fbpx

“เงินดิจิทัล 1 หมื่น” นโยบายแจกเงินฟรี ที่อาจนำไปสู่หนี้สาธารณะ

ในห้วงโมงยามแห่งความสับสนของ “โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ที่รัฐบาลให้สัญญาไว้กับประชาชน มีการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขและความชัดเจนของนโยบายทุกวัน จนหลายคนเริ่มสงสัยว่าจะได้ใช้เงินดิจิทัลในรัศมี 4 กิโลเมตรจากบ้านของตัวเองจริงไหม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญมากมาย ต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อนโยบาย “สำคัญ” ที่รัฐบาลมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ ทว่าก็ยังมีข้อกังขาว่านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประเทศได้จริงตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างหรือไม่

The Modernist คุยกับ เอกภัทร ลักษณะคำ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ถึงเรื่องนโยบายการแจกเงินประชาชนและการช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศ 

เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้รับความสนใจจากประชาชนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ก็มีการนำโครงการดังกล่าวมาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง และเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้วที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการฯ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินหรือวิธีการแจกเงิน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีเป้าหมายว่าจะสามารถแจกเงินประชาชนได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 

“เรายังมองไม่เห็นภาพความชัดเจนของนโยบายเงินดิจิทัลเท่าไรนัก เนื่องจากที่รัฐบาลประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่พอมีกระแสสังคมตีกลับก็เริ่มมีการโอนอ่อนผ่อนความเป็นมาตรการลงไปบ้าง แล้วคุณสมบัติของผู้รับก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นใครกันแน่ จากเดิมเป็นคนอายุ 16 ปีขึ้นไป เอาไปใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตรของภูมิลำเนา แต่ตอนนี้ก็เริ่มถอยให้ผู้รับเป็นคนที่มีรายได้น้อยแทน”

“เราคงต้องรอให้นโยบายหรือมาตรการมีความชัดเจนมากกว่านี้ แต่ในข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มาก็ยังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ที่นักวิชาการค่อนข้างกังวล” 

นโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่เห็นด้วย

การออกแถลงการณ์ของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ 99 คน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายเงินดิจิทัลฯ “เนื่องจากเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย” ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทย (และรัฐบาล) อยู่พอสมควร ซึ่งเอกภัทรอธิบายว่า โดยหลักการของวิชาเศรษฐศาสตร์คือการบริหารสิ่งที่ขาดแคลน และเมื่อเป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องใช้งบประมาณ จึงต้องมีการจัดลำดับว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลัง หรือคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อนใช้เงิน

“พอเรามองนโยบายนี้ คือรัฐบาลต้องการให้ตัวเงินที่ใช้ไปปั่นให้เกิดวงรอบของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ คาดหวังว่าเมื่อมีการจ่ายเงินเป็นทอดๆ ก็จะเกิดการผลิต การบริโภค การแลกเปลี่ยนกัน แล้วตลาดก็จะขยายใหญ่ขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลคาดหวัง แต่ถ้าเรามองดูตัวเลขหนี้สาธารณะหรือยอดการใช้จ่ายกับรายรับที่รัฐเก็บได้ เราจะพบว่ามันไม่สมดุลกันมากๆ”

ปัจจุบัน จีดีพีของประเทศทั้งหมดคือ 18 ล้านล้านบาท ภาษีหรือรายได้ของรัฐอยู่ที่ 2.6 – 2.7 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 61.6 เปอร์เซ็นต์ โดยหลักการคำนวณหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น สามารถทำได้ด้วยการเอาหนี้สาธารณะ (เงินคงค้างที่แต่ละรัฐบาลก่อขึ้น ซึ่งไทยคงค้างอยู่ 10.1 ล้านล้านบาท) เป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยจีดีพี (จีดีพีของไทยอยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท) 

“ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่ารัฐเก็บรายได้ได้ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เม็ดเงินที่รัฐใช้จ่ายออกไปค่อนข้างเยอะ แปลว่ารัฐบาลใช้งบประมาณแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่หลายคนกังวลก็คือว่าปรากฏการณ์แบบนี้มันควรจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะหนึ่ง ที่พอเข้าใจได้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจก็น่าจะกระตุ้นให้คนมีรายได้มากขึ้น ฉะนั้นก็คาดหวังว่ายอดรายรับของรัฐบาลจะมากขึ้นตามขนาดเศรษฐกิจ”

“แต่ช่องว่างของรายรับกับรายจ่ายของรัฐบาล นับวันมันยิ่งห่างออกจากกันไปเรื่อยๆ เลยไม่มั่นใจว่างบประมาณแบบขาดดุลนี้จะช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า” 

“แล้วยิ่งช่วงนี้ดอกเบี้ยขาขึ้นมาก ก็แปลว่าในแง่ของภาระการใช้คืนก็ยิ่งเยอะไปอีก เพราะฉะนั้น ตัวถ่วงน้ำหนักของรายจ่ายก็ยิ่งมีความสว่างไสวมากเลย ขณะที่ฝั่งรายรับก็จะมืดมนมากขึ้น ซึ่งก็ยังไม่รู้จะออกหัวออกก้อยอย่างไร คนเลยมีความกังวล” 

แจกเงินประชาชนจำเป็นไหม

นโยบายเงินดิจิทัลฯ ไม่ใช่นโยบายแรกที่มีการแจกเงินให้กับประชาชน เนื่องจากในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้ “นโยบายคนละครึ่ง” มากระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่านโยบายการแจกเงินเหล่านี้จำเป็นสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขาดดุลหรือไม่ เอกภัทรชี้ว่าเราอาจจะต้องอ่านเกมสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าในตอนนี้ 

“เรามั่นใจว่าในช่วงนโยบายคนละครึ่ง พฤติกรรมของประชาชนใช้จ่ายเยอะจริง แล้วมันก็ใช้ง่ายและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างเยอะพอสมควร ฉะนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจว่านโยบายดังกล่าวสามารถปั่นเศรษฐกิจได้ดีมาก แต่นั่นก็เป็นระยะสั้นมากๆ คือเราเห็นการกระโดดตัวของเศรษฐกิจขึ้นไปในเปอร์เซ็นต์ที่สูงได้ไม่นาน แต่การปั่นเศรษฐกิจที่ดีและเห็นผลระยะยาว คือการที่เราสามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้ต่างหาก” 

“การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันออกนโยบายนี้มา เขาก็บอกว่าเขาต้องการเห็นภาพนั้น ก็เลยให้เงินก้อนหนึ่งหมื่นบาท เพื่อให้คนไปสร้างตัว สร้างอาชีพ แล้วมันก็จะเกิดการขยายตัวของการจ้างงาน เกิดการเบ่งบานของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าภาพนั้นจะเกิดขึ้นไหม เพราะสมมติว่ารัฐบาลให้เงินไปหนึ่งหมื่นแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าเงินหนึ่งหมื่นนี้จะเพียงพอต่อการก่อร่างสร้างตัวมากแค่ไหน SME มีวุฒิภาวะเพียงพอไหมต่อการจัดการธุรกิจ หรือจัดการสภาพคล่องเป็นหรือเปล่า ซึ่งมันก็ยังสะลึมสะลือ และเมื่อดูอาการของปัญหาบ้านเมืองตอนนี้ ส่วนตัวก็คิดว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเยอะขนาดนั้น บวกกับรัฐบาลยังไม่สามารถปูทางเพื่อให้เห็นผลดีในระยะยาวได้ ก็อยากให้ทบทวนอีกนิดก่อนที่นโยบายนี้จะออกมา”

ใครๆ ก็อยากได้เงินฟรี (แต่ฟรีจริงหรือ?)

ในโลกออนไลน์มีการพูดคุยและถกเถียงเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลฯ อย่างแพร่หลาย ขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งตั้งตารอและรู้สึกตื่นเต้นกับการได้รับเงิน 10,000 บาท เพราะหวังจะนำไปจับจ่ายใช้สอย ประชาชนอีกกลุ่มก็หยิบยกเรื่อง “หนี้ที่ทุกคนต้องแบกรับ” มาเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลไม่ควรประกาศใช้นโยบายนี้

“ต้องยอมรับว่าเวลาเรียนเศรษฐศาสตร์แบบขนบอย่างที่เราเรียนกันมา เราจะมีข้อสมมติฐานว่าประชาชนเป็นหน่วยเศรษฐกิจ ผู้ผลิตทุกคนเป็นผู้มีเหตุมีผล (rational) ฉะนั้น ในการทำนโยบายต่างๆ เขาจึงคิดว่าประชาชนทุกคนต้องมีเหตุผลตามแบบที่เขาคิด แต่เอาเข้าจริง บนโลกแห่งความเป็นจริง ทุกคนมีความเป็นปัจเจกสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่าย พฤติกรรม การตัดสินใจต่างๆ มันอาจจะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลก็ได้ แต่มันมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกตามมา มันจึงเกิดหน่วยย่อยของวิชาเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ ที่เรียกกันว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่ใช้จิตวิทยามาผสมกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ารัฐบาลได้มีการนำประเด็นด้านนี้เข้ามาร่วมวิเคราะห์ด้วย ก็น่าจะทำให้ผลของนโยบายนี้มีความจำเพาะต่อโรค ต่ออาการมากยิ่งขึ้น”

“คำว่าของฟรีคงใช้ไม่ได้กับการดำเนินการนโยบายนี้ เพราะสุดท้ายก็จะกลายไปสู่หนี้สาธารณะ ประกอบกับปัญหาหนี้สินที่ไม่ใช่แค่รายได้ไม่พอรายจ่าย แต่เป็นปัญหาที่มีความเป็นปัจเจกสูง การให้เงินที่ดูเหมือนว่าจะฟรีจึงไม่ใช่นโยบายสำเร็จรูปที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยั่งยืน”

ทั้งนี้ เอกภัทรมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนอยากได้เงินหนึ่งหมื่นจากรัฐบาล แต่จุดอ่อนของรัฐบาลทุกยุคคือ “การสื่อสารกับประชาชน” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจน

แก้ปัญหาด้วยการพัฒนาคน

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาของประเทศอาจทำได้หลายวิธี แต่เอกภัทรชี้ว่าการแก้ไขเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทว่า ในสังคมไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงลิ่ว การทำงานของหน่วยงานภาครัฐกลับไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อาจทำได้ยากมากขึ้น

“เมื่อไปศึกษาเรื่องความจนของไทย เราก็พบว่าปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล คือการให้นิยามความยากจนที่ไม่เหมือนกัน บ้างก็ใช้นิยามแบบหนึ่ง บ้างก็ใช้อีกนิยามหนึ่ง มันจึงนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบหนึ่ง ด้วยคนแบบหนึ่ง แต่พอเปลี่ยนหน่วยงาน นิยามความยากจนก็เปลี่ยนไป จึงทำให้นโยบายเอาชนะความยากจนยังดูกระท่อนกระแท่น และนี่ยังไม่รวมความยากจนแบบเป็นวงจร (Cyclical Poverty) หรือ ความยากจนร่วม (Collective Poverty)” 

“ถ้าถามว่าปัญหาอะไรที่มองแล้วคิดว่าควรให้ความสำคัญมากที่สุด คืออยากให้ประชาชนชาวไทยมีความเท่าเทียมกัน ในแง่ของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม คือถ้าประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ที่ดี ประเทศมีคนที่พร้อม ในแง่ของการทำนโยบายต่างๆ มันจะไหลลื่นได้ดีกว่านี้มากๆ เพราะอย่างที่เล่าไปว่าถ้าให้เงินหนึ่งหมื่นบาทไปแล้ว แต่คนยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไรต่อดี มันก็อาจจะจบที่การซื้อของอย่างเดียว โดยไม่ได้เกิดการสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้น ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คิด ดังนั้น ถ้าเราสามารถช่วยกระตุ้นหรือพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์ในบ้านเราให้ดีขึ้นก่อนได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการทำนโยบายในระยะอื่นๆ” 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า