fbpx

พิสูจน์ความจนแบบรัฐศักดินา กับเบี้ยคนชราที่หายไป

เบี้ยผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือสวัสดิการที่ทางภาครัฐ จัดสรรให้แก่ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละเดือน เนื่องจากรายได้จากอาชีพผู้สูงอายุที่ทำอยู่ในแต่ละเดือนอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ

หนึ่งในเรื่องที่กำลังพูดถึง ณ ขณะนี้ คือการออกกำหนดการเงื่อนไขพิสูจน์รายได้ของผู้สูงอายุ ที่ต่อไปในอนาคตจะต้องตรวจสอบรายได้ว่าสมควรได้รับหรือไม่

นอกเหนือจากการที่ผู้สูงอายุจำนวนมากจะขาดเงินสนับสนุนเพื่อการยังชีพแล้ว การพิสูจน์รายได้ของผู้สูงอายุ ที่ต้อง “จนจริง” ยังสะท้อนให้เห็น แนวคิดของรัฐศักดินาโบราณ ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐมองว่าพลเมืองเป็นเพียงแรงงาน เป็นเครื่องมือให้ผู้นำใช้ในการหาผลประโยชน์มาสนองความต้องการของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น อีกทั้งประชาชนยังต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ และถูกควบคุมไม่ให้แตกแถวออกไปจากการควบคุมของชนชั้นนำที่อยู่ยอดบนสุดของระบบศักดินา 

รัฐศักดินาไทย

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อธิบายว่ารัฐศักดินาไม่ว่าที่ไหนในโลก หากเปรียบอย่างง่ายๆ ก็คือระบบมาเฟียที่พัฒนาถึงที่สุด หมายความว่าเป็นระบบอำนาจที่ผูกติดกับตัวบุคคล

ระบบศักดินาเจ้าที่ดินไทยมีการแบ่งอย่างชัดเจนว่า ขุนนาง-ไพร่-ทาส มีที่ดินในครอบครองเท่าไร ไพร่และทาสต้องอยู่ในสังกัดกลุ่มชนชั้นนำ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าระบบเจ้าขุนมูลนาย แน่นอนว่าหากคุณอยู่ในสังกัดเจ้าขุนมูลนายที่ดี คุณก็จะได้รับการเลี้ยงดูที่ดี แต่หากคุณสังกัดในมูลนายที่โหดร้าย คุณก็จะได้รับการดูแลที่ไม่เท่าคนกลุ่มแรก ระบบอุปถัมภ์จึงมีรากฐานมาจากระบบศักดินาไทยนั่นเอง

ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย แต่ตะกอนของระบบศักดินาก็ยังตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน เห็นได้ชัดเมื่อมีการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการนำไปสู่ระบบอุปถัมภ์อีกครั้งหนึ่ง โดยที่จอมพลสฤษดิ์ มักอ้างระบอบของตนว่าเป็นระบอบพ่อปกครองลูก เปรียบตัวเองเป็นพ่อของประชาชน และผู้ที่อยู่รอบตัวหรือเครือข่ายของเขา ได้รับอภิสิทธิ์ ผลประโยชน์ต่างๆ โดยใช้อำนาจรัฐในการหาประโยชน์ให้กับตนเอง การรัฐประหาร พ.ศ. 2500 จึงเปรียบเสมือนการเปิดม่านจำแลงระบบศักดินาไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย (ซึ่งหากมองในทัศนะของสากลเราก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าสมัยสฤษดิ์เป็นประชาธิปไตย) จนกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีศักดินาแอบแฝงตกทอดจนมาถึงปัจจุบัน

เมื่อยุคของทหารผ่านไป หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 2535  มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 หลายคนมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และรู้สึกถึงการกระจายอำนาจ ก่อกำเนิดระบบราชการส่วนท้องถิ่น แต่ระบบศักดินาที่ฝังรากลึกและฟื้นฟูอย่างชัดเจนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยเรื่อยมา เห็นได้จากการที่การเมืองไทยอยู่ในระบบอุปถัมภ์ของบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัดที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อรองผลประโยชน์จากรัฐบาลกลาง ผ่านตัว ส.ส. กลายเป็นว่าสถานภาพของ ส.ส. กลายเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในระบบอุปถัมภ์มากกว่าการเป็นผู้แทนราษฎร กล่าวคือ เมื่อใดที่ ส.ส. ต้องการคะแนนเสียงในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง จำเป็นต้องพึ่งฐานคะแนนเสียงจาก ระบบราชการส่วนท้องถิ่นและท้องที่ นายก อบต. หรือกำนัน และเครือข่ายของพวกเขาจะเป็นหัวคะแนนให้กับ ส.ส. คนนั้น ในทางกลับกัน การผันงบประมาณจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น จำเป็นต้องพึ่งมือ ส.ส. ในการผันงบประมาณสู่ท้องถิ่น และหาก ส.ส. คนนั้นได้เป็นรัฐบาล หรือเป็นรัฐมนตรี ยิ่งมีศักยภาพในการดึงงบประมาณเข้าสู่พื้นที่ของตน หรือพื้นที่ที่สนับสนุนตนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ นี่จึงเป็นระบบอุปถัมภ์ที่เราเห็นได้ชัดผ่านระบบการเมืองไทยที่ยังมีกลิ่นอายของศักดินาแอบแฝงอยู่และกลายเป็นบรรทัดฐานของระบบอุปถัมภ์ที่สำคัญต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ศักดินาและประชานิยม สามารถเข้าได้อย่างเหมาะเจาะในรัฐที่ไร้สวัสดิการ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยผูกติดกับระบบอุปถัมถ์มาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคศักดินา สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย ยุคประชาธิปไตยแบบไทยๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ จนมาถึงยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พัฒนาการของรัฐสวัสดิการไทยเป็นไปอย่างเชื่องช้าพอๆ กับประชาธิปไตยไทยที่ถูกรัฐประหารบ่อยครั้ง 

มาถึงยุคที่เรียกได้ว่ารัฐบาลประชานิยมสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เขาสามารถใช้นโยบายประชานิยมตอบสนองความต้องการของประชาชน เห็นได้จากการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 3 ปี และการลดภาระหนี้ รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยให้เกษตรกรสามารถเลือกพักชำระหนี้ 3 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือเลือกลดภาระหนี้ โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเกษตรกรในการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูอาชีพของตนเอง เป็นการตอบสนองความต้องการของเกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ และเป็นภาพสะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพของรัฐไทยที่ไม่เคยมีสวัสดิการหรือเงินทุนให้กับเกษตรกร จนเมื่อทักษิณเข้ามาใช้เงื่อนไขประชานิยมตอบสนองความต้องการของพวกเขา

หรือโครงการกองทุนหมู่บ้านละล้านก็เปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง ทำให้คนในท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการเงินในการลงทุนหรือประกอบกิจการขนาดเล็กได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นอีกโครงการที่สะท้อนภาพของภาคประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เมื่อมีนักการเมืองหรือรัฐบาลที่มีนโยบายประชานิยมเข้ามา จึงตอบสนองความต้องการของเขาได้ดี

การปฏิรูประบบราชการก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย โดยการปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม และลดขั้นตอนการดำเนินงานของภาครัฐให้น้อยลง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เช่น  การที่นักการเมืองสามารถเข้าครอบงำ สั่งการระบบราชการได้โดยตรง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ข้าราชการมีอำนาจในการครอบงำนักการเมือง เป็นการดึงระบบอุปถัมถ์มาสู่มือนักการเมืองโดยเฉพาะ จากพรรครัฐบาลทั้งในแง่การผันงบลงพื้นที่ รวมถึงควบคุมราชการไม่ให้แตะต้องระบบอุปถัมภ์ของตนเอง ทำให้นักการเมืองระดับท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กับส่วนกลางและมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

รัฐศักดินา 5.0

การรัฐประหาร 2557 ยิ่งตอกย้ำความเป็นศักดินาของรัฐไทย กล่าวคือเราจะเห็นจากนโยบายสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จัดทำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และพบปัญหาในการจัดทำโครงการดังกล่าวคือ ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้บัตรคนจนนั้น มีเพียง 16% ของผู้ถือบัตรทั้งหมด เป็นคนจนที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนน้อยกว่า 2,700 บาท ซึ่งสัดส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 11% ในปี 2562 และ 13% ในปี 2563 นั่นหมายความว่า คนที่ ‘ไม่จน’ แต่ถือบัตรคนจนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากนั้น ในปี 2561 มีเพียง 1 ใน 5 ของคนจน (23%) เท่านั้นที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นี่จึงเป็นกระบวนการทำงานที่ตกหล่นอย่างมาก สะท้อนถึงรัฐศักดินาที่ไม่ใส่ใจสวัสดิการของประชาชน ทำให้สวัสดิการดังกล่าวไปไม่ทั่วถึง และสวัสดิการที่แท้จริงไม่ควรมีเงื่อนไขในการจะมอบสวัสดิการให้กับประชาชนทุกกลุ่ม แต่กระบวนการดังกล่าวกลับเลือกปฏิบัติกับคนในรัฐของตนเอง และยังไม่ทั่วถึงตามกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ด้วย

หรือกรณีการขอทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่ต้องมีเงื่อนไขว่ายากจนเป็นพิเศษ และต้องทำแบบฟอร์มมากมายในการกรอกรายละเอียดขอทุน บ่งบอกถึงรัฐศักดินาที่ไม่ต้องการสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างจริงจัง โดยสร้างเงื่อนไขไว้มากมาย ทำให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ยากขึ้น

ล่าสุดรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ที่มีผลกระทบต่อเบี้ยคนชรา คือมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมาใหม่ เปลี่ยนไปจากการที่ให้สิทธิทุกคนที่ไม่ได้รับเบี้ยบำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ มาเป็นการให้สิทธิเฉพาะผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอตามคุณสมบัติที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตที่มีอายุถึงเกณฑ์จะได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขดังกล่าว เช่น คนอายุ 60 จะมีแค่บางคนที่ได้รับสวัสดิการและคนบางกลุ่มก็จะไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการที่เลือกปฏิบัติแค่คนบางกลุ่ม หรือเลือกที่จะตัดงบที่เกี่ยวกับสวัสดิการมากกว่าการตัดงบประมาณการซื้ออาวุธให้กองทัพ

ทางออกแห่งความหวังว่าด้วยรัฐสวัสดิการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของประเทศไทย คือระบบศักดินาที่ฝังรากหยั่งลึกในระบอบการปกครองไทย นำไปสู่รัฐที่ไร้สวัสดิการ ทำให้ประชาชนต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์จากนักการเมือง รัฐราชการรวมถึงผู้มีอำนาจ นี่คือภาพสะท้อนที่สำคัญที่เราควรเร่งดำเนินการให้ประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการที่ตอบสนองประชากรทุกกลุ่มทุกคนได้อย่างทั่วถึง ก่อนที่ระบบศักดินาจะหยั่งรากลึกในการเมืองไทยด้วยระบบอุปถัมภ์จนประชาชนไม่สามารถลืมต้าอ้าปากได้ เพราะจะกลายเป็นเพียงประเทศที่คนจนต้อง “พิสูจน์” ว่าตัวเองจนจริง คู่ควรกับความช่วยเหลือจากรัฐ และใครที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจนจริงก็จะไม่ได้รับสวัสดิการใดในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ดังที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี  อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ก้าวแรกของสวัสดิการถ้วนหน้าคือการที่ผู้คนในสังคมจะต้องร่วมพูดคุยเพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และไม่ให้อภิสิทธิ์ชนเป็นผู้ออกแบบสวัสดิการแทนคนส่วนใหญ่ในประเทศ

หลักฐานอ้างอิง : the101 2 3 / illuminationseditions / matichon / prachatai 2 / nida / setthasarn / portal

เขียน สมเกียรติ วันทะนะ, ธงชัย วินิจจะกูล, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, แพทริค โจรี, เดวิด สเตร็คฟัส, สมชัย ภัทรธนานันท์, ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ .เมื่อใดจึงเป็นชาติไทย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า