fbpx

จาก “No” ภาพยนตร์สะท้อนความหลุดโลกของเผด็จการ สู่คลิป “ถามคนไทย…” ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ไม่นานก่อนการเลือกตั้ง 2566 จะเริ่มขึ้น “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ได้ปล่อยคลิปชื่อว่า “ถามคนไทย…เอาไหม? คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จริงหรือ” ซึ่งเนื้อหาคลิปพูดถึงสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยภาพของข้าราชการบำนาญที่ต้องมานั่งขอทานเพราะโดนตัดเงินบำนาญ ภาพของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถูกพ่นสี เพื่อสะท้อนความวุ่นวายของการประท้วง ภาพของแม่ที่เห็นลูกสาวตัวเองถ่ายคลิปเสียวลงทวิตเตอร์ โดยที่ลูกสาวบอกว่า “มันเป็นสิทธิของเธอ ร่างกายของเธอ” ภาพข่าววิทยุกำลังพูดถึงข้าศึกที่กำลังประชิดชายแดน แต่กลับไม่มีกำลังทหารคอยคุ้มกัน สะท้อนภาพของการไม่มีทหารเกณฑ์เพียงพอ และภาพแม่ที่กำลังไหว้บางอย่างบนหิ้งที่หายไป 

คลิปดังกล่าวไม่ใช่คลิปแรกที่ทางพรรครวมไทยสร้างชาติปล่อยออกมาเพื่อตอบโต้นโยบายของพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เพราะก่อนหน้านี้ก็มีคลิปโฆษณาออกมาหลายชุด ทั้งคลิปไอติมแดง แอปฯ เป๋าตังค์ บัตรคนละครึ่ง ที่มุ่งตอบโต้นโยบายของพรรคเพื่อไทย อย่างนโยบายเงินดิจิตอล 10,000 บาท หรืออาจถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง ที่อาจหมายถึงพรรคเพื่อไทย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จะเห็นได้จากการพยายามใช้ภาพไอศกรีมสีแดงที่อาจหมายถึงสีของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย หรือใช้นักแสดงที่หน้าคล้ายคลึงกับนายเศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

สำหรับคลิป “ถามคนไทย เอาไหม…” ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนและตอบโต้คลิปของพรรคก้าวไกลที่ปล่อยออกมาก่อนหน้าอย่างคลิป “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”  ด้วยการสร้างความกลัวให้กับคนในสังคมว่า ถ้าเลือกพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ข้าราชการจะโดนตัดเงินบำนาญ ลูกจะไม่เคารพพ่อแม่ สังคมจะวุ่นวาย จะไม่มีทหารป้องกันประเทศ และจะไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เคารพบูชา 

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ภาพความกลัวในคลิปดังกล่าว มีลักษณะเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ บวกกับการจัดตั้งหน่วยต่างๆ ของกลุ่มฝ่ายขวา เพื่อใช้ในการปราบปรามกลุ่มนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาคม 2519 โดยนำเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมไทยที่มีความสวยงามและควรค่าแก่การเคารพ และนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ต่อต้านแนวคิดแบบประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบาน พร้อมป้ายสีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์

การสร้างศัตรูของชาตินับเป็นจุดขายหลัก ของพรรคการเมืองสายอำนาจนิยมที่ชูแนวคิดเรื่องชาตินิยม เพื่อนำมาต่อกรกับพรรคการเมืองที่เป็นสายเสรีนิยม และสังคมนิยม รวมทั้งการชูวาทกรรมคนดีเพื่อนำมาโจมตีนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของคนโกง และจ้องแต่จะหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ไม่สนใจประชาชน และประชาชนต้องเลือกคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง

กระแสคลิปดังกล่าวนี้ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของชิลี ชื่อว่า “NO” ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2012 โดยมีเนื้อหาพูดถึงการทำประชามติใน ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) โดยนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ ประธานาธิบดีและผู้นำเผด็จการชิลีที่ก่อรัฐประหารรัฐบาลพรรคสังคมนิยมใน ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ซึ่งการประชามตินี้เป็นการถามประชาชนว่าต้องการให้นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ อยู่ต่ออีก 8 ปีหรือไม่ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะพูดถึงกลุ่มคนทำแคมเปญฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือฝั่ง NO และฝั่งที่ต้องการให้ปิโนเชต์อยู่ต่อ หรือฝั่ง SI (Yes) ทั้งสองฝ่ายต่างออกแคมเปญเป็นโฆษณาประมาณ 15 นาที ทุกวัน จนกว่าจะถึงวันลงประชามติ ฝั่งตัวเอกของเรื่องจะอยู่ฝั่ง NO ในขณะที่ฝั่งของเจ้านายตัวเอกจะทำฝั่ง SI  

ฝ่าย NO ออกแคมเปญ “Chile, la alegría ya viene”  หรือ “ชิลี แล้วความสุขนั้นจะมาถึง” เป็นการสร้างความหวังให้ชาวชิลีที่ส่วนใหญ่จะงดออกเสียง ให้กล้าโหวต NO โดยการพูดถึงอนาคตขอประเทศชิลีที่ไม่มีเผด็จการ ไม่มีรัฐประหาร ประเทศชิลีที่มีเสรีภาพ และมีอนาคตที่สดใส แต่ในระหว่างนั้นก็มีการพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากการปกครองอันยาวนานของปิโนเชต์ในช่วงเวลา 16 ปี โดยเฉพาะเรื่องของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่หายสาบสูญ

ขณะที่ฝ่าย SI หรือ Yes ซึ่งเป็นฝั่งรัฐบาลที่มีทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งกองทัพและสื่อสารมวลชนภายใต้อำนาจรัฐบาล ต่างก็พยายามสร้างแคมเปญพูดถึงผลงานต่างๆ ที่นายพลปิโนเชต์ได้ทำมาแล้ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การส่งออก การสร้างถนนหนทาง (อารมณ์พวกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั่นแหละ) และการสร้างความกลัวต่างๆ แก่ผู้คน ทั้งการพูดถึงกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปิโนเชต์ในแง่ลบ โดยฉายภาพคนถูกไฟคลอกในรถบัส เพราะผู้ประท้วงปาโมโลตอฟเข้าไปในรสบัส และการโจมตีฝ่าย NO ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ทั้งๆที่ในกลุ่ม NO มีทั้งกลุ่มคริสเตียนเดโมแครต และกลุ่มซ้ายกลางอยู่ด้วย จนถึงขั้นนำแคมเปญ NO มาล้อเลียนว่าเป็นการส่งเสริมการก่อการร้ายของกลุ่มคอมมิวนิสต์ (มุกนี้ขายดีจริงๆ)

จนกระทั่งวันลงประชามติมาถึง ผลออกมาคือ ประชาชนชาวชิลีโหวต NO หรือไม่สนับสนุนการอยู่ต่อของนายพลปิโนเชต์มากถึงร้อยละ 54.7 ส่งผลให้นายพลปิโนเชต์ต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี และจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา ประเทศชิลีจึงสามารถหลุดออกจากอำนาจของเผด็จการ และกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้โดยสมบูรณ์

แม้เนื้อหาภายในภาพยนตร์เป็นเพียงเรื่องราวที่แต่งขึ้นโดยมีเค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องจริง แต่สิ่งที่เราอาจมองเห็นจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ฝ่ายอำนาจนิยมมักจะใช้ความกลัวในการสื่อสารเพื่อต้องการคงอำนาจควบคุมของตนนั้นไว้ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะใช้ความหวังที่ต้องการขจัดความกลัวเพื่อให้เห็นถึงภาพของอนาคตที่แตกต่าง มองหาสิ่งใหม่ ซึ่งก็เหมือนกับประเทศไทยตอนนี้ ที่กำลังโหยหาความเปลี่ยนแปลง และต้องการพิสูจน์มันผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีที่แฟร์ที่สุดและชอบธรรมที่สุด 

และถึงที่สุดแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่การเลือกเพื่อสร้างความหวัง แต่เป็นการชี้เป็นชี้ตายทางออกของประเทศไทย ให้หลุดออกจากวังวนแห่งความกลัวก็เป็นได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า