fbpx

ความเท่า-“เทียม” ทาง “แพทย์” สิทธิการแปลงเพศ และอคติต่อ LGBTQIA+ ในสังคม

ช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเด็น “ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นภาพตรงกัน ในอันที่จะผลักดันให้ทุกคนเสมอภาคกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการสมรส การรักษา รวมไปถึงการ “แปลงเพศ” เมื่อผู้นั้นสมัครใจ

ทว่าเมื่อมีข่าวการปรับสิทธิประโยชน์ของบัตร “30 บาท” ให้ครอบคลุมถึงสิทธิการผ่าตัดแปลงเพศ กลับมีคนบางกลุ่มออกมาคัดค้านการปรับปรุงสิทธิดังกล่าวว่าไม่ใช่ความจำเป็นหลัก หรือแม้กระทั่งมองว่าเป็นการเป็นคนข้ามเพศเป็น “โรค” ที่ไม่จำเป็นต้องรักษา ทัศนคติเชิงลบต่อบุคคลข้ามเพศเช่นนี้เป็นสิ่งที่ส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มว่าจะไม่หายไปง่าย ๆ

ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การแพทย์” ยิ่งยากขึ้นไปอีก

ในยุคหนึ่ง โรคเอดส์รวมถึงการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีถูกมองว่าเป็นโรคของเกย์ เนื่องจาก “Ken Horne” ผู้ติดเชื้อ HIV รายแรกในสหรัฐอเมริกา ได้รับเชื้อจาก Sex Worker ชาย และปีต่อมา มีรายงานผู้ติดเชื้อทางภูมิคุ้มกันที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ HIV จากชายรักชาย จนทำให้โรคนี้เคยถูกเรียกว่า “โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดในเกย์” (Gay-related Immune Deficiency; GRID) ซึ่งกว่าจะลบเลือนอคติทางเพศในโรคเอดส์ไปจากความคิดของคนได้ก็ใช้เวลานานมากทีเดียว

นอกเหนือจากนี้ ประเด็นการ “ไม่รับเลือดชายรักชาย” ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศประสบปัญหา เนื่องจากนโยบายการรับบริจาคโลหิตของศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยยังคงกำหนดชัดเจนว่าไม่รับบริจาคเลือดของชายรักชายถาวร จนกว่าจะมีงานวิจัยในประเทศไทยที่รองรับว่าเลือดชายรักชาย “ปลอดภัย” ต่อการบริจาค

ถึงแม้ว่าปัจจุบันสภากาชาดไทยจะกำลังวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงของเลือดชายรักชายเพื่อการขยายเกณฑ์รับบริจาคโลหิต แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการไม่รับเลือดชายรักชายมีที่มาส่วนหนึ่งจากอคติทางเพศจากโรคเอดส์ในยุคก่อนหน้าด้วย และเมื่อประกอบกับความเกลียดชังทางเพศ การเลือกปฏิบัติ และสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกับคนรักต่างเพศในสังคม ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศกับการเมืองแยกจากกันไม่ออก

จนกระทั่งปัจจุบัน นโยบายที่ส่งเสริม “ความเท่าเทียมทางเพศ” ได้รับการผลักดันให้สามารถทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถทำการสมรสและทำนิติกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีและเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่น่าจับตามองในรัฐสภา สมัยประชุมต่อไป รวมถึงการผลักดันสิทธิการแปลงเพศให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ถ้วนหน้า ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ขณะนี้

ก่อนอื่น พึงเข้าใจให้ตรงกันว่า เดิมสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เราเรียกกันว่าสิทธิ “30 บาท” นั้นครอบคลุมการผ่าตัดแปลงเพศสำหรับผู้มีภาวะเพศกำกวม (Intersex) อยู่แล้ว ทว่าปัญหาสำคัญของการผ่าตัดแปลงเพศคือการทำหัตถการต่าง ๆ ที่ตามมาห ดังนั้น การผ่าตัด “แปลงเพศ” จึงมิใช่ “การผ่าตัดเสริมความงาม” แต่อย่างใด แต่เป็นการ “ยืนยัน” อัตลักษณ์ทางเพศของคน ๆ นั้น รวมถึงยังมีภาวะทางจิตเวชหลายอย่างที่สามารถแก้ไขผ่านการผ่าตัดแปลงเพศได้

ตัวอย่างที่เราจะยกมาคือ “Gender Dysphoria” หรือความทุกข์ใจในเพศสภาพ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่สอดคล้องกันของเพศกำเนิดกับเพศสภาพของตน เช่นเราอาจจะเป็นเพศกำเนิดหญิง แต่แสดงออกอย่างเพศชาย ซึ่งความไม่สอดคล้องกันนี้เองส่งผลให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก รวมถึงประสบปัญหาการยอมรับจากคนรอบข้าง การผ่าตัดแปลงเพศอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถรักษาภาวะดังกล่าวได้

นอกจากนี้ กระบวนการการเข้าสู่การผ่าตัดแปลงเพศจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้จิตแพทย์ในการพูดคุยเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ตรงกับ “ใจ” ของผู้ที่ต้องการจะผ่าตัดแปลงเพศอย่างแท้จริง เหตุผลที่ยกมาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า สิทธิการรักษาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศใช่ว่าจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ลึกลงไปแล้ว ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่กระบวนการทางการแพทย์สามารถเข้ามาเยียวยาความเจ็บป่วยของจิตใจด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น รายละเอียดการเพิ่มสิทธิการรักษาของผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม แต่หนึ่งสิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ วาทกรรมทางการแพทย์ที่ส่งต่อกันมาตลอดว่าความหลากหลายทางเพศเป็น “โรค” ที่ต้องการการรักษา เป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยก้าวไม่พ้นอคติทางเพศเสียที

สวัสดิการสังคมที่รองรับ LGBTQIA+ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้น “จริง”

และสิ่งที่สมควรรักษาที่แท้จริงคือความเกลียดชังทางเพศที่เกิดขึ้นและฝังรากลึกอยู่ในสังคมของเรา

แหล่งอ้างอิง: bbc / hfocus / Thammasat University / a day / National Library of Medicine / Blooddonationthai / PPTV / The Standard / Psychiatry

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า