fbpx

ย้อนไทม์ไลน์โครงการรถไฟฟ้า ใครคิด ใครทำ (ใครเคลม?)

หลังจากที่ประชาธิปไตยไทยมีสภาพซบเซามานานหลายปี ช่วงใกล้เลือกตั้งแบบนี้ บรรดานักการเมืองพรรคต่างๆ ก็พากันนำเสนอนโยบายใหม่ และรีวิวผลงานเก่าที่เคยทำไว้ เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน ใครที่สามารถสร้าง “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ให้กับประชาชนได้ ก็เท่ากับว่าได้โกยคะแนนนิยมไป

“โครงการรถไฟฟ้า” ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ถูกนำมาโปรโมต เพื่อขอคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบัน ที่พยายามเหลือเกินที่จะบอกว่า โครงการรถไฟฟ้านั้นเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาล อย่างในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวทำเนียบรัฐบาล ได้นำเสนอข่าวจากคณะโฆษก ระบุว่า “…รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบคมนาคมขนส่งทางราง”

ต่อมา ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ก็ปรากฏคลิปหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ระบุว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้พัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งที่หากย้อนดูข้อมูลให้ดีๆ จะพบว่า โครงการรถไฟฟ้านั้นถือกำเนิดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 และต้องสะดุดซ้ำซากจากเกมการเมือง กว่าจะมาถึงมือรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เรื่องมันเป็นมายังไง ก็ต้องมาไล่ไทม์ไลน์กันดูว่าที่จริงแล้ว โครงการรถไฟฟ้านั้น ใครคิด ใครทำ และใครกันแน่ที่เคลมผลงานทั้งหมด

โครงการรถไฟฟ้า เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร วาระที่ 1 ใน พ.ศ. 2547 โดยประกาศว่าจะสร้างสายรถไฟจำนวน 7 สาย ระยะทาง 291 กิโลเมตร จนกระทั่งในวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2548 ก็ได้มีการวางแผน “เมกะโปรเจ็กต์” เพิ่มโครงการรถไฟฟ้าเป็น 10 สาย ระยะทาง 333 กิโลเมตร 

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2549 รัฐบาลของทักษิณถึงคราวสะดุด เนื่องจากการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะในขณะนั้น และได้แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ. สุรยุทธ์ได้ดำเนินการตัดลดโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาลทักษิณ เหลือเพียง 7 สายระยะทาง 301 กิโลเมตร พร้อมอนุมัติรถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน)

ต่อมาใน พ.ศ. 2551 รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ได้เพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าเป็น 9 สาย ระยะทาง 430 กิโลเมตร พร้อมอนุมัติรถไฟฟ้า 1 สาย คือ สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) แต่ยังไม่ทันไรก็โดนสอยออกจากตำแหน่ง จึงทำให้ในปีเดียวกัน ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสด์ ที่ได้การรับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ทำให้นายสมชาย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ไม่มีการอนุมัติรถไฟฟ้า เพราะดำรงตำแหน่งเพียง 2 เดือนเท่านั้น

ไม่กี่วันต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ได้มีการประกาศเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าเป็น 12 สาย ระยะทาง 495 กิโลเมตร แต่ดำเนินงานเสร็จไม่เกิน 5 เส้นทาง โดยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่ได้ประมูลหาผู้ก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ พร้อมอนุมัติรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สายสีน้ำเงินต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ)

จะเห็นได้ว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลไปถึง 4 ชุด พอรัฐมนตรีใหม่เข้ามาก็สั่งรื้อแผนรื้องบประมาณ ศึกษาความเหมาะสมใหม่ เลยทำให้โครงการสร้างรถไฟฟ้าสะดุดอยู่เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2554 รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้ลงนามโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ต่อมาจึงปรับแบบสถานีกลางบางซื่อ และยื่นเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้จำนวน “2 ล้านล้านบาท” เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ แต่กลับถูกคัดค้าน โดยในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการอนุมัติรถไฟฟ้าได้เพียง 1 สาย คือ สายสีเขียวต่อขยาย (หมอชิต-คูคต)

และในพ.ศ. 2557 เกิดรัฐประหารโดย คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และครองตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 8 ปี ได้อนุมัติรถไฟฟ้าไปถึง 10 สาย คือ สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) สายสีแดงเข้ม (รังสิต-ธรรมศาสตร์) สายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) สายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก) สายสีแดงอ่อน (พญาไท-หัวหมาก)สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) สายสีสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศิริราช)

จากไทม์ไลน์ที่กล่าวมา ก็น่าจะเห็นได้ชัดว่าที่จริงแล้ว โครงการรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความคิดของใคร และวิธีการที่จะ “เคลม” ผลงานเหล่านี้เป็นของตัวเองได้นั้น มันถูกต้องหรือไม่ ก็ให้ข้อมูลเป็นคำตอบก็แล้วกัน

ที่มา : thaigov / mgonline

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า