fbpx

สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา : จากเด็กนิเทศ จุฬาฯ สู่ดีเจ และก้าวต่อไปในฐานะผู้บริหาร CHANGE2561

หลายคนคงเห็นผลงานละครหลายๆ เรื่องที่มีเนื้อหาตรงใจกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมาจากผู้ผลิตเดียวกันอย่าง “CHANGE2561” ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง “พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ที่คอยขับเคลื่อนและเป็นทั้งพิธีกร ดีเจ ผู้จัดรายการ และผู้บริหารอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” “สามีสีทอง” หรือเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

วันนี้ The Modernist จึงขอดึงตัวพี่ฉอดมาสัมภาษณ์ ถึงที่มาที่ไป แนวความคิด แรงบันดาลใจ การทำงาน และมองมุมการศึกษาว่าในวงการบันเทิง การศึกษาควรเป็นแบบไหน? ติดตามเรื่องราวชีวิตของเขากันครับ

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เริ่มต้นทำงานจากจุดไหน

พี่จบนิเทศศาสตร์ ง่ายๆ เลยก็แล้วกัน จบนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เอกสื่อสารมวลชน โชคดีกว่าคนอื่นที่ได้ทำงานสายนี้มาตลอด เริ่มต้นจากการจัดรายการ แล้วเติบโตเรื่อยๆ ในสายบริหาร ความจริงพี่ไม่ได้มาสายบริหารหรอก พี่มาสายโปรดักชั่นมากกว่า แต่ว่าด้วยความจำเป็น เดินทางมาเรื่อยๆ ก็ได้ขึ้นมาในสายการบริหาร เดิมทีทำวิทยุเป็นหลัก แต่พอเวลาผ่านไปมันก็เริ่มแตกแขนงสาขาไปเรื่อยๆ จนล่าสุดก็มาเป็น CHANGE2561

แต่เดิมพี่เป็นคนดูแลในเรื่องของแพลตฟอร์มเอง ทั้งวิทยุ หรือ โทรทัศน์ ตอนนี้ก็ไม่ได้ดูแพลตฟอร์มแล้ว เรามาตั้งเป็น CHANGE2561 ก็คือเป็น Content Provider เป็นบริษัทที่ผลิตในทุกรูปแบบ ทั้ง On-Air Online On-Ground แล้วก็สามารถทำงานกับใครก็ได้ เหมือนเป็นผู้ผลิต Content อิสระ

ทำไมถึงเริ่มทำวิทยุเป็นอย่างแรก

คือมันเรียนมาโดยตรง แล้วมีโอกาสเข้ามา พี่ที่รู้จักเขามาชวน เหมือนดีเจคนเก่าเขาออกแล้วเราเข้าไปแทน จุดเริ่มต้นจึงเริ่มจากดีเจ พี่เป็นดีเจมาค่อนชีวิตมั้ง (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ยังจัด Club Friday อยู่ ถามว่าทำไมถึงมาทำ ก็คงเป็นเพราะว่าเรียนมาแหละ แต่ว่าอย่างที่บอกว่าเรียนมาแต่ต้องไปทำอย่างอื่นก็มีเยอะ บังเอิญโชคดี มีคนมาชวนพอดี แล้วมันมีจังหวะและโอกาสที่ทำให้เราเติบโตมาเรื่อยๆ ในสายงานดีเจ

แล้วอะไรทำให้รู้สึกว่า ถึงเวลาที่จะต้องมาทำทีวี

คือตอนที่พี่ทำวิทยุ เมื่อก่อนวิทยุมันคือรายการเพลง พอพูดถึงวิทยุก็ต้องเปิดเพลงใช่ไหม? มีช่วงที่ฟอร์แมตของรายการต่างประเทศมันเข้ามา แล้วก็เขาบอกว่าวิทยุไม่มีดีเจก็ได้ ตอนนั้นมันจะเน้นการเปิดเพลงเลยนะ เรตติ้งถล่มทลายเลย เราเป็นดีเจไง เราก็ไม่เชื่อ เลยคุยกันว่า พี่จะจัดรายการหนึ่งไม่มีเพลงเลยแล้วดูซิว่ามันจะเป็นไปได้ไหม จึงเกิด Club Friday ขึ้นมา ก็มีพี่อ้อยแหละ จัดคู่กัน แล้วก็ให้คนโทรศัพท์เข้ามา ตอนนั้น Green Wave เป็นคลื่นที่มันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เรื่องสิ่งแวดล้อม งั้นเราคุยเรื่องความรักความสัมพันธ์ก็แล้วกัน จัดรายการตอนแรกก็กลัวมาก ถ้าเกิดไม่มีคนโทรมาเราก็จัดรายการไม่ได้ เพราะมันเป็นรายการที่ต้องเล่าเรื่อง เลยถามพี่อ้อยว่า ถ้าเกิดไม่มีคนโทรมา เราจะคุยเรื่องอะไรกันวะ เราจะคุยเรื่องเราสองคนอย่างงี้เหรอ (หัวเราะ) แต่โชคดีที่ผลตอบรับออกมามันดีมาก

ทีนี้ คือเราเป็นคนทำงานแบบต่อยอดมาได้เรื่อยๆ ตัว Club Friday มันก็ประสบความสำเร็จมาเรื่อยๆ กลายเป็นรายการวิทยุที่ทุกคนรู้จักกัน พอทำ Content มากๆ ไป เราก็รู้สึกว่าเสียดาย จัดรายการวิทยุ พอออกอากาศไปมันก็จบไป เลยมาทำหนังสือกัน หนังสือ Best Seller เลยตอนนั้น ออกมาเป็นชุดเลย หลังจากนั้น เกิดแรงบันดาลใจจากเรื่องที่เขาเล่า เอามาทำเป็นเพลงดีกว่า ทำเพลงเสร็จก็เป็นอัลบั้ม ทำ MV มันก็จะมีการทำ MV เป็นเรื่องราว แล้วมันก็กลายเป็นซีรีส์ เป็น Club Friday The Series ตัวเพลงก็กลายเป็นคอนเสิร์ต เป็นแบบคอนเสิร์ตที่มีทั้งเพลง แล้วก็เป็นเรื่องราวด้วย มันจะต่อยอดมาเรื่อยๆ

เอาจริงๆ พี่ไม่ได้เป็นคนชอบทีวีหรืออะไรแบบนี้ คนทำงานวิทยุจะเข้าใจว่า เราจะชินกับการที่เราควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง พี่เป็นคนตรงเวลามาก พี่ไม่มีสิทธิ์จะบอกว่ารถติดหรืออะไรต่างๆ Content ของวิทยุ มันคือ Content ที่ถึงเวลาออกมันต้องออกไป สมมติเราเขียนหนังสือ เราก็ใช้เวลาเขียนตั้งนาน ขั้นตอนการพิมพ์เยอะแยะ วิทยุมันออกมาเลย พี่เป็นคนชินกับการทำงานวิทยุ แล้วพี่รู้สึกว่าทีวีมันเป็นเรื่องช้า ถ่ายรายการทีวี โอ๊ย นั่งรออะไรแบบนี้ เซตแสง นั่น นู่น นี่ กว่าจะพร้อม เลยไม่ชอบทีวีเพราะไม่ทันใจ แต่มันก็ไหลๆ มาแบบนี้ ในที่สุดก็มาทำซีรีส์ แล้วก็มาทำรายการ คือมันเป็นเรื่องไหลๆ มากกว่า ไหลขนาดว่า ทำวิทยุอยู่ดี ๆ ก็ มีการจัด Event เสร็จแล้วก็กลายเป็น Show Biz มีการจัดทริป พาคนฟังไปเที่ยวตลาด เปิดบริษัททัวร์อะไรแบบนี้ คือวิธีการทำงานของพี่มันไหลๆ แบบนี้มากกว่า จุดเริ่มต้นมันก็คือวิทยุแหละ แต่มันก็ไหลไปทั่ว ก็มาทำ Online ด้วย ตัวรายการทีวีหรือซีรีส์ทีวี หลังๆ ก็ต้องมาดูช่องทีวีด้วยแหละ มันเป็นเรื่องต่อยอดไปเรื่อย ๆ มากกว่า

หมายถึงคุณมองที่จะต่อยอดไปในแพลตฟอร์มอื่นเรื่อยๆ

ไม่หรอก อันนี้พูดแบบจริงใจว่าบางทีเราไม่รู้หรอก การทำงานแบบเรา เราบอกไม่ได้จริงๆ ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะมันไม่มีถูกผิด 1+1 = 2 มีคนถามบ่อยๆ ว่าทำยังไงให้สำเร็จ พี่บอกว่าพี่ไม่รู้ เพราะเรื่องเดียวกันมาทำวันนี้อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ มันถูกที่ถูกเวลา มันถึงจะลงตัว แล้วถึงจะสำเร็จ อย่างวันที่พี่จัดรายการ Club Friday พี่ไม่รู้หรอกว่ามันจะสำเร็จ ถึงขนาดเอามาเป็นอะไรได้ถึงทุกวันนี้ แต่วันนั้นหน้าที่พี่ คือจัดรายการ Club Friday ให้มันดีที่สุด แล้วเดี๋ยวมันก็จะเกิดเอง

คือเวลาที่พูดถึงความสำเร็จมันพูดง่าย ก็แค่ต่อยอดไปเอง นึกออกป่ะ? แต่ที่ไม่สำเร็จก็เยอะนะ มันก็มีคนเล่าว่าทำอะไรไม่สำเร็จถูกป่ะ อย่างสมมติว่าทำรายการวิทยุ มันก็มีทั้งคลื่นที่สำเร็จ แล้วก็ไม่สำเร็จแล้วเลิกไป ทำเจ๊งทำอะไรพี่ทำมาหมดแล้ว (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่คนไปโฟกัสที่ความสำเร็จ

ระหว่างคอนเทนต์ที่ได้เสียงตอบรับดีกับไม่ดี มีเสียงตอบรับแบบไหนมากกว่ากัน

น่าจะสำเร็จนะ ไม่งั้นพี่คงไม่มาถึงจุดนี้ (หัวเราะ) อย่างในสายงานบริหาร วันหนึ่งที่พี่เป็นดีเจ พี่ก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็นหัวหน้าดีเจ พี่ไม่รู้หรอกว่าการเป็นดีเจแล้วมันจะไปสุดที่ไหน เหมือนตอนที่เรียนนิเทศศาสตร์ สมัยนั้นสอบเข้านิเทศนี่กระจอกมากนะ พวกนี้ต้องไม่เข้าใจแน่ นิเทศศาสตร์สมัยนั้นไม่มีใครรู้จัก เป็นคณะเล็กๆ ในจุฬาฯ สมัยนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยเขาจะเลือก 6 อันดับใช่ไหมคะ นิเทศจะอยู่อันดับ 5 – 6 เป็นคณะที่ทิ้งๆ ไว้ท้าย เอาไว้กันเหนียวอ่ะ อันดับต้นๆ ก็เลือกหมอ วิศวะ สถาปัตย์กันไป แต่นิเทศมันเป็นคณะกลางๆ สายวิทย์ สายศิลป์ก็สอบได้ อะไรแบบนี้ ซึ่งตอนนั้นพี่เลือกคณะเดียว เพราะพี่ไม่รู้จะเลือกอะไร (หัวเราะ) เลือกโดยไม่มีความรู้อะไรกับคณะนี้เท่าไหร่ แค่คิดว่า มันน่าจะเป็นอะไรที่เราทำได้ แล้วก็ติด

ตอนนั้นคนไม่สอบเข้านิเทศเพราะกลัวว่าจบไปแล้วไม่มีงานทำ มีผู้ใหญ่ถามพี่ว่า เป็นผู้หญิงเรียนซ่อมวิทยุจะดีเหรอลูก (หัวเราะ) เขายังเข้าใจว่านิเทศศาสตร์เรียนซ่อมวิทยุโทรทัศน์กันอยู่เลย แต่ก็เรียนนะ พี่จะบอกว่า พี่ไม่ได้เป็นคนมองอะไรไปข้างหน้าเยอะ อยากเรียนอะไร รักอะไร ทำก่อน พี่เอาความรัก ความชอบ ความสุขเป็นตัวตั้ง เป็นพวกสุขนิยมมาก ชอบคณะนี้ฉันก็เรียน จบไปทำอะไรไม่รู้ แต่บังเอิญจบแล้วได้งานทำตรงกับสาย วันที่พี่เป็นดีเจ พี่ก็รู้แค่ต้องจัดรายการให้ดีที่สุด ไม่รู้หรอกว่าเป็นดีเจแล้วไปไหนต่อ จะเป็นหัวหน้าดีเจเหรอ พอทำดีเจแล้วประสบความสำเร็จ ก็ต้องเปิดบริษัท เปิดบริษัทก็ต้องเริ่มทำงานบริหาร ก็ทำมาเรื่อยๆ จนบริษัทมันประสบความสำเร็จมากๆ ตำแหน่งมันก็ขยับๆ ไป มาเป็น CEO มาบริหารช่อง

สารภาพตรงๆ พี่ไม่เคยวางอะไร พี่เชื่อว่า ถ้าวันนี้มันดี มันจะดีต่อไป บางทีเราคิดไปก่อนว่า อีก 3 – 5 ปีมันจะเป็นยังไง มันลืมวันนี้ไง มัวแต่จะพุ่งไปตรงนู้น พอทำงานมาถึงจุดหนึ่งก็มีคนมาถามว่า จะเลิกเมื่อไหร่ จะเกษียณเมื่อไหร่ พี่จะตอบว่า ถ้าวันนี้พี่ยังทำงานอยู่ แล้วพี่มองว่าเดี๋ยวอีก 1 ปีพี่จะเลิก พี่ก็ใช้ปีนี้ทำงานแบบ เดี๋ยวก็จะเลิกแล้วอ่ะ พี่ก็ไม่ต้องคิดอะไรสิ แล้วลูกน้อง ผู้ร่วมงานพี่จะทำไง ในเมื่อมีหัวหน้าที่มีวิสัยทัศน์ว่าเดี๋ยวเรากำลังจะเลิกอะ เข้าใจป่ะ พี่ก็เลยตอบทุกคน ไม่รู้ผิดหรือเปล่า แต่พี่ไม่เคยคิดจะเลิก แต่ถ้าพี่รู้ตัวว่าพี่ไม่มีความสุขวันไหน พี่อยากเลิกแล้ว พี่ก็คงจะรู้เอง แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกทันที ก็มีช่วงเวลาที่จะจัดการอะไรต่างๆ ฉะนั้นวิธีวางเส้นทางของพี่มันอาจจะแตกต่างจากคนอื่นที่เขาจะมีแพลนในชีวิต

ชอบอะไรมากกว่ากัน ระหว่างงานผลิตคอนเทนต์กับงานสายบริหาร

แน่นอนพี่ชอบสายโปรดักชั่นอยู่แล้ว พี่ไม่ได้ชอบงานบริหาร แต่พอถึงจุดหนึ่งมันถึงเวลาทำก็ต้องทำ ตั้งแต่จบนิเทศศาสตร์มาก็ไม่เคยไปเรียน หรืออบรมอะไรมากมายแบบที่คนอื่นเขาทำกัน แต่ทุกวันที่เราทำงานมันก็คือการเรียนรู้อยู่แล้ว มันมีช่วงหนึ่งที่เขาเปิดคอร์สอบรมก็ไปนั่งฟัง แล้วก็แบบ เราทำมา เราจะรู้มากกว่าคนพูดซึ่งเขาไม่ได้ทำ ก็จะรู้สึกว่า เฮ้ยไม่จริงว่ะ (หัวเราะ) เลยกลายเป็นว่า ไม่เอาดีกว่าเปลืองตังค์ ไปแล้วก็ไม่เห็นได้อะไร

แล้วสองอย่างนี้ต่างกันยังไงบ้าง

แน่นอนค่ะ ทำช่องมันคือการแบกโลกไว้ทั้งโลก ซึ่งมันหนักมาก ต้นทุนการทำช่องทีวีช่องหนึ่งจากการที่ไปประมูลมา อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรก็เป็นหนี้มหาศาลแล้ว มันมีความแบกอยู่สูงค่ะ แล้วเราก็ต้องยอมรับว่า พอเราพอเราต้องแบกภาระเยอะๆ จินตนาการความคิดถึงเรามันก็จะถูกบีบด้วยความหนักหนาตรงนั้น แต่พอมาเป็น Content Creator อย่างเดียวแล้ว แน่นอนว่า ที่แบกมันไว้มันก็จะไม่ต้องแบกต่อไป มันก็จะมีโอกาสจะคิดอะไรได้เยอะขึ้น แล้วยิ่งเป็น Content Creator เราสามารถจะเดินเข้าไปทำงานต่างๆ ได้เยอะ ช่องทีวีทุกช่องเลยค่ะ ซึ่งแต่ละช่อง แต่ละแพลตฟอร์มเขาก็มีโจทย์ต่างกัน มันก็ทำให้เราสนุกกับการคิดการตามโจทย์ต่างๆ

อย่างเมื่อก่อนเราอยู่ช่องเดียว เราก็อยู่กับโจทย์นี้ใช่ไหมคะ วันนี้พี่เดินเข้าไปถึงช่องหนึ่ง พี่ไปทำละครที่อมรินทร์ อมรินทร์ก็จะมีโจทย์แบบหนึ่ง พี่ไปทำงานกับช่อง ONE31 หรือ GMM25 ก็มีโจทย์อีกแบบ ฉะนั้น วิธีการในการตีความหรือ Online โจทย์ก็จะเป็นอีกแบบ ทำให้เราสนุกในการที่เราสามารถเปลี่ยนอะไรไปได้เรื่อยๆ

คิดอย่างไรที่คะแนนสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์สูงขึ้นเรื่อยๆ

พี่ว่ามันเป็นเรื่องยุคสมัยค่ะ เป็นเรื่องความนิยมอย่างที่บอก เวลาเจอหน้าอาจารย์ อาจารย์ก็จะด่าพวกพี่ว่า ก็พวกแกทำชื่อเสียงเอาไว้ เด็กมันเลยอยากมาเข้า (หัวเราะ) แล้วคือคณะมันไม่ใช่คณะสำหรับเด็กเรียนเก่ง เอาตรงๆ นะ วิชาเรียนมันไม่ใช่วิชาเรียนของคนเรียนเป็นหมอ เรียนเป็นหมอก็ต้องรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างให้เกรดมันสูงๆ อะไรแบบนี้ใช่ป่ะ แต่นิเทศมันเป็นสาขาวิชาที่ เอาจริงๆ ไม่ต้องจบนิเทศก็ทำได้ ใช่ป่ะ ไม่ต้องจบก็ทำได้ มันเป็นเรื่องของวิจารณญาณ อะไรหลายๆ อย่าง พี่ไม่รู้จะให้คำจำกัดความยังไงดี มันไม่ใช่อาชีพแบบหมอที่ต้องเรียนหมอเท่านั้นถึงจะเป็นได้ แต่คุณเรียนอะไรก็ได้คุณก็ทำงานสายนี้ได้ถ้าคุณมีข้างในที่เป็นคนนิเทศศาสตร์

พี่เลยรู้สึกว่า ถ้าคนคะแนนเยอะๆ มาเรียนนิเทศศาสตร์ก็จะเสียดายนิดหน่อย ถ้าเขาไม่ใช่คนที่ Born to be จะมีเด็กรุ่นหลังๆ ที่คะแนนดีๆ พอเข้าไปเรียนแล้วจะงงๆ แบบ เฮ้ยมันเรียนอะไรวะ เรียนถ่ายรูป คือสมัยพี่ก็เป็นแบบนั้น พี่ก็เรียนสายวิทย์ เพื่อนพี่ก็จะเข้าไปเรียนคณะที่มันเรียนจริงจัง แล้วมีพี่ไปเรียนนิเทศ พอมาเจอกันที่ อีนั่นตั้งใจเรียนหนังสือ อีนี่ก็ถ่ายรูปล้างรูปอะไรแบบนี้นึกออกใช่มั้ย สำหรับน้องๆ ที่อยากเรียนมันต้องดูว่าอยากเรียนเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะแค่มันเป็นคณะดัง ตารางคะแนนก็ถีบสูงเรื่อยๆ ซึ่งเกินจริงไปมาก บางทีก็สงสารคนที่เข้าไปแล้วอาจจะไม่เข้าใจว่ามันเป็นยังไง

อีกอย่างคือ สังคมปัจจุบัน เราก็ต้องยอมรับว่า มันมีเรื่องของการมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ อาจารย์ก็เลยด่าพวกพี่ไง ว่าไปทำชื่อเสียงไว้ เด็กๆ ก็เลยคิดว่าเรียนนิเทศแล้วมันต้องดัง อะไรแบบนี้ ซึ่งมันการันตีอะไรไม่ได้

เพราะว่าสื่อในปัจจุบันต้องสื่อสารไปถึงคนรุ่นใหม่ด้วยมั้ย

มีส่วนค่ะ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เปิดกว้าง คนทำงานสื่อก็มีโอกาสและช่องทางในการเติบโต มันเลยสนับสนุนให้คณะนิเทศศาสตร์ดูน่าสนใจ แต่อย่างที่บอก พี่เป็นห่วงว่า ใครก็ตามที่เข้าไปเรียนนิเทศศาสตร์ น้องต้องมีวิญญาณของการเป็นนักสื่อสารมวลชน ยกตัวอย่าง มีน้องๆ ที่ตั้งใจเรียนหนังสือมาก แต่ไม่ได้ชอบพบปะผู้คนหรือสื่อสาร แล้วเรานึกถึงสภาพเด็กๆ ที่ตั้งใจเรียนหนังสือ แล้วอยู่กับตรงนี้ พอเข้าไปเขาจะเฟล เพราะงานมันไม่ใช่งานของเด็กเรียนเก่ง มันคืองานของคนที่ชอบสังคม ชอบพบปะผู้คน มันเป็นงานของสื่อสารมวลชน ชื่อก็บอกแล้ว คุณเข้าไปในสื่อสารมวลชนแต่คุณไม่ชอบสื่อสารกับใคร มันก็จบไง พี่ไม่แน่ใจว่าอาจารย์แนะแนวเขาอะไรขนาดไหน พี่อาจจะโชคดี ตรงที่พี่เสียจังหวะตอนที่เรียนวิทย์ พี่เรียนสายวิทย์โดยที่โง่มาก (หัวเราะ) ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ กูตกแม่งหมด แต่เรียนวิทย์เพราะเพื่อนเรียน แก๊งเพื่อนเฮก็เฮไป แต่ตอนพี่จะเข้ามหาลัย พี่ไปสำนึกตัวตอนนั้นว่ากูตายแน่ (หัวเราะ) อะไรนะ จะไปเข้าหมอกัน วิศวะกัน สถาปัตย์ กูตายแน่ จังหวะนั้นที่กลับตัวกัน แล้วไปสอบนิเทศ เวลาไปพูดที่ไหนก็จะห่วงน้องๆ แต่เอาจริงๆ ระบบการศึกษาบ้านเราก็ไม่ได้เอื้อให้เด็กได้รู้จักตัวเอง ช่วงหลังๆ พี่ไปเดินสายมหาลัย โรงเรียนบ่อยๆ เพราะทำออนทัวร์กัน ส่วนใหญ่เวลาถามเขาตอบไม่ได้นะ เด็กมหาลัยน่ะ ตอนนี้เรามีความสุขใช่ไหม เขาก็ยังตอบไม่ได้ จริงๆ แล้ว เขาอยากเป็นอะไร หรืออยากทำอะไร เราควรจะมีการคุยเรื่องแนะแนวให้มากขึ้น

คุณคิดว่านิเทศศาสตร์เหมาะกับคนแบบไหน

คณะมันบอกแล้วค่ะ สื่อสารมวลชน เราต้องเป็นคนที่สนุกกับการสื่อสาร อยู่กับผู้คน มีความตั้งใจในการจะทำให้การสื่อสารของเรามันเป็นประโยชน์กับผู้คน ถ้าไม่ชอบสื่อสารเข้าไปก็จบ เรียนเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราเรียนเก่งแล้วเราเป็นหมอ เราก็คงได้อยู่กับการค้นคว้าวิจัย รักษา แต่นิเทศมันต้องต้อนรับกับทุกคนที่เข้ามา อะไรแบบนี้

แล้วคุณคิดยังไงกับการรับนักศึกษาในยุคนี้

พี่รู้สึกมันเปลี่ยนไปมาก พี่ก็ไม่เข้าใจ รุ่นลูกๆ หลานๆ ต้องสอบอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด พี่ต้องยอมรับว่าไม่เข้าใจ แต่ก็แอบรู้สึกอยู่ดี ว่ามันควรจะต้องมีความชัดเจน ไม่ได้หมายความว่าแค่คณะนิเทศ พี่คิดว่ามันต้องทุกคณะ มันควรจะมีความชัดเจนว่า คนที่จะเข้าไปเรียนตรงนั้น อาจจะไม่ได้วัดที่คะแนนอย่างเดียว หรือ ความชอบอย่างเดียว ซึ่งเราก็คงไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงกฎกติกาตรงนั้นได้

ถ้าคุณออกแบบคณะนิเทศศาสตร์ได้ คุณจะออกแบบให้การเรียนการสอนออกมาเป็นแบบไหน

สัมภาษณ์ว่าน้องอยากรู้อะไร พี่ว่าการสัมภาษณ์มันคือเรื่องของการคุยกัน ไม่แน่ใจว่าตอนนี้การสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นอย่างไร แต่สมัยพี่พอสอบข้อเขียนแล้วมันก็จบ สัมภาษณ์มันคือการเข้าไปดูหน้าดูตากัน ถ้าไม่โง่จนเกินไป หรือพูดจาไม่รู้เรื่องก็คงได้ สำหรับวันนี้พี่ก็ไม่รู้ แต่นิเทศศาสตร์สำคัญมากที่จะต้องคุยกันเรื่องความเข้าใจในการเรียนคณะนี้มันคืออะไร หรือมองสังคมยังไง มันน่าจะมีการสอบสัมภาษณ์ที่เข้มข้น แต่คงต้องใช้เวลาเยอะเนอะ สอบสัมภาษณ์เนี่ย เพราะวันนี้ข้อสอบมันก็ติ๊กๆ กันไปเนอะ เดาถูกเดาผิด โชคดีเข้ามาเพราะดวงก็มี

คุณกังวลอะไรในช่วงการบริหารช่อง GMM25

ตอนที่มีการประมูลช่องทีวีดิจิตอลแล้วทางแกรมมี่ประมูลมา ได้ 2 ช่องแล้วแยกกัน ตอนนั้นก็ไม่มีใครทำแหละ (หัวเราะ) ก็เลยได้ทำ มันเป็นตามนโยบายมากกว่า แล้วตอนนั้นไม่กังวลเลยค่ะ เพราะตอนพี่มารับ ช่องมันอยู่อันดับ 27 (หัวเราะ) Ranking อยู่สุดท้ายเลย ไม่กังวลเพราะไม่มีแย่ไปกว่านั้นแล้ว รู้ว่าช่องเรามาจากไม่มีอะไรเลย ถ้าเราตั้งใจที่จะแข่งกับช่องเบอร์ท็อปคงไม่รอดแน่ เลยมองหาช่องว่างทางการตลาด ทุกคนก็มุ่งสู่ความเป็นแมส อยากเป็นแบบช่อง 3 ช่อง 7 เนอะ มีเรตติ้งสูงๆ แล้วสามารถขายได้ ซึ่งตอนนั้นช่อง GMM25 เองก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีงบมาก ทางช่องใหญ่ ช่อง One ก็จะเป็นช่องที่ลงทุนเยอะ ช่องนี้เป็นน้องเล็กๆ งบก็จะน้อยหน่อย เราก็เลยหาช่องว่างทางการตลาด โอเค เราไม่เอาแมส ไม่เอาเรตติ้ง (หัวเราะ) กล้าหาญมากประกาศกับทุกคนว่า เรตติ้งไม่เป็นไร แต่เราจะจับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

ช่อง GMM25 จะเป็นช่องสำหรับคนที่อายุ 15 – 34 กลุ่มที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถามว่าทำไมเราโฟกัสกลุ่มนี้ เพราะพี่รู้สึกว่า Content ที่พี่ทำมาตลอดน่าจะเสิร์ฟคนกลุ่มนี้ได้ แล้วคนกลุ่มนี้มีความกระตือรือร้นสูง เขากำลังสร้างชีวิต สร้างตัวเนอะ อาจจะเป็นนักเรียน ม.ปลาย มหาลัย เรียนจบ แล้วก็สร้างชีวิต เขาจะ spend ในการใช้จ่ายต่างๆ เราจึงมีเป้าหมายเป็นกลุ่มนี้

การที่เรามีโฟกัสเป้าหมายที่กลุ่มนี้ Content ก็จะทำเพื่อเสิร์ฟคนกลุ่มนี้ เน้นคนเมือง อาจจะไม่ได้เน้นต่างจังหวัดมากๆ คือมีต่างจังหวัดด้วย แต่เน้นที่เป็นคนเมืองหน่อย มันทำให้ภาพมันชัด แล้ววันนั้นทำให้ช่อง 25 เป็นช่องที่มีคนรู้จัก และ ได้รับการยอมรับจากลูกค้าในเวลาอันรวดเร็ว แล้วก็ Club Friday The Series เป็นละคร 2 ทุ่ม พอโฟกัสชัดว่าใครดู เรตติ้งก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ตัว Ranking ของช่องมันก็เทียบกับช่องใหญ่ไม่ได้หรอก เราขึ้นมาใน Top 10 เราแตะอันดับ 10 อันกับ 9 เราก็พอใจแล้ว เพราะมัน Niche ในกลุ่มตรงนั้น แต่มันชัด คนที่ต้องใช้ตังค์กับคนกลุ่มนี้ยังไงก็ต้องซื้อเรา

ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอันหนึ่งได้นะคะ จากช่องที่ไม่มีใครรู้จักเลย ก็แปลกดีเวลาที่เราไปงานที่เขาแจกรางวัล ละครที่เข้าไปชิงก็จะมีอยู่ไม่กี่ช่อง จะมีช่อง 25 เข้าไปด้วยแบบเล็กๆ แปลว่าเราก็คงมีความสำเร็จในมุมหนึ่งอยู่ หรือ พอมีละครดังๆ พระเอกนางเอกได้รางวัลนู่นนี่ ซึ่งความจริงเราน่าจะเป็นม้านอกสายตาของเขา แต่ก็มีโอกาสก็โอเค

จากการทำงานหลายรูปแบบ คุณคิดว่าคุณอิ่มตัวแล้วหรือยัง หรือยังมีความท้าทายอื่นๆ อยู่อีกมั้ย

อย่างที่บอกค่ะ วันแรกเราทำวิทยุเฉยๆ ถ้ามันเป็นวิทยุอย่างเดียว ถึงป่านนี้อาจจะใกล้เลิกแล้วแหละ แต่จากการที่มันถูกต่อยอดไปเรื่อย Club Friday มันกลายเป็นพี่อ้อยพี่ฉอด หรือที่เรียกว่าจักรวาลพี่อ้อยพี่ฉอดเนี่ย (หัวเราะ) ณ วันนี้มันไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ครบ วิทยุก็ยังอยู่ใช่ไหมคะ ทีวีก็จะมี ทั้งซีรีส์ ทั้ง Club Friday Show อะไรแบบนี้ Online ก็มี ตัวต่อตัว (ซึ่งได้ On-Air ด้วย) , TALK ABOUT LIVE อย่าง On-Ground ก็จะเข้าไปที่โรงเรียนมหาลัย เป็นออนทัวร์ ช่วงโควิดก็จะเป็น On-Zoom อะไรแบบนี้ ทีนี้ด้วยความที่มันไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ได้มันก็อยู่ได้กับทุกยุคทุกสมัยโดยที่ไม่อิ่มตัว

ตอนนี้ CHANGE2561 มี Content กระจายตามแพลตฟอร์มต่างๆ ครบไหม

ก็ครบแหละค่ะ On-Air ก็มี Club Friday The Series , Club Friday Show , ตัวต่อตัว Online ก็มี On-Ground นอกจากพี่อ้อยพี่ฉอดแล้วก็จะมี Love Fest มี Pokemon Run ไปได้ลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่น จัดวิ่งโปเกมอน เพิ่งจัดปีแรกเมื่อปีที่แล้ว แล้วก็มีออนทัวร์ที่เข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอยู่ แล้วก็มี Showbiz ที่ทำมาตั้งแต่ต้น ปีก่อนหน้านี้ก็มีณเดชน์ พี่เจ สี่แยกปากหวาน พี่อ๊อฟ ปีนี้ก็หยุดโควิดไปแป๊บหนึ่ง ใจเย็นๆ ค่อยกลับมาใหม่

CHANGE2561 มีการถือ Content ของตัวเองไหม

ก็มี Club Friday ค่ะ แล้วก็รายการ Online ที่เราถือลิขสิทธิ์ รายการไหนที่จ้างผลิต ลิขสิทธิ์ก็เป็นของช่อง ส่วนการจัดจำหน่ายตอนนี้ไปทั่วค่ะ อย่างซีรีส์ที่เราทำก็ไปอยู่ในแพลตฟอร์ม Global อย่าง Netflix ก็ไป จีนก็ไป ใครซื้อก็ไปหมดแหละ (หัวเราะ) หลายเรื่องได้รับความนิยมที่ต่างประเทศ อย่างใบไม้ที่ปิดปลิวอะไรแบบนี้ ขนาดจีนที่ห้ามฉายก็ยังดังเลย ดังในใต้ดิน (หัวเราะ) ละครแรกๆ ที่ทำกันอย่าง I wanna be Sup’ Tar ที่เป็นพุฒ กับ ยิปโซ อยู่ๆ ก็มีคนทางนู้นส่งมาเต็มเลย ว่ามันไปติดอันดับ 1 พี่ก็ไม่รู้ว่าวิธีการไปแบบใต้ดินที่ไม่ได้ค้าขายตามปกติมันเป็นยังไง คือถ้าค้าขายตามปกติ แบบมีแพลตฟอร์มจีนมาซื้อ เราก็จะรู้ผลตอบรับ ใต้ดินก็ไม่รู้เหมือนกัน คงคล้ายๆ พวกเรานั่นแหละมั้ง ไล่หาดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไปดังที่โน่น

คุณให้น้ำหนักในการปรับตัวมาเป็น Content Creator แค่ไหน

วันนี้ต้องยอมรับว่าโลกมันแคบเข้ามา มันมีเรื่องของการที่เราจะส่งต่อทุกอย่างที่เป็น Content ไปสู่แพลตฟอร์มหลายรูปแบบ พี่เข้าใจว่าทุกวันนี้ คำว่า Online มันอยู่ในยุคสมัยวันนี้ ทุกคนก็จะทำงาน Online กันเต็มไปหมด ขายของ Online , Content Online คือแต่ละสื่อมันมีข้อดีของมัน อย่าง Online ถ้าเมื่อก่อนเราต้องอยู่กับแพลตฟอร์มที่ต้องประมูลมา ทีวี วิทยุ อะไรต่างๆ เราจะอยู่ยากมาก เพราะรัฐเป็นเจ้าของ ประมูลแล้วมีสัญญากี่ปี หมดสัญญาก็เปลี่ยนมือ ฉะนั้นใครที่อยู่ในยุคนั้นจะรู้สึกว่า Online มันคือสวรรค์ เพราะมันทำเท่าไหร่ก็ได้

แต่ในความง่ายสะดวกสบาย มันก็มีคนทำเยอะไง วันนี้เรามี Content Online จะท่วมตาย คนขายของ Online มีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ ฉะนั้นทุกแพลตฟอร์มมันก็จะมีข้อจำกัดของมัน พอเราอยู่ในโลก Online ในยุคนี้ มันก็คือแพลตฟอร์มหนึ่งที่มีโอกาสจะเติบโตไปได้อีกเยอะ แต่ก็ต้องยอมรับความจริง ว่าเม็ดเงินมันก็ยังไม่ได้เป็นก้อนใหญ่ ในแง่ของเม็ดเงินมันเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้นเอง ในแง่ของ Content เราก็ไม่เสียโอกาสในการไปในช่องทางต่างๆ แต่วันนี้พี่ก็คงไม่บอกว่า เฮ้ย เราชูในเรื่อง Online อย่างเดียว เพราะเม็ดเงินมันยังไม่มาอย่างที่บอกค่ะ มันยังไม่ใช่เงินหลักอยู่ เราจึงต้องทำงานกับทุกอัน แต่พี่ว่ามันไม่ได้สำคัญว่าอยู่แพลตฟอร์มไหน สำคัญคือ Content อะไร ที่เราคิดขึ้นมาแล้วสามารถทะลุทะลวงไปได้ทุกแพลตฟอร์ม

ยกตัวอย่างรายการเล็กๆ อย่างพี่อ้อยพี่ฉอดตัวต่อตัว มันมีความเป็น Event ด้วยนะ เพราะเราให้คนสมัครเข้ามาใช่ไหมคะ แล้วมานั่งคุยกับเรา เราก็ถ่ายไปลง Online พอวันหนึ่งช่องอมรินทร์สนใจก็เลยได้ On-Air ตัวต่อตัวมันจึงเป็น Content ที่อยู่ได้ในทุกแพลตฟอร์ม แล้วก็อยู่ได้อย่างดีด้วย ในผลตอบรับของการเป็น Online On-Ground ที่เจอกัน ทุกวันนี้ในเพจพี่อ้อยพี่ฉอด ตัวต่อตัว มีคนส่งเรื่องราวเข้ามาหลายพัน เพื่อที่จะมาพูดคุยกัน แล้วตอนนี้มันไปอยู่ใน Online ก็มีคนเข้ามาดูก็ไม่น้อย พอไปอยู่ที่อมรินทร์ เรตติ้งมันก็ดี โจทย์ของเราจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะโฟกัสไปที่แพลตฟอร์มไหนมากกว่ากัน แต่โจทย์คือ ทำยังไงให้ Content มันอยู่ได้ในหลายๆ แพลตฟอร์ม แล้วก็อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

แสดงว่า Content is King ก็ยังคงเป็นคำที่ใช้ได้ใช่ไหม

ใช่ค่ะ พี่ว่า มันเป็นยุคที่ Content ก็ยังเป็น King อยู่ สังเกตจาก CHANGE ที่ทุกวันนี้เราปรับตัว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีในทุกแพลตฟอร์ม ในแง่ของทีวีเราก็ไปกับทุกช่อง (หัวเราะ)

คุณมีสูตรทำละครให้ตรงใจเป้าหมายหรือผู้ชมมั้ย

ถ้าถามว่าทำไมต้องผลิตเยอะ ต้องบอกว่า เมื่อก่อนพี่ดูช่องเอง เราเลยมีโอกาสที่สร้างคนเอาไว้หลายรูปแบบ พี่อาจจะมีทีมผู้กำกับที่ทำได้ทั้งดรามา ทั้งรอมคอม อะไรแบบนี้ค่ะ ซีรีส์ ละคร เราก็มีคนเยอะ พอถึงเวลาที่ทำงานอิสระ เราก็สามารถตอบโจทย์ได้ตามแพลตฟอร์มที่เขาอยากได้ แต่ว่า โดยส่วนตัวพี่เอง พี่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ พี่ไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ชอบอ่านหนังสือ (หัวเราะ) พี่ไม่เคยคิดว่า การหนีไปนั่งอ่านนิยายจะเป็นประโยชน์ในตอนนี้ ทุกคนก็จะบอกว่า เฮ้ย ทำไมละครของ CHANGE เรื่องการไปซื้อบทประพันธ์ที่คนอื่นเขายังไม่เคยเห็นหรือเอามาทำมาก่อน ซึ่งเหล่านั้นนั่นแหละ มันคือพวกเรื่องที่พี่เคยอ่านแล้วมันประทับใจตอนเด็กๆ แล้วก็เอากลับมาอยากทำละคร แล้วก็ไม่รู้ว่าอีตอนที่เกเรไม่เรียนหนังสือไปอ่านนิยายมันจะเป็นประโยชน์กับชีวิตแต่ตอนนี้

อีกอันคือ Club Friday แหละค่ะ มันเป็นโอกาสที่ดีทำให้พี่ได้สัมผัสกับชีวิตคนจริงๆ และปัญหาความรักของคนจริงๆ แล้วสมัยก่อนเอามาทำซีรีส์ทำอะไร คนก็จะ โอ๊ย ไม่จริงหรอก เกินไปมันโหดไป ผ่านมาวันนี้เราก็เห็นข่าวตามนั้นแหละ ว่าชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย ฉะนั้น จากความเป็นเรื่องจริง และ จากความเป็นนิยายที่มีโครงสร้างที่ดี งานของ CHANGE2561 คือการเอาทั้งสองอย่างมาผสมกัน

เพราะฉะนั้นเราก็จะเป็นละครที่ไม่ค่อยเป็นละคร เราเป็นละครที่เป็นชีวิตจริง เพราะว่ามันถูกเอามาคิดด้วยกระบวนการของการที่เราทำ Club Friday The Series มาก่อน ซึ่งมัน Base on True Story พอเราเอามาทำให้เป็นละครเป็นซีรีส์มันต้องสนุก แต่สนุกยังไงที่มันยังเป็นความเป็นจริงของชีวิต ละครของ CHANGE จะไม่มีอะไรเกินจริงมากๆ ตอนทำ Club Friday The Series เราใช้เวลาหนักมากในการนำหาความจริงหรืออะไรเนี่ยค่ะ เพื่อจะให้ทุกอย่างมันเป็นชีวิตจริงของคนมากที่สุด สมมติวันนี้พี่เกิดไปซื้อบทประพันธ์ของนักเขียนนวนิยาย คุณกฤษณา อโศกสิน , คุณทมยันตี หรือ คุณว. วินิจฉัยกุลต่างๆ หนังสือเหล่านี้ เขียนเมื่อ 20-30 ปีมาแล้วเนี่ย วันนี้เราเอามาทำแล้วจะมาทำให้เป็นชีวิตคนวันนี้ ละครของ CHANGE ก็เลยมักจะตอบโจทย์ตรงใจคนวันนี้ตรงที่ว่ามันมีโครงสร้างสนุกของนิยายแต่มันมีความเป็นชีวิตจริง

อย่างเช่นสมมุติว่าพี่ไปซื้อหลงไฟ ของคุณกฤษณา เขียนเมื่อ 20 กว่าปีแล้ว ผู้หญิงอย่างก้านแก้วในหลงไฟ เขาคือผู้หญิงขายตัวสมัยก่อน สมัยโบราณ ซึ่งวันนี้มันไม่แน่ใจน่าจะไม่มีแล้ว ก้านแก้วในยุคนี้นางก็เลยเป็นสาวไซด์ไลน์ที่แต่งชุดนักศึกษาเดินออกจากบ้านไปแล้วก็ไปขายบริการ ทุกอย่างมันถูกปรับให้มันเข้ากับยุคสมัย หรือวิธีคิดวิธีตัดสินใจตัวละครวันนี้มันก็เป็นคนวันนี้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด แต่โครงสร้างของยายมักจะสนุก เราเอา 2 อย่างผสมกัน มันคือการตอบโจทย์ของละคร CHANGE ที่ที่พี่ค่อนข้างมั่นใจว่ามีความแตกต่างจากละครของคนอื่นทั่วไป อันนั้นคือโจทย์ตั้งต้นของเราเอง

อีกอันก็คือการตอบโจทย์ของช่อง กลุ่มเป้าหมายของช่อง คนดูเป็น ใครเราต้องเห็นหน้าคนดูก่อนว่าเขาเป็นใคร แล้วเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร เหมือนตอนที่พี่มาทำที่อมรินทร์ อมรินทร์จะเห็นชัดมากว่าไม่เคยมีละครมาก่อน แล้วที่ผ่านมาคนคนดูช่องเขาคืออะไร ที่ท้าทายมากคือเขาเป็นช่องข่าว คนดูช่องข่าวคืออะไร คือคนที่ถึงเวลามีละครเขาไม่ดูละครมาดูข่าวอ่ะ ในขณะที่คนอื่นเขาดูละครกันในเวลา 2 ทุ่ม แต่อมรินทร์คือคนที่ไม่ดูละคร ปฏิเสธละครแล้วมาดูข่าว พี่ต้องทำละครให้คนไม่ดูละครดู (หัวเราะ) ก็เป็นโจทย์ที่ต้องคิดหนัก

ละครอมรินทร์ก็เลยต้องลงช่วงเสาร์อาทิตย์ 4 ทุ่มค่ะ ซึ่ง 4 ทุ่มถือว่าดึกนะ สำหรับคนดูละครทั่วไป มันก็มีโจทย์แบบนี้ค่ะ เราก็ต้องคิดว่า เฮ้ย 4 ทุ่ม เสาร์อาทิตย์ คนไม่ดูละครจะดูละครอะไร ทุบโต๊ะข่าวคือหลักๆ ของช่องอมรินทร์ในตอนนั้นเลย แล้วเราก็จะแบบ อุ๊ย เราจะแทรกตัวลงไปได้ยังไง ตอนนั้นก็ทำสามีสีทอง ซึ่งดังมาก ประสบความสำเร็จ ก็อยู่ที่นั่นแหละ อยู่ที่ตีโจทย์ว่าคนดูเป็นใคร

คนอมรินทร์ก็น่าจะโตหน่อยเนอะ ละครเด็กๆ วัยรุ่นก็น่าจะไม่ใช่ โตหน่อยแล้วยังไงอ่ะ ชีวิตครอบครัว สามีภรรยา มีทั้งแบบดรามาน้ำตาไหลก็มี ทั้งตลกขำ บางทีก็ดาร์คคอมเมดี้หัวเราะไปร้องไห้ไป ก็จะตอบโจทย์เพราะว่าคนดูข่าวอมรินทร์ก็น่าจะเป็นคนดูข่าวดรามาหน่อยเนอะ นี่แหละค่ะ คือวิธีตอบโจทย์

แกนหลักที่สำคัญในการทำให้ Content ประสบความสำเร็จคืออะไร

เราตั้งหลักกันไวัอย่างงี้ค่ะ ตอนที่เราเปิดบริษัท CHANGE เมื่อปี 2561 เราตั้งชื่อบริษัทว่า CHANGE2561 ตามปีเนอะ คำว่า CHANGE คือ พี่รู้สึกว่า บางที Content ของเราค่ะ อยากให้ Content ของเรามันมีโอกาสไปเปลี่ยนความคิดอะไรบางอย่างของคนในสังคม เราไม่ได้รู้สึกว่าเราจะยิ่งใหญ่หรือเก่งกล้าสามารถมากพอที่เราจะไปเปลี่ยนสังคมได้ แต่พี่มีความเชื่อว่าแค่เปลี่ยนวิธีคิดชีวิตก็เปลี่ยน คนอกหัก 2 คนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แต่คิดคนละแบบ คนอกหักคนหนึ่งคิดว่าควรไปตายก็จะฆ่าตัวตาย อีกคนหนึ่งคิดว่าฉันต้องสู้ เขาก็สู้ต่อ มันอยู่ที่ความคิดอย่างเดียวเลย มันไม่ได้อยู่ที่อะไรเลย มันอยู่ที่ความคิด เรานึกถึงเนี่ยค่ะ สโลแกนแค่เปลี่ยนวิธีคิดชีวิตก็เปลี่ยนแล้ว

เราก็เลยคิดว่า อยากให้ Content ในทุกรูปแบบของเราไม่ว่าจะเป็น Showbiz ทำคอนเสิร์ต Online หรือซีรีส์ละคร หรือใดๆ ก็ตาม ที่เราทำออกมา เราคิดกันว่า สมมุติ Content ของเราสามารถไปเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคมนี้ได้บ้างสักนิดหนึ่ง เราก็ดีใจ อย่างที่พี่อ้อยพี่ฉอดไปออนทัวร์ เด็กมานั่งฟังเราสมมุติว่าเป็นพัน แปดร้อยคนพันคน ก็ยังคุยกันว่า สมมติว่าเราสื่อสารให้น้องๆ เหล่านี้ได้เข้าใจชีวิตเนี่ย แล้วก็เปลี่ยนวิธีคิดของเขาได้สัก 5 คน 10 เราก็ดีใจแล้วนะ อย่างน้อยเรามีโอกาสได้เปลี่ยนวิธีคิดของเขา พี่รู้สึกว่าสังคมวันนี้ มันมีอะไรหลายอย่างมากจริงๆ ที่เราควรจะต้องดูแลแก้ไข แล้วทำยังไงที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยรู้จักรักตัวเองแล้วไม่เบียดเบียนใคร มันเป็นโจทย์ง่ายๆ ที่มันเหมือนกับ อยากสอบเข้ามหาลัยได้ก็ต้องตั้งใจเรียนหนังสือ อะไรแบบนี้ มันเป็นคำพูดง่ายๆ แต่ in Detail ของชีวิตคนมันมีอะไรเยอะมาก

บางทีพี่ก็เชื่อว่าเราทุกคนไม่อยากเป็นคนเลว ไม่มีใครหรอกที่เกิดมาตั้งใจ เฮ้ย กูจะเป็นคนเลวมันไม่มีหรอก แต่ว่าถูกผิดดีเลวมันไม่มีจริงในชีวิตคนหรอก มันอยู่ที่ว่าเรามองแบบไหน เราจะทำอะไรไม่ดีเราก็จะมีเหตุผลในการทำไม่ดีนั้น คนเราเป็นพระเอกนางเอกในชีวิตของตัวเอง แต่มันเป็นผู้ร้ายในชีวิตคนอื่นตลอดเวลา ฉะนั้น ถ้าพี่จะทำอะไรสักอย่าง สมมติพี่จะชกหน้าน้อง พี่ก็คงมีเหตุผลของตัวเอง พี่ไม่ได้เป็นคนเลวชกหน้านะ แต่ในขณะที่คนนั้นเขาอาจจะมองความเป็นพระเอกนางเอกต่างไป ความถูกผิดอยู่ที่ใครมอง ตรงนี้พี่มองว่าสังคมก็มีความน่ากลัว ว่าใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในความที่ไม่รู้ว่าถูกผิดดีเลวมันอยู่ตรงไหน

พี่จะ Concern กับน้องๆ หนูๆ มากๆ ทุกวันนี้พี่พยายามจะทำแบบนี้ Event ที่มันไปตามโรงเรียน แล้วยิ่งไปแล้วก็ยิ่งได้ข้อมูลกลับมา บางทีครูบาอาจารย์กับโรงเรียนก็ขอความช่วยเหลือมาว่าอยากให้เราคุยกับน้องเรื่องแบบนี้แบบนี้ ทุกวันนี้ก็มีเด็กๆ เยอะมากที่ยังเรียนอยู่เลยมัธยม แล้วต้องลาพักคลอดก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียนหนังสือต่อ ถามว่าคนนั้นเขาเป็นเด็กเลวหรอกไม่ใช่ เขาแค่เป็นเด็กที่ไม่เข้าใจชีวิตแล้วยังไม่ได้ถูกชี้นำให้มองเห็นความเป็นจริงของชีวิต วันนี้ก็คุยกันว่า Club Friday มันเริ่มต้นมาจากอยากจะตอบปัญหาความรัก แต่วันนี้เราอยู่กับปัญหาสังคม เพราะความรักเป็นเรื่องของคนสองคนเอง ถึงอย่างนั้น เรื่องราวของคนสองคนมันอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอีกมากมายในสังคมค่ะ

จริงๆ พี่ว่าทุกเรื่องราวชีวิต มันคือบทเรียนทั้งนั้น เราได้เรียนรู้วิธีคิดจากชีวิตคนอื่นเสมอ เวลานั่งฟังชีวิตคนอื่น เราอาจจะไม่ได้เจอเรื่องราวแบบนี้ แต่ใครจะรู้ ว่าเราจะสิ่งนี้ไปใช้ประโยชน์ยังไง ที่พี่ทำอยู่ทุกวันนี้ Club Friday ที่นั่งฟังชีวิตคนอื่นอยู่ เรื่องของชาวบ้านเป็นงานของเรา (หัวเราะ) บางทีมีหน้าไมค์หลังไมค์ เอามาทำซีรีส์ ทุกอย่างมันคือบทเรียนที่เราเอามาใช้ได้ทั้งนั้น

ภาพจากละครเรื่อง “บังเกิดเกล้า”
มีวิธีการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยให้มันพัฒนาไปได้อย่างไร

พี่ว่าวันนี้เราใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบากมาก ถ้าในมุมของคนทำสื่อเนอะ เราพยายามทำทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดให้มันดี เวลาที่พี่ทำคอนเสิร์ต พี่ทำ Showbiz เนอะ เราก็ดูคอนเสิร์ตต่างประเทศ คือเราก็ทำได้ ถ้าเรามีตังค์ (หัวเราะ) หรือเราทำละครหรือซีรีส์แล้วมันก็จะมีคนเข้ามาตำหนิติติงโน่นนี่นั่นกัน ซึ่งก็นี่แหละมันก็มีมันก็มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เงินทองการสนับสนุนในทุกสิ่งอย่าง พี่มักจะยกตัวอย่างประเทศที่เห็นชัดที่สุดเสมอ คือเกาหลี ทุกวันนี้เกาหลีเขาเนี่ย จากการได้รับการสนับสนุนอย่างรุนแรงจากภาครัฐ เฮ้ย วันนี้ Parasite ได้ Oscar นะ ใครจะคิดว่าวันนี้งานเกาหลีจะขึ้นไปอยู่เวที Oscar หรือเมื่อวานพี่ประชุมกับ Netflix เขาเน้นเกาหลีไปทั่วโลก ซึ่งในมุมของเราที่เป็นคนทำงาน เราก็จะรู้สึกว่าแบบ เฮ้ยจริงๆ อ่ะ มาตรฐานการทำงานของเราไม่ได้แพ้ใครนะ เรื่องของเราไม่ได้แพ้ใครนะเพียงแต่ว่าบางทีมันก็จะมีข้อจำกัดอะไรอีกหลายอย่าง

วันนี้ก็ยังถือว่าคนทำงานอย่างพวกเรา ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันมีความเชื่อ มันมีมันมีมุมมองบางอันเหมือนกันค่ะ ที่คนในบ้านเราอาจจะมองมุมของคนที่ทำงานบันเทิงว่ามันเป็นแบบ ไม่ค่อยมีคุณค่า มันเป็นงานบันเทิงอ่ะ สมมติเวลาเราทำละคร ไอ้ละครที่รุนแรงดรามา มันเป็นละครที่ทำให้ได้เรตติ้งดี แต่ว่าเวลาที่เราไปเรียนหนังสือคณะนิเทศศาสตร์ก็จะสอนว่า เราจะต้องทำที่มีประโยชน์ต่อสังคม ต้องตั้งโจทย์เลยว่าเราจะต้องให้อะไรกับสังคมบ้าง Content ที่เป็นสารคดีนู่นนี่นั่น มันก็สวนกระแสกันตลอดเวลา

สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือการบาลานซ์ทุกอย่าง ถ้าเราตั้งใจว่าจะทำสื่อดีมีคุณค่าก็ตายกันไปเยอะแล้วไง ฉะนั้น ไอ้ที่เราจะทำให้มันมีคุณค่า มันจะต้องมาดูที่ว่า มันจะต้องแปลงไปในรูปแบบไหน ที่มันจะทำให้แบบมันบันเทิงแหละ มันอยู่ที่ความบันเทิงน้ำ แต่ดูนะ แล้วเดี๋ยวมันจะได้อะไร Content พี่เป็นแบบนั้นแหละ แล้วก็โดนด่าว่ามันเป็นบันเทิง รุนแรง มันนู่นนี่

ต้องถามว่าคนทำบันเทิงผิดตรงไหน ความบันเทิงก็มันก็คือสิ่งดีๆ กับสังคมนะ มันก็คือความสุขในรูปแบบหนึ่ง มันไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมีสาระชีวิตอย่างเดียว มันยังมีความเข้าใจอะไรแบบนี้ คนทำงานบันเทิงก็เลยดูเหมือนมี แอบมีความเป็นผู้ร้ายอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นเรื่องความเข้าใจ กับอีกเรื่องก็คือการสนับสนุนจากภาครัฐนั่นแหละ ที่วันนี้ก็น้อยมาก ถ้าวันหนึ่งก็อยากให้ผู้ใหญ่มองเห็นความสำคัญ สมมติมองว่า โห เกาหลีวันนี้ การท่องเที่ยวของเขา ถามว่าเราอยากไปเที่ยวเกาหลีครั้งแรกเพราะอะไร ก็เราดูซีรีส์ไง เราถึงได้อยากไป เราดูซีรีส์เกาหลี เราถึงได้อยากกินอาหารเกาหลี สื่อเกาหลีก็คือความบันเทิงแหละ แต่เราจะได้วัฒนธรรม ได้อะไรไป ความสามารถของคนทำงานคือการบาลานซ์ เหล่านี้ จากมุมที่พี่บอกเมื่อกี้ว่าในมุมของการช่วยสังคม มันก็ยังมีมุมการท่องเที่ยว มุมวัฒนธรรม มีมุมอะไรอีกมากมายมหาศาลที่จะหาเงินเข้าประเทศถ้าเรามองเห็นภาพตรงกันแล้วช่วยกันสนับสนุน

วันนี้พี่ว่า Content ไทยต้องไป Global ให้ได้ค่ะ ไม่ได้หมายความว่าเอาเม็ดเงินเข้ามาอย่างเดียว แต่มันจะได้อะไรอีกเยอะ พี่ว่าเกาหลีไปน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ

การทำคอนเทนต์ยุคนี้ เรตติ้งยังสำคัญอยู่มั้ย

โอ๊ย ปกติแหละค่ะ เพราะประเทศไม่รู้จะเชื่ออะไร (หัวเราะ) ก็ยังเชื่อเรตติ้ง แต่ก็อย่างที่บอก วันที่พี่ทำช่อง 25 พี่ก็ต้องช่องทาง ในช่องที่เรตติ้งไม่ได้มาก เราอยู่กับความเป็น Niche Market ก็ไม่ได้แย่จนเกินไปแต่ก็ไม่ชนะคนอื่นเขา ุถามว่าสำคัญไหม ก็ยังสำคัญอยู่ดีล่ะคะ แต่ว่ามันมีอีกหลายๆ อย่างประกอบกันไปด้วย ดูเรตติ้งอย่างเดียว คนอีกเยอะก็ไม่ได้เกิด

ละครช่อง GMM25 เมื่อก่อน เรตติ้งเราคงสู้ช่องใหญ่ๆ ไม่ได้ คำว่าเรตติ้ง คือมันมีการเปรียบเทียบกัน เรตติ้งแค่นี้ แต่มันโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่ตรง ถ้า Product ของคุณต้องการยิงตรงไปสู่คนที่มีเรื่องราวแบบนี้ มีชีวิต ไลฟ์สไตล์แบบนี้ คุณก็จ่ายตังค์เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องจ่ายตังค์เยอะ คุณอาจจะไม่ได้ไปถึงต่างจังหวัดที่ต้องไปขายแมสขนาดนั้น มันเป็นการหา Segment ทางการตลาด

จริงๆ คุณมองว่าสื่อออนไลน์จะเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อไปเลยมั้ย

พี่ก็ยังเชื่อว่าไม่มีใครแทนที่ใครได้ บางคนบอกว่า Online จะมาแล้ว On-Air จะตาย มันก็ยังมีคนที่ดูทีวีอยู่นะทุกวันนี้ ใช่ป่ะ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่เราเอง มันก็คือความสะดวกค่ะ ทุกแพลตฟอร์มมันอยู่ด้วยกัน อยู่ที่ Content เป็นตัวสำคัญ ถ้า Content เราอยู่ทุกแพลตฟอร์มได้ แล้วแต่เลยจ้า เพราะสุดท้ายการเสพสื่อมันอยู่ที่ความสะดวก

การบริหาร CHANGE2561 ในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง

วันนี้อาจจะมองเรื่องทิศทางยากนิดหนึ่งค่ะ เพราะมันมีข้อจำกัดต่างๆ นานา ทั้งโควิด-19 ทั้งอะไรในปีนี้ เราไม่รู้มันจะฟื้นตัวหรือดีขึ้นยังไง แต่ในที่สุดแล้ว เราเป็นคนทำ Content พี่ก็ยังใช้หลักการสำคัญคือ วันนี้เราเป็นอะไร เป็นให้มันดีที่สุดก่อน ปัญหารอบตัวเรามันมีที่แก้ได้กับแก้ไม่ได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้คือสิ่งแวดล้อม โควิดมา แก้ไม่ได้ สภาพเศรษฐกิจให้เราแก้ก็คงไม่ไหว แก้ไม่ได้ก็ต้องวางไว้ แต่อันที่แก้ได้ก็คืองานของเรา ทำมันให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของสิ่งที่แก้ไม่ได้ แล้วก็วันนี้ดีที่สุด พี่ยังเชื่อว่าเดี๋ยววันนี้ วันต่อๆ ไปมันจะดี บางทีเราไปกังวลกับอนาคตมากๆ เราจะลืมมีความสุขกับปัจจุบัน อย่ากังวลในอนาคตจนลืมมีความสุขกับปัจจุบัน

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า