fbpx

ผลวิจัยในสหรัฐฯ เผย ลูกเจน Y – เจน Z ยังคงให้พ่อแม่ช่วยเหลือด้านการเงิน แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

โดยทั่วไปเรามักเชื่อกันว่า ในประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่นหรือบรรลุนิติภาวะแล้ว พวกเขาจะเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเอง มีชีวิตของตัวเอง โดยไม่พึ่งพาพ่อแม่อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะล่าสุดมีผลสำรวจพบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และหลายครั้ง เงินช่วยเหลือเหล่านั้นก็เป็นเงินเก็บหลังเกษียณของพ่อแม่  

ผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ของ Bankrate บริษัทให้บริการด้านการเงินในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งสำรวจผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จำนวน 2,346 คน โดยในจำนวนนี้ มีสถานะเป็นพ่อแม่ 773 คน พบว่า พ่อแม่ในสหรัฐฯ 68% หรือคิดเป็นเกือบ 7 ใน 10 ที่มีลูกอายุ 18 ปีขึ้นไป เคยเอาเงินของตัวเองมาช่วยลูกๆ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เงินดังกล่าวเป็นเงินเก็บฉุกเฉิน โดยกว่าครึ่งหนึ่งของพ่อแม่ที่ถูกสำรวจระบุว่า พวกเขาเอาเงินเก็บมาช่วยลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว  และ 1 ใน 5 ช่วยเป็นเงินก้อนโตเสียด้วย   

นอกจากนี้ พ่อแม่เกือบครึ่งหนึ่งเลื่อนการจ่ายหนี้สินของตัวเองออกไปก่อนเพื่อนำเงินมาช่วยลูก  และกว่า 2 ใน 5 นำเงินเกษียณของตัวเองมาช่วยลูก ยิ่งไปกว่านั้น พ่อแม่ 16% เลื่อนแผนการนำเงินที่มีไปซื้อสิ่งที่ตัวเองอยากได้มานาน และนำเงินจำนวนนั้นไปช่วยเหลือลูก 

สาเหตุของปรากฏการณ์นี้ เป็นเพราะผู้ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเจน Y และ Z ต่างประสบภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่อยู่หลายครั้งในช่วงชีวิตของพวกเขา  ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หรือ Great Recession และผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินตามมา   

นอกจากนี้ คนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ จำนวนมากยังต้องรับมือกับราคาบ้านที่พุ่งขึ้นราวติดจรวด และหนี้การศึกษา ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในช่วงที่พวกเขาอยู่ในวัย 20 – 30 กว่าๆ 

ชาวอเมริกันมองว่า เมื่อเข้าสู่อายุ 18 ปี ก็จะถือว่าเป็นผู้ใหญ่อย่างเป็นทางการ และการจะจับจ่ายสิ่งใดๆ ด้วยตนเอง ก็จะเริ่มขึ้นเมื่อมีอายุประมาณ 20 – 23 ปี และความคิดในเรื่องอายุกับการพึ่งพาตัวเองเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ดูจะแตกต่างในกลุ่มคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่  เพราะในขณะที่กลุ่มเจน Z เชื่อว่า พ่อแม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและประกันต่างๆ ให้ลูกไปจนถึงอายุ 21 ปีเป็นอย่างต่ำ  แต่คนในยุคเบบี้บูมเมอร์ กลับเชื่อว่า เด็กควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยตนเองได้แล้ว ตั้งแต่อายุ 19 ปีเป็นต้นไป  

ผลวิจัยล่าสุดจาก  Ameriprise Financial  บริษัทให้บริการด้านการเงิน พบว่า กลุ่มคนเจน Y หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 27 – 42 ปี  6 ใน 10 รู้สึกดีเกี่ยวกับสภาพการเงินของตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ โดยเกือบ 8 ใน 10 หรือคิดเป็น 78% ยอมรับว่า ยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินบางอย่างจากพ่อแม่อยู่ เช่น ค่าเล่าเรียน เงินดาวน์รถและบ้าน หรือได้เงินมรดก และเงินช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ใช่ก้อนเล็กๆ ด้วย คนเจน Y 27% ได้เงินช่วยเหลือจากพ่อแม่อย่างต่ำ 25,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9 แสนบาท แต่บางคนก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือเป็นรูปตัวเงิน แต่ได้รับการช่วยเหลือในลักษณะที่เป็นการพักอาศัยอยู่กับพ่อแม่แทน

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องดีที่ลูกยังคงได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่ แม้ตัวเองจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินแนะนำว่า อย่าเอาเงินเก็บยามแก่เฒ่ามาช่วยลูก ถึงแม้จะเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่อยากปูทางให้ลูกประสบความสำเร็จ แต่ในเวลาเดียวกัน พ่อแม่ก็ควรสอนให้ลูกยืนบนขาตัวเองให้ได้  และจะดีกว่า หากพ่อแม่เห็นลูกแก้ปัญหาทางการเงินได้ด้วยตัวเอง รับผิดชอบชีวิตตัวเองได้อย่างชาญฉลาด  

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ถ้าเทียบกันระหว่างพ่อแม่ที่เป็นคนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ กับพ่อแม่ที่เป็นคนเจน X หรือมีอายุระหว่าง 43 – 58 ปี พ่อแม่ที่เป็นคนเจน X มีแนวโน้มจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บุตรหลานมากกว่า โดยครอบครัวชาวอเมริกันรายได้น้อย ที่มีรายได้ไม่ถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือไม่ถึง 1.75 ล้านบาทต่อปี มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือลูกตัวเองในเรื่องการเงิน มากกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่านี้  

นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาวุโสของ Bankrate ระบุว่า การนำเงินเก็บหรือเงินเพื่อการลงทุนมาช่วยเหลือแก่ลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจทำให้การเงินของพ่อแม่อยู่ในสถานะเสี่ยง การช่วยเหลือลูกอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์ หากพ่อแม่ช่วยจนเกินกำลังตัวเอง และจะก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงิน จนทำให้สุดท้าย พ่อแม่ก็กลับกลายเป็นฝ่ายต้องไปหยิบยืมลูกเสียเองในบางครั้ง  วนไปเวียนมาเช่นนี้ไม่สิ้นสุด

ที่มา : finance.yahoo

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า