fbpx

‘Empathy’ หัวหน้าก็ (ควร) มีหัวใจ

การขอลางานบางครั้งก็สร้างความอึดอัดใจและความรู้สึกผิดให้กับพนักงาน บ่อยครั้งที่การออกปากขออนุญาตลางานอย่างประโยคที่ว่า ‘พรุ่งนี้ขอลางานนะคะ’ มักจะโดนยิงคำถามกลับจากหัวหน้าว่า “ลาทำไม” “ลาไปไหน” “ธุระอะไร” “ธุระที่ไหน” คำถามเหล่านี้แม้จะดูเป็นเหมือนความใส่ใจพนักงาน ทว่าในการถามลึกลงรายละเอียดก็อาจเป็นการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวได้เช่นกัน 

ยิ่งกว่านั้นในวัฒนธรรมการทำงานของไทยที่มีแนวคิดการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังแบบห้ามขาด ห้ามลา ห้ามมาสาย ตลอดจนการสร้างภาพการแข่งขันในองค์กรด้วยการยกย่องเชิดชูพนักงานที่ไม่เคยลางานหรือขาดงานเป็นพนักงานต้นแบบของคนขยัน ในขณะเดียวกัน พนักงานคนไหนที่ลางานนั้นจะดูเป็นคนที่เพิ่มภาระให้เพื่อนในทีม ทำให้บางคนเกิดความรู้สึกผิดแม้จะขอลางานไปแล้วแต่ก็ยังทำงานเหมือนเดิม เป็นการลาที่เหมือนไม่ได้ลาไปซะงั้น

ความสมเหตุสมผลของการลางานเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันเรื่อยมาในแวดวงคนทำงาน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การที่พนักงานบางคนได้บอกเหตุผลการลาว่ามีความจำเป็นแต่หัวหน้าไม่อนุญาต พร้อมตอบกลับด้วยคำพูดที่แทงใจดำก็ถือว่าเป็นการได้สร้างแผลใจให้พนักงานอยู่ไม่น้อย

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการขอลากิจของตัวเองเพื่อพาพ่อแม่ไปทำธุระ กลับโดนหัวหน้าตอบกลับที่ทำเอาถึงกับหน้าชาว่า “การลางาน หากจำเป็นต้องลาจริงๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องหัดแก้ไขปัญหาดูก่อน ให้ใครพาพ่อแม่ ไปแทนได้มั้ย…หรือหากสามารถไปเองได้ ก็อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอกันนะครับ… หรือจำเป็นต้องลาทั้งวันมั้ย…คิดเองตามความเหมาะสม..” ทำเอาชาวเน็ตออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงที่ว่า ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทุกคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่ที่หัวหน้าใช้คำพูดดังกล่าว

ต่อมาในปีนี้ ก็ได้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง จากกรณีของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความว่า “แล้วฉันผิดอะไร เรื่องแบบนี้พี่ควรเห็นใจหรือเข้าใจหรือเปล่า เกินไปไหม” พร้อมแนบภาพคุยแชตกับหัวหน้าที่เธอลาขอไปดูแลแม่ที่ป่วยหนักแต่หัวหน้าไม่ให้ลา บทสนทนาเริ่มขึ้นหลังจากที่เธอแจ้งหัวหน้าว่า “พี่คะ ขอลาต่อได้ไหมเพราะแม่น่าจะไม่ไหวแล้วค่ะ น่าจะไม่พ้นวันนี้พรุ่งนี้ ได้ไหมพี่” แต่กลับถูกหัวหน้าตอบกลับมาว่า “พี่บอกไปแล้วค่ะว่า ยังไงก็ต้องกลับมาทำงานก่อน” ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น เธอพิมพ์ต่อว่า “แม่เสียแล้วนะคะ ขอกลับบ้านเลยนะคะ ขอโทษนะคะ” แทนที่จะเป็นประโยคที่แสดงถึงความเสียใจ แต่หัวหน้ากลับตอบกลับมาว่า “จะลาออกใช่มั้ยคะ เสร็จธุระก็มาเขียนใบลาออกค่ะ” หลังจากที่โพสต์ถูกแชร์ออกไป เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่อว่าหัวหน้าผู้นี้ว่าใจร้ายใจดำ ซึ่งในกรณีนี้นอกจากหัวหน้าจะไม่ให้ลาแล้ว ยังไม่มีการแสดงความเสียใจ อีกทั้งยังบีบบังคับให้พนักงานลาออกแบบดื้อๆ 

เดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ได้อธิบายเกี่ยวกับคดีดังกล่าวในแง่มุมของกฎหมายว่า พรบ. คุ้มครองแรงงาน 2541 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2562 ระบุว่า ลูกจ้างมีสิทธิลากิจโดยได้รับค่าจ้าง ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี หากพนักงานต้องการลามากกว่าที่กฎหมายกำหนดในกรณีที่มีความจำเป็นก็สามารถทำได้เพียงแต่จะไม่ได้รับค่าจ้าง 

“ในกรณีที่หัวหน้าไม่ให้ลาแสดงว่าผู้นั้นไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากหัวหน้าไร้ความปรานีเมตตาจะส่งผลกระทบถึงสถานประกอบการทำงานเช่นกัน เหตุเพราะเห็นแก่ประโยชน์มากกว่าเห็นความเป็นมนุษย์” เดชากล่าว

ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ควรเป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี รวมถึงคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำหรือหัวหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งการใส่ใจพนักงานมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการใส่ใจผลงาน และมากกว่าการที่จะให้คุณค่าผลงาน หัวหน้าที่ดีควรเริ่มให้คุณค่ากับชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองก่อนมิใช่หรือ 

Forbes ระบุว่า ผู้นำส่วนใหญ่มักเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามบทบาทหน้าที่โดยอาศัยความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ความฉลาดทางอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอาจไม่ได้อยู่ในลิสต์ของทักษะที่จำเป็นของผู้นำ อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจพนักงานและเข้าใจว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์หนึ่งคนที่มีครอบครัวหรือมีปัญหาส่วนตัวนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยซื้อใจพนักงาน ทำให้พนักงานอยากทำงานด้วย เพราะความเห็นอกเห็นใจนี้เหมือนกับสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับหัวหน้า 

นอกจากนี้ ผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ มักจะมีทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีร่วมด้วย แสดงความเป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับปัญหาที่ลูกน้องกำลังประสบพบเจอ หรือยื่นมือไปให้ความช่วยเหลือ ช่วยสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยทางจิตใจให้กับพนักงาน แม้ในวันที่ต้องเจอเหตุการณ์ที่เลวร้าย อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาได้รู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง 

อย่างไรก็ตาม ความเห็นอกเห็นใจอาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของการเป็นคนดีแต่เป็นการให้ค่ากับความเป็นมนุษย์ ในฐานะพนักงานคนหนึ่ง เราต่างต้องการหัวหน้าที่มีความเห็นอกเห็นใจทั้งจากการกระทำและคำพูดที่เป็นมิตร แม้การมีความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่ต้นทุนราคาแพงที่หัวหน้าต้องจ่าย แต่ในมุมของพนักงานความเห็นอกเห็นใจที่ได้รับจากหัวหน้าก็อาจเป็นของราคาแพงที่ประเมินค่าไม่ได้ด้วยซ้ำ 

ที่มา: forbes / youtube

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า