fbpx

สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ สำรวจการเงินที่สร้างความสิ้นหวังในใจให้ Gen Z

“อายุ 25 ต้องมีรถมีบ้านเป็นของตัวเอง”
“อายุ 30 ต้องมีเงินเก็บล้านแรกในชีวิต”
“อายุ 35 ต้องแต่งงานมีครอบครัวที่ดี”

หากเราเปรียบข้อความข้างต้นเป็นเหมือนไม้บรรทัดวัดความสำเร็จของผู้คนก็คงจะไม่เกินจริง เพราะนี่คือภาพความมั่นคงที่สังคมได้วาดเอาไว้ จะว่าไปก็คงคล้ายกับมิชชั่นที่ต้องตามเก็บให้ครบในทุกช่วงชีวิต ยิ่งหากใครที่ทำภารกิจได้เยอะเท่าไร ยิ่งได้รับการยอมรับมากเท่านั้น 

เมื่อต้นทุนชีวิตทุกคนไม่เท่ากัน การได้เห็นชีวิตที่สวยงามของผู้อื่น เราก็อาจปักใจเชื่อและคิดไปกันว่า ‘ชีวิตคนนี้ดีจัง’ ซึ่งบางทีก็มักจะนำมาเปรียบเทียบกับตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว อยากเก่งเท่าคนนี้ อยากรวยแบบคนนั้น อยากโชคดีแบบคนโน้น ถ้าจะมองว่าเป็นหมุดหมายในชีวิตที่ดีคงจะไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ทว่าการนำเอาความสำเร็จของผู้อื่นมาเป็นเป้าหมายของตัวเองแล้วนำไปสู่ความสิ้นหวังภายในใจ และลดทอนคุณค่าในตัวเองลง ก็คงต้องตั้งคำถามกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ชีวิตนี้เป็นของเราหรือเป็นของใครกันแน่?

ข้อกังวลใจถัดมาคือคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z เกิดสภาวะ ‘Financial Stress’ หรือความเครียดทางการเงิน จากการศึกษาของ Bankrate พบว่า 52% ของคน Gen Z เรื่องเงินเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของพวกเขา และรู้สึกสิ้นหวังต่อเป้าหมายการเงินในอนาคต ตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้คืออะไร แล้วสภาวะการเงินแบบไหนที่ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่มากที่สุด

ดิ้นรนบนความเป็นอยู่ที่สิ้นหวัง

ค่าครองชีพที่พุ่งสูงสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อสภาวะทางการเงิน หากว่าเป็นเด็กจบใหม่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง ลำพังแค่ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนก็ต้องใช้เงินมหาศาลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าห้องพัก ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และอีกสารพัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้กล่าวถึง อีกทั้งการใช้ชีวิตอยู่เมืองหลวงที่ศิวิไลซ์เต็มไปด้วยผู้คนที่รู้หน้าไม่รู้ใจ ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยจากผลสำรวจ บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป พบว่าคนรุ่นใหม่มีค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอันดับ 1 คือ ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย 51% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคนรุ่นใหม่ยอมจ่ายค่าเช่าอะพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดี

กับดักความสิ้นหวังอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว

ในปัจจุบันที่การเงินเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้เพียงแค่มือถือเครื่องเดียว ปฏิเสธไม่ได้ว่า Gen Z ได้กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของสถาบันการเงินของธุรกรรมแบบ Digital Lending หรือการเข้าถึงสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลอย่างสะดวกและรวดเร็ว และตอบโจทย์ Digital Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องไปธนาคารก็สามารถขอสินเชื่อง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง ‘ช้อปก่อน จ่ายทีหลัง’ ก็แทบจะเป็นจุดขายของทุกแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่ดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี 

อีกทั้งวลีที่ว่า ‘ชอบก็จัดประหยัดทำไม’ ยังสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ทุ่มเงินเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเอง สอดคล้องกับผลสำรวจ บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ที่พบว่า นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยแล้ว คนรุ่นใหม่มักใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว 47% ความบันเทิง 39% ความสวยความงาม 38% และแฟชั่น 36% อย่างไรก็ดี เราไม่อาจมองข้ามไปได้ว่านี่ก็เป็นหนึ่งในกับดักที่อาจทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความสิ้นหวังทางการเงินในที่สุดหากไม่มีการวางแผนที่ดี

สิ้นหวังเพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อค่าจ้างไม่เพิ่มตามค่าครองชีพ ความสิ้นหวังทางการเงินจึงได้ก่อตัวขึ้น จากการสำรวจของ Ernst & Young พบว่า มากกว่า 50% ของคน Gen Z กล่าวว่า “รู้สึกกังวลใจว่าจะมีเงินไม่พอใช้” ผลพวงมาจากความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ความกลัวว่าจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเติบโตขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ หรือแม้กระทั่งการลดขนาดองค์กรให้เล็กลง 

ยิ่งกว่านั้นในช่วงปลายปี 2565 จนถึงช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ปลดพนักงานจำนวนมากในหลายบริษัททั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ผลสำรวจของ Ernst & Young ชี้ให้เห็นว่า ระดับความวิตกกังวลของกลุ่มคน Gen Z อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้การหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพกลายเป็น ภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับคนหนุ่มสาวเหล่านี้ 

ในผลสำรวจฉบับเดียวกันยังระบุว่า 65% ของคน Gen Z เป็นกลุ่มที่เลือกว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรือพนักงานประจำ ในขณะที่ 56% เลือกที่จะทำงานเสริมหลังเลิกงาน และ 39% เลือกที่จะทำงานประจำควบคู่กับรับงานฟรีแลนซ์ไปด้วย

เหตุผลเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอที่จะเป็นคำตอบของโจทย์การเงินที่ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความสิ้นหวังกับเงินในกระเป๋าของตัวเอง ลำพังแค่การแค่การใช้ชีวิตต้นเดือนให้รอดจนถึงสิ้นเดือนก็ว่ายากแล้ว และเมื่อพิจารณาถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการค้นหารากฐานทางการเงินที่มั่นคงและตรงตามไม้บรรทัดความสำเร็จของสังคมที่ว่า ‘อายุเท่านี้ ต้องมีอะไร’ ก็ดูจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสที่บีบหัวใจคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย

ท้ายที่สุด แก่นสารสำคัญที่อยากชวนทุกคนทบทวนคือการตั้งคำถามว่า ภาพจำของสังคมที่ปลูกฝังรุ่นต่อรุ่นว่า ‘เรียนจบ ทำงาน มีบ้านมีรถ แต่งงานมีครอบครัวที่ดี’ คือปลายอุโมงค์ของความสำเร็จที่คนรุ่นใหม่ต้องไขว่คว้าจริงหรือ? 

หรือแท้จริงแล้ว พวกเขาอาจต้องการเพียงแค่ การอยู่ดีมีสุขบนโลกที่ไม่โหดร้ายจนเกินไป โดยที่ไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตไปผูกติดกับความสำเร็จของใคร ก็อาจเพียงพอแล้วก็ได้

ที่มา : forbes / bankrate / bbc / manpowerthailand / aommoney

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า