fbpx

เมื่อเสรีภาพทางการแสดงออกมีมากขึ้น อะไรคือสิ่งที่ควรคำนึง

Partnership with Thailand Talks 2022


ไหน ไหน ไหน ใครลองโพสต์บนหน้าเฟซบุ๊คของตนเองแล้วเปิดแชร์ให้เป็นสาธารณะซิว่า “สังคมนี้ไม่ควรมีเสรีภาพ” พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าไม่ควรแสดงออกซึ่งการมีเสรีภาพ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย …..

ผู้เขียนเชื่อว่าคงจะมีน้อยคนที่จะกล้าโพสท์ เพราะกลัวทัวร์ลง ผู้เขียนจึงพอจะสรุปได้ว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการแสดงออกซึ่ง “เสรีภาพ” ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพทางเพศ เสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งค่านิยมทางการเมือง เสรีภาพที่จะแสดงความเชื่อทางศาสนา เสรีภาพในการแต่งกาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ

ผู้เขียนจะขอข้ามประเด็นคำนิยาม ความหมายของคำว่า เสรีภาพ เพราะในส่วนนี้ได้อธิบายแยกไว้แล้ว อีกทั้งเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนไม่น้อยก็จะมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานอยู่แล้ว

อะไรที่ทำให้เชื่อว่า สังคมปัจจุบันมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น

ลเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและใกล้ตัวทั้งผู้เขียนและผู้อ่านมากขึ้น ผู้เขียนขอชวนมองไปที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ หากจะนับย้อนไปสัก 30 กว่าปี ราว พ.ศ. 2530 ในสังคมไทยจะปรากฎเรื่องราวของ LGBTIQ+ บนสื่อน้อยมาก และในจำนวนที่ว่าน้อยมากนี้ ก็จะเป็นเรื่องราวด้านลบ ทั้งมุมมองที่เป็นตัวตลกในวงการบันเทิง เช่นบทของ “ธารา” ในละครเรื่องพลับพลึงสีชมพู หรือบทรักขมจมทุกข์จนเป็นโศกนาฏกรรมของ “สมหญิงดาวราย” จากภาพยนต์เรื่อง เพลงสุดท้าย และเรื่องราวจากชีวิตจริงของสาวประเภทสองที่นำมาสร้างเป็นละครและเพลงอย่าง “สีดา”

ระหว่างปี 2528 เกิดการระบาดของโรคเอดส์ ก็ยังเกี่ยวโยงมาถึงเกย์ จะเห็นได้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งวิถีทางเพศในอดีตเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแสดงความภาคภูมิใจในที่สาธารณะอย่างทุกวันนี้

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน ปี 2565 สังคมไทยมีการรับรู้การมีตัวตนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ ในมิติที่เปิดกว้างมากขึ้น การแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางเพศมีมิติที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น จากสมัยก่อนสังคมไทยจะรับรู้และเข้าใจว่าคนที่รักชอบเพศเดียวกันมีเพียง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ สมัยนี้มีการนิยามตัวเองให้สังคมเป็นที่รู้จักและเข้าใจ ทั้งในระดับสังคมคือ LGBTIQ+ และในระดับปัจเจกว่าใครนิยามตัวเองเป็น Transgender, Transman, Queer, Non-Binaree ซึ่งทางผู้เขียนจะขออธิบายแยกไว้ในตอนอื่นๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งวิถีทางเพศ ยังไม่รวมถึงเสรีภาพที่มีความเชื่อในเรื่องสถานภาพความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว Monogamy สถานภาพความสัมพันธ์แบบรักได้หลายคน Polyamory หรือแม้กระทั่งเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่จะประกาศออกไปว่าฉันชอบพรรคการเมืองชื่อนี้ ฉันต่อต้านนักการเมืองคนนั้น โดยไม่ต้องกังวลหรือเกรงกลัวว่าจะได้รับผลกระทบต่อาชีพการงาน ทีนี้เชื่อกันหรือยังว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเสรีภาพในการแสดงออกมามากขึ้น

อ้างถึง สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights ICCPR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน ร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ในข้อที่ 19 มีใจความระบุว่า

(1) บุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และ
(2) บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงออก มีเสรีภาพในการแสวงหา รับ และส่งต่อข้อมูลและแนวคิดทุกประเภทได้อย่างไร้พรมแดน ไม่ว่าจะโดยปากเปล่า ลายลักษณ์อักษร สิ่งพิมพ์ งานศิลปะหรือสื่ออื่นๆ ที่เขาเลือก

ด้วยเหตุนี้สังคมไทยในปัจจุบัน ตลอดจนอารยะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงผลักดันเชิงโครงสร้างให้ประชาชนรับรู้เข้าใจถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เป้าหมายของการใช้เสรีภาพและการแสดงออก

หากจะเริ่มจากโจทย์ที่ว่า “ทำไมพวกเขาต้องแสดงออก” แล้วให้ผู้เขียนอธิบายเป็นข้อๆ เชื่อว่ามันจะมีความเป็นคอนเทนต์ที่ซ้ำไปซ้ำมากับแหล่งอื่น หรือไม่ก็จะเป็นการเขียนจูงใจให้ผู้อ่านเชื่อตามความเชื่อของผู้เขียน ฉนั้นจะขอชวนผู้อ่านคิดตามเพื่อจะสร้างความเข้าใจไปพร้อมๆกันนะครับ

เรามาเริ่มจากการมองมุมกลับ จากด้านที่เราไม่เข้าใจ ด้านที่ตรงกันข้ามกับความคิดการเชื่อของผู้อ่าน ด้านที่เราคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับเรา ด้านที่เรากำลังตั้งคำถามกันนะครับ

เสรีภาพทางเพศ : ท่ามกลางสังคมที่วางโครงสร้างมาเพื่อคนที่รักต่างเพศ รัฐบาลได้มอบสวัสดิการทางสังคมให้แก่เพศชายและเพศหญิงโดยกำเนิด ที่มีความสามารถในการสร้างครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษี สิทธิการทำธุรกรรมแทนคู่สมรส สิทธิในการถือครองมรดกเมื่อคู่สมรสเสียชีวิต คำถามคือ รัฐใช้งบประมาณส่วนไหนมาจัดเป็นรัฐสวัสดิการที่กล่าวมา แล้วเพราะอะไร LGBTIQ+ ที่เขาจ่ายเงินภาษีเหมือนประชากรคนอื่นๆจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง เมื่อเขาไม่ได้รับการคุ้มครอง นอกจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงการมีตัวตนอยู่ในสังคมแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำได้มากกว่านี้คืออะไร

เสรีภาพทางการเมือง : คุณผู้อ่านคิดว่าการเมืองคืออะไร หรือการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง นักปกครอง ประชาชนไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ประชาชนควรก้มหน้าก้มตาทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การมีสิทธิในการเลือกตั้งนั่นคือการทำหน้าที่แล้ว ไม่ต้องสนใจตรวจสอบการใช้อำนาจ การใช้งบประมาณใดๆ พอถึงวาระก็ไปเลือกตั้งกันใหม่

มาถึงตอนท้ายนี้ ผู้อ่านคงจะเห็นจุดเริ่มต้น เข้าใจถึงที่มาของการแสดงออกซึ่งเสรีภาพ มูลเหตุที่มีการแสดงออกมากขึ้นหรือน้อยลง และคงจะมีคำอธิบายสำหรับตนเองว่า เราควรใช้มุมมองของใครในการคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออก ระหว่างผู้มองดูเสรีภาพในการแสดงออกของคนอื่นๆในสังคม หรือ มุมมองของผู้ที่แสดงออกซึ่งเสรีภาพ สิ่งที่ผู้เขียนคำนึงถึงเสมอคือ

“พวกเราใช้ความคิดแทนกันได้ ให้ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันได้ แต่ตัดสินแทนกันไม่ได้”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า