fbpx

จากโจโฉ สู่ บิ๊กตู่ “วีรบุรุษ” หรือ “ทรราช” ทางการเมือง 

ภายหลังการโบกมืออำลาการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี มีทั้งฝ่ายที่สรรเสริญเยินยอคุณงามความดีของเขา ว่าทำประโยชน์ให้กับประเทศมากมาย และฝ่ายที่เจ็บปวดจากการกระทำของเขาตลอด 8-9 ปี ที่ก่นด่าวิจารณ์ให้ลาแล้วลาที ขออย่ากลับมาอีกเลย 

นี่คือภาวะปกติของประวัติศาสตร์การเมืองในหลากๆ ช่วงเวลา และหลากหลายมุมมองจากทุกมุมโลก เรื่องของการวิพากษ์บุคคลที่เข้ามาสู่การเมือง มีพื้นที่ทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์ให้คนได้จดจำ 

นอกเหนือจากผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีบุคคลในประวัติศาสตร์อีกมากมายที่มีบทบาทในทางการเมือง แต่ไม่ว่าจะเป็นวีรบุรุษ รัฐบุรุษ หรือทรราช สิ่งที่คนเหล่านี้เหมือนกันก็คือความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนและมีหลากหลายแง่มุมยิ่งกว่าเหรียญสองด้าน และเนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลุกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (ซักที) เราก็ขอพาทุกท่านไปย้อนดูแง่มุมเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ในบางครั้งก็ดูจะไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไร แต่ด้วยบริบททางการเมือง พวกเขาจึงต้องรับบทเป็นวีรบุรุษต่อไป  

ประวัติศาสตร์เขียนโดยคน ย่อมมีอคติแฝงอยู่ 

ความมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง เป็นปกติวิสัยของมนุษย์ทั่วไป ประวัติศาสตร์ที่บันทึกด้วยฝีมือมนุษย์จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปราศจากอคติ เพราะฉะนั้น บุคคลหนึ่งจะเป็นวีรบุรุษหรือทรราช ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้อ่าน ความเห็นที่หลากหลายจากมุมมองที่ต่างกันเกี่ยวกับตัวบุคคลนั้นๆ จึงนำไปสู่การถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และหาหลักฐานมาหักล้างทฤษฎีของอีกฝ่าย ที่ในที่สุดก็จะเกิดเป็นความรู้ใหม่ และนี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์ 

เหรียญ 2 ด้านกับการตั้งคำถามถึงโจโฉ 

หลายคนอาจสงสัยทำไมผู้เขียนถึงยกตัวอย่างโจโฉ ตัวละครจากวรรณกรรมคลาสสิกอย่างสามก๊ก ที่หลายคนอาจจะคิดว่าล้าสมัย แต่ที่จริงแล้ว ตัวตนของโจโฉนั้นอยู่เหนือกาลเวลามากทีเดียว 

โจโฉเกิดและเติบโตใน ตระกูลขุนนางสมัยราชวงศ์ฮั่น ต่อมาเมื่อแผ่นดินแตกแยกเป็นฝักฝ่าย กลุ่มของโจโฉกลายเป็นผู้มีอิทธิพล ประกอบกับมีฮ่องเต้อยู่ในมือ สามารถกุมอำนาจ และเป็นก๊กที่ใหญ่ที่สุด หลังจากนั้น โจโฉได้ส่งต่ออาณาจักร นำไปสู่การสถาปนาอาณาจักรวุยก๊ก โดยที่บุตรชายของเขาล้มราชวงศ์ฮั่นสถาปนาอาณาจักรของตนเอง ฝ่ายหนึ่งจึงก่นด่าว่าโจโฉคือกบฏ ล้มล้างราชวงศ์ฮั่น ล้มล้างสถาบัน ล้มเจ้า แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าโจโฉนั้นคือวีรบุรุษ สามารถทำให้แผ่นดินที่เขาปกครองสงบ สยบโจรโพกผ้าเหลือง ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข นี่จึงเป็น 2  มุมมองที่เปรียบเสมือนเหรียญที่มี 2 ด้านเช่นกัน 

การมองสามก๊กของไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนมักมองวรรณกรรมเป็นประวัติศาสตร์และมักอ้างเป็นตุเป็นตะ จนภาพลักษณ์ของโจโฉนั้นกลายเป็น “กังฉินหน้าขาว” กุมราชันบัญชาปวงขุน มีฮ่องเต้อยู่ในกำมือ อ้างราชโองการกำจัดคู่แข่ง จนเกิดการตั้งคำถามว่าเขาเป็นคนดีจริงไหม แต่หากมองถึงสถานการณ์ความวุ่นวาย ณ ขณะนั้นจะพบว่าราชวงศ์ฮั่นมีปัญหาการทุจริตจากระดับบนสุดถึงระดับรากหญ้า ขุนพลท้องถิ่นมีอิทธิพลมากกว่าส่วนกลางจนควบคุมไม่ได้ ประชาชนอดอยากจากการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่การเกิดกบฏหลายๆ ครั้ง เรียกได้ว่าราชวงศ์ฮั่น ณ ขณะนั้น รอเพียงวันแตกสลาย การที่โจโฉสามารถก้าวมาเป็นผู้นำได้ เขาต้องมีอะไรที่ดีกว่าคนอื่น เพราะจะพบว่าดินแดนที่เขาปกครองนั้นสงบร่มเย็น และสามารถฟื้นฟูได้ เพียงพฤติกรรมของเขาไม่เหมือนกับขุนนางคนไหนๆ ที่ปกติจะรับสนองราชโองการของฮ่องเต้อย่างเดียว แต่โจโฉไม่ใช่ กลับมุ่งบริหารเสียเอง ทำให้พวกขุนนางแนวคิดเก่าไม่พอใจกับพฤติกรรมของเขา จึงมองเขาเป็นทรราช ขณะเดียวกันหากมองด้วยสายตาประชาชน รวมถึงนักประวัติศาสตร์จะมองเขาคือวีรบุรุษแห่งกลียุค ที่สามารถรวบรวมแผ่นดิน และพื้นที่มีภัยสงครามได้อย่างรวดเร็วด้วยนโยบายหลายๆ อย่างที่มีประสิทธิผล 

ย้อนกลับมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาพลักษณ์ของเขากลับสลับขั้วกับโจโฉ กล่าวคือ ตลอดระยะเวลาการเป็นรัฐบาลของเขาเน้นอ้างถึงสถาบันเป็นหลัก ขณะที่โจโฉไม่เน้นสนับสนุนสักเท่าไหร่ แต่ในข้อนี้ที่เหมือนกันคือการใช้สถาบันอ้างความชอบธรรม ในแง่ของการถูกบันทึกประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าอยู่คนละมุมคนละขั้ว เพราะโจโฉสามารถทำได้จริงเชิงประจักษ์ในแง่ของการรวบรวมดินแดน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับแผ่นดิน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับสร้างความแตกแยกในสังคม ทำให้บ้านเมืองขาดเสถียรภาพตลอด 9 ปีที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี และส่งผลให้ประชาชนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เขาอาจจะเป็นวีรบุรุษของทุนใหญ่ ชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม เพราะตลอดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สินมากกว่าผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ ในขณะที่หลายๆ คนแม้กระทั่งที่อยู่อาศัยยังไม่มีอยู่ 

อาจกล่าวได้ว่าคำว่า วีรบุรุษ หรือ ทรราช นั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของคนที่จะมอง ไม่เว้นแม้แต่ โจโฉ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์จะเป็นตัวกำหนด ให้ผู้ชม ผู้อ่าน ได้เห็นเอง ว่าควรจะยกย่องพวกเขาว่าอย่างไร และกลายเป็นสิ่งเตือนใจที่ต้องมองคนเหล่านี้ให้เหมือนเหรียญที่มี  2 ด้านนั่นเอง 

มรดกยังอยู่กับเรา 

แต่ไม่ว่าจะเป็น วีรบุรุษ หรือ ทรราช ย่อมทิ้งมรดกไว้ให้กับเราเสมอ กรณีที่เห็นได้ชัดในสถานการณ์ตรงหน้า ณ ขณะนี้ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทิ้งมรดกอย่างมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ ที่ร่างขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ให้บทบาท ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาธิปไตยไทยติดหล่ม เสียงของประชาชนหลายล้านเสียงสู้เสียง ส.ว.250 คน ไม่ได้ ส่งผลให้การเลือกตั้งของประชาชนกลายเป็นใบเบิกทางให้นักการเมืองไม่กี่กลุ่มไปต่อรองผลประโยชน์เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และอาจเป็นไปได้ว่านักการเมืองกลุ่มนี้จะเพิกเฉยต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ว่าจะไม่สนับสนุนเผด็จการ และองคาพยพของเผด็จการ ไม่ใช่เจตจำนงของประชาชนที่อยากมีนายกรัฐมนตรีมาจากเสียงที่พวกเขาเลือก 

นี่จึงเป็นมรดกตกค้างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ​ทิ้งไว้ให้กับเราก่อนอำลาการเมือง เราจึงควรตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือ วีรบุรุษ อย่างที่บางกลุ่มกล่าวอ้างหรือไม่ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อเห็นมรดกของเขา ย่อมไม่ใช่วีรบุรุษอย่างแน่นอน แต่ถามว่าเป็น ทรราช หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้อ่านเอง 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า