fbpx

‘เฟมินิสม์เพื่อคน 99%’ ถ้อยแถลงของเฟมสายต้านทุนนิยม ที่หวังให้สังคมเท่าเทียมอย่างแท้จริง

      ‘ในฤดูใบไม้ผลิปี 2018 การนัดหยุดงานประท้วงของเหล่าเฟมินิสต์ผู้แข็งข้อก็ทำให้กิจการทั่วทั้งสเปนต้องหยุดชะงัก ขบวนการเฟมินิสต์ในนามของ อูเอลกา เฟมินิสตา (huelga feminista) เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และมีผู้ร่วมเดินขบวนมากกว่า 5 ล้านคน’

      ข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ ‘สังคมที่ปราศจากการกดขี่ทางเพศ การเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรง เรียกร้องให้ก่อกบฏและต่อสู้กับแนวร่วมของระบอบปิตาธิปไตยและทุนนิยมซึ่งกดหัวให้เราสยบยอม ว่าง่าย และสงบปากสงบคำอย่างจำนน’

      แนวคิดเฟมินิสม์มีหลากหลาย แต่ละสายก็มีวิธีการเคลื่อนไหวที่ต่างกัน และถูกเรียกแตกต่างกันไป เช่น การเรียกเฟมินิสต์คนหนึ่งว่าเป็นเฟมินิสต์สายเสรีนิยม เฟมินิสต์สายต้านทุนนิยม เฟมินิสต์สายมาร์กซ์ ที่แต่ละกลุ่มความเชื่อได้มีเรื่องราว ประสบการณ์ชีวิต และข้อเรียกร้องกันคนละอย่าง แต่ท่ามกลางความแตกต่าง ผู้ผลักดันแนวคิดสตรีนิยมในสายต่างๆ มีหนึ่งสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันคือ การมองว่าทุกคนจำเป็นต้องเท่าเทียมกัน 

      หนังสือที่มีชื่อว่า ‘Feminism for the 99%’ หรือในชื่อภาษาไทย ‘ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99%’ เกิดขึ้นโดยเฟมินิสต์ 3 คน ได้แก่ ชินเซีย อารุชชา, ติถีภัฏฏาจารย์ และ แนนซี เฟรเซอร์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจอันแรงกล้าจากการประท้วงและนัดหยุดงานของเฟมินิสต์ทั่วโลกในช่วงปี 2017-2018 

      Feminism for the 99% จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับแนวทางการต่อสู้ของเหล่าเฟมินิสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะเฟมินิสต์สายต่อต้านทุนนิยม ที่มองว่าเฟมินิสต์สายเสรีนิยมอาจไม่ตอบโจทย์การเคลื่อนไหวอีกต่อไป จนได้ถ้อยแถลงที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทลายทุนนิยม จำเป็นจะต้องลงถนนประท้วงสิ่งที่ไม่ยุติธรรมทั้งระบอบ 

      ‘ถ้อยแถลงนี้คือความพยายามในการสนับสนุนเฟมินิสม์แขนงอื่น ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อวาดภาพของโลกที่สวยงามเกินจริง แต่เพื่อปักป้ายกำหนดเส้นทางที่ต้องก้าวไปเพื่อมุ่งหน้าสู่สังคมที่เป็นธรรม เราตั้งใจจะอธิบายว่าทำไมเฟมินิสต์ควรเลือกเส้นทางของการประท้วงหยุดงานเพื่อต่อต้าน ทำไมเราต้องเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านทุนนิยมและต่อต้านระบบ รวมถึงว่าทำไมขบวนการของเราต้องเป็นเฟมินิสม์เพื่อคน 99% เราต้องร่วมมือกับนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ นักสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานและผู้อพยพ

      ‘การทำงานร่วมกับกลุ่มคนเหล่านี้คือหนทางเดียวที่เฟมินิสม์จะรับมือกับความท้าทายแห่งยุคสมัยได้ ยามเมื่อเราปฏิเสธหลักการโน้มสู้ รวมถึงแนวคิดเฟมินิสม์เพื่อคนแค่ 1% อย่างเด็ดขาด เฟมินิสม์ของเราจะกลายเป็นไฟนำทางแห่งความหวังของทุกคนที่เหลืออีก 99% ได้จริงๆ’

เมื่อผู้เขียนถ้อยแถลงมองว่า เฟมินิสต์สายเสรีนิยมคือส่วนหนึ่งของปัญหา?

      กลุ่มผู้เขียน Feminism for the 99% ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวให้เห็นหลายครั้ง เช่นความคิดที่ไม่อยากให้สื่อกระแสหลักมองว่าเฟมินิสม์มีความหมายเท่ากับเฟมินิสม์สายเสรีนิยม พวกเธอเชื่อว่าเฟมินิสม์สายเสรีนิยมไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่หลายคนเรียกร้อง แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง เพราะแนวคิดนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศซีกโลกเหนือ ท่ามกลางชนชั้นระดับผู้บริหารสายงานต่างๆ พวกเขาล้วนให้ความสำคัญกับการโน้มสู้ และทำลายเพดานแก้ว 

      แต่ความทุ่มเทดังกล่าวส่งให้หญิงอภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่คน เติบโตในองค์กรและลำดับชั้นทางทหาร สร้างมุมมองความเท่าเทียมที่มีตลาดเป็นศูนย์กลาง รวมถึงองค์กรที่ออกปากสนับสนุน ‘ความหลากหลาย’ 

      แม้ว่าเฟมินิสต์จะประณามการเลือกปฏิบัติด้วยอคติและสนับสนุนเสรีภาพในชีวิต แต่กลับปฏิเสธที่จะพูดถึงข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคมที่กีดขวางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเสรีภาพของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เหลือ กลุ่มผู้เขียนจึงมองว่าเป้าหมายแท้จริงของเฟมินิสต์สายเสรีนิยมไม่ใช่ความเท่าเทียม หากเป็นระบบสังคมที่เชื่อว่าความสำเร็จของปักเจกเกิดจากความสามารถส่วนบุคคลล้วนๆ แทนที่จะเสาะหาวิธีพังทลายลำดับชั้นทางสังคม เฟมินิสต์สายเสรีนิยมกลับมุ่งสร้างความหลากหลายและส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ ‘มีความสามารถ’ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับบน 

      เมื่อมองว่าผู้หญิงเป็นเพียงกลุ่มคนที่ไม่มีที่ยืนในสังคมมากพอ (underrepresented group) บรรดาคนที่สนับสนุนแนวคิดนี้จึงพยายามเฟ้นหาผู้มีอภิสิทธิ์เพียงไม่กี่คนเพื่อให้มั่นใจว่า พวกเธอจะสามารถคว้าตำแหน่งการงานและมีรายได้เท่าเทียมกับผู้ชายในชนชั้นเดียวกัน ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรกๆ คือคนที่มีฐานะ คนที่ได้เปรียบทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในขณะคนที่เหลือยังคงติดอยู่ตรงฐานล่างสุดของสังคม 

      ‘เช่นเคย ผู้หญิงกลายเป็นผู้ประสบภัยกลุ่มหลักท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองปัจจุบัน พวกเธอยังคงรับบทนำในการต่อสู้เพื่อหนทางปลดแอก อย่างไรก็ตาม เราว่าวิธีแก้ปัญหาไม่ใช่อะไรง่ายๆ อย่างแค่การสถาปนาผู้หญิงขึ้นสู่ฐานที่มั่นแห่งอำนาจ ในเมื่อผู้หญิงถูกกีดกันออกจากพื้นที่สาธารณะมาช้านาน เราจึงต้องสู้ยิบตาเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และรับฟังปัญหาต่างๆ ของพวกเรา เช่น ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสังคมมักมองข้ามเพราะเห็นว่าเป็น ‘เรื่องส่วนตัวในที่ลับตาคน’’

      ‘น่าขันที่บ่อยครั้งพวกชนชั้นนำหัวก้าวหน้า สวมรอยบิดเบือนข้อเรียกร้องของเราเพื่อประจบประแจงทุนนิยม พวกเขาเชิญเราเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ ชวนลงคะแนนเสียงให้นักการเมืองหญิงซึ่งไม่น่าไว้ใจ แถมขอให้เราร่วมยินดีกับการทะยานขึ้นสู่อำนาจของตนเอง ทั้งที่ก็ไม่เคยสนใจไยดีกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของพวกเราทุกคนเลยด้วยซ้ำ’

      ผู้เขียนถ้อยแถลงต้องการให้ขบวนการเฟมินิสต์มุ่งเป้าไปที่การจัดการกับรากเหง้าของระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโหดร้ายป่าเถื่อน จะไม่ยอมขายคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมาก เพื่อปรนเปรอเสรีภาพของคนเพียงหยิบมือบนยอดพีระมิด 

      ความต้องการและสิทธิของคนส่วนใหญ่จะต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตของหญิงยากจน ชนชั้นแรงงาน ผู้อพยพ เควียร์ ทรานส์ คนพิการ หรือแม้แต่ผู้หญิงที่สังคมส่งเสริมให้เชื่อว่าตัวเองเป็น ‘ชนชั้นกลาง’ แม้จะถูกนายทุนขูดรีดอย่างไม่หยุดหย่อน 

      ‘เฟมินิสม์เพื่อคน 99% คือเฟมินิสม์ที่ดับเครื่องพุ่งชนทุนนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง เราจะไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมกัน จนกว่าจะถึงวันที่ทุกคนเท่าเทียม ไม่หยุดอยู่แค่การเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายจนกว่าทุกคนจะได้รับความยุติธรรม และไม่มีวันพอใจกับประชาธิปไตยจนกว่าสังคมจะยึดถือเสรีภาพของปัจเจกชน’

เมื่อผู้เขียนถ้อยแถลงมองว่า ทุนนิยมเป็นส่วนหนึ่งที่ธำรงไว้ซึ่งความรุนแรงทางเพศ

      ‘เมื่อความวิตกกังวลเรื่องสถานะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมืองปรากฏขึ้นเป็นวงกว้าง ระเบียบของเพศสภาพก็เริ่มสั่นคลอน ผู้ชายบางคนประสบกับปัญหาว่าพวกผู้หญิง ‘ผีเข้าผีออก’ สังคมสมัยใหม่เองก็ ‘ไร้ระเบียบ’ เพราะเสรีภาพทางเพศแบบใหม่และความลื่นไหลทางเพศ

      ‘บ้างก็ว่ามีแฟนหรือภรรยาที่ ‘อวดดี’ บ้านช่องเละเทะระเกะระกะ ส่วนลูกๆ ก็ซุกซนจนวายป่วง พวกเขาเจอเจ้านายที่หัวแข็งเกินใคร มีเพื่อนร่วมงานที่ได้รับคำชมทั้งที่มันไม่ได้ทำห่าอะไรเลย แถมพอมองย้อนกลับมา หน้าที่การงานอะไรก็ยังไม่มั่นคงสักอย่าง ความห้าวหาญและแรงดึงดูดทางเพศของตัวเองถูกสังคมตั้งคำถามไม่หยุดหย่อน พอรับรู้ว่าความเป็นชายในตัวกำลังถูกคุกคาม ตัวตนของพวกเขาจึงระเบิดออกมาดังบึ้ม’

      ความรุนแรงที่เห็นได้ง่ายที่สุดมาจากครอบครัวและคนใกล้ตัว อ้างอิงจากนักวิจัยที่ประเมินไว้ว่าผู้หญิงกว่า 1 ใน 3 ทั่วโลก เคยประสบความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆ เป็นความรุนแรงทางกาย ทางใจ และการฆาตกรรมจากคนใกล้ชิดมากถึง 38% จนทำให้กลุ่มผู้เขียนถ้อยแถลงเริ่มมองสังคมแล้วตั้งคำถามว่า ส่วนหนึ่งที่ความรุนแรงทางเพศยังคงเกิดขึ้นสม่ำเสมอมีอะไรเป็นปัจจัยบ้าง คำตอบนั้นหลากหลายและมีทุนนิยมรวมอยู่ในปัจจัยด้วย 

      เคล้าไปกับการตั้งสมมติฐานเรื่อง ‘ครอบครัวในโลกทุนนิยม’ กับ ‘งาน’ ที่ทุกคนจะต้องทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ หลายครั้งความรุนแรงในครอบครัวก็เกิดขึ้นจากการขาดความเป็นเหตุเป็นผล ถูกปลุกเร้าด้วยแอลกอฮอล์ ความอับอาย และความวิตกกังวลเมื่อต้องรักษาอำนาจในการควบคุมเอาไว้ให้ได้ 

      นอกจากการคุกคามทางเพศในครอบครัว การคุกคามทางเพศในโรงเรียนหรือทำงานก็ยังคงเป็นสิ่งที่เห็นจนชินตา แล้วระบบอำนาจนิยมในสถาบันเหล่านี้จะพยายามส่งเสริมให้ความรุนแรงที่หลายคนเผชิญอยู่ ‘ดูเหมือน’ เป็นเรื่องปกติ

      ขยับออกจากความใกล้ชิด เป็นพื้นที่สาธารณะที่เราอาจรู้จักหรือไม่รู้จักกันมาก่อนเลยก็ได้ บางกรณีเราอาจเจอความรุนแรงทางเพศจากผู้ที่สวมรับแนวคิดเกลียดชังเพศหญิง (misogyny) มาใช้ทำร้ายเฟมินิสต์ราวกับว่าเป็นการแข่งขันรูปแบบหนึ่ง เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะในสังคมบางอย่าง หรือเพื่ออวดเบ่งว่าตัวเองเจ๋งพอ 

      มุมมองเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวข้องกับทุนนิยม ผู้เขียนหนังสืออธิบายไว้ว่า

      ‘เพราะทุนนิยมมอบหมายงานผลิตซ้ำให้แก่ผู้หญิงจนท่วมหัว จนจำกัดความสามารถไม่ให้พวกเธอเข้าร่วมพื้นที่ของ งานการผลิต (productive work) ได้อย่างเต็มที่ ผลที่เกิดขึ้นคือเราส่วนใหญ่ต้องจมปลักอยู่กับงานเดิมๆ ที่ไม่มีความก้าวหน้า ซ้ำยังได้รับค่าแรงไม่มากพอดูแลครอบครัว สภาวการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบย้อนศรกลับมายังชีวิตส่วนตัวของพวกเราเอง ซึ่งเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ผู้หญิงหลายคนแทบไม่สามารถก้าวออกจากความสัมพันธ์ได้เลย (เพราะยังต้องพึ่งพาสามีที่ได้รับค่าแรงมากกว่า) สภาวะติดแหง็กเช่นนี้สูบเลือดสูบเนื้อและลดทอนอำนาจต่อรองของผู้หญิงในบ้าน

      ‘แน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือนายทุน ขณะที่ผลลัพธ์คือผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงซ้ำถึงสองครั้ง ครั้งแรกด้วยเงื้อมมือของครอบครัวและคนใกล้ชิด ส่วนครั้งที่สองคือผ่านผู้รักษากฎและผู้ช่วยทั้งหลายของนายทุน

      ไม่ใช่แค่เฉพาะกับเพศหญิง แต่ความรุนแรงที่ว่านี้ยังหมายถึงปฏิกิริยาของผู้คนบางส่วนในสังคม ที่ประณามวิถีปฏิบัติทางเพศที่พวกเขาเห็นว่าทำลายคุณค่าทางความเชื่อ ด้วยความมุ่งมั่นว่าพวกเขาคือผู้ที่จะต้องค้ำจุนหลักการอันทรงคุณค่า เลยปาก้อนหินใส่พวกที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘พวกผิดประเวณี’ เฆี่ยนตีเลสเบี้ยน ส่งเกย์ไปบำบัดแก้เกย์ พยายามฟื้นฟูแนวคิดโบราณล้าหลังอย่างปิตาธิปไตย การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน และการกดทับทางเพศ 

      ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สนับสนุน ‘สมรสเท่าเทียม’ และผลักดันให้คนทุกเพศได้แสดงอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างเปิดเผย 

      เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านทุกคนคงจะได้คำตอบแล้วว่าทางไหนเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง และไม่มีการตัดสินใจใดง่ายดายเท่านี้อีกแล้ว 

      อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้คนให้ความสนใจ เป็นช่วงเวลาที่ขบวนการเควียร์และเฟมินิสต์กำลังแตกหน่อ เป็นช่วงเวลาของชัยชนะทางกฎหมายครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบทนิติบัญญัติเพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่างเป็นทางการ การรับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสมรสเท่าเทียม ทั้งหมดนี้คือข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก 

      ชัยชนะในหลายพื้นที่คือผลพวงของการต่อสู้อันยากลำบาก ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งสำคัญที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีลักษณะเปราะบางและถูกคุกคามอยู่ตลอด และนายทุนยังแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์นี้ได้อีก เช่น บรรทัดฐานความเป็นเกย์ จากกลุ่มทุนนิยมชนชั้นกลางที่ยึดโยงอัตลักษณ์ของตนเข้ากับรูปแบบการบริโภคอันจำเพาะไปจนถึงความมีหน้ามีตาในสังคม ที่ผลักให้คนไม่ตรงตามอัตลักษณ์บางอย่างกลายเป็นคนชายขอบ รวมถึง กระบวนการย้อมสีชมพู (pink-washing) หรือ การย้อมสีรุ้ง (rainbow washing) 

      สิทธิทางกฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติขึ้นใหม่ไม่ได้ช่วยยุติเหตุทำร้ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ พวกเขายังคงประสบกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพและเพศวิถี แถมยังต้องเผชิญหน้ากับการไม่ยอมรับเชิงสัญลักษณ์ (symbolic misrecognition) เช่น การเรียกขานบุคคลข้ามเพศด้วยสรรพนามเดิม ถือเป็นการแสดงท่าทีปฏิเสธหรือยอมรับอัตลักษณ์ของบุคคลนั้นๆ และยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางสังคมอยู่ดี 

บทส่งท้าย

      สองประเด็นที่หยิบยกมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือ Feminism for the 99% ที่ยังมีประเด็นอีกมากที่น่าสนใจ เช่น เฟมินิสม์กับนักสังคมนิเวศวิทยาเพื่อหยุดยั้งวิกฤตสิ่งแวดล้อม เฟมินิสม์กับการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและลัทธิจักรวรรดินิยม ทุนนิยมกับการพยายามกำกับบังคับเพศวิถี การกดขี่ทางเพศในสังคมทุนนิยมที่มีรากเหง้าจากการผลิตซ้ำ ฯลฯ 

      เฟมินิสต์สายต้านทุนนิยมที่เผยให้เห็นอะไรหลายอย่างผ่านหนังสือเล่มนี้ ยืนยันว่าพวกเธอไม่ได้สนใจเพียงเรื่องแรงงานและชั่วโมงทำงานเท่านั้น หากยังมุ่งเป้าไปที่ปัญหาการคุกคามและความรุนแรงทางเพศ เรียกร้องสิทธิ์ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนสิทธิในการประท้วงหยุดงาน เพราะทุกเรื่องคือความจำเป็นที่นำมาซึ่งความเท่าเทียมและชีวิตที่ดีขึ้น 

      ในมุมมองของเรา หลายช่วงหลายตอนอาจทำให้ผู้อ่านบางคนเกิดความรู้สึกว่าแนวคิดใน Feminism for the 99% ดูจะสุดโต่งเกินไป รุนแรงเกินไป แต่ในบางประเด็น บางแนวคิดที่ซ่อนอยู่ในประโยคต่างๆ ก็ดูน่าสนใจและควรหยิบยกมาปรับใช้ เพื่อทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับสังคมทุนนิยมให้มากขึ้น เราอ่านเพื่อให้รู้ว่าโลกใบนี้มีแนวทางการต่อสู้ที่หลากหลาย เฟมินิสต์ก็มีหลายสาย มีหลายความคิด และลบล้างวาทกรรมเดิมๆ ที่มักเหมารวมว่าเฟมินิสต์ทุกสายจะต้องสมาทานแนวคิดเดียวกันไปเสียหมด

      ‘เฟมินิสม์เพื่อคน 99% แสวงหาการปฏิรูปทางสังคมที่หยั่งรากลึกและทั่วถึง นี่เป็นเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมขบวนการนี้จึงไม่สามารถแยกออกมาเคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยวได้ เราเสนอให้ทุกคนเข้าร่วมกับทุกขบวนการที่ต่อสู้เพื่อคนอีก 99% ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม เพื่อการศึกษาฟรีที่มีคุณภาพ เพื่อบริการสาธารณะที่ครอบคลุม เพื่อที่พักอาศัยราคาย่อมเยา เพื่อสิทธิแรงงาน เพื่อประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือแม้แต่เพื่อโลกที่ปราศจากการเหยียดเชื้อชาติและสงคราม 

      ‘เราต้องร่วมมือกับขบวนการต่างๆ เหล่านี้ จึงจะได้รับพลังและวิสัยทัศน์เพื่อรื้อถอนความเกี่ยวพันทางสังคม และบรรดาสถาบันที่กดขี่เราอยู่’

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า