fbpx

จุดจบแฟชั่นสุดฮิต! ไม่เป็นมิตรต่อ “สิ่งแวดล้อม”

หมดยุคของ Fast Fashion หรืออุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นแล้ว เมื่อสหภาพยุโรปหรืออียู ได้ร่างกฎระเบียบใหม่ โดยการเสนอให้ประเทศสมาชิกจะต้องแยกขยะสิ่งทอออกจากขยะประเภทอื่นๆ ภายในเดือนมกราคม 2568 แถมยังเสนอกฎให้บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าจ่ายเงินช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับงานเกี่ยวกับการคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และการเอาวัตถุดิบไปรีไซเคิล  ซึ่งบริษัทเสื้อผ้าจะต้องค่าธรรมเนียมให้กับอียูเป็นเงิน 0.12 ยูโรต่อเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นที่ขายได้ หากว่าสินค้าเป็นวัตถุดิบที่ยากต่อการรีไซเคิลค่าธรรมเนียมก็จะสูงขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ Fast Fashion มาไวไปไว และทิ้งร่องรอยผลกระทบไว้ให้กับโลกอย่างมหาศาล ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ สามารถผลิตได้เยอะและรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการซื้อของผู้บริโภคจำนวนมาก เปลี่ยนวงจรเสื้อผ้าให้สั้นลง เพราะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่เลือกสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง

ปัจจัยที่ทำให้เสื้อผ้าแฟชั่นได้รับความนิยมอย่างมาก สาเหตุแรกมาจากฝั่งแบรนด์หรือผู้ผลิต ที่มองในเรื่องของยอดขายและกำไรเป็นหลัก การหาซัพพลายเชนที่ง่ายจึงออกคอลเลคชั่นใหม่ๆ อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังทำโฆษณา การตลาด กระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อมากยิ่งขึ้น จนการซื้อเสื้อผ้ากลายเป็นเรื่องของ “ค่านิยมหรือความพึงพอใจ” ตามกระแส มากกว่าจะมองที่อรรถประโยชน์แท้จริง

อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 8-10% ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก  และปล่อยน้ำเสียเกือบ 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก พร้อมสารเคมีมากมาย  นอกจากจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ยังเกี่ยวโยงไปกับปัญหาการขูดรีดแรงงาน ได้รับค่าตอบแทนต่ำแต่ต้องต้องก้มหน้าขายแรงค่อนข้างหนัก  โดยจะสังเกตุได้ว่าโรงงานเสื้อผ้าส่วนใหญ่ อยู่ในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ ยกตัวอย่าง จีน บังคลาเทศ เวียดนาม และอินเดีย

ทั้งนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกเติบโตขึ้นในอัตราเฉลี่ย 5.5% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าเกือบ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างในช่วงก่อนโควิดระบาด ปี 2019 ปีเดียว มีการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าถึงหลักพันล้านชิ้น เนื่องจากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กลุ่มชนชั้นกลางเติบโตขึ้นมาก และได้เพิ่มการบริโภคเสื้อผ้าเป็นสองเท่า

หนึ่งในทางออกของปัญหานี้ คือ  “แฟชั่นหมุนเวียน” ตามแนวคิดของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy เช่น การใช้ซ้ำวัตถุดิบเดิม การนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ การให้เช่าและขายต่อเสื้อผ้า เป็นต้น นับว่าเป็นอีกทางเลือกของการบริโภคในยุคทุนนิยมสมัยใหม่ ที่เราสามารถเอาสินค้าเดิมมาหมุนเวียนใช้ซ้ำและแลกเปลี่ยนกันได้ การใช้เสื้อผ้ามือสองช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อเสื้อผ้าใหม่ โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยว่าถึงเกือบ 7 เท่า  และใช้น้ำน้อยกว่าถึง 65 เท่า

ขณะที่ประเทศกลุ่มอียูจะมีสมาคมบริหารจัดการขยะเสื้อผ้าในเเต่ละประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเเล้วในฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแฟชั่น หลังสหภาพยุโรปหรืออียู ได้ร่างกฎระเบียบใหม่ โดยการเสนอให้ประเทศสมาชิกจะต้องแยกขยะสิ่งทอออกจากขยะประเภทอื่นๆ ภายในเดือนมกราคม 2568 แถมยังเสนอกฎให้บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าจ่ายเงินช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับงานเกี่ยวกับการคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้ว

ทำให้ประเทศสเปน ได้เกิดองค์กรไม่เเสวงหาผลกำไรสำหรับภารกิจดังกล่าวที่ชื่อว่า โมดา รี (Moda Re)องค์กรนี้ได้รับความสนับสนุนทางการเงินบางส่วนจาก บริษัท อินดิเท็กซ์ (Inditex) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเชนร้านเสื้อผ้าแฟชั่น Zara นั่นเอง โมดา รี ตั้งเป้าว่าภายในหนึ่งปีนับจากนี้ จะคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้วเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่และการเอาวัตถุดิบไปรีไซเคิล ให้ได้ 40,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 2 เท่าของปริมาณที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

โดยผู้อำนวยการของโมดารี ตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตโรงงานแห่งนี้จะเป็นสถานที่เปลี่ยนเสื้อผ้าใช้แล้วให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับป้อนให้กับบริษัทแฟชั่นหลายรายในยุโรป  และมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมในเมืองบาร์เซโลนา บิลเบา และวาเลนเซีย ของสเปน เพื่อทำการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วมาคัดแยก และเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้สอดรับกับกฎระเบียบใหม่ของอียูที่ต้องการควบคุมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการลดจำนวนและบริหารจัดการขยะเสื้อผ้าใช้แล้ว  

นอกจากนี้ อินดิเท็กซ์ ยังร่วมมือกับบริษัทเอชแอนด์เอ็ม (H & M) พร้อมด้วยแมงโก (Mango) และบริษัทเเฟชั่นอื่น ๆ ตั้งองค์กรไม่เเสวงหาผลกำไรมาทำหน้าที่บริหารจัดการขยะจากอุตสาหกรรมนี้ ข้อมูลจากรายงานของรัฐบาลอียูที่เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า แม้กระแสความพยายามที่จะลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้าได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่ทั่วทั้งยุโรปก็ยังคงมีขยะประเภทนี้อยู่ถึง 5.2 ล้านตัน และไม่ถึง 25% ถูกนำไปรีไซเคิล

โดยรายงานจากรายงานของรัฐบาลอียูได้เปิดเผยว่า เสื้อผ้าใช้เเล้วกว่าหลายล้านตัน ได้ถูกส่งไปยังที่ทิ้งขยะที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เช่นที่ทวีปแอฟริกา เป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งอาจก่อปัญหามลพิษต่อสิ่งเเวดล้อมได้ ขณะที่รายงานอีกฉบับขององค์การสหประชาชาติยังชี้ว่า อียูนำเสื้อผ้าใช้แล้วออกจากเขตดินแดนของตนเองปริมาณ 1.4 ล้านตันในปีที่เเล้ว (2565) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากเมื่อ 22 ปีก่อน ส่วนผู้เชี่ยวชาญได้ระบุถึงสาเหตุของปัญหาขยะเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้นมาก เกิดจากการบริโภคที่ “มากเกินไป”

บริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีย์ (McKinsey) เปิดเผยในรายงานเมื่อปี 2565 ว่า ควรมีการลงทุนมูลค่า 6,000 ถึง 7,000 ล้านยูโรก่อนปีค.ศ. 2030 เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการและรีไซเคิลขยะจากเสื้อผ้าใช้แล้วให้ได้ตามเป้าหมายของสหภาพยุโรป

นอกจากหน่วยงานหรือองค์ต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาแล้ว เราเองก็สามารถช่วยลด Fast Fashion ได้ด้วยการลดการซื้อและเน้นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ อาจจะเลือกแบบหรือโทนสีพื้น ๆ สไตล์มินิมอลที่สามารถนำมาใส่ซ้ำได้ในหลายโอกาสอย่างไม่เบื่อ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า