้อมในยุคที่เทคโนโลยีและเครื่องมือไม่เอื้ออำนวย (และไม่มี กกต.)  ก็ยังสามารถทำให้มีการเลือกตั้งและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้สำเสร็จ 

อายุ 20 ก็เป็นผู้แทนฯ ได้ 

ณ ปัจจุบัน การจะเป็นตัวแทนประชาชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น เป็นผู้แทนราษฎร มักติดขัดเรื่องเงื่อนไขอายุที่น้อยเกินไป ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ หรืออายุยังไม่ถึง 25 ปีบริบูรณ์ ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ ไม่เหมือนกับต่างประเทศ ประชาชนในบางประเทศเป็นนักศึกษาอยู่ก็สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ ไหนจะแนวคิดของคนไทยในยุคปัจจุบัน (ย้ำว่าปัจจุบัน) มีแนวคิดเรื่องอาวุโสโอเค อายุเท่านี้ถึงจะเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำได้  

แต่ในอดีต การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยกลับกำหนดอายุของผู้ที่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ นั่นหมายความว่า ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในมุมมองของคณะราษฎร ไม่ได้มองว่า ต้องอายุถึง 25 ปี ถึงมีความเหมาะสม แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการมองเรื่องเงื่อนไขอายุ แต่ที่พิเศษกว่าปัจจุบันคือมีการสอบ “วิชชาการเมือง” ตามหลักสูตรที่จัดสอบโดยสภา มีลักษณะคล้ายๆ กับต่างประเทศที่มีข้อสอบวัดประเมินความรู้ด้านการเมือง ตลอดจนประเมินการมีประชาธิปไตย เพื่อคัดคนที่เหมาะสมมาเป็นผู้แทนราษฎร (ทำให้นึกถึงว่าเพราะไม่มีการสอบอะไรแบบนี้หรือเปล่า ทำให้นักการเมืองหลายๆ คนพูดถึงการรัฐประหารเป็นว่าเล่น หรือมีแนวคิดให้ทำรัฐประหาร มากกว่าหาทางออกด้วยการเลือกตั้ง) 

การเลือกตั้งทันสมัย 

การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับ หรือเรียกว่านำเทรนด์กว่าหลายๆ ประเทศในสมัยนั้นเลยทีเดียว เพราะหลายๆ ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยังจำกัดสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ เช่น การให้สิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จ่ายภาษีถึงเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด การจำกัดสิทธิให้ผู้ชายมีสิทธิแต่ผู้หญิงไม่มีสสิทธิเลือกตั้ง หรือในสหรัฐอเมริกายังมิได้ให้พลเมืองที่เป็นคนผิวสีและชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยกลับเปิดกว้างอย่างมาก ไม่จำกัดเพศ อาชีพ สถานะเศรษฐกิจหรือสังคม แม้จะเป็นนักบวชก็สามารถใช้สิทธิเลือกผู้แทนได้ ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าของแนวคิดให้สิทธิเลือกตั้งแก่พลเมืองที่น่าสนใจ และเป็นกระจกมองประชาธิปไตย ณ ปัจจุบันกันเลยทีเดียว 

นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งครั้งแรกมีความก้าวหน้า และบางประเด็นนล้ำยุค ล้ำสมัย มากกว่าปัจจุบันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีอายุ 20 ปี เป็นผู้แทนราษฎร การให้สิทธิแก่นักบวชใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งที่แสนจะรวดเร็ว ขณะที่เครื่องมืออำนวยความสะดวก ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน หรือการที่ให้โอกาสคนทุกชนชั้น ไม่เหมือนในยุคปัจจุบันที่คนบางกลุ่มมองว่าคะแนนเลือกตั้งของคนในเมืองกรุงกับคนต่างจังหวัดไม่เท่ากัน หรือมองเรื่องเสียงของคนจนไม่มีความหมาย ประเทศอื่นๆ เขามีแต่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น แต่ประเทศเรากลับประชาธิปไตยถดถอยลง หรือนี่คือความผิดปกติของผู้ไม่ยอมรับกติกาการเลือกตั้ง มองเห็นเสียงประชาชนไม่มีความหมาย ใช่การรัฐประหารหรือเปล่า ใช่การไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือเปล่า แต่เราว่าประชาชนตื่นแล้ว แค่ใครบางคนยังไม่ยอมตื่นเท่านั้นเอง 

แหล่งอ้างอิง : wiki.kpi.ac.th / .kpi.ac.th / pridi.or.th

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า