fbpx

อายุน้อยร้อยงาน เจาะลึก “งานฝิ่น” ที่สร้างความฟินในหลายมิติ

เมื่อพูดถึงการทำงานฟรีแลนซ์ คนแรกที่เด้งขึ้นมาในหัวเราทันทีก็คือ ‘ยุ่น’ ฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซน์เนอร์ รับบทโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ในภาพยนตร์เรื่อง “ฟรีแลนซ์…ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” (2558) ที่สะท้อนวิถีชีวิตฟรีแลนซ์ที่ทำงานอย่างสุดโต่ง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ หลังขดหลังแข็ง คู่แข่งสำคัญคือเวลาที่กำหนดชะตาชีวิตด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘เดดไลน์’ การทุ่มเทถวายหัวให้กับการทำให้ยุ่นอดหลับอดนอนเกือบอาทิตย์ 

เป็นเรื่องยากเกินกว่าจะปฏิเสธได้ ว่าคนที่เป็นฟรีแลนซ์แบบยุ่นก็มีจริงๆ อีกทั้งในปัจจุบันเองก็มีคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z หลายคนก็ประกาศตัวเองว่าเป็นฟรีแลนซ์ มีทั้งแบบฟรีแลนซ์เต็มตัวและฟรีแลนซ์ขาจร (Freelance Moonlighters) หรือแม้กระทั่งบางบริษัทที่เปิดรับสมัครพนักงานก็เลือกที่จะจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ด้วยสัญญาจ้างที่มีการระบุระยะเวลาที่ชัดเจนว่ากี่เดือน กี่ปี มากกว่าที่จะเป็นสัญญาจ้างระยะยาว

ในบทความนี้เราไม่ได้พูดถึงภาพรวมทั้งหมดของฟรีแลนซ์ แต่จะมาเจาะลึกประเด็น ฟรีแลนซ์ขาจร (Freelance Moonlighters) ซึ่งเป็นคนที่มีงานประจำอยู่แล้ว แต่รับงานนอกที่เป็นสายงานใกล้ๆ กันในหลายบริษัท หรือที่รู้เรียกกันว่า ‘รับงานฝิ่น’ โดยสื่อหลายสำนักได้สันนิษฐานว่า Moonlighters นั้นอาจมาจากการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำก็เป็นได้

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเรามักจะเห็นคนใกล้ตัวรับงานฝิ่น ในขณะที่นายจ้างหรือบริษัทก็ไม่สนับสนุนให้รับงานฝิ่นซะทีเดียว แม้กระทั่งบางที่มีข้อบังคับชัดเจนสำหรับการรับงานฝิ่น เช่น หากทำงานที่นี่แล้ว ห้ามรับงานที่คล้ายคลึงกับสายงานที่ทำอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การรับงานฝิ่นแบบแอบๆ โดยไม่บอกให้ใครรู้ จึงเกิดขึ้นมาให้เห็นอยู่บ้าง สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามว่า ทำไมงานฝิ่นถึงเป็นเรื่องที่ต้องแอบทำ? และทำไมบริษัทจำนวนมากถึงไม่ให้พนักงานทำฝิ่น?

เติม ‘งานฝิ่น’ ให้ชีวิตรู้สึกฟิน

หากพิจารณาในมุมของคนรับงานฝิ่น เราก็อดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาอาจกำลังรู้สึก ‘ขาด’ บางสิ่งบางอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เงิน แพชชั่น หรือแม้แต่สังคมที่เป็นคนในแวดวงทำงานเดียวกัน ทำให้ต้องรับงานฝิ่นเพื่อเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับ กรพัฒน์ ปานอ่อน หรือ ‘พัฒน์’ หนึ่งในนักเขียนที่โตมากับการรับงานฝิ่นและเป็นผู้ดูแลฟรีแลนซ์ในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาเห็นด้วยกับความคิดนี้และอธิบายว่า ‘งานฝิ่น’ สะท้อนความเป็น ‘ฝิ่น’ ได้อย่างตรงไปตรงมา คือทำให้คนทำงานรู้สึกเสพติดบางสิ่งบางอย่าง รวมถึงเขาด้วยเช่นกัน 

“งานฝิ่นทำให้เราเสพติด ทำแล้วแฮปปี้กับงาน กับเงิน และกับคน อย่างของเราเวลารับงานฝิ่นข้างนอก เรารู้สึกเหมือนไม่ได้ไปทำงาน แต่เหมือนไปเจอเพื่อนมากกว่า เราเลยมองว่างานฝิ่นมันคืองานที่เอาไว้เสพติดอะไรบางอย่าง ที่มันอาจจะมีความจำเป็นหรือไม่จำเป็นในชีวิตก็ได้”

จากการศึกษาของ Deloitte เผยว่า 46% ของกลุ่ม Gen Z จำนวน 14,483 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก พบว่ามีการทำงานที่สองนอกเหนือจากงานประจำของตัวเอง โดยปัจจัยหลักคือต้องการที่จะหลีกหนีจากภาวะการเงินที่ติดขัดในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสภาวะทางเศรษฐกิจอาจเป็นสิ่งที่บีบคั้นให้คนทำงานรับฝิ่นและทำงานเสริมกันมากขึ้น 

ตรงกันข้ามกับ กรพัฒน์ ที่มองว่าสภาวะทางเศรษฐกิจอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้คนรับงานฝิ่นเสมอไป ต้องดูภาพรวมของค่าตอบแทนของแต่ละอุตสาหกรรมร่วมด้วย เช่น หากเป็นอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ ทุกคนมักจะมีการรับรู้ในทิศทางเดียวกันว่าได้ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อย กลายเป็นว่าคนต้องรับฝิ่นหรือทำงานเสริมเพื่อตอบโจทย์ทางการเงิน แต่ขณะเดียวกัน เพื่อนของเขาที่เรียนจบกฎหมาย ทำงานเป็นทนาย มีเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่ก็ยังรับงานฝิ่นอยู่ เขาเลยรู้สึกว่าการรับงานฝิ่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัญหาทางการเงินเพียงอย่างเดียว บางครั้งการทำงานฝิ่นอาจจะตอบโจทย์ความโลภทางใจมากกว่าความโลภทางกายเลยด้วยซ้ำ

งานหลวงไม่ขาด งานราษฎร์ไม่เสีย

แม้ว่าในปัจจุบัน การรับงานฝิ่นของพนักงานรุ่นใหม่จะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่านายจ้างบางรายก็ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อยว่าพนักงานจะก่อความเสียหายและขัดต่อผลประโยชน์ของตัวเอง จึงปิดโอกาสพนักงานด้วยการกำหนดนโยบายและข้อบังคับไม่ให้พนักงานรับงานฝิ่น 

ทั้งนี้ทางด้านกฎหมาย คำพิพากษาฎีกา 1253/2526 ได้ระบุว่า “สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มีข้อห้ามไม่ให้ลูกจ้างทำงานหารายได้จากที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุมัติก่อน เว้นเสียแต่จะเป็นการรับจ้างนอกเวลาทำงานของบริษัทและไม่ขัดกับนโยบายของบริษัท ซึ่งหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาและนอกจากระเบียบข้อบังคับของนายจ้างถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”

หากว่ากันตามหลักกฎหมาย การรับงานฝิ่นถือว่าเป็นเรื่องไม่ผิด อย่างไรก็ตาม การที่พนักงานจะสามารถรับงานฝิ่นได้อย่างอิสระก็ขึ้นอยู่กับนายจ้างอยู่ดี ทางด้านกรพัฒน์ ให้ความคิดเห็นกับประเด็นนี้ว่า การรับงานฝิ่นของพนักงานสามารถทำได้ เพียงแค่อย่าให้งานข้างนอกมากระทบกับงานภายในบริษัท และที่สำคัญ พนักงานต้องพูดคุยกับบริษัทถึงแนวทางการรับงานฝิ่นให้ชัดเจนว่า สามารถรับงานฝิ่นได้หรือไม่

กรพัฒน์เล่าต่อว่า อีกหนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำความกังวลใจให้กับบริษัทคือ ทรัพย์สินทางปัญญา นั่นหมายความว่า เมื่อมีการทำสัญญาจ้างร่วมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของบริษัทแต่เพียงผู้เดียว ห้ามผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลง กรพัฒน์ย้ำว่าในกรณีของคนที่รับงานฝิ่นแล้วเกิดมีการละเมิดลิขสิทธิ์ถือว่าเป็นความผิดเต็มประตู โดยบริษัทสามารถฟ้องร้องหรือเลิกจ้างได้เลย

“สมมติทำงานบริษัทอย่างเดียวแล้ววันนี้รู้สึกขี้เกียจตื่นไปทำงาน คุณก็แค่กดลาจากระบบได้ แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์มันไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ทุกงานมีเดดไลน์ของมัน ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความรับผิดชอบหลายอย่าง สำหรับเราการรับงานฝิ่นหรือการที่จะเป็นฟรีแลนซ์มันอาศัยความเป็นผู้ใหญ่ประมาณหนึ่งเลย” กรพัฒน์กล่าว

จะเห็นได้ว่าการจะรับงานฝิ่นนั้น ไม่ใช่แค่ว่าเรามีทักษะแล้วสามารถทำงานได้เลย เพราะยังมีกฎเหล็กอื่นๆ อีก ที่ฟรีแลนซ์ต้องยึดถือปฏิบัติ ที่สำคัญแม้งานฝิ่นจะช่วยเติมเต็มบางสิ่งบางอย่างให้กับชีวิตได้ แต่ต้องไม่ลืมไปว่างานประจำย่อมเป็น priority หลักในชีวิตการทำงาน ซึ่งก่อนรับงานฝิ่นต้องมั่นใจก่อนว่าเราสามารถรับผิดชอบได้ทั้งงานหลักและงานเสริม เหมือนกับวลีที่ว่า ‘งานหลวงไม่ขาด งานราษฎร์ไม่เสีย’

ความคาดหวังที่มีต่อฟรีแลนซ์ยุคนี้

“เราคาดหวังเขาเหมือนกับพนักงานประจำเลย แค่ไม่ได้มีโต๊ะประจำในออฟฟิศ เริ่มตั้งแต่ ความครีเอทีฟ ด้วยความที่งานเราเป็นงานเขียน สกิลทำงานด้านนี้ต้องมาก่อน อย่างที่สอง ความรับผิดชอบ การส่งงานตรงต่อเวลาสำคัญมาก สมมติงานนี้ใช้วันที่ 20 ไม่ใช่ว่าต้องส่งวันที่ 19 แต่ต้องส่งล่วงหน้ากว่านั้นเพราะยังมีกระบวนการอื่นๆ ที่ต้องทำต่อ เช่น การตรวจงาน ส่งต่อให้กราฟิกทำภาพ และสุดท้าย ความเร็ว เพราะงานฝิ่นบางชิ้นต้องการความเร่งด่วน เรายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้งานที่เร็วและมีคุณภาพ”

“ซึ่งต้องบอกว่าอาชีพฟรีแลนซ์มันเริ่มฮิตตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดอีกนะ มันเกิดปรากฏการณ์ที่เด็กจบใหม่หลายคนประกาศตัวเองว่าเป็นฟรีแลนซ์ ในขณะที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์ทำงานอะไรเลย เรื่องของเรื่องคือแม้ว่าจะมีสกิลที่ดี แต่บางคนก็ไม่ได้เข้าใจวิธีการทำงานจริงๆ เลยทำให้งานมีปัญหา”

เมื่อนึกย้อนไปช่วงสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง IMAGE MAGAZINE กำลังได้รับความนิยม กรพัฒน์กล่าวว่า คนที่จะเป็นฟรีแลนซ์ได้ต้องเป็นที่มือเทพในระดับหนึ่ง มีคลังข้อมูลและ reference ที่หลากหลาย อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘คนมีของ’ ทำให้เขารับงานได้ในเรตราคาที่สูงได้ เมื่อเทียบกับการรับฟรีแลนซ์ของคนยุคนี้โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์น้อยนิด พวกเขาไม่สามารถเรียกค่าจ้างในราคาที่สูงได้ กรพัฒน์จึงมองว่า สำหรับเด็กจบใหม่ที่จะมุ่งหน้าทำงานฟรีแลนซ์อย่างเดียว หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงอาจไม่ต้องรีบรับฟรีแลนซ์ แล้วเคี่ยวกรำตัวเองให้มีผลงานแบบเก๋ๆ ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่อาจมองต่างไปจากเมื่อก่อน หลายคนก็ต้องการที่จะเป็นนายของเวลาเลยเลือกเส้นทางอาชีพที่ให้อิสระกับตัวเอง ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ ไม่ใช่ปัจจัยหลักเสมอไป ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่วงการฟรีแลนซ์หรือรับงานฝิ่น แต่อาจจะเป็นมุมมองที่ว่า งานฝิ่นช่วยเติมเต็มความรู้สึกและตัวตนบางอย่างให้กับเขาจนทำให้เกิดอาการเสพติด ทั้งนี้การปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่เป็นฟรีแลนซ์อย่างเดียวเท่านั้น สำหรับบริษัทหรือนายจ้างก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับคนกลุ่มนี้เช่นกัน

อ้างอิง

CNBC / Talance / Daywork

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า