fbpx

ทำธุรกิจแล้วใจพัง พักสักนิด ค่อยไปต่อ

วางบทบาทตัวเองสักแป๊บ แล้วกลับมาเป็นมนุษย์ทั่วไป ที่เจ็บได้ ร้องไห้เป็น

ในทุก ๆ ธุรกิจ เมื่อมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ต่างมีรากฐานมาจากเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังและความสนุกในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยมีการเติบโตของธุรกิจเป็นเป้าหมายหลัก แต่ในทุกความสำเร็จล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย บ้างเป็นเวลาส่วนตัวที่หายไป บ้างเป็นความกดดันที่กลายเป็นเงาตามตัว ด้วยภาระมากมายที่ต้องแบกอยู่บนบ่าในฐานะเจ้าของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการ การบริหารคนในองค์กร การสานสัมพันธ์กับลูกค้า การรับมือกับนักลงทุน 

เว็บไซต์ zenbusiness เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ถึง 4 เท่า ขณะที่เว็บไซต์ Entrepreneur ระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้ประกอบการ ต่างเคยประสบปัญหาสุขภาพจิตในบางช่วงชีวิต โดยเฉพาะโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ถือเป็น 2 โรคที่มักพบได้บ่อยที่สุดในหมู่คนทำธุรกิจ เนื่องจากต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะชีวิตบนเส้นทางธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ วันนี้อาจกินหรูอยู่อย่างราชา วันต่อมาอาจกลายเป็นยาจก

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นปัจจัยที่ผลักให้ผู้ประกอบการเกิดความเครียดสะสม บ้างอารมณ์แกว่ง ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยเริ่มตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกพบว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง มากถึง 72% ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในการทดสอบจำนวน 250 ราย และพบว่าเกือบ 30% ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีจำนวนหนึ่งที่เผชิญกับโรคสมาธิสั้น

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ คนเหล่านี้ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพจิต บ้างก็เลือกที่จะมองข้ามโรคนี้ไปด้วยซ้ำ สาเหตุนั้นมาจากการกลัวว่าคนอื่นจะมองเห็นอีกด้านของตน ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การโดดเดี่ยวตัวเอง และไม่กล้าที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

แซม อัลท์แมน ประธานกรรมการบริหารของโอเพนเอไอ และประธานบริษัท Y Combinator ออกมาเล่าประสบการณ์ว่า ตนเคยรู้สึกกดดันเป็นอย่างมาก ที่เลือกจะไม่แสดงออกให้ใครเห็นถึงความอ่อนแอ เพราะมองว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องวางบทบาทผู้นำอยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นคนเข้มแข็ง มั่นใจ และมองโลกในแง่ดี เพื่อบริหารจัดการทุกสิ่งรอบตัวให้อยู่หมัด ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก ๆ   

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้ประกอบการบางราย มุ่งความสนใจไปที่การทำงานเพียงอย่างเดียว ทำให้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์บีบคั้น อาจส่งผลให้เกิดการแปรปรวนทางอารมณ์ เมื่อเผชิญกับสภาวะนี้บ่อย ๆ เข้า ก็จะเริ่มแยกไม่ถูกว่าอันไหนเป็นอารมณ์ความรู้สึกทั่วไป หรืออาการที่เข้าข่ายโรค นานวันสิ่งเหล่านี้ก็จะเริ่มก่อร่างกลายเป็นปัญหาที่รบกวบจิตใจ  คนจำนวนมากลงเอยด้วยการประสบปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว  

ทั้งนี้นอกจากการพบแพทย์แล้ว สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกอยู่เสมอคือคุณไม่ได้อยู่คนเดียว ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการ บ่อยครั้งมักจะเผลอจมอยู่กับงานและละเลยความต้องการของตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องให้เวลากับตัวเองบ้าง แม้ว่าจะเป็นเพียงไม่กี่นาทีต่อวันก็ตาม เพราะการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิต 

ที่สำคัญเลยคือต้องค่อย ๆ เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าจากคนรอบตัว ผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด หรือที่ปรึกษา

โนอาห์ เคแกน นักธุรกิจซอฟต์แวร์แห่ง SUMO APP เล่าประสบการณ์เอาไว้ว่า การเขียนทุกอย่างเมื่อรู้สึกเศร้าลงบนหน้ากระดาษก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น จากนั้นให้ลองสังเกตตัวเองว่า ปัจจัยอะไรที่ผลักให้ตัวเรามาอยู่ในสภาวะนี้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเมื่อตกอยู่ในสภาวะที่อาการที่กำลังเกิดขึ้น เพราะบางคนมีความรู้สึกว่าต้องใช้พละกำลังอย่างมหาศาลในการที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง การขอความช่วยเหลือ หรือหาคนที่จะพูดคุยด้วยนั้นเป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งการร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ แต่ถึงแม้จะรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอก็ไม่ได้ผิดอยู่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของการเป็นมนุษย์อยู่แล้ว 

อ้างอิง : zenbusiness / entrepreneur / linkedin

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า