fbpx

จาก “พระเจ้าตาก” ถึง “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

       เมื่อ 253 ปีที่แล้วเป็นวันที่พระเจ้าตาก (สิน) หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเพื่อฟื้นฟูราชอาณาจักรอยุธยา ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพอังวะบุกพิชิต และสูญสิ้นไปในที่สุด

       ภายใต้ข้อจำกัดภายหลังฟื้นฟูราชอาณาจักรอยุธยา ที่ตั้งของอยุธยาแห่งเดิมไม่สามารถกลับมาเป็นฐานที่มั่นได้อีกครั้ง เพราะเป็นพื้นที่ดังกล่าวกว้างขวางเกินไป ยากแก่การจะดูแลให้ทั่วถึง จึงได้หันมาสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เพราะเป็นเมืองป้อมปราการเดิม มีขนาดเล็ก เหมาะแก่การดูแลและป้องกันข้าศึก

       เมื่อพูดถึงพระเจ้าตาก (สิน) ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องพูดถึงงานของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ผู้ปลุกประวัติศาสตร์นอกขนบ แหวกประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมให้เหล่านักอ่านตื่นรู้ด้านประวัติศาสตร์ ผลงานที่ต้องพูดถึงและมีการตีพิมพ์มากกว่า 10 ครั้ง คือผลงาน “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี”

       The Modernist พาไปเปิดผลงาน “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนุบุรี” งานเขียนเล่มมาสเตอร์พีซของนิธิ เอียวศรีวงศ์  เพื่อรำลึกถึง นิธิ รำลึกถึงพระเจ้าตาก (สิน) ในวันครบรอบสถาปนากรุงธนบุรี และเป็นวันที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม หลังจากที่งานเขียนประวัติศาสต์ของเขาได้ก่อเกิดและเป็นสายธารสร้างความเติบโตของประวัติศาสตร์ไทยที่หลุดพ้นจากความเป็นชาตินิยม

รสชาติของการปลดแอกประวัติศาสตร์ชาตินิยม

       งานของนิธิเป็นงานที่พยายามออกจากขนบ ตั้งคำถามใหม่ๆ ในวงการประวัติศาสตร์ ผลงานเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานเช่นกันที่ทำให้เกิดความท้าทายและการถกเถียงในวงการประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการสลายตัวของราชอาณาจักรอยุธยา ที่ไม่ได้บรรยายภาพแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยม ที่มักจะกล่าวถึงความเลวร้ายของราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอยุธยา อย่างราชวงศ์บ้านพลูหลวงแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยม โดยมองว่าเป็นราชวงศ์ที่เลวร้ายไร้ศีลธรรม กษัตริย์แย่งสมบัติกันเอง 

       ตัวอย่างเช่นพระเจ้าเอกทัศที่ถึงขนาดมีฉายาว่า “ขุนหลวงขี้เรื้อน” แต่งานของนิธิกลับมองเรื่องนี้ว่าเป็นความเสื่อมของระบบไพร่ที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ไม่สามารถควบคุมไพร่ได้อีกต่อไป ทำให้เกิดไพร่หนีออกจากระบบ ไม่มีแรงงาน ไม่มีกำลังพลทั้งกิจการภายในและภายนอกยามสงคราม รวมถึงการรวมศูนย์อำนาจของอยุธยาตอนปลายที่มีตำแหน่งยกกระบัตร ทำให้ระบบเจ้าเมืองอ่อนแอเมื่อมีสงครามทำให้ข้าศึกสามารถพิชิตพระนครได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การล่มสลายของอยุธยานั่นเอง

         หรือจะเป็นในเรื่องภูมิหลังของพระเจ้าตากที่เป็นลูกจีน และการได้ตำแหน่งเจ้าเมืองนั้น บ่งบอกถึงบทบาทของคนจีนในกรุงศรีอยุธยา ในแง่บทบาททางการค้า ถึงขนาดเป็นเจ้ากรมท่าซ้าย อย่างตำแหน่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ตำแหน่งเจ้าเมืองตากของพระยาตากเอง ก็ยังมีการวิ่งเต้นของชาวจีนที่ร่ำรวยจนมียศมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง สะท้อนถึงระบบเส้นสายและระบบอุปถัมภ์ของอยุธยา ที่ตำแหน่งขุนนางสามารถซื้อขายกันได้ และมีความลื่นไหลของชนชั้นที่ไม่ได้จำกัดแต่ในวงชั้นสูงแต่อย่างเดียว

         ในส่วนของบทการรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยา เรื่องความจำเป็นของการปราบก๊กเจ้าพิมาย ความหมายทางการเมืองที่ต้องปราบลงให้ได้ เพื่อจะได้ทั้งความชอบธรรมและการสืบต่ออำนาจของอยุธยา จำเป็นต้องกำจัดกรมหมื่นเทพพิพิธ ผู้เป็นทายาทของกษัตริย์อยุธยาเสียก่อน ถึงจะได้รับการยอมรับจากทั้งภายในอาณาบริเวณของราชอาณาจักรอยุธยาเดิม รวมถึงประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะจีนเป็นต้น

       บทที่ชื่อว่า ราชอาณาจักรอยุธยาในการเมืองแบบชุมนุม บ่งบอกถึงการหมุนกลับของระบบสถาบันและตัวบุคคล เพราะแต่เดิมอยุธยายังมีกลิ่นอายของสถาบันอยู่แต่ภายหลังอาณาจักรล่มสลาย การเมืองแบบเน้นตัวบุคคลมีความสำคัญมากกว่า รวมถึงความเข้มแข็งของผู้นำ อัจฉริยะภาพของผู้นำ เพราะยามบ้านเมืองล่มสลาย บุคคลที่โดดเด่นขึ้นมาต้องมีลักษณะนักรบ จึงไม่แปลกที่พระยาตากหรือพระเจ้าตาก (สิน) จึงขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นนั่นเอง 

       และเมื่อเน้นตัวบุคคล ในยามที่บ้านเมืองถูกสถาปนาระบบขึ้นมาอีกครั้ง สถาบันจึงกลับมามีความสำคัญ จึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่พระเจ้าตากต้องสำแดงตัวเป็นประมุขของคณะสงฆ์นำไปสู่การสลายตัวของการเมืองแบบชุมนุมและนำไปสู่การรวมกลุ่มของขุนนางผู้ดีเก่ากรุงศรีอยุธยา ที่มีเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้นำในการโค่นล้มพระเจ้าตาก โดยอ้างเหตุว่าพระเจ้าตากวิปลาส จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจและสถาปนาอำนาจใหม่ที่เป็นกลุ่มผู้ดีเก่าขึ้นมา

        ประเด็นนี้ นิธิแย้งว่า การวิปลาสหรือการบ้าของพระเจ้าตากนั้น เป็นการเขียนผ่านมุมมองผู้ดีเก่าที่โค่นล้มพระเจ้าตาก เพราะพระเจ้าตากทำตัวเป็นพระมหากษัตริย์สามัญชน หรือเป็นกษัตริย์อย่างไพร่ ไม่ได้มีความหรูหรา พิธีรีตองการสร้างตัวตนให้ดูลึกลับเฉกเช่นกษัตริย์อยุธยา ตลอดจนไม่มีเครือข่ายผู้ดีเก่า ขุนนางเก่า เฉกเช่นเจ้าพระยาจักรีที่มีเครือข่ายกว้างขวาง ทำให้ถูกฝ่ายผู้ดีเก่าโค่นล้มอำนาจ ฆ่าล้างวงศ์พระเจ้าตากที่ดูแล้วจะเป็นเสี้ยนหนาม และสถาปนาอำนาจเฉกเช่นราชอาณาจักรอยุธยา ซึ่งเปรียบประดุจความฝันและความทรงจำร่วมของขุนนางผู้ดีเก่าอีกครั้งหนึ่ง โดยกำจัดพระเจ้าตาก (สิน) และพวกออกไป นำไปสู่การล่มสลายการเมืองแบบชุมนุมและเกิดการเมืองแบบสถาบันเข้ามากดทับและปกปิดร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ไพร่หรือคนธรรมดามีบทบาท

นิธิมองประวัติศาสตร์คือเรื่องของมนุษย์และความเท่าเทียม

      จากผลงานดังกล่าว ทำให้เห็นว่างานของนิธิ นั้นออกนอกขนบแบบชาตินิยม มองประวัติศาสตร์ไม่จำกัดไปที่ตัวบุคคลอย่างเดียว แต่มองไปที่สภาวะแวดล้อมด้วย เช่น การศึกษาระบบไพร่ที่ล่มสลายของอยุธยา ทำให้เห็นว่าไม่สามารถควบคุมไพร่ได้อีกต่อไป นำไปสู่สภาวะล้มเหลวของการจัดกำลังพลป้องกันอาณาจักร ทำให้หัวเมืองเอาใจออกห่าง ซึ่งอยุธยาไม่เคยแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวได้เลย เพราะขึ้นอยู่กับสภาวะที่อำนาจส่วนกลางเข้มแข็งและอ่อนแอล้วนๆ ตรงกันข้าม อยุธยาช่วงปลายกลับพยายามปฏิรูประบบราชการโดยมีตำแหน่งยกกระบัตรเข้าไปควบคุมตำแหน่งเจ้าเมือง ทำให้หัวเมืองที่ไม่มีเครือข่ายในท้องถิ่นอ่อนแอลง เป็นผลดีกับส่วนกลางที่ไม่ต้องระแวงการเกิดกบฏ แต่ผลเสียก็ตามมาเช่นกัน คือยามมีข้าศึกบุกเข้ามาทำให้ไม่สามารถป้องกันอาณาจักรได้เลย 

       ในทางกลับกันยามใดเมื่อเจ้าเมืองนั้นๆ มีเครือข่ายในท้องถิ่นกว้างขวาง และรัฐส่วนกลางไม่สามารถควบคุมระบบราชการได้อีก หรือล่มสลาย ก็พร้อมจะแตกออกเป็นกลุ่มอิสระมากมาย เห็นได้จากชุมนุมก๊กต่างๆ ภายหลังเสียกรุงศีอยุธยา หรือชาวบ้านบางระจันที่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมมองว่าเป็นการต่อสู้เพื่อชาติ แต่จริงๆ พวกเขาคือกลุ่มไพร่ที่สลัดตนเองออกจากกรุงศรีอยุธยา เปรียบเสมือนชุมนุมอิสระ ที่ไม่ได้ต้องการรบกับพม่าในความหมายเพื่อชาติ แต่รบเพื่อตนเองรักษาพื้นที่ของตนเอง

         ในเรื่องของพระเจ้าตาก (สิน) ก็ดี นิธิไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์แบบมีอภินิหารเหมือนประวัติศาสตร์ชาตินิยม แต่ชวนมองประวัติศาสตร์ในแนวราบ มองสังคม มองกลุ่มก้อนเครือข่ายของกลุ่มพระเจ้าตาก (สิน) กลุ่มที่โค่นล้มพระเจ้าตาก (สิน) ถึงแม้งานชิ้นนี้จะเน้นที่ตัวบุคคล ไม่ค่อยจะได้เห็นวิถีชีวิตผู้คนแบบประวัติศาสตร์สังคม แต่ก็บ่งบอกถึงงานที่หลุดจากบุญญาบารมี อภินิหาร ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน เป็นการมองการเล่นการเมืองแบบมนุษย์ และให้ความเท่าเทียมผ่านการอ้างอิงหลักฐานอีกด้วย

ประเทศไทยหลังนิธิ

       ฉะนั้นงานเขียนของนิธิ จึงเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ชั้นครูชิ้นหนึ่งที่เราควรรำลึกถึง ไม่ใช่เพราะเขียนดีอ่านง่าย แต่เป็นงานที่บุกเบิกพื้นที่แห่งการถกเถียง เปิดประเด็นใหม่ๆ ชวนให้คิดตาม ตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถามกับงานเขียนเก่าๆ แล้วหาหลักฐานใหม่ๆ มาล้มทฤษฎี เกิดการประเทืองปัญญา สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เกิดแนวทางใหม่ๆ ไม่ใช่แต่เพียงงานทางด้านประวัติศาสตร์ แต่อาจให้ทุกศาสตร์ทุกศิลป์เอาเยี่ยง นิธิ แต่ไม่ได้เอาอย่างทั้งหมด

        ฉะนั้น ประเทศไทยหลังนิธิ ต่อจากนี้ เมื่อนิธิเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทางศึกษา การตั้งคำถามจากความรู้เดิมๆ การให้คุณค่ากับสังคมเรื่องราวต่างๆ มากกว่าการให้คุณค่ากับตัวบุคคลแล้ว ดังนั้นประเทศนี้จึงควรมีความรู้ใหม่ๆ เกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ เป็นใบเบิกทางให้กับผู้ที่ศึกษาหาความรู้ เพื่อต่อยอดงานของนิธิหรือต่อยอดแนวคิดจากการตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้ ผมเชื่อว่าความรับรู้ของประเทศไทยต่อจากนี้คงจะไม่เหมือนเดิม เพราะเยาวชนหนุ่มสาวได้หันมาสนใจประวัติศาสตร์ การเมือง ผ่านงานของนิธิ ย่อมหมายความว่าเขาได้ส่งต่อสิ่งใหม่ๆ รอวันที่ความรู้เติบโต ต่อยอดต่อไป ฉะนั้นประวัติศาสตร์การเมืองหลังนิธิ คงจะไม่เหมือนเดิมอีกเพราะทุกคนพร้อมที่จะตั้งคำถามกับสังคม ชุดความคิดของสังคมแบบเดิมๆ และพร้อมจะปลดปล่อยมันออกมาให้เกิดการถกเถียงเป็นพลังของประชาธิปไตยที่ส่งผ่านงานโดยมีบุรุษที่ชื่อ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” เป็นแหล่งอ้างอิงตราบนานเท่านาน

แหล่งอ้างอิง

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ .การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี .สำนักพิมพ์มติชน
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ .กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ .สำนักพิมพ์มติชน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า